What's News

สตรีดีเด่น 7 สาขา สะท้อนพลังของผู้หญิง

Pinterest LinkedIn Tumblr


เนื่องในวันสตรีสากล กระทรวงแรงงานได้คัดเลือกสตรีทำงานดีเด่น โดยในปี 2562 นี้ พิจารณาจากแนวคิด “แรงงานสตรี ร่วมจิตอาสา ทำความดีด้วยหัวใจ” โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณ สตรีดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2562 จำนวน 7 สาขา จำนวน 26 รางวัล เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนของสังคม ตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของสตรี และสะท้อนพลังของผู้หญิงในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณชนตามแนวคิดจิตอาสา ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ


บทบาทของสตรีไทยในปัจจุบัน นับว่าเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ทั้งในระดับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติ สตรีทำงานทุกคนจึงมีศักยภาพในตนเองทั้งในการสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง และช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถพึ่งตนเอง มีการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มีคุณธรรม และเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านอื่นๆ ในพื้นที่ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ผู้คน ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ได้รับรางวัลสาขาสตรีผู้บริหารภาคราชการดีเด่น กล่าวว่า ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันสนับสนุนสังคมครอบคลุมในทุกมิติ ด้านเศรษฐกิจแรงงานสตรีเข้าไปเป็นฟันเฟืองสำคัญของภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม รวมทั้งศิลปหัตถกรรม ในมิติสังคมผู้หญิงยังต้องดูแลบ้าน ดูแลลูก และครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดแต่สำคัญที่สุดของสังคมด้วย เมื่อได้เข้ามาเป็น ผอ SACICT ได้มีโอกาสลงพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ ได้เห็นความสามารถและความเก่งกาจของผู้หญิงในชุมชนที่ห่างไกล โดยเฉพาะฝีมือในการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ SACICT จึงมุ่งเน้นให้สตรีเหล่านี้ได้สืบทอดภูมิปัญญาไว้ จึงเข้าไปส่งเสริมพัฒนาอย่างเต็มกำลัง
นำครูเข้าไปสอนเพื่อสร้างองค์ความรู้ นำการตลาดเข้าไปพัฒนา เพื่อจะดึงศักยภาพของสตรีเหล่านี้ออกมาอย่างเต็มที่ สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ สร้างรอยยิ้ม ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดความสำเร็จที่ตัวบุคคลแล้วสามารถขยายเป็นเครือข่าย กลายเป็นชุมชนหัตถกรรมที่สามารถประกอบอาชีพด้านงานหัตถกรรม เป็นแรงงานสตรีคุณภาพ กลายเป็นพลังที่เข้มแข็งของผู้หญิงในการพัฒนาท้องถิ่นให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ประภาภรณ์ โจมแพง อาสาสมัครแรงงาน ประจำตำบลนาถ่อน จ.นครพนม สตรีดีเด่น สาขาเครือข่ายอาสาสมัครแรงงานดีเด่น เล่าถึงการทำงานว่า ใช้แนวคิดจิตอาสาเข้ามาไปพูดคุย ช่วยเหลือคนในหมู่บ้านเรา พื้นทึ่ใกล้ๆเราก่อน ดูว่าเขาขาดอะไร จะประสานให้หน่วยงานภาครัฐหน่วยใดเข้าไปช่วยเหลือได้ ทั้งที่เป็นแรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ ทำอย่างไรให้กลุ่มแรงงานมีรายได้ มีเงินเลี้ยงดูครอบครัวให้อยู่ดีกินดี ช่วงไหนทำเกษตรไม่ได้ ก็ประสานหาโครงการของรัฐที่เป็นการจ้างงานเร่งด่วน หรือโครงการพัฒนาทักษะฝีมือ หรือหลักสูตรอบรมต่าง ๆ เช่น ช่างเสริมสวย การปูกระเบื้อง อยากให้คุณภาพชีวิตคนในชุมชนได้ลืมตาอ้าปากได้ วันนี้ได้มาพบปะกับสตรีดีเด่นท่านอื่น ๆ ได้พูดคุยหาแนวทางในความร่วมมือระหว่างกันในการช่วยเหลือชาวบ้านและชุมชน ขยายเป็นเครือข่ายสตรีที่เข้มแข็ง

ปิดท้ายที่ กมลชนก ธีสุระ สตรีดีเด่น สาขาสตรีผู้ปฏิบัติการภาคเอกชนดีเด่น บอกว่า เป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาบุคลากรงานอ้อย บ.รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด จ.ชัยภูมิ สิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องคือการดูแลแรงงานภายในโรงงาน และรวมไปถึงต้นน้ำอย่างแรงงานภาคการเกษตรในไร่อ้อย ซึ่งต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ไม่ใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานผิดกฎหมาย มีโครงการช่วยเหลือชุมชนรอบโรงงาน ดูแลครอบครัวของแรงงานควบคู่ไปด้วย เช่น การจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กเพื่อดูแลลูกหลานแรงงาน จัดอบรมพัฒนาอาชีพให้ครอบครัวแรงงาน โดยยึดหลักปฏิบัติในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด

มุมมองของผู้หญิงเก่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นพลังที่อยู่ในตัวสตรีทุกคน นอกจากร่วมภาคภูมิใจแล้วคนในสังคมจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญของสตรี ด้วยการให้เกียรติและเคารพในสิทธิ อันชอบธรรมในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยความเสมอภาค ยุติธรรม และเท่าเทียม เพื่อให้เกิดการผสานพลังที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้า



Comments are closed.

Pin It