ในไตรมาสแรกของปี 2562 ลอรีอัล กรุ๊ป ยังคงรักษาจังหวะการเติบโตที่ต่อเนื่องมาจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ไว้ได้ ด้วยการทำยอดขายที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งถึง 7.7%1 โดยกลุ่มธุรกิจที่ขับเคลื่อนเบื้องหลังการเติบโตอันทรงพลังนี้ยังคงเหมือนกับตามที่ได้มีการคาดการณ์ไว้เมื่อปี 2561 นั่นคือแผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง และแผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง นอกจากนั้นยังรวมถึงกลุ่มสินค้าสกินแคร์ การเติบโตในเอเชีย อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจค้าปลีกท่องเที่ยว นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าผลประกอบการที่แบ่งตามแผนกและพื้นที่มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในตลาดที่มีความแตกต่างกันมาก
แผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง (L’Oréal Luxe) มีผลงานที่โดดเด่นในตลาดระดับบน นำโดย 4 แบรนด์ใหญ่ในเครืออย่าง ลังโคม, อีฟ แซงต์ โลร็องต์, จิออร์จิโอ อาร์มานี และ คีลส์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มียอดขายที่เพิ่มขึ้นสูงกว่า 15% อีกทั้งยังเติบโตอย่างมากในเอเชีย ขณะที่แผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง (Active Cosmetics) ก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน โดยทำยอดขายเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก ส่วนยอดขายในแผนกผลิตภัณฑ์อุปโภค (Consumer Products) ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับแผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ (Professional Products) นับว่ามีความคืบหน้าในตลาดที่อยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทาย
เมื่อพิจารณาในระดับภูมิภาคแล้ว ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่เอเชียแปซิฟิก ซึ่งกลายเป็นโซนอันดับแรกของบริษัทฯ โดยเป็นโซนที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเพียงแค่ในจีนเท่านั้น แต่ยังเติบโตได้ดีในอินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซียด้วย ซึ่งโซนนี้ล้วนแล้วแต่ทำยอดขายทะยานขึ้นในอัตราเลขสองหลัก ในทางกลับกัน ยอดขายในไตรมาสแรกของอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตกนั้นเติบโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ช่องทางอีคอมเมิร์ซและค้าปลีกท่องเที่ยว (travel retail) ยังคงเติบโตอย่างดีเยี่ยม โดยธุรกิจอีคอมเมิร์ซมียอดขายเพิ่มขึ้น 43.7% ขึ้นแท่นช่องทางขับเคลื่อนอันทรงพลังในทุกแผนกและภูมิภาค ส่วนธุรกิจค้าปลีกท่องเที่ยว ซึ่งทำยอดขายสูงกว่า 2 พันล้านยูโรเมื่อปี 2561 นั้น ยังคงเดินหน้าเติบโตอย่างรวดเร็ว
“แม้ว่า สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจจะมีความผันผวน ไม่แน่นอน และมีสภาวะแตกต่างกันในหลากหลายตลาด แต่จุดเริ่มต้นที่ดีในปีนี้ทำให้เรามั่นใจในศักยภาพที่จะทำผลงานของลอรีอัล กรุ๊ป ให้โดดเด่นเหนือบริษัทอื่นๆ ในปี 2562 และได้เห็นยอดขายและกำไรเติบโตต่อไปอีกปีหนึ่ง” มร. ฌอง-พอล แอกง ประธานกรรมการและซีอีโอของลอรีอัล กรุ๊ป กล่าว
สรุปยอดขายไตรมาส 1 ปี 2562 เมื่อแบ่งตามแผนกธุรกิจ
– แผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ เติบโต +2.2%
– แผนกผลิตภัณฑ์อุปโภค เติบโต +3.0%
– แผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง เติบโต +14.2% ซึ่งทำผลงานได้ดีกว่าตลาดในตลาดเฉพาะกลุ่มซึ่งมีความคึกคัก
– แผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยทะยานขึ้นในอัตราเลขสองหลังที่ +13% ได้อีกไตรมาส
สรุปยอดขายไตรมาส 1 ปี 2562 เมื่อแบ่งตามภูมิภาค
ยุโรปตะวันตก
ยุโรปตะวันตกมีอัตราการขยายตัว +1.1% ในตลาดที่ค่อนข้างจะซบเซา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหราชอาณาจักร
อเมริกาเหนือ
อเมริกาเหนือมีอัตราการขยายตัว +1.2%
ตลาดใหม่
เอเชียแปซิฟิก: อัตราการขยายตัวในเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ +23.2% ซึ่งทุกแผนกมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งโดยเฉพาะในแผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูงและแผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง โดย ลอรีอัล กรุ๊ปมุ่งที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับจุดยืนของแบรนด์ในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดมีความคึกคักสูง นอกจากนี้ การเติบโตของบริษัทฯยังมีความแข็งแกร่งในตลาดอีกหลายแห่งในเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนของแบรนด์นั้น อีฟ แซงต์ โลร็องต์ และ จิออร์จิโอ อาร์มานี รวมถึงแบรนด์สกินแคร์ระดับพรีเมี่ยมอื่นๆ มีการขยายตัวที่แข็งแกร่งที่สุด สำหรับแบรนด์สไตล์นันดะ ซึ่งทางลอรีอัลได้เข้าซื้อกิจการไปเมื่อเดือนมิ.ย. 2561 นั้นได้เปิดตัวไปในตลาดจีน และกลายเป็นแบรนด์หลักที่เร่งการเติบโตให้กับแผนกผลิตภัณฑ์อุปโภค
ละตินอเมริกา: อัตราการขยายตัวในละตินอเมริกาอยู่ที่ +4% โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายที่ฟื้นตัวขึ้นในบราซิล
ยุโรปตะวันออก: อัตราการขยายตัวในยุโรปตะวันออกอยู่ที่ +7.1%
แอฟริกาและตะวันออกกลาง: อัตราการขยายตัวในแอฟริกาและตะวันออกกลางอยู่ที่ -1.0% โดยตลาดในตะวันออกกลางยังคงมีความท้าทายอยู่มาก โดยเฉพาะในแผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง
What's News
Comments are closed.