Travel

Lady Journey ชวนสาวๆ แบกเป้เรียนรู้วิถีไทยที่ “น่าน-แพร่”

Pinterest LinkedIn Tumblr


เทรนด์สาวๆ แบกเป้ พาสองเท้าคู่ใจไปท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ กำลังอินเทรนด์สุดๆ วันนี้เลยขอพาไปทริป 3 วัน 2 คืน ของโครงการ Lady Journey 2558 “A Touch of Thainess เรียนรู้ภูมิปัญญาไทยสู่วิถีไทย” โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ในเส้นทาง จ.น่าน-แพร่ “วิถีไทย-ศิลปหัตถกรรมไทย” พาสาวๆ ไปใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ตระเวนชมวัดสวย ขึ้นดอยชมธรรมชาติ สัมผัสวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมล้านนา

เริ่มเช้าแรกด้วยการบินตรงสู่ท่าอากาศยานดอนเมืองถึงน่านนคร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชม. เมื่อถึงกองทัพต้องเดินด้วยท้องเหล่าสาวๆ นักเดินทาง จึงตรงดิ่งไปเติมพลังกันก่อน ณ ร้านเฮือนฮอม ลิ้มลองความอร่อยอาหารของเมืองเหนือ บอกเลยว่าอร่อยและบรรยากาศดีสุดๆ

เมื่ออิ่มท้องก็ออกเดินทางต่อเพื่อตระเวนชมวัดสวยของ จ.น่าน เริ่มที่ “วัดภูมินทร์” วัดคู่บ้านคู่เมืองของน่าน สร้างขึ้นโดย เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2139 วัดนี้เป็นวัดที่แปลกกว่าวัดอื่นๆ คือ โบสถ์และวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกันและเป็นทรงจัตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” เป็นหนุ่มสาวในชุดแต่งกายแบบพม่า หรือแบบไทยใหญ่ในอิริยาบถยืนเคียงกัน ฝ่ายชายจับบ่าหญิงสาวและใช้มือป้องปากเหมือนกำลังกระซิบกระซาบถ้อยคำบางอย่างข้างๆ หู จนกลายเป็นภาพอีโรติกอันลือลั่น

ช่วงบ่ายเปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งรถรางชมเมืองเล็กๆ เพื่อเที่ยวชมโบราณสถาน สัมผัสวิถีชีวิตที่เรียบง่ายเ และเยี่ยมชม วัดศรีพันต้น อีกวัดหนึ่งที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม โดยเฉพาะ จิตรกรรมปูนปั้นพระยานาคพญาเจ็ดเศียรเฝ้าบันไดหน้าวิหารสีทองเหลืองอร่าม สวยงามตระการตา วัดสวนตาล โบราณสถานคู่เมืองน่านมากว่า 600 ปี เพลิดเพลินและสัมผัสบรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำน่าน

จากนั้นมาต่อกันที่ “วัดพระเกิด” วัดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี พร้อมลงมือทำ “ตุงค่าคิง” หรือธงกระดาษสาที่ยาวเท่าตัวเรา อันเป็นสัญลักษณ์แทนตัวบุคคลที่ใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีสืบชะตาหลวง ตามความเชื่อของชาวล้านนา โดยเชื่อกันว่าจะเป็นการช่วยเสริมบารมี สะเดาะเคราะห์ รับโชค เป็นสิริมงคลให้กับผู้ที่ทำถวาย

นั่งรถต่อเดินทางไปสักการะพระธาตุเก่าแก่บนยอดดอย ณ วัดพระธาตุเขาน้อย ซึ่งวัดนี้เราสามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่าน ถือเป็นจุดไฮไลต์สำหรับสาวๆ ที่ชอบแชะรูปกันเลยทีเดียว

ตกเย็นแวะดินเนอร์แสนเก๋ ณ ร้านปุ้ม 3 ที่เสิร์ฟหลากหลายเมนูซิกเนเจอร์ของเมืองน่าน เมื่ออิ่มท้องแล้วเดินทางเข้าสู่ที่พัก ณ โรงแรมภูหรรษาบูติค

เริ่มวันที่สอง ออกเดินทางสู่ โฮงเจ้าฟองคำ เรือนไม้โบราณอายุกว่า 200 ปี ในยุคก่อนเป็นบ้านของเจ้าขุนมูลนายมาหลายชั่วอายุคน เจ้าของเดิมคือ เจ้าศรีบุญมา หรือ เจ้าเวียงเหนือ สืบเชื้อสายมาจากเจ้าผู้ครองน่านในสมัยนั้น ต่อมากลายเป็นมรดกของลูกหลาน คือเจ้าฟองคำ จึงเป็นที่มาของ “โฮงเจ้าฟองคำ” ในปัจจุบัน ที่นี่เปิดให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว สามารถเข้าชมทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากการชมความเก่าแก่ของโฮงที่ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดีแล้ว ที่นี่ยังเปิดให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้เรื่องการทอผ้าพื้นเมืองอีกด้วย

เดินทางต่อไปสักการะ “พระธาตุแช่แห้ง” พระธาตุประจำปีเกิดปีเถาะ ณ วัดพระธาตุแช่แห้ง ปูชนียสถานที่สำคัญของเมืองน่าน มีอายุกว่า 600 ปี และพักรับประทานอาหารกลางวัน ณ ร้านอยู่ดีกินดี เมื่อเติมพลังมื้อกลางวันจนพร้อมแล้วเดินทางไปแจกความสดใส ที่ บ้านทุ่งโฮ้ง อ.เมือง จ.แพร่ กันต่อ

ถึง บ้านทุ่งโฮ้ง เริ่มกิจกรรมแบบแม่บ้านแม่เรือนตามฉบับสาวไทยเรียนรู้การย้อมผ้าม่อฮ่อมตามธรรมชาติ ที่ ศูนย์เรียนรู้การย้อมผ้าม่อฮ่อม จากนั้นเข้าพักที่ “โรงแรมเฮือนนานา บูติก” เพื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งกายพื้นเมืองแบบล้านนา ไปรับประทานอาหารค่ำแบบขันโตก ที่ บ้านวงศ์บุรี สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2440 โดย เจ้าพรหม (หลวงพงษ์พิบูลย์) และ เจ้าสุนันตาวงศ์บุรี เป็นบ้านไม้สัก 2 ชั้นแบบยุโรปประยุกต์ จุดเด่นของอาคารคือ มีลวดลายเถาไม้แกะสลักประดับตัวบ้าน เช่น หน้าจั่ว ชายคา ระเบียงช่องลมและประตู ภายในบ้านตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ของตระกูลที่ตกทอดสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุ

เช้าวันสุดท้าย ตื่นเช้าแบบสดใส เดินทางมาที่ อ.ลอง เข้าชม พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ ก่อตั้งโดย อ.โกมล พานิชพันธ์ นักสะสมผ้าโบราณชาว อ.ลอง ได้สะสมผ้าโบราณชนิดต่างๆ ของเมืองลอง และผ้าโบราณของชุมชนต่างๆ ใกล้เคียง ภายในพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนต่างๆ อาทิ จิตรกรรมเวียงต้า จัดแสดงงานจิตรกรรมสีฝุ่นบนแผ่นไม้ที่ประกอบเป็นฝาผนังของช่างพื้นบ้านในอดีต ผ้าโบราณเมืองลอง จัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกของกลุ่มไทโยนก “เมืองลอง” ผ้าซิ่นตีนจกจากแหล่งต่างๆ จัดแสดงผ้าจกในเชิงเปรียบเทียบ เพื่อให้ได้รู้และเห็นถึงความแตกต่างกันของผ้าตีนจกจากแหล่งอื่น เป็นต้น

นอกจากผ้าโบราณแล้ว ยังมีการจัดแสดงผ้าที่ได้รับรางวัลจากการประกวดทั้งในและต่างประเทศ ผ้าที่ทอขึ้นใหม่ในโอกาสพิเศษหรือเพื่อการสะสม รวมถึงเครื่องแต่งกายจากละครและภาพยนตร์ ที่อาจารย์โกมลรับผิดชอบในการจัดหาเครื่องแต่งกายให้นักแสดง เช่น สุริโยทัย, รอยไหม เป็นต้น

ปิดทริปด้วยการไหว้พระที่ พระธาตุช่อแฮ วัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง จ.แพร่ และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดปีขาล โดยมีคำกล่าวว่า “ถ้ามาเที่ยว จ.แพร่ แต่ไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮเหมือนไม่ได้มา จ. แพร่” สุขใจกันเต็มที่แล้วเตรียมตัวออกเดินกลับกรุงเทพฯ โดยสายการบินนกแอร์เที่ยวบินที่ DD 8005 และเดินทางถึงท่าอากาศยานดอนเมือง

แม้จะแค่ 3 วัน 2 คืน แต่ก็คุ้มค่าสุดๆ แน่นอน น่านเป็นเมืองที่ไม่ว่าใครที่ไปจะต้องหลงใหลในเสน่ห์ของความเรียบง่าย และหลงรักเมืองน่านอย่างถอนตัวไม่ขึ้น นอกจากเราจะได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมของเมืองล้านนา เรายังได้พักกายพักใจชาร์จแบตเติมพลังให้ตัวเองอีกด้วย







Comments are closed.

Pin It