Lifestyle

ไอเดียง่ายๆ เปลี่ยนขยะให้เป็น “สวนผักแนวตั้ง”

Pinterest LinkedIn Tumblr


>>เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ขยะ’ ใครๆ ต่างก็ต้องร้องยี้ มีแต่ความคิดแง่ลบผุดขึ้นมานับไม่ถ้วน น้อยคนนักที่จะรู้สึกดีและเห็นถึงคุณค่าของขยะ แต่หากลองปรับความคิดพลิกมุมมอง หันกลับมามองขยะในมุมใหม่ ก็คงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถเปลี่ยน ‘ขยะไร้ค่า’ กลับมาเป็น ‘สิ่งของที่ใช้ประโยชน์’ ได้อีกครั้ง เอ็ม บี เค กรุ๊ป จัดเวิร์กชอป ‘Start Green : DIY สวนผักแนวตั้ง’ ปลูกผักจากบรรจุภัณฑ์เหลือใช้ โดยมี นายธนวัติ มณีนาวา หรือ เป๋ ทำดะ นักออกแบบผลงานจากสิ่งของเหลือใช้ พร้อมด้วย นายนคร ลิมปคุปตถาวร หรือ ปริ๊นซ์ เจ้าชายผัก ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกผักปลอดสารพิษ มาร่วมเนรมิตสวนผักแนวตั้ง

กนกรัตน์ จุฑานนท์ กล่าวว่า “บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นสานต่อโครงการ ‘REAL RECYCLER รักษ์โลกจริง เลิกทิ้ง เลิกเท การปลุกกระแสชุมชนและสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ พร้อมทั้งจุดประกายไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ในการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ โดยในปีนี้เอ็ม บี เค กรุ๊ป ได้จัดกิจกรรมเวิร์กชอป ‘Start Green : DIY สวนผักแนวตั้ง’ เพื่อส่งต่อความรู้การจัดการปัญหาขยะล้นเมืองอย่างสร้างสรรค์สู่ชุมชนเมืองในเขตปทุมวัน โดยการนำบรรจุภัณฑ์เหลือใช้ หรือของเก่าที่มีอยู่ภายในบ้านมาดัดแปลงและสร้างสรรค์ให้กลายเป็นสวนผักปลอดสารพิษแนวตั้งที่ใช้พื้นที่น้อย นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะในชุมชนและสังคมแล้ว ผักปลอดสารพิษที่ได้ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดี และเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอีกด้วย”

ธนวัติ มณีนาวา หรือ เป๋ ทำดะ นักออกแบบผลงานจากสิ่งของเหลือใช้รอบตัว เจ้าของเพจ TUM:DA หนึ่งในวิทยากรที่มาส่งต่อความรู้การสร้างสรรค์ขวดน้ำพลาสติกเป็นสวนผักแนวตั้ง กล่าวว่า “แนวคิดหลักของการจัดสวนแนวตั้งทั่วไปนั้น เกิดขึ้นจากการออกแบบที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยในพื้นที่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวิถีชีวิตคนเมืองในปัจจุบัน ที่ต้องมองหาวิธีใช้สอยประโยชน์อย่างสูงสุดจากพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ผสมผสานกับแนวคิดส่วนตัวที่ว่า ขยะที่ใครๆ ทิ้งมา หรือ ของที่ถูกละเลยวางทิ้งไว้อย่างไม่มีใครสนใจ บางอย่างนั้นยังมีประโยชน์แฝงอยู่และสามารถเปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่ได้ ด้วยเคล็ดลับในการออกแบบง่ายๆ เพียงแค่สังเกตจุดเด่นของวัสดุนั้น แล้วนำมาประดิษฐ์ต่อยอดให้สอดคล้องกับประโยชน์การใช้งานของมัน จากนั้นจึงเพิ่มไอเดียเก๋ไก๋ลงไป เช่น กรวยกรอกน้ำ ที่มีรูสำหรับระบายน้ำได้ดี เมื่อนำมาเรียงต่อกันในแนวตั้ง ก็จะสามารถรดน้ำให้ทั่วถึงได้ง่ายๆ จากการรดเพียงครั้งเดียว ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของวัสดุนั้นอย่างเต็มที่ แถมยังได้สิ่งใหม่ที่มีคุณค่าต่างไปจากเดิมอีกด้วย”

สวนผักแนวตั้ง DIY สไตล์ TUM:DA

การจัดสวนผักแนวตั้ง เริ่มจากการมองหาภาชนะที่สามารถอุ้มดินและระบายน้ำได้ อย่าง กรวยกรอกน้ำ ตะกร้า หรือ ขวดน้ำพลาสติก ซึ่งเวิร์กชอปนี้จะเปลี่ยนขวดน้ำพลาสติกให้เป็นสวนผักแนวตั้งดีไซน์เก๋ได้ตามขั้นตอน ดังนี้

1. นำขวดน้ำพลาสติก ขนาดประมาณ 500 มิลลิลิตร พร้อมฝา เจาะช่องเปิดด้านข้างขนาดความกว้างเพียงพอสำหรับใส่ดินและเพาะปลูกผักได้ 1 ด้าน และเจาะรูระบายน้ำเล็กๆ ที่ด้านข้างของขวดในฝั่งตรงข้ามช่องเปิด โดยที่จำนวนรูระบายน้ำนี้จะขึ้นกับตามความต้องการน้ำของผักที่ปลูก

2. นำแผ่นไม้เคลือบกันน้ำมาเจาะรูขนาดเท่ากับปากขวดน้ำ โดยที่จำนวนรูขึ้นอยู่กับปริมาณขวดที่ต้องการ พร้อมกับเจาะรูเล็กๆ สำหรับการร้อยเชือก (สามารถใช้กระดาษลูกฟูก หรือ ฟิวเจอร์บอร์ด ที่เคลือบกันน้ำแล้วแทนแผ่นไม้ได้)

3. ประกอบขวดน้ำพลาสติกเข้ากับแผ่นไม้ โดยใส่ปากขวดน้ำพลาสติกเข้าไปในรูบนแผ่นไม้ จากนั้นหมุนปิดฝาขวดน้ำเข้ากับปากขวด เพื่อล็อกให้ขวดน้ำพลาสติกติดอยู่กับแผ่นไม้ ขั้นตอนนี้สามารถดีไซน์การจัดเรียงขวดน้ำเป็นลวดลายที่ชอบได้ และสามารถประกอบขวดน้ำได้บนแผ่นไม้ทั้งสองฝั่ง หรือฝั่งเดียวตามต้องการ

4. ร้อยเชือกเข้ากับแผ่นไม้ เพื่อใช้สำหรับการแขวนลอยอิสระ หรือแขวนติดผนังตามต้องการ

เคล็ด(ไม่)ลับการปลูกผักปลอดสารพิษสไตล์เจ้าชายผัก

นคร ลิมปคุปตถาวร หรือ ปริ๊นซ์ เจ้าชายผัก ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกผักปลอดสารพิษ กล่าวถึงเคล็ดลับการปลูกผักแบบสวนแนวตั้งไว้ ดังนี้

1. สวนผักแนวตั้ง…ปลูกผักแบบไหนดี

ผักที่เหมาะสำหรับการปลูกแบบสวนแนวตั้งลักษณะนี้ ได้แก่ ผักเครื่องปรุงสำหรับโรยหน้าอาหาร และผักทานยอดหรือใบ อาทิ ต้นหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย ต้นอ่อนผักบุ้ง ต้นอ่อนทานตะวัน ผักวอเตอร์เครสหรือผักสลัดน้ำ

2. ดินดี…เป็นหัวใจสำคัญของการปลูกพืชผักทุกชนิด

ดินดีคือดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ โดยเลือกดินที่อยู่บริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่เนื่องจากมีสารอาหารและแร่ธาตุตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ถ้าหากไม่สามารถหาดินดีตามธรรมชาติได้ให้เลือกซื้อดินผสมใบไม้ อย่าง ดินผสมใบก้ามปู ซึ่งดินที่ดีมักมีกลิ่นไอฝนเจืออยู่ นอกจากนี้ให้เลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยธรรมชาติ อย่าง ปุ๋ยมูลไส้เดือนก็ได้ โดยผสมดินและปุ๋ยในอัตราส่วน 3 : 1 เท่านี้ก็จะได้ดินดีที่พร้อมปลูกผักแล้ว

3. ผักก็มีหัวใจ…ต้องเอาใจใส่ตามความชอบ

เพราะผักแต่ละชนิดมีความชอบไม่เหมือนกันจึงต้องการการดูแลเอาใจใส่ที่แตกต่างกันด้วย อาทิ การปลูกต้นหอม ก่อนการนำต้นหอมไปปลูกลงดิน ควรนำบริเวณรากของต้นหอมไปแช่น้ำเป็นเวลา 1 วัน จะช่วยให้ต้นหอมเติบโตได้ดียิ่งขึ้น ส่วนการปลูกผักประเภทต้นอ่อนที่ปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ เป็นการปลูกที่ค่อนข้างมีความอ่อนไหวง่าย หลังจากใส่ดินที่ผสมสำหรับปลูกลงไปในขวดพลาสติกแล้วให้โรยปิดหน้าดินด้วยดินละเอียด หรือขุยมะพร้าวละเอียดก่อน แล้วจึงนำเมล็ดพันธุ์มาโรยโดยไม่ให้ซ้อนทับกัน จากนั้นโรยดินหรือขุยมะพร้าวละเอียดเพื่อกลบเมล็ดพันธุ์อีกครั้งแล้วรดน้ำให้ชุ่ม วิธีนี้จะช่วยให้ต้นอ่อนดังกล่าวเจริญเติบโตได้ดีกว่าการปลูกตามปกติ

“การปลูกผักกินเอง นอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังได้อาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ รู้จักที่มา รู้กระบวนการผลิต และได้ผักปลอดสารพิษที่สดเหมือนมีซูเปอร์มาร์เกตอยู่ในบ้าน อีกทั้งงานปลูกผักยังเป็นงานที่ทำให้หลายๆ คนหันมาดำเนินชีวิตในแบบพึ่งพาตนเอง ด้วยพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ส่วนตัวในบ้านแบบนี้ที่จะสร้างความสุขอย่างยั่งยืนให้แก่เราทุกคนได้”

Comments are closed.

Pin It