>>ใครหลายคนอาจจินตนาการภาพของนักอนุรักษ์เอาไว้ว่าต้องใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ป่าเขา และ สัตว์ป่า ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับผู้คนมากมาย มีความสุขอยู่ในโลกที่ตัวเองรัก …แต่ในมุมกลับกัน หน้าที่ของนักอนุรักษ์อย่าง ศศิน เฉลิมลาภ กลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ภายในงานเทศกาลบางกอกแหวกแนว 2018 ศศิน เฉลิมลาภ ปรากฏตัว พร้อมเล่าถึงผลงานเขียน “ผมทำงานให้พี่สืบ บันทึกการทำงานอนุรักษ์ป่าของ ศศิน เฉลิมลาภ ในมูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ซึ่งเป็นบันทึกส่วนตัวเพื่อบอกเล่าการทำงานอนุรักษ์ที่ต้องต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคนานาตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านอย่างอารมณ์ดี แม้ว่าแต่ละงานจะดูยากลำบากจนเลือดตาแทบกระเด็น
อาจารย์ ศศิน เฉลิมลาภ ค่อยๆอธิบายให้ฟังว่า “มันค่อนข้างอธิบายยากว่าหน้าที่ของผมคืออะไร จะบอกว่าคอยคัดค้านอะไรก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อผืนป่า คนทั่วไปก็คงจะเข้าใจยากไปสักหน่อย ฉะนั้นภายในหนังสือเล่มนี้จะบอกทุกอย่างว่าผมทำอะไร และมูลนิธิสืบฯ ทำอะไร แต่ละขั้นตอนต้องทำอะไร ในการคัดค้านอะไรอย่างหนึ่ง หน้าที่ของผมคือการอ่านข้อมูลจากเอกสาร และชำแหละข้อเท็จจริงออกมา เพื่อเอาไปต่อสู้ ทำตัวเองเป็นกระบอกเสียง สร้างพื้นที่ข่าว เพื่อให้มีน้ำหนัก เวลาที่เราต้องไปเจรจา โดยเฉพาะกับหน่วยงานต่างๆ หรือชาวบ้าน จริงๆ แล้วผมแทบไม่ได้อยู่ในป่าเลย ลงพื้นที่น้อยมาก เพราะชีวิตส่วนใหญ่คือหาข้อมูล อ่าน วิเคราะห์ ข้อเท็จจริงจากเอกสารกองมหึมา ออกมาทีละบรรทัด พอได้ข้อเท็จจริงจากการข้อมูลต่างๆมาแล้วถึงเอาไปคัดค้านต่อสู้ ผมต้องพบกับคนมากมายที่ดูแต่จะมีความขัดแย้ง และหวังแต่ผลประโยชน์ แต่นั่นแหละคือสิ่งที่ผมต้องจัดการ”
“ภายในมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จริงๆแล้วเราก็ทำกันหลายเรื่อง แต่เรื่องใหญ่คือการคัดค้านทำถนน ค้านเขื่อน จัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับป่า ส่งเสริมอาชีพให้คนในพื้นที่ที่เป็นมิตรกับผืนป่า ซึ่งผมไม่ใช่นักอนุรักษ์แบบที่ไปปลูกต้นไม้ หรือวิจัยสัตว์ป่า แต่เราทำในแง่ผลักดันเชิงนโยบาย ซึ่งโครงการหนึ่งก็ไม่ได้ทำสั้นๆ แต่มันเป็นระยะยาว 10-20 ปีก็มี แค่ 1 โครงการก็ทำกันเกือบครึ่งชีวิตไปแล้ว ฉะนั้นคนจะมาทำงานด้านนี้ก็ต้องใจรักจริงๆ เพราะอยู่ๆ วันดีคืนดีจะมาลาออก มันก็ต้องเริ่มกันใหม่”
“อีกอย่างงานอนุรักษ์ของผมคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ข้อมูลของเราได้ลงหนังสือพิมพ์ ได้ออกสื่อสาธารณะ สมัยนั้นก็ต้องเป็นหนังสือพิมพ์ ฉะนั้นเราจึงพานักข่าวไปทำข่าว เพื่อให้เกิดข่าว เพราะพอมีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับพร้อมกัน มันจะมีน้ำหนัก ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเห็นจะได้รู้สึกว่ามีความสำคัญต้องเร่งจัดการ” อาจารย์ศศิน กล่าว
เมื่อถามถึงว่า หนังสือ “ผมทำงานให้พี่สืบ บันทึกการทำงานอนุรักษ์ป่าของ ศศิน เฉลิมลาภ ในมูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ให้แง่คิดอะไรบ้างกับผู้อ่าน นี่คือคำตอบของนักอนุรักษ์คนนี้
“หากใครสนใจจะทำงานด้านการอนุรักษ์ หรือใครก็ตามที่อยากรู้ว่านักอนุรักษ์ทำงานอะไร ก็ให้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดู ซึ่งจะบอกว่า นักอนุรักษ์ต้องทำอะไรบ้าง โดยนำมาจากชีวิตการทำงานของผม ทั้งประสบการณ์และแนวคิดการทำงาน เนื้อหาภายในเล่มก็เกี่ยวกับโครงการหลักๆ คือการค้านเขื่อนแม่วงก์ ที่ผมทำมาเป็น 10 ปี ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในปี พ.ศ. 2547 สิ่งที่ผมได้เจอ ผมรับมือและจัดการปัญหาเหล่านั้นอย่างไร จนมาถึงปี พ.ศ. 2556 ที่ตัดสินใจเดินคันเขื่อนแม่วงก์ ต่อสู้จนสามารถยุติสร้างเขื่อนแม่วงก์ได้ในที่สุด”
“สุดท้ายอยากจะฝากว่า หน้าที่อนุรักษ์พื้นป่า เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นของทุกคน แต่คนมีอำนาจตัดสินใจ ผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นสำคัญยิ่งกว่า ฉะนั้นคนในสังคมจะช่วยอย่างไร ก็ต้องสนใจใส่ใจคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่หลักของการอนุรักษ์ก่อน เช่น รัฐบาลจะจัดสรรใครเข้ามาเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ก็ต้องดูว่าคนนี้มีแนวคิดยังไงเรื่องอนุรักษ์ เป็นฝ่ายไหน ไม่ใช่เข้ามาดำรงตำแหน่งแล้วก็เสนอทำกระเช้าขึ้นภูกระดึง เพราะตัวเองมาจากสาย สส. นี่แหละคนในสังคมต้องพิจารณาว่าถูกต้องไหม เพราะหากคนในรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไมมีใจอนุรักษ์จริง ต่อให้คนในสังคมจะอนุรักษ์อย่างไรมันก็ไม่เกิดประโยชน์ ฉะนั้นแล้วใครต่างหากที่จะเข้ามาดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้ประเทศจึงสำคัญยิ่งกว่า” อาจารย์ศศิน กล่าวทิ้งท้าย
นับเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่คุณสืบ นาคะเสถียรจากไป อีกไม่นานกำลังจะครบรอบ 30 ปีมูลนิธิสืบนาคะเถียร ซึ่งอาจารย์ศศิน ผู้ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของมูลนิธิฯ จึงกำลังวางแผนโครงการในอนาคตอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นอย่างที่บอกไปข้างต้น พวกเราในฐานะคนในสังคม สิ่งที่ทำได้คือสนับสนุนคนที่ทำงานด้านอนุรักษ์อย่างแท้จริง ให้มีกำลังทำงานกันต่อไป หากใครที่ต้องการสนับสนุนสามารถติดต่อที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร หากอยากเรียนรู้ชีวิตจริงของนักอนุรักษ์ อยากให้ลองอ่าน ผมทำงานให้พี่สืบ บันทึกการทำงานอนุรักษ์ป่าของ ศศิน เฉลิมลาภ ในมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดพิมพ์และจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ วางจำหน่ายแล้วตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ ในราคา 265 บาท
Comments are closed.