Lifestyle

เทคนิคดูแลสัตว์เลี้ยงแสนรัก เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

Pinterest LinkedIn Tumblr


หลังจากที่ พาราไดซ์ พาร์ค เปิดพื้นที่เอาใจคนรักสัตว์ทั้งน้องหมาและน้องแมวกับแฟชั่นโชว์สุดเก๋ไก๋ และเปิดโอกาสให้ได้สัมผัสประสบการณ์ แปลกใหม่กับเหล่าสัตว์ Exotic Pet แบบใกล้ชิด อาทิ ถ่ายรูปคู่กับงูเหลือม สีเหลืองทอง นกฮูกหลายสายพันธุ์ นกแก้วมาคอว์สีสันสดใส และแมวอังกอร์ รวมทั้งกระทบไหล่สุนัขพุดเดิ้ล “น้องลิ้นจี่” ที่มาโชว์ความสามารถมากมาย จนได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมรอบเวที ในงาน “Pet Lover” ที่จัดขึ้น ณ ลานรอยัล พาร์ค พลาซา ไปเมื่อวันก่อน


ยังมีกิจกรรมให้ความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการดูแลสัตว์เลี้ยงให้มีความสุขและสุขภาพดี แม้ว่าสภาพอากาศเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงบ่อยอีกด้วย โดยได้รับเกียรติจากสัตวแพทย์ประจำสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ นายสัตว์แพทย์ วสุธร ดังวัธนาวณิชย์ (หมอเตเต้) มาแนะวิธีสังเกตสัตว์เลี้ยงแสนรักในงานครั้งนี้ว่า “เมื่อสภาพอากาศร้อน ให้เจ้าของวัดจากความรู้สึกของตัวเองก่อนว่าเมื่ออากาศร้อนขึ้น เราจะรู้สึกอึดอัดและหงุดหงิดง่าย ซึ่งสัตว์เลี้ยงก็มีความรู้สึกแบบนั้นเช่นกัน บางตัวจึงแสดงออกด้วยอาการก้าวร้าว บางตัวมีอาการหอบ หายใจแรง จากปกติที่จมูกของสัตว์จะมีความชื้นเล็กๆ แต่ไม่มีน้ำมูก หากผิดปกติจมูกจะแห้งและมีการหลั่งของน้ำลายที่เหนียวยืดออกมา และมีอัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วขึ้น สูงขึ้น”

“วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนพาไปพบสัตว์แพทย์ เมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติ เช่น อาการหอบ ขอแนะนำว่า เจ้าของควรจะมีปรอทวัดไข้สัตว์เลี้ยงไว้เก็บสักอัน จะช่วยได้มากโดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน เพราะจะรู้ได้ทันทีว่าอุณหภูมิร่างกายของสัตว์เลี้ยงเพิ่มสูงกว่าปกติ สามารถนำผ้าชุบน้ำเย็นมาเช็ดตัวให้ แต่จะไม่ใช้น้ำแข็งเย็นจัดมาราดตัวเด็ดขาด เพราะจะทำให้เส้นเลือดของสัตว์เลี้ยงจะหดตัว และกักเก็บความร้อนไว้ภายในร่างกาย เมื่อเช็คว่าอุณหภูมิร่างกายลดลงแล้ว ค่อยพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตว์แพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป”

“ซึ่งโรคที่มากับอากาศร้อนมีอยู่ 4 โรคหลักๆ ดังนี้ 1. โรคพิษสุนัขบ้า 2. โรคลมแดด หรือ ฮีสโตรก 3. ไข้หวัด 4. พยาธิเม็ดเลือด เพราะมีพาหะนำโรคคือยุง ซึ่งยุงจะแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมากในช่วงหน้าร้อน ซึ่งโรคเหล่านี้หากสัตว์เลี้ยงไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นสม่ำเสมอ ทุกปีก็จะมีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไวรัส ซึ่งสามารถป้องกันไวรัส ในเบื้องต้นด้วยการฉีดวัคซีน”

“ส่วนโรคพบบ่อยในหน้าฝนมีอยู่ 5 โรคหลักๆ ได้แก่ 1. โรคฉี่หนู หรือ เลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) 2. โรคพยาธิหนอนหัวใจ 3. โรคพยาธิเม็ดเลือด ที่มีพาหะมาจากเห็บ 4. โรคทางระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด หลอดลมอักเสบ 5. โรคผิวหนังอย่างเชื้อรา โดยมีหลักการดูแลง่ายๆ ดังนี้ 1. ให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม อากาศไม่ร้อนจัดหรือเย็นจัด 2. ระวังเรื่องการกินน้ำจากแหล่งสะสมเชื้อโรค เช่น แอ่งน้ำที่มีน้ำท่วมขัง 3. หมั่นกำจัดพาหะนำโรค อย่างพวกยุง หนู และเห็บ 4. ระวังเรื่องความเปียกชื้น เพราะถ้าขนของสัตว์ไม่แห้งสนิท จะทำให้เกิดเชื้อราที่ผิวหนังได้”



Comments are closed.

Pin It