คอลัมน์ : โต๊ะน้ำหมึก
โลกแห่งวรรณกรรมสร้างสรรค์เป็นโลกใบใหญ่แห่งมนุษย์ชาติ ทว่า หากแยกย่อยลงมาเหลือเพียงสยามประเทศของเรานั้น ใครหลายคนคงต้องยอมรับความจริงในส่วนที่ว่า วรรณกรรมสร้างสรรค์ยังคงเป็นตลาดที่แคบ เฉพาะกลุ่ม และมีผู้สนใจในจำนวนไม่มากนัก และมักจะถูกเข้าใจด้วยลักษณะของหนังสืออ่านยากหรือน่าสนใจจากรางวัลที่พ่วงท้าย
หากจะกล่าวว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์อยู่ในความสนใจ “กระแสรอง” หรือค่อนไปทาง “ชายขอบ” ของสังคม ก็คงไม่เคลื่อนคล้อยไปจากความเป็นจริงเท่าไหร่นัก
คงไม่มีใครจะบอกกล่าวหรือย้ำเตือนใครได้หรอกว่า วรรณกรรมสร้างสรรค์นั้นมีพลังอำนาจและสำคัญต่อสังคมการอ่านของเราอย่างไร หากด้วยความเชื่อของ คอลัมน์โต๊ะน้ำหมึก ที่ยังคงให้ความสำคัญกับพลังของวรรณกรรมแนวสร้างสรรค์ สิ่งที่ทำได้เล็กๆ คงเป็นการแนะนำวรรณกรรมที่น่าสนใจ และตรงกับรสนิยมอ่านสนุกและเป็นกลุ่มนักเขียนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง ต้องออกตัวก่อนเลยว่า หนังสือทั้ง 5 เล่มที่หยิบมาแนะนำนี้ เป็นเพียงหยิบมือจากท้องทะเลแห่งหนังสืออันกว้างใหญ่เท่านั้น
เริ่มกันที่ 13 เรื่องสั้นประพันธ์จากเพลงเนื้อหาดี ดนตรีไพเราะ เหมาะอย่างยิ่งหากเปิดเพลงควบคู่กันไปกับ “อ่านออกเสียง” โดย เผ่าจ้าว กำลังใจดี จาก สนพ.นักพิมพ์แซลมอน เล่มนี้ อดีต บก.นิตยสาร Hamburger ได้นำเอาเนื้อเพลง13บทเพลง มาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเรื่อง เครดิตความสนุกครึ่งหนึ่งอาจต้องยกให้กับเนื้อเพลงต้นกำเนิดเรื่อง (เช่น There There/Radiohead, Somewhere Only We Know/Keane, Everybody Hurts/R.E.M.)
ทว่าอีกครึ่งหนึ่งซึ่งบรรจุอยู่ในเล่มนี้ เกิดจากฝีมือของเผ่าจ้าวในการคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจกับเนื้อเพลงในอีกมิติหนึ่งตามที่เผ่าจ้าวเข้าใจ ก่อนจะกลั่นกรองออกมาให้เป็นเรื่องสั้นที่คลี่คลายเนื้อหาของเพลง ให้เราเห็นคำตอบหรืออาจเป็นคำถามบางอย่างผ่านตัวละครในเรื่อง ด้วยสำนวนภาษาสไตล์ที่เต็มไปด้วยความสนุก ถ้าเป็นจังหวะดนตรีก็อาจชวนให้ผู้ฟังโยกหัวขยับขาตามท่วงทำนองได้ไม่ยาก และแม้เนื้อเรื่องหรือบทเพลงหลายเพลงจะไม่ใช่เพลงไทย ทว่า ตัวละครที่โลดแล่นอยู่ในเรื่องสั้นแต่ละตอนนั้น คลับคล้ายคลับคลาว่าจะวนเวียนอยู่ในชีวิตของเราทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่แน่คุณอาจพบเห็นตัวละครเหล่านั้น จ้องมองคุณอยู่ในกระจกก็เป็นได้
ขณะที่ ทานยาหลังอาหาร แล้วดื่มน้ำตามากๆ โดย จิราภรณ์ วิหวา จาก สนพ.แซลมอน ก็เป็นการรวม 12 เรื่องสั้น สำหรับบำบัดคนไม่ถนัดการฟูมฟาย เล่มนี้เป็นเรื่องสั้นเล่มแรกของ ผช.บก.สาวแห่งนิตยสาร a day ผู้ฝักใฝ่และให้ความสนใจในประเด็นของความสัมพันธ์
จิราภรณ์ เป็นนักเขียนหน้าใหม่ที่มีสำนวนภาษาเฉพาะตัว รวมถึงเนื้อหาที่มีกลิ่นเฉพาะ เรื่องเล่าของเธอเชื่อมโยงกับเหตุการณ์หลายสถานการณ์ ที่อยู่บนพื้นฐานความจริงคละกันไปกับความเหนือจริง บางเรื่องอ่านแล้วอึดอัด บางเรื่องอ่านแล้วอมยิ้ม เต็มไปด้วยเรื่องแปลกที่ไม่ธรรมดา ซึ่งจุดร่วมที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งของแต่ล่ะเรื่องราว คือความแตกร้าวและความเปราะบางของตัวละคร ที่ต่างก็อาศัยเกาะเกี่ยวอยู่ร่วมกันในสังคม ด้วยความสัมพันธ์ที่หลากหลาย ซึ่งต่างต้องระเนระนาดไปกับผลลัพธ์อันย่ำแย่ของความสัมพันธ์ที่พังพินาศ น่าแปลกที่บางตัวละครกลับเพิกเฉยในความโศกเศร้า ความผิดหวัง กระทั่ง เลือกเส้นทางมุ่งไปสู่หายนะของชีวิต หรือนี่จะเป็นเคล็ดบำบัดของผู้ไม่ถนัดการฟูมฟาย ก็อาจจะเป็นไปได้สินะ
ด้าน “ผลงานของนักเขียนถนัดซ้ายผู้ด้อยพัฒนา” โดย วรวิช ทรัพย์ทวีแสง จาก สนพ.เข้าใจพิมพ์ แค่ชื่อเรื่องก็ชวนให้ตีความกันแล้วสำหรับผลงานของนักเขียนหนุ่มผู้นี้ งานของ วรวิช มักชี้ชวนให้เราสงสัย ท้าทายกับเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความเบลอ ไม่ว่าจะสถานที่ เหตุการณ์ และการกระทำของตัวละครในเรื่อง และถึงแม้จะจับต้องได้ในบางส่วนว่าเหตุเกิดที่ไหน ใครทำอย่างไร แต่เรื่องยาวบ้างสั้นบ้างทั้ง 12 เรื่องของเขา ก็มักจะพาเราไปจบลงยังดินแดนอันเคว้งคว้างเสมอ
แต่นั่นกลับเป็นเสน่ห์อันเย้ายวน ชวนให้เรากะเทาะปอกเปลือกความหมายที่ถูกซ่อนไว้อย่างจงใจในระหว่างทาง บ้างเหนียมอายหลบซ่อน บ้างก็แสดงออกให้เห็นอย่างโจ่งแจ้ง ในระหว่างการเดินทาง ทั้งนี้ วรวิช ยังใจดีแบ่งพื้นที่ให้กับความผ่อนคลายของเรื่องสั้นในบางเรื่อง ที่หักมุมและเสียดสีสังคมมนุษย์ได้อย่างดุเดือด ความช่ำชองในภาษาและลีลาการเล่าเรื่องที่แหวกแนวอย่างมีชั้นเชิง
ส่วนใครที่เป็นแฟนหนังสือของ วิภว์ บูรพาเดชะ ต้องห้ามพลาดเรื่องสั้น “ห้วงคำหนึ่ง” จาก สนพ. อะบุ๊ค เล่มนี้เป็นการรวมเรื่องสั้นใน 10 ปี ของนักเขียนผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อ ตั้งแต่เป็น บก.นิตยสารศิลปะบันเทิง happening ผู้เป็นทั้งคอลัมน์นิสต์ นักแต่งเพลง บรรณาธิการ ผู้บริหาร และ “นักเขียน”
ใน “ห้วงคำหนึ่ง” ว่าด้วยหลากความหมายที่ร้อยเรียงอยู่ในคำหนึ่งๆ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในแต่ล่ะชื่อเรื่อง ที่เลือกใช้เพียงหนึ่งคำเท่านั้น และคอนเซ็ปต์ของการขยายความหมายในลักษณะนี้ ที่ชี้ชวนนำไปสู่การตีความเรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่อง ก็เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ถูกนำมาสื่อแทนคำเพิ่มเติม โดยเรื่องราวที่บรรจุอยู่ มีความหลากหลายไล่ตั้งแต่ความสัมพันธ์ ความอิสระ ความรัก กระทั่ง ประเด็นเรื่องชาติ ความสนุกของเล่มนี้ นอกจากภาษาอันไหลลื่นเฉพาะตัวของผู้เขียนแล้ว จึงอาจขึ้นอยู่กับนักอ่านแต่ละท่าน ที่จะสามารถมองเห็นและไขว่คว้าความหมายในลักษณะต่างๆ จากคำเพียงหนึ่งคำ
อีกหนึ่งผลงานนักเขียนหน้าใหม่ไฟแรง กตัญญู สว่างศรี กับเรื่องสั้น คำสาป โดย สนพ. นกเค้า เล่มนี้จะพาไปสัมผัสจินตนาการอันกว้างไกล ชวนให้เราค้นหาสัญลักษณ์และความหมายที่แฝงซ่อนอยู่ตามรายทาง ที่เต็มไปด้วยคำสาป
เรื่องราวเหนือจริงที่เกิดขึ้นท่ามกลางการใช้ชีวิตปกติของตัวละคร ทั้งหญิงสาวผู้ไม่อาจทนทานสายฝน คนขับรถเมล์ที่ขับรถพาผู้โดยสารไปสู่สถานที่แปลกประหลาดโดยไม่ตั้งใจ เหล่าผู้คนรอบคอนโดฯ ที่มีชีวิตอยู่กับการพูดคุยซุบซิบเรื่องลึกลับที่เกิดขึ้นในห้องๆ หนึ่ง รวมไปถึงชายหนุ่มที่จำเป็นต้องขับรถตลอดเวลา กระทั่งชายชราที่แก่ชราจนคนที่เขารู้จักได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว
ความประหลาดเหล่านี้ ส่งผลให้พวกเขาต้องเผชิญกับการตัดสินใจ หรือจำต้องดิ้นรนเพื่อให้หาหนทางหลุดพ้นออกจากอะไรบางอย่างเสมอ คล้ายกับว่าทุกคนต้องคำสาป และเมื่อสังเกตคำสาปและความประหลาดที่ปรากฏในเรื่องราวของ “กตัญญู” อย่างถี่ถ้วน จะพบการเสียดสีจากเนื้อหาที่หลากหลาย ตั้งแต่ วัฒนธรรม ศีลธรรม ชาติ ประชาธิปไตย การเข้าถึงความจริง การสื่อสาร
เรื่องเล่าซึ่งเต็มไปด้วยมายาคติ ที่ท้าทายให้เข้าไปตีความอยู่ไม่ขาด และประเด็นสำคัญที่สุด ซึ่งอาจย้อนกลับมาถึงเราทุกคนก็คือ หรือเราเองต่างหากที่อยู่กับความป่วยไข้จนชินชา หลงลืมที่จะหาทางถอนคำสาปให้กับชีวิตเสียแล้ว?
นี่คงเป็นพลังเล็กๆ น้อยๆ ในการส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้อ่านได้ลองหันมาลิ้มลองอะไรๆ ที่เขาเรียกว่า “วรรณกรรมสร้างสรรค์” ที่ทั้งสนุก ให้สาระ และกระตุ้นเร้าให้สนุกสนานไปกับการขบคิดในจินตนาการนั่นเอง…
Comments are closed.