ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันละครและภาพยนตร์แนวย้อนยุคของไทย มีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมให้คนไทยหันมาสนใจประวัติความเป็นมาของผ้าไทย เบื้องหลังลวดลายอันปราณีตอ่อนช้อย และวัฒนธรรมการแต่งกายในยุคสมัยต่าง ๆ ตลอดจนวัฒนธรรมการแต่งกายของไทยที่มีความผูกพันกับอินเดียมาตั้งแต่สมัยอยุธยา พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย จึงได้จัดกิจกรรมพิเศษต้อนรับเดือนสิงหาคมในชื่อ “Weaving Relations: A Shared Heritage of Indian & Thai Textile Culture” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๕ และเนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๕ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐอินเดีย
ภายในงานได้รับเกียรติจาก สุจิตรา ดูไร เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย และท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์ รองราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กล่าวเปิดงานพร้อมบอกเล่าถึงสานสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยและอินเดียที่มีมาช้านาน ก่อนจะเริ่มต้นงานด้วยการร่ายรำอันมีเสน่ห์ของชาวอินเดียในชื่อ “Odissi Dance” โดยศูนย์วัฒนธรรมอินเดียประจำประเทศไทย และการแสดงโขนพิเศษตอน “ยกรบ” อีกทั้งช่วงท้ายของการแสดงยังได้นำศิลปะการร่ายรำของชาวอินเดียมาสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกับการแสดงโขนของไทยได้อย่างติดตราตรึงใจ
ก่อนจะเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญของการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ผ้าอินเดียกับอิทธิพลต่อการแต่งกายในราชสำนักสยาม” โดย อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และ ผศ. ดร. อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการแต่งกายของชาวไทยและชาวอินเดียที่มีวัฒนธรรมการนุ่งห่มมายาวนาน โดยเฉพาะราชสำนักไทยในอดีตที่มีการรับธรรมเนียมการแต่งกายของชาวอินเดียและนำผ้าประเภทต่าง ๆ ของอินเดียมาประยุกต์ใช้อย่างมีเอกลักษณ์และเปี่ยมด้วยเสน่ห์ทางวัฒนธรรม ผ่านการให้ลวดลายอันปราณีตอ่อนช้อยตามแบบฉบับของไทย
ผศ.ดร. อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าเรื่องสืบย้อนกลับไปตั้งแต่สมัย ๒,๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล การค้นพบชิ้นส่วนเสื้อผ้าจากอารยธรรมเก่าแก่แห่งลุ่มน้ำสินธุ และหลักฐานการแต่งกายของชาวอินเดียที่พบบนรูปปั้นแม่พระธรณีดินเผาหรือ “Mother Goddess” อายุเก่าแก่กว่า ๒๐๐-๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ตลอดจนประติมากรรมหินแกะสลัก ภาพวาดภายในถ้ำ วัดวาอาราม และอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงการแต่งกายด้วยเครื่องนุ่งห่มพันรอบร่างกายของชาวอินเดียโบราณตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อน
วัฒนธรรมสิ่งทอของอินเดียได้ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดในโลก โดยผ้าฝ้ายที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลือในปัจจุบันมีอายุประมาณ ๔,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล เช่นเดียวกับการย้อมผ้าที่มีอายุเก่าแก่กว่า ๒,๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล สิ่งทอของอินเดียมีเสน่ห์เฉพาะตัวทั้งในเรื่องของลวดลาย เทคนิคการทอผ้า และสีสันที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งในสมัยกรีกโบราณ โรมัน และบาบิโลน ผ้าฝ้ายจากอินเดียได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในราชสำนักและชนชั้นสูง ส่งผลให้เกิดระบบการค้าโลกจากการส่งออกผ้าอินเดียไปยังดินแดนต่าง ๆ ตลอดจนการแต่งกายของหลายวัฒนธรรมทั่วโลกที่ได้รับอิทธิพลจากผ้าอินเดีย ผศ.ดร. อนุชา ทีรคานนท์ ยังได้นำเสนอวัฒนธรรมการแต่งกายที่มีเสน่ห์ของชาวอินเดียในแต่ละภูมิภาค ผ่านเทคนิคการทอผ้าและลวดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
สยามก็เป็นดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากผ้าอินเดียมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในเรื่องนี้ อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เล่าว่า ในอดีตราชสำนักสยามสั่งทอผ้าเยียรบับ ผ้าเข้มขาบ และผ้าอัตลัด จากพ่อค้าชาวอินเดียที่เดินทางมาค้าขายกับสยาม ซึ่งผ้าชนิดดังกล่าวมีขั้นตอนการทอที่ซับซ้อน แตกต่างจากกรรมวิธีการทอภายในประเทศ ผ้าเหล่านี้มักนิยมใช้ในงานพระราชพิธีสำคัญและใช้งานภายในราชสำนักสยาม สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และขุนนาง นอกจากการสั่งทอผ้าแล้ว ราชสำนักสยามยังสั่งซื้ออุปกรณ์ทอผ้าต่าง ๆ จากประเทศอินเดียอีกด้วย ส่วน “ผ้าลายอย่าง” เป็นผ้าที่ช่างเขียนผ้าจากอินเดียรับแบบตามลายที่ราชสำนักสยามสั่งจึงมีกระบวนลายตามแบบสยาม เพราะลวดลายที่อยู่บนผ้านั้นทางราชสำนักสยามเป็นผู้ออกแบบ
อีกหนึ่งไฮไลท์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้คือ “วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวอินเดียในแต่ละภูมิภาค” ที่ทั้งหาชมยากและเปี่ยมด้วยความสวยงามของลวดลาย สีสัน รวมถึงเทคนิคการทอผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละท้องถิ่น และ “การแต่งกายของราชสำนักไทยในแต่ละยุคสมัย และชุดไทยพระราชนิยม 8 แบบ” ที่สะท้อนความงดงามและฝีมืออันปราณีตอ่อนช้อยในแบบของชาวสยาม รวมถึงสาธิตการนุ่งห่มส่าหรีของชาวอินเดีย โดยศูนย์วัฒนธรรมอินเดียประจำประเทศไทย และสาธิตการนุ่ง-ห่มผ้าแบบไทย โดยอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้การนุ่ง-ห่มของทั้งสองวัฒนธรรม ที่มีความคล้ายคลึงกันด้วยอิทธิพบทางการแต่งกายที่ถ่ายทอดกันมาช้านาน
พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดแสดง “นิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา” ถ่ายทอดเรื่องกราวการเสด็จเยือนชวาของพระบาทสมเด็จพระจุลมจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สามครั้ง และจัดแสดงผ้าบาติกสะสมที่สวยงามจากเมืองต่าง ๆ บนเกาะชวา ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ (๐๒) ๒๒๕ ๙๔๒๐ และเข้าร่วมชมนิทรรศการ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ในพระบรมมหาราชวัง เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา ๙.๐๐-๑๖.๓๐ น. ปิดจำหน่ายบัตรเวลา ๑๕.๓๐ น.
พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ (+๖๖) (๒) ๒๒๕ ๙๔๒๐
เว็บไซต์ http://www.qsmtthailand.org/
Comments are closed.