Lifestyle

เจาะลึกความสำเร็จธุรกิจแฟชั่น 2 แบรนด์ดัง Mango และ Zara

Pinterest LinkedIn Tumblr

>>สำนักพิมพ์ MGR 360 องศา เตรียมส่งหนังสือ 2 เล่มใหม่ ในหมวดการบริหารธุรกิจ มาเอาใจนักอ่าน เริ่มจาก

หนังสือ The Mango Story
ราคา 180 บาท
เขียนโดย Humberto Salerno และ Andrea Gay Zaragoza
แปลและเรียบเรียงโดย สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล

คำนำสำนักพิมพ์

หนังสือ The Mango Story ถือว่าเป็นหนังสือที่ให้คุณค่าระหว่างคำว่ารสนิยม กับคำว่า การจัดการบริหาร ที่มีการผสมผสานกันระหว่างสองคุณค่าดังกล่าวให้มีความสอดคล้องกันอย่างน่าสนใจทีเดียว

โดยคำว่า รสนิยมนั้น หมายถึงความชอบหรือความต้องการของบุคคล ที่เลือกหาสิ่งที่ตนเองโปรดปรานมาเป็นของตน คำว่าสินค้าแฟชั่น จึงเป็นคำนิยามที่บ่งบอกถึงรสนิยมของผู้บริโภค ว่าเขาเลือกซื้อสินค้าแฟชั่นตัวนั้น ตามรสนิยมที่เขาชอบ หรือเป็นการบ่งบอกถึงบุคลิกของเขาผู้นั้น ว่าเขาเลือกที่จะแสดงออกตัวตนของเขา ตามเสื้อผ้าอาภรณ์ที่เขาเลือก ว่าสอดคล้องกับบุคลิกหรือสไตล์ชีวิตของเขา

แฟชั่น จึงกลายเป็นสิ่งที่มนุษย์เราเลือกที่จะเป็นตัวแทนของเราอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในยุคพันๆ ปีที่แล้ว หรือในยุคปัจจุบัน แฟชั่นจึงกลายเป็นอุปกรณ์ทางประวัติศาสตร์ ทางวัฒนธรรม ที่มีชีวิตชีวา มีการสืบทอดรสนิยมตามยุคสมัยต่อๆ กันมา

แต่เมื่อคำว่า แฟชั่น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบธุรกิจ จึงทำให้กิจการทางด้านแฟชั่นจำต้องเข้าสู่มิติใหม่ของโลกธุรกิจ นั่นก็คือ ธุรกิจแฟชั่น กลายเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยการจัดการบริหารที่ดีมีประสิทธิภาพมาก จึงจะทำให้การผสมผสานระหว่างคุณค่าของคำว่า รสนิยม หรือ แฟชั่น กับคำว่า การจัดการบริหารนั้น จะแยกออกจากกันไม่ได้เลย

หนังสือ The Mango Story ได้เสนอถึงองค์ประกอบต่างๆ ของการจัดการบริหารธุรกิจแฟชั่น ว่ามีการจัดการบริหารธุรกิจดังกล่าวจนประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร ขณะเดียวกัน บริษัท Mango ก็ไม่เคยละเลยถึงสุนทรียภาพ (aesthetics sense) หรือรสนิยมของผู้บริโภคแฟชั่นไปเช่นกัน จึงทำให้หนังสือเล่มนี้ น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้อ่านจะได้รู้ถึงแก่นสารของคำว่าแฟชั่น ควบคู่ไปกับการนำเอาการบริหารจัดการ มาทำให้ Mango Story กลายเป็น a success story ของแวดวงธุรกิจแฟชั่นระดับโลกไปแล้ว – สำนักพิมพ์ MGR 360 องศา

หนังสือ The Secret of ZARA บันทึกลับซาร่า แฟชั่นเสื้อผ้ามูลค่าหมื่นล้าน
ราคา 210 บาท
เขียนโดย Covadonga O'Shea
แปลและเรียบเรียงโดย กัลย์วีร์ เดชาภิรมย์ชัย และวิฑูรย์ ภูริปัญญวานิช

คำนิยม

โกบาดองกา โอ’เชอา เดินเข้ามาในห้องทำงานของผม ที่โรงเรียนแฟชั่นพาร์สันส์ในนิวยอร์ก และแสดงออกถึงรสนิยมและความเฉลียวฉลาด ความเก๋ไก๋ สง่างาม และรอบรู้ คือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนโดยทันทีในตัวเธอ ซึ่งเป็นคนในแบบที่พาร์สันส์ต้องการร่วมงานด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเราได้พบกันอีกหลายครั้ง รวมถึงครั้งที่เธอเชิญผมไปบรรยายที่ไอเซม โรงเรียนสอนหลักสูตร MBA ของเธอที่มาดริด ในแต่ละครั้งที่พบเธอ การยอมรับนับถือที่มีให้เธอและทัศนคติของเธอต่ออุตสาหกรรมด้านแฟชั่นของโลกก็เพิ่มพูนขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องธรรมดามากที่โลกอันเป็นความลับอยู่จนบัดนี้ของ Zara เปิดออกให้เธอได้บันทึกเหตุการณ์

เมื่อหลายปีก่อนตอนที่ผมยังทำงานเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์อยู่ที่ลอนดอน จุดแวะชมที่สำคัญจุดหนึ่งระหว่างการเดินทางค้นคว้าข้อมูลที่ปารีสจะเป็นที่ร้าน Zara ใกล้ๆ กับโลเปร่า เราจะต้องไปดูว่า Zara ตีความเทรนด์แฟชั่นว่าอย่างไร พวกเราเคยชินกับการเห็นการนำเสนอสินค้าที่แสดงไว้ตลอดฤดูกาลจากร้านอื่นๆ แต่ Zara จะทำให้เราประหลาดใจได้เสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อนร่วมงานที่ไปแวะร้านในอีกสองถึงสามสัปดาห์ต่อมาจะได้เห็นสินค้าที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง พวกเราประหลาดใจว่าทางร้านเปลี่ยนสินค้ารวดเร็วขนาดนั้นได้อย่างไร

ผู้คนจำนวนมากข้องใจกับการเปลี่ยนใหม่หมดอย่างรวดเร็วของสีสัน และความยาวของชุดในฤดูกาลใหม่ แต่ถ้าไม่ใช่เพราะธรรมชาติของเทรนด์แฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแล้ว ผู้ตรวจสอบเสื้อผ้าที่อินเดีย พนักงานขายที่อังกฤษ เทคโนโลยีดีไซเนอร์จากสหรัฐอเมริกา คนเปลี่ยนชุดหน้าต่างโชว์สินค้าที่สเปน ช่างทอผ้าที่ไทย ช่างเย็บจักรที่เม็กซิโก และผู้คนนับสิบล้านในงานที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่นทั่วโลกก็จะไม่มีงานทำ

แน่นอนว่าแฟชั่นเป็นเรื่องสนุก สำหรับผู้บริโภคคือการเลือกชุดออกงานตัวใหม่ สำหรับดีไซเนอร์คือการออกแบบชุดใหม่ที่โดดเด่นสะดุดตา คนเรามีความต้องการเบื้องต้นทางสังคมที่จำเป็นต้องได้รับการตอบสนอง นั่นคือ ความต้องการที่จะดูดีและรู้สึกดี

ในหนังสือเล่มนี้ โกบาดองกา โอ’เชอาขุดลึกลงไปสู่จุดเริ่มต้นของ Zara บริษัทค่อย ๆ พัฒนามาสู่การเป็นผู้มีบทบาทในวงการแฟชั่นโลกที่พวกเรารู้จักกันในวันนี้ได้อย่างไร และที่สำคัญคือบริษัททำอย่างไรถึงยังคงตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อเทรนด์แฟชั่นโลก และขณะที่ยังจำเป็นต้องมีการโต้แย้งเรื่องความยั่งยืนของแฟชั่นที่มาเร็วไปเร็ว แต่ก็ต้องขอบคุณต่อบริษัทอย่าง Zara ที่ทำให้ผู้คนนับล้านที่ไม่มีกำลังซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงยังคงดูดีและรู้สึกดีได้

มีสิ่งต่างๆ มากมายให้เรียนรู้จากเรื่องของ Zara ผ่านทัศนคติที่รอบรู้และชาญฉลาดของ โกบาดองกา โอ’เชอา – ไซมอน คอลลินส์ คณบดีโรงเรียนแฟชั่นพาร์สันส์ โรงเรียนการออกแบบแห่งใหม่นครนิวยอร์ก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพิมพ์ MGR 360 องศา โทร.0-2629-4488 ต่อ 2126 ถึง 2129 หรือ คุณเจษฎา เบอร์ 08-6566-4624  :: Report by FLASH

Comments are closed.

Pin It