Lifestyle

เผยโฉม 9 นวนิยายผ่านเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ 58

Pinterest LinkedIn Tumblr


เผยโฉมมาแล้วนวนิยายที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2558 ถือเป็นนวนิยายที่มีคุณภาพทางด้านเนื้อหาสาระอันเข้มข้น ศิลปะการประพันธ์อันงดงาม วิถีที่แจ้งชัดแห่งเจตจำนง กระบวนวิธีคิดที่ลึกซึ้งน่าสนใจ ตลอดจนความสดใหม่ในการสร้างรูปแห่งแบบของการสร้างสรรค์ที่มีค่า ประกอบด้วย 1. กาหลมหรทึก โดย ปราปต์ 2. จุติ โดย อุทิศ เหมะมูล 3. เนรเทศ โดย ภู กระดาษ 4. ประเทศเหนือจริง โดย ปองวุฒิ 5. พิพิธภัณฑ์เสียง โดย จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ 6. รักในรอยบาป
โดย เงาจันทร์ 7. ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต โดย วีรพร นิติประภา 8. หรือเป็นเราที่สูญหาย โดย จเด็จ กำจรเดช 9. หลงลบลืมสูญ โดย วิภาส ศรีทอง

กาหลมหรทึก โดย ปราปต์

นวนิยายเรื่องกาหลมหรทึกของปราปต์เป็นวรรณกรรมสมัยใหม่ที่มีความน่าสนใจและมีลักษณะโดดเด่นหลายประการ นับตั้งแต่ผู้เขียนได้สร้างโครงเรื่องของนวนิยายให้มีลักษณะแนวสืบสวนสอบสวนโดยแตกต่างไปจากนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวนตามขนบเดิมของไทยที่มีมาแต่เดิม ผ่านการซ่อนกลโคลง กลอักษรปริศนาฆาตกรรมที่ชวนให้ผู้อ่านใคร่ครวญอย่างย้อนแย้งในความรู้สึก ผ่านลักษณะการเล่าเรื่องแบบซับซ้อนของความโกลาหลของคดีฆาตกรรมรอยสักหลายคดีในเวลาใกล้เคียงกัน ความซับซ้อนของการเล่าเรื่องเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมในนวนิยายเรื่องนี้เป็นกลวิธีการทดลองรูปแบบการแต่งแนวใหม่ของผู้เขียนโดยพยายามใช้การสร้างภาพตัวต่อค่อยๆ เติมให้เต็มในภาพใหญ่จนท้ายที่สุดคำตอบคลี่คลายว่าใครคือฆาตกร ขณะเดียวกันการดำเนินเรื่องก็ชวนให้ผู้อ่านรู้สึกลุ้นอยู่ตลอดเวลาว่าตัวละครตัวใดคือฆาตกรที่แท้จริงด้วยกลวิธีที่แยบคายทางวรรณศิลป์ซึ่งไม่ได้โดดเด่นด้วยภาษาในการแต่งเท่านั้น หากแต่โดดเด่นด้วยวิธีการเดินเรื่องแบบภาพยนตร์คือรวดเร็ว ฉับไว และการใช้คำในภาษาเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่ความโกลาหลของคดีต่างๆ รวมทั้งผสมผสานกับการนำขนบของฉันทลักษณ์ทางวรรณคดีไทยเข้ามาจัดวางอย่างเหมาะสมในตัวบท พร้อมๆ กับสอดแทรกเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์และสถานที่ที่เกิดขึ้นจริงลงในเหตุการณ์สมมติในนวนิยายอย่างกลมกลืนและแนบเนียน นับเป็นความน่าสนใจและความโดดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้ที่มีสีสันตั้งแต่การเล่นกับชื่อเรื่องจนมาถึงการเล่นกับวิธีการเล่าเรื่องที่แยบคายและซับซ้อนอย่างลงตัวพอดี

จุติ โดย อุทิศ เหมะมูล

นัยแห่งการถอดรื้อโครงสร้างแห่งประวัติศาสตร์ของความทรงจำ…นับเป็นความล้ำลึกของการหยั่งเห็นและตีความชะตากรรมของมวลมนุษย์ผ่านเงื่อนไขอันสลับซับซ้อนของการกลายเป็นอันไม่รู้จบ…บังเกิดแล้วเปลี่ยนแปร…เปลี่ยนแปรแล้วบังเกิด…ผลของการมีผัสสะผ่านการตีความ ต่อความมีความเป็นที่ดำรงอยู่และดำเนินไป จึงไขว้สลับอยู่กับห้วงสำนึกของกาลเวลา ที่ผู้คนในแต่ละยุคสมัยจะเข้าใจและบอกกล่าวเรื่องราวต่างๆนานาออกมา…ทั้งด้วยอคติแห่งการวิพากษ์…ความจริงที่ถูกเคลื่อนขยาย…รวมทั้งเจตจำนงที่เชื่อมโยงมายาคติ…ซึ่งเต็มไปด้วยความหมายอันวกวนต่อการสืบค้นอันย้อนแย้งที่ผู้เขียนประจักษ์…

กระบวนการเขียนอันหนักแน่นและเต็มไปด้วยสีสันทางความคิด…สื่อถึงการเย้ยหยันต่อกาลเวลาและการยั่วล้อต่อสัจจะที่ถูกสถาปนาขึ้นอย่างพร่ามัว…จึงเป็นไปอย่างชวนตระหนักและน่าใคร่ครวญยิ่ง…
ทุกสิ่งคือภาพรวมทางศิลปะแห่งจิตวิญญาณที่ล้ำสมัย…คือบทสะท้อนแห่งบทสะท้อนของการตีความในรากเหง้าของตัวตน…ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นด้วยทักษะแห่งใจ…อันเปิดกว้างและกอปรด้วยมิติสัญญะแห่งการค้นหาความจริงอันยอกย้อน…ในเชิงเปรียบเทียบที่พาดผ่านตัดกันด้วยสาระเนื้อหาของความเชื่อและศรัทธาของปัจจุบันและอนาคตอันไม่รู้สิ้น…

“ฉันคือใคร เนื้อหาของฉันคืออะไร ฉันมีอดีต ปัจจุบัน อนาคต…มันเป็นของฉันจริงๆหรือไม่?”

เนรเทศ โดย ภู กระดาษ

เมื่อชะตากรรมของตัวละครคือชะตากรรมร่วมของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ภาวะที่ชีวิตถูกการรอคอย รีดเร้นเรี่ยวแรงจนหมดกำลังล้วนเกิดขึ้นและดำเนินอยู่ตลอดเรื่อง อย่างหนักหน่วง หนืดเนือยและ น่าเหน็ดหน่าย ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้คือการที่ผู้เขียนเลือกที่จะฉายซ้ำภาวะที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นภาพที่ฉายชัดให้เห็นถึงเรื่องราวของผู้คนแห่งท้องถิ่นผู้จำต้องละไปจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเพราะความจำเป็นเรื่องปากท้อง ชีวิตถูกเหวี่ยงโยนออกไปจากระบบสาธารณสุขและการคมนาคม ขั้นพื้นฐานผ่านเรื่องเล่าการเดินทางกลับบ้านเกิดของตัวละครจากภูมิภาคหนึ่งสู่ภูมิภาคหนึ่ง เสน่ห์ของเรื่องอยู่ตรงที่ผู้เขียนนำผู้อ่านเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่เรื่องราวในประวัติศาสตร์สมัย ทั้งนิทาน เรื่องเล่าและเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผู้เขียนดำเนินเรื่องขนานไปกับเรื่องเล่าแห่งกาลปัจจุบัน รวมเป็นเสียงผสานที่บอกเล่าถึงความทุกข์ยากของผู้คนขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความล้มเหลวในโครงสร้างการพัฒนาของประเทศ ผู้เขียนเล่าเรื่องด้วยลีลาภาษาและกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่ผสมผสานระหว่างความเป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นผ่านถ้อยคำ สำเนียงภาษา กับตำนานเรื่องเล่าในกลิ่นอายของวรรณคดีท้องถิ่นโบราณได้อย่างโดดเด่นและน่าสนใจ การนำเสียงแห่งอดีตจากนิทานท้องถิ่นมาดำเนินเรื่องร่วมกับเรื่องราวร่วมสมัยทำให้ชะตากรรมของคนพื้นถิ่นในภาคส่วนของสังคมถูกขับเน้นให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ในชะตากรรมร่วมของคนในสังคมประเทศ “เนรเทศ” ได้เปล่งเสียงแห่งท้องถิ่นด้วยภาษาถิ่นของตนได้อย่างมีพลังและสั่นสะเทือน

ประเทศเหนือจริง โดย ปองวุฒิ

ชีวิต ๒๔ ชั่วโมงของคนในยุคปัจจุบันก่อให้เกิดภาวะความเจ็บป่วยโดยเจ้าตัวไม่อาจล่วงรู้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคืออาการนอนไม่หลับและพัฒนาสู่เส้นทางแห่งความซึมเศร้าจนต้องหาทางออกเพื่อลดเลือนภาวะอปกติของตน
ผู้เขียนสร้างตัวละครหลักที่มีอาการร่วมสมัยในยุคที่ดิจิทัลเบ่งบาน นั่นคือ การชอบสังเกต สำรวจและสอดส่องพฤติกรรมผู้อื่น หากแต่การสอดส่องดังกล่าวหาใช่การเฝ้าติดตามการกระทำของคนทั้งหลายในโลกโซเชียลไม่ แต่เป็นการสะกดรอยตามเหยื่อที่น่าสนใจในฐานะที่ตนเป็น “ผู้ล่า” โดยไม่ทันระวังตนว่า วันหนึ่งจะกลายเป็น “ผู้ถูกล่า”

ปองวุฒิมีกลวิธีเล่าเรื่องโดยสอดแทรกเรื่องความขัดแย้งทางความคิดเรื่องการเมืองได้อย่างแยบยล ตัวละครที่โลดแล่นไม่ได้ถูกชี้ชัดว่าขาวหรือดำ ดีหรือชั่ว โง่หรือฉลาด หยาบกระด้างหรือละเอียดอ่อน เพราะต่างก็เป็นตัวแทนของบุคคลที่สัมผัสได้ในชีวิตจริง

“ประเทศเหนือจริง” อาจสร้างจาก “ประเทศสมมุติ” ของมุมใดมุมหนึ่งในโลกนี้ หรือเป็นประเทศในจินตนาการของผู้เขียน เรามิอาจสรุปได้เลย เพราะท้ายที่สุด ผู้เขียนได้ฝาก “ปฏิปุจฉา” ให้ผู้อ่านขบคิดต่อไปว่า แท้ที่จริงแล้ว “ประเทศเหนือจริง” คือประเทศที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ใช่หรือไม่? เราข้ามพ้น “ประเทศสมจริง” มายาวนานแค่ไหน? หรือ “ประเทศเหนือจริง” จะไม่มีจริง ๆ

พิพิธภัณฑ์เสียง โดย จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

เสียงเป็นของเก่าเลิกใช้ หรือสิ้นไร้ประโยชน์ไปแล้วหรือย่างไร ถึงได้เก็บเข้ากรุทำเป็นพิพิธภัณฑ์… นิยายชื่อชวนฉงนเล่มนี้ เปล่งเสียงบอกกล่าวเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวยุคสมาธิสั้นในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก โยงใยเกี่ยวพันกับความมหัศจรรย์ของเรื่องแห่งเสียง ผู้เขียนพยายามส่งสัญญาณผ่านช่องทางอันสร้างสรรค์ของเขา ในลักษณาการกระซิบกระซาบบ้าง บอกใบ้บ้าง หากบางครั้งก็ตะโกนดังๆ ให้ผู้อ่านฉุกคิดในแหล่งกำเนิด การมีอยู่ การตระหนักรับรู้ความหมายของเสียง กระทั่งการเดินทางของมัน พิพิธภัณฑ์เสียง นำเสนอด้วยภาษาเรียบง่าย ร่วมสมัย น้ำเสียงยั่วเย้าปนเอาจริง โดดเด่นด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องที่เรียงร้อยกระบวนความสลับกันหลายรูปแบบอย่างกลมกลืนน่าชื่นชม ขณะเดียวกันก็ท้าทายผู้อ่าน (ที่อาจ) สมาธิสั้นเช่นเดียวกันตัวละครวัยหนุ่มสาวในเรื่อง อันกอปรด้วยความหลากหลายทางเพศรสอย่างเป็นเรื่องสามัญ ท่ามกลางฉากตอนสมจริงสมสมัย ผู้เขียนมีมุกสะกิดสะเกาผู้อ่านได้ชะงัดเป็นระยะๆ ไม่แปลกถ้าผู้อ่านอาจได้ยินท่วงทำนองคล้าย ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิ ต (The Unbearable Lightness of Being) ของมิลาน คุนเดอรา หรือนิยายเหงาๆ เศร้าๆ สักเรื่องของฮารูกิ มูราคามิ สอดแทรกเข้ามา แต่นี่ก็เพียงสุ้มเสียงช่วยขับประสานให้นิยายเรื่องนี้ชวนฟังยิ่งขึ้น พิพิธภัณฑ์เสียง อ่าน (หรือฟัง) ได้หลายนัยยะ จะว่าในฐานะเรื่องรักโรแมนติกก็งดงาม ในฐานะทางปรัชญาก็ชวนปุจฉา-วิสัชนา นิยายบางๆ โดยนักเขียนรุ่นใหม่ เล่มนี้นับเป็นหมุดหมายหนึ่งของวงการนิยายไทยในปีนี้ รวมความแล้วอาจกล่าวได้ว่าเป็น นวัตกรรมแห่งวรรณกรรมอันน่าทึ่ง!

รักในรอยบาป โดย เงาจันทร์

นวนิยาย “รักในรอยบาป” ของ เงาจันทร์ เป็นผลงานที่ว่าด้วยชะตากรรมและโศกนาฏกรรมของมนุษย์ ที่ผู้เขียนเล่าผ่านตัวละครเอกของเรื่อง ถูกกระทำย่ำยีตั้งแต่ลืมตาดูโลก และตั้งแต่เล็กจนโตเป็นสาว กระทั่งเป็นผู้ใหญ่สู่วัยกลางคน เธอยิ่งถูกกระทำอย่างเจ็บปวดรวดร้าวอยู่ร่ำไป ซึ่งระหว่างเส้นทางชีวิตอันรวดร้าวเศร้าหม่นนั้น มีผู้คนมากมายพลัดหลงและ/หรือจงใจเข้ามาในชีวิตเธอ จนต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันอย่างแสนสาหัส ทั้งหญิงและชาย ไม่ละเว้นแม้แต่ลูกในไส้ของเธอเอง

อีกด้านหนึ่ง ผู้เขียนได้กะเทาะเปลือก ตีแผ่ และประจานด้านมืดดำ ดิบเถื่อนของมนุษย์อย่างถึงแก่น เป็นการตอกย้ำให้เห็นธาตุแท้ ให้เห็นถึงความซับซ้อนซ่อนปม ความอำมหิตในส่วนลึกของจิตใจมนุษย์ จนบรรดาผู้ถูกกระทำหัวใจแตกสลายยากที่จะเยียวยา ถือเป็นโศกนาฏกรรมซ้ำซาก เหมือนดังต้องคำสาปให้ติดอยู่ในบ่วงบาปบ่วงกรรม กระนั้น ผู้เขียนได้พยายามหาทางออกด้วยการบอกเชิงสัญลักษณ์ว่าอยากหลุดพ้นจากบ่วงนั้น เพื่อปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระ แต่ก็ไม่เป็นผลนัก ดังนั้น “รักในรอยบาป” จึงดำเนินไปด้วยความหม่นเทา เคล้ากลิ่นคาวเลือด แม้ว่าบางช่วงบางตอนดูช่างโหดร้ายเกินไป คล้ายเป็นเรื่องเหนือจริง แต่ใครจะกล้าการันตีได้เล่า ว่าเรื่องราวเหล่านี้ จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นจริง

แต่ด้วยเหตุที่ผู้เขียน มีชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง มีความสามารถในการใช้สำนวนภาษาวรรณศิลป์ที่ลงตัว จึงฉายภาพให้เห็นบุคลิก อารมณ์ ความรู้สึกตัวละครได้อย่างเด่นชัด และถึงแม้ว่าเรื่องจะดูเศร้ารันทดหดหู่ดังได้กล่าวข้างต้น แต่ถ้ามองในความเป็นนวนิยายเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนก็ทำได้สมบูรณ์แบบ ดังนี้ “รักในรอยบาป” จึงถือเป็นความเศร้ารันทดที่งดงาม

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต โดย วีรพร นิติประภา

ชะตากรรมของชีวิตที่ต่างโหยหา อ้างว้าง มีเสมือนไม่มี ไม่มีเสมือนมี ทว่าเสน่ห์บางประการของชีวิตคือมนต์อันร่ายรัดรึงให้ติดตามร่วมขบคิดจนถึงตัวหนังสือสุดท้าย ผ่านการเล่าเรื่อง ความลื่นไหลที่เรียงร้อยให้รู้จักตัวละคร ผ่านภาษาที่มีวรรณศิลป์ มีชีวิตชีวาป
ระดุจภาพวาดของจิตรกรสะท้อนแสงสี เงาตกกระทบ ไม่มากไม่น้อยหากทรงพลังเปี่ยมด้วยชีวิต ชีวิตที่ไม่มีใครเหมือนใคร ตั้งคำถาม หาคำตอบ แลกเปลี่ยนจิตวิญญาณของกันและกัน ลึกซึ้งถึงอารมณ์ เติบโตและงดงามท่ามกลางความขัดแย้งของจิตใจ ทั้งมีการยั่วล้อ เย้ยหยันในท่าทีที่พอดีด้วยกลวิธีสร้างตัวละครให้มีลักษณะขลาดเขลา เบาสติปัญญา บอกใครๆ ว่าตนเองนั้นกล้าหาญ ผ่านสงครามการสู้รบ เพื่อปิดกลบความอ่อนแอ ในขณะที่อีกชีวิตซึ่งน่าจะระทดท้อถอยอับอาย แต่ใจกลับผงาดองอาจกล้าหาญแม้ต้องผลัดหัวใจกับคนแปลกหน้าถึงหลายครา ความไม่สมบูรณ์ของต้นกำเนิด ย่อมส่งผ่านให้เกิดผลบางอย่างต่อผลผลิตของตนให้โดดเดี่ยว ไขว่คว้า เติมเต็มชีวิต

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ของวีรพร นิติประภา จึงเป็นเรื่องอ่านร่วมสมัย อาจดูเสมือนไร้ทางออก มองไม่เห็น ทว่าความวกวนเหล่านี้กลับเปิดทางให้เพ่งพินิจถึงลำนำของชีวิตที่ผู้เป็นเจ้าของต้องประคับประคองให้ถึงเส้นชัย ซึ่งแม้จะรวดร้าวเพียงใดก็ตาม

หรือเป็นเราที่สูญหาย โดย จเด็จ กำจรเดช

ขณะที่โลกแห่งชีวิต ได้ดำเนินไปท่ามกลางกระแสของความขัดแย้งแห่งยุคสมัย…การแยกแยะถึง
สถานะและบทบาทของผู้คน ในนามแก่นแท้แห่งความเป็นมนุษย์นั้น จึงนับเป็นเรื่องที่ยากจะจับต้องด้วยเหตุที่ว่า…ยิ่งนับวันเราก็ยิ่งจะถูกกีดกันออกจากความหมายของตัวเองมากขึ้นทุกที

ขณะที่คนบางคนพยายามจะสร้างเปลือกขึ้นมาห่อหุ้มตนเองเพื่อป้องกันรอยบาดเจ็บแห่งชะตากรรม…อีกหลายๆคนก็กลับจมปลักอยู่กับการเป็นผู้ถูกกระทำที่โชคร้ายอยู่อย่างนั้น หลายสิ่งหลายอย่างล้วนเกิดขึ้นและดำเนินไปพร้อมๆกับรอยเคลื่อนของสังคมที่มักจะจารึกการทุบทำลายความจริงทั้งภายนอกและภายในของตนเองเอาไว้อย่างขมขื่น

มีคนบางคนพยายามที่จะลืมและทำตัวให้หลงลืมในสิ่งที่กระทบใจตน…ด้วยการเลือกที่จะจดจำความว่างเปล่าของชีวิต แต่สำหรับคนบางคนกลับตัดสินใจที่จะหลีกพ้นจากความว่างเปล่าเอาไว้…เพื่อที่จะออกไปค้นหาความพึงมีพึงใจของตนเองเอา ณ เบื้องหน้าอันไกลโพ้น

แม้จะรู้ดีว่า…มันเต็มไปด้วยอุปสรรคและหนทางตันของชีวิต…

เราต่างแสวงหาความหมายอันหลุดพ้นและชอบธรรมของตนเอง…ขณะที่สังคมแห่งการมีชีวิตอยู่…ได้กลายเป็นเครื่องเล่นของชะตากรรมแห่งยุคสมัยอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า…

ผู้คนทุกผู้ทุกนาม…ล้วนตกอยู่ในอาการอ่อนแอ ผิดหวัง กลายสภาพเป็นผู้พ่ายแพ้แห่งกาลเวลา
เรื่องราวเรื่องนี้…จึงคือจริตแห่งการปลดปล่อยความหวังให้ลุกขึ้นจากหลุมพรางแห่งความไร้หวัง เพื่อที่จะมีโอกาสได้เห็น…รอยต่อแห่งความจริงและความลวงของความเป็นเสรี ที่ชีวิตจะสามารถยึดเกาะเพื่อสร้างความมีอยู่ของโลกใหม่ให้แก่ตนเอง…ด้วยศรัทธาที่ไม่สูญสลายไป…ในห้วงขณะแห่งการยอมจำนนต่อความลืมเลือนที่คุกคามอย่างไร้กรุณา…อยู่ตรงหน้า…

“นี่เป็นโลกใหม่
เราจะจดจำสิ่งใหม่ๆ
หลังจากลืมตัวเองให้สิ้น”

หลงลบลืมสูญ โดย วิภาส ศรีทอง

การค้นหาความหมายของชีวิต ก่อนที่จะก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางที่มุ่งหวังตั้งใจอย่างแท้จริงนั้น
…ถือเป็นวิถีที่เต็มไปด้วยอุปสรรคอันคลาดเคลื่อน..การก้าวย่างที่ไม่มั่นคงในจังหวะก้าว…กระทั่งกลายเป็นภาพรวมของการดำรงอยู่ที่ไร้ทิศทาง…แน่นอนว่า…สังคมของโลกวันนี้…ได้ตีตรารูปแห่งแบบในการยึดถือต่อมวลมนุษย์ด้วยภาพจำแห่งจารีตดั้งเดิม…ด้วยข้อปฏิบัติในเชิงกักขัง…ทั้งต่อประจุทางความคิด และจิตวิญญาณบริสุทธิ์ในเชิงปฏิบัติ เมื่อชีวิตต้องถูกครอบคลุมและควบคุม…นั่นจึงทำให้ประวัติศาสตร์แห่งบาดแผลของการกระทำย่ำยีระหว่างกัน…ต้องถูกทำให้ลืมเลือนไปอย่างไร้ความหมาย…ถูกทำให้คุณค่าแห่งสัญชาตญาณของความผิดชอบชั่วดีต้องแปรเปลี่ยนเป็นความมืดมนอันไร้สติ เราจึงต่างมีชีวิตอยู่ด้วยการถูกผลักให้กลายเป็นอื่นด้วยทัศนะเชิงอคติอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน จนกระทั่งสูญสิ้นความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกัน…ดั่งนี้…สายตาแห่งการมองเห็นเป้าหมายของการขับเคลื่อนชีวิต จึงถูกกีดกันด้วยภาพเงาของศัตรูที่ซ่อนอยู่ในมิติต่างๆของความเป็นโลก…หลายๆครั้งที่มันได้ผลักไสให้ความหวังของผู้คนต้องหลงทางวกวนอยู่กับความมืดมน…สับสนทบซ้อนอยู่ในท่าทีที่ไม่รู้ที่มาที่ไป…ความมุ่งมั่นทั้งหลาย…ค่อยๆถูกกลบกลืนและลบเลือน…จากเจตนาที่มุ่งร้ายของการตอกย้ำด้วยความตายตัวเบ็ดเสร็จ…

นี่คือประเด็นแห่งเรื่องราวของสงครามทางอคติของผู้คนที่บังเกิดขึ้นระหว่างทางที่ก้าวไปของทุกๆ
ชีวิต…ระหว่างสภาวะที่ถูกลดทอนตัวตนของตนอย่างไม่รู้ตัว…

ข้อตระหนักถึงอำนาจที่ซ่อนอยู่รอบกายและใจของผู้คนวันนี้…จึงมีคำตอบอยู่เพียงแค่…ความสูญ
สลาย…ไร้ข้อผูกพัน ไร้มโนสำนึกอันเป็นรูปแห่งแบบของบันทึกชีวิต…ที่ก่อตัวขึ้นอย่างเคลือบแคลง…ในโลกเหลื่อมซ้อนแห่งกับดักของความเป็นจริงที่แท้จริง…

“ทั้งหมดล้วนชี้ให้เห็นว่า…เรากำลังติดกับดักของตัวเอง ย่ำเท้าบนรอยประทับเก่าซึ่งถูกกำหนดทิศทางไว้แล้วอย่างสำเร็จรูปและตายตัว…”

Comments are closed.

Pin It