Lifestyle

เผยโฉม 6 เล่มกวีนิพนธ์เข้ารอบซีไรต์ 59

Pinterest LinkedIn Tumblr


การประกวดวรรณกรรมรางวัลสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนของประเทศไทยในปีนี้ เป็นรอบของหนังสือกวีนิพนธ์ซึ่งส่งเข้าประกวดจำนวน ๘๘ เรื่อง โดยคณะกรรมการคัดเลือกหนังสือไว้ ๑๘ เรื่องในรอบแรก และคัดเลือกไว้เพียง ๖ เรื่องในรอบหลัง
ภาพรวมของกวีนิพนธ์ทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบมีลักษณะดังนี้ เนื้อหาหลักของกวีนิพนธ์ก็คือ วิถีชีวิต ปัญหาในการดำเนินชีวิตของคนไทยและสภาพสังคมไทยร่วมสมัย ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความรัก จิตวิญญาณ การก่อการร้าย สงครามและสันติภาพ เสรีภาพ อุดมคติ มายาคติ การเมือง การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สื่อมวลชน ความยากจน สิทธิสตรี ความเป็นคนชายขอบ ความด้อยโอกาส ความอยุติธรรม วัฏจักรชีวิต พุทธปรัชญา โลกเสมือนจริงและสื่อสังคมออนไลน์ กวีนำเสนอเนื้อหาด้วยรูปแบบที่หลากหลาย อันได้แก่ คำประพันธ์ที่มีฉันทลักษณ์แนวขนบ กลอนเปล่า กวีนิพนธ์แบบวรรณรูป กลบท เพลงแร็พ และรูปภาพ
กวีร่วมสมัยยังคงสืบสานศิลปาการแห่งกาพย์กลอนบนเส้นทางกวีนิพนธ์ไทย โดยสะท้อนภาพและวิพากษ์วิจารณ์วิถีชีวิตของผู้คน ชุมชน และสังคมไทย รวมทั้งสังคมโลกบางส่วนที่กำลังตกอยู่ในภาวะยุ่งยากสับสนได้อย่างมีพลัง ทั้งด้านสติปัญญาและอารมณ์สะเทือนใจ

ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา
โรสนี นูรฟารีดา

“ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา” ของ โรสนี นูรฟารีดา รวมบทกวีนิพนธ์ในรูปแบบบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ ผู้แต่ง ผูกร้อยบทกวีแต่ละบทที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องกันให้มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างมีมิติที่หลากหลายและลุ่มลึก โดยสะท้อนปัญหาสังคมที่กำลังเผชิญอยู่ตั้งแต่ระดับส่วนตัวจนถึงส่วนร่วม ผู้แต่งเชิญชวนให้ผู้อ่านฉุกคิดในประเด็นปัญหา ที่ดูเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือถูกมองข้ามให้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความหมายต่อสิ่งต่าง ๆ ที่มักจะแฝงไว้ด้วยอคติ การแบ่งแยกผู้คนที่มักมีอุดมการณ์บางอย่างอยู่เบื้องหลัง การอยู่ในสังคมทุนนิยมที่ทำให้ผู้คนมีมุมมองต่อชีวิตเปลี่ยนไปทั้งเรื่องเวลาและสถานที่ ความรู้สึกแปลกแยกกับ “บ้าน” ของตนเอง อันนำไปสู่ปัญหาด้านอัตลักษณ์ หรือการหลงลืมประวัติศาสตร์ความเป็นมาและสายสัมพันธ์ของผู้คนที่ทำให้สังคมขาดมิตรภาพและความเอื้ออาทร
การนำเสนอแนวคิดยังสอดคล้องกับการตั้งชื่อเรื่อง “ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา” ที่ดูจะชี้ชวนให้ผู้อ่านมองสำรวจความเป็นไปของพื้นที่ที่อยู่นอกรั้วบ้านอย่างพินิจพิเคราะห์ ขณะเดียวกัน ผู้แต่งยังนำเสนอให้เห็นด้วยว่า ความเป็นไปที่เกิดขึ้นภายนอกรั้วนั้นกลับมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่อยู่ภายในรั้วนั้นอย่างแยกกันไม่ออก การเข้าถึงเนื้อหาอันลุ่มลึกช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและมุ่งแสวงหาคำตอบ ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่สามารถสัมผัสได้จากการอ่านกวีนิพนธ์เล่มนี้ตั้งแต่บทแรก
นอกจากกวีนิพนธ์เล่มนี้จะนำเสนอแนวคิดอย่างหลากหลายแล้ว ผู้แต่งยังใช้กลวิธีการนำเสนอผ่านภาษาที่มีเสน่ห์ กระชับแต่ทรงพลัง ไม่ชี้นำทางออกแต่ตั้งคำถามและเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้คิด บางบทผู้แต่งใช้ภาษาที่ให้น้ำเสียงอันอ่อนโยนแต่มีพลังในการนำเสนอแนวคิด และวิพากษ์วิจารณ์สังคมได้อย่างถึงแก่น ใช้ภาพพจน์สัญลักษณ์อย่างโดดเด่นและมีโวหารเฉพาะตัวอันคมคาย ผู้อ่านจึงสามารถสัมผัสเนื้อหาและรูปแบบในกวีนิพนธ์เล่มนี้ได้อย่างครบรส

ทางจักรา
ศิวกานท์ ปทุมสูติ

“ทางจักรา” ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ เป็นผลงานกวีนิพนธ์ในรูปแบบฉันทลักษณ์ ที่มีคำสัมผัสในบทและระหว่างบทต่อเนื่องกันไปตลอดทั้งเล่ม ผู้เขียนใช้ตัวละครครูกับศิษย์เป็นตัวเดินเรื่อง ดำเนินเนื้อหาไปตามการเคลื่อนหมุนของวงล้อจักรยานบนเส้นทางอันขรุขระยาวไกล ผ่านชุมชน วัด โรงเรียน ไร่นา ป่าเขา และสถานที่ต่างๆ ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากมายหลายสถานะ โดยแบ่งฤดูการเปลี่ยนผ่านเป็น ๔ ภาค คือ ๑. ปลายฤดูหนาว ๒. เข้าฤดูร้อน ๓. สู่ฤดูฝน และ ๔. ฟากฤดู ในแต่ละภาคยังแบ่งออกเป็นตอนย่อยๆสั้นกระชับ เพื่อเน้นย้ำให้เห็นบริบทชีวิตหลากหลายมิติ ที่โลดเล่นผสมผสานในโครงสร้างของสังคมอย่างมีสัมพันธภาพกลมกลืน
“ทางจักรา” ผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าเรื่องเชิงปรัชญนิยายในรูปแบบกวีนิพนธ์ ที่มีตัวละครเป็นผู้สะท้อนปัญหาด้านต่างๆให้เห็นภาพกระจ่างชัด เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศาสนาประวัติศาสตร์ สงคราม และสันติภาพ รวมไปถึงปัญหาทางด้านภายในของมนุษย์ อันเป็นองค์ประกอบที่ส่งผลก่อเกิดความเชื่อ ความศรัทธา ความสุข ความทุกข์ ความรัก ความเกลียดชัง ความดีและความชั่ว รูปแบบการนำเสนอเนื้อสารผ่านกวีนิพนธ์ของ “ศิวกานท์ ปทุมสูติ” บ่งบอกถึงประสบการณ์ที่เข้มข้นเปี่ยมด้วยชั้นเชิงกวี เล่นคำเล่นความได้อย่างเพราะพริ้งประณีตงดงาม อีกทั้งมีความเคร่งครัดในเรื่องฉันทลักษณ์ศาสตร์ อันเป็นขนบการประพันธ์กวีนิพนธ์ไทยที่ใช้สืบเนื่องกันมาอย่างยาวนาน การใช้คำใช้เสียงอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ถูกต้องเหมาะสม คำแต่ละคำมีความแม่นยำหนักแน่น ได้ความหมายอันลึกซึ้ง มีความสมบูรณ์กลมกลืนด้วยลีลาอันอ่อนโยนและมีพลัง
องค์ประกอบที่โดดเด่นของ “ทางจักรา” คือการใช้ตัวละครครูกับศิษย์เป็นตัวแทนการออกค้นหาองค์ความรู้ใหม่ทางสังคมที่สลับซับซ้อนและผันแปร ผู้เขียนสะท้อนให้เห็นรอยทางการดำรงชีวิตทั้งด้านดีงามและความไม่สมประกอบที่มีอยู่จริงในสังคม ทำให้เห็นภาพการไหลเวียนของสรรพสิ่งที่มีอยู่รอบๆตัวมนุษย์ ขณะเดียวกันผู้เขียนยังได้สอดแทรกปรัชญาชีวิตผ่านมโนทัศน์กวีอย่างสร้างสรรค์ ถ่ายทอดสภาวะปัญหาที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ได้อย่างลุ่มลึก ด้วยกระบวนทัศน์เชิงวิพากษ์ผ่านตัวละครท้องถิ่นในชนบท เชื่อมร้อยพฤติการณ์ไปถึงระดับบนสูงสุด บ่งบอกถึงการกระทำและการถูกกระทำล้วนมีอำนาจบางอย่างวกวนเวียนว่ายอยู่ในทุกลมหายใจของยุคสมัย เมื่ออ่านจบทำให้เกิดความคิด เกิดปัญญา เกิดความเพลินเพลินรื่นรมย์ เกิดจินตนาการ และเกิดความสำนึกในสภาพชีวิตไปพร้อมๆกัน

นครคนนอก
พลัง เพียงพิรุฬห์

“นครคนนอก” แสดงภาพเมืองที่มีความปะทะสังสรรค์ระหว่างผู้คนกับกระแสคลื่นโซเชียลเน็ตเวิร์ค ให้ภาพการเปลี่ยนถ่ายจากวัฒนธรรมเก่าไปสู่วัฒนธรรมใหม่อย่างฉับพลัน ทั้งยังแสดงวิถี และทัศนะของผู้คนในตรรกะที่เปลี่ยนแปลงไปจากสังคมไทยที่ผ่านมา รวมถึงความไม่เป็นธรรมทางการเมืองบางประการ ในทางกลับกัน ยังคงมีชีวิตของคนบางกลุ่มที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างเป็นปกติและมีความสุข โดยไม่ข้องเกี่ยวกับโซเชียลเน็ตเวิร์คที่กำลังถาโถมเข้าสู่ผู้คนทุกหมู่เหล่า
พลัง เพียงพิรุฬห์ ได้เลือกนำเสนอเนื้อหาผ่านบทกวีที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นการนำเสนอตามแนวขนบนิยมอย่างเคร่งครัด การคิดสร้างสรรค์ที่เป็นไปตามสมัยนิยม รวมถึงการนำเสนอผ่านวรรณรูปที่มีความหมายจากคำและจากภาพที่ปรากฏ
“นครคนนอก” จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้อ่านได้ทบทวนกับตัวเองว่า หรือการมีชีวิตที่ไหลไปตามกระแสนั้น อาจทำให้เราเป็น “คนนอกนคร” ไปได้ในที่สุด

บางคนอาจเดินสวนทางเราไป
บัญชา อ่อนดี

“บางคนอาจเดินสวนทางเราไป” เป็นรวมบทกวีที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมร่วมสมัยซึ่งประกอบด้วยความหลากหลายของวิถีชีวิต ผู้คน ความเชื่อ และค่านิยม ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ก้าวล้ำด้วยโซเชียลมีเดีย และการแพร่หลายของความเจริญทางวัตถุ แต่ผู้คนกลับมีความเหลื่อมล้ำแตกต่างกัน กวีได้หยิบยกประเด็นปัญหาร่วมสมัยมานำเสนอได้อย่างมีศิลปะ วิพากษ์วิจารณ์ยุคสมัยแห่ง ด้วย “สังคมก้มหน้า” น้ำเสียงเสียดสี ชวนให้ผู้อ่านหันมามองโลก มองชีวิต และมองผู้คนรอบข้างที่อาจเดินสวนทางกันไปอย่างเร่งรีบ โดยไม่สนใจใยดีต่อกัน ซึ่งแท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงาน คนเก็บขยะ คนขายกาแฟ คนชรา คนบ้า หรือ แม้แต่คนอพยพไร้ที่พึ่งพาอย่างชาวโรฮิงญาก็ตาม ต่างก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน
กวีมีความช่างสังเกตและไหวรู้สึกต่อมิติต่าง ๆ รอบตัว อาทิ ปัญหาการตกเป็นทาสขอ
สื่อใหม่ ความเจริญทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่จิตใจของผู้คนกลับเสื่อมลง ปัญหาความขัดแย้งและรุนแรงในสังคม หรือวิถีบริโภคนิยม เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ผู้อ่านตระหนักและรับรู้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แต่กวีได้หยิบยกประเด็นต่าง ๆ เหล่านั้นมาผูกร้อยเป็นเรื่องราวและเหตุการณ์ด้วยถ้อยคำที่มีพลัง มีเสน่ห์เฉพาะตัว สอดคล้องกับแนวคิดสำคัญของเรื่องที่ต้องการสื่อสารกับผู้อ่าน ทำให้ผลงานเรื่องนี้มีความโดดเด่นด้วยการนำเสนอประเด็นร่วมสมัยที่น่าสนใจ
ในด้านวรรณศิลป์ รวมบทกวีของ บัญชา อ่อนดี มีศิลปะทางการประพันธ์ซึ่งกวีนำเสนอเนื้อหาด้วยรูปแบบของฉันทลักษณ์ไทย มีการใช้ถ้อยคำที่สื่อความหมายชัดเจน ให้อารมณ์ความรู้สึก เรียงร้อยถ้อยคำให้เกิดเสียงสัมผัสที่ไพเราะ มีลีลาจังหวะของคำ เข้าใจได้ง่าย แต่กระทบใจ อันแสดงให้เห็นถึงฝีมือทางการประพันธ์อย่างเด่นชัด

พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล
วิสุทธิ์ ขาวเนียม

“พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล” สะท้อนให้เห็นภาวะความเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในของมนุษย์ ท่ามกลางความขัดแย้งยังคมมีความรักอันงดงาม ขณะความเศร้าแผ่กระจาย ความหวังกลับมิได้สลายไปโดยสิ้นเชิง ตราบใดที่โลกยังคงหมุนเวียน
วิสุทธิ์ ขาวเนียม บอกเล่าเรื่องราวในโลกใบเล็ก บ้านสวนที่ยังคงงดงาม หอมด้วยกลิ่นของดอกไม้ และกลิ่นควันธูปที่จุดไหว้พระ นี่คือโลกใบเล็กซึ่งเขาพยายามปกป้อง ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่อาจต้านทานแรงสั่นไหวจากความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคมได้
พร้อมกันนั้น เขาก็บอกเล่าถึงโลกใบใหญ่ ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความหวาดระแวง ความเกลียดชัง ความรุนแรง และความสูญเสีย ที่มนุษย์กระทำต่อกัน ในยุคสมัยซึ่งไม่มีใครสามารถบ่งบอกได้แน่ชัดว่า เรากำลังอยู่ไหน และ เรากำลังจะไปที่ไหน คล้ายคนที่พลัดหลงอยู่ในห้วงเวลาของนักมายากล วนเวียนอยู่อย่างไร้ทางออก
วิสุทธิ์ ขาวเนียมใช้ทั้งกวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์และไร้ฉันทลักษณ์ประกอบกันทั้งเล่ม สะท้อนภาพความจริงผ่านสายตากวี ภาพของเขาคมชัด พร้อมสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งให้อารมณ์ความรู้สึกลึกล้ำอย่างที่สุด
นี่คือบันทึกของยุคสมัย ในห้วงเวลาแห่งความสับสน ผ่านเรื่องราวของคนเล็กๆ ดอกไม้ของแม่ กลิ่นควันธูปที่พ่อจุดไหว้พระ เสียงหัวเราะของเด็กๆ เมื่อโลกทั้งใบถูกเขย่า ก็ไม่มีสิ่งใดที่อาจทนนิ่งเฉยอยู่ได้ เราต่างสะเทือนไปตามแรงสั่นไหวของโลก ต่างตื่นตระหนก ต่างเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เราไม่มีทางเลือกอื่น เรามีโลกใบเดียว และเรายังคงต้องอยู่ที่นี่ ตราบจนลมหายใจสุดท้าย

เพลงแม่น้ำ
โขงรัก คำไพโรจน์

กวีนิพนธ์ชุด “เพลงแม่น้ำ” ของโขงรัก คำไพโรจน์ นำเสนอในรูปแบบฉันทลักษณ์ประเภทกลอนสุภาพตลอดทั้งเล่ม โดยผู้เขียนแบ่งเนื้อหาเป็น ๓ ช่วง ช่วงแรกคือ ภาคต้นน้ำ : เพลงของพ่อ ที่พูดถึงรกราก หรือแผ่นดินเกิด ช่วงที่สอง ภาคกลางน้ำ : เพลงบ้านเพลงเมือง ซึ่งเคลื่อนตัวจากชนบทสู่เมืองหลวง และช่วงที่สามเป็น ภาคปลายน้ำ : เพลงแม่น้ำ ที่โหยหา เศร้าเหงา และหวนคืนสู่รากเหง้าอย่างมีนัยยะ พร้อมๆ กับแววกังวลต่อการเปลี่ยนแปลง
เนื้อหาโดยรวมผู้เขียนได้สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตทางภาคอีสาน ที่มีความผูกพันแนบแน่นกับแม่น้ำสายหลักของดินแดนที่ราบสูง เช่นโขง ชี มูล ตลอดจนแม่น้ำสาขาอื่นๆ ฉายภาพให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำในอดีต ทั้งเรื่องข้าวปลาอาหาร ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และความศรัทธา ที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อเนื่องยาวไกล
ความโดดเด่นผู้เขียนใช้รูปแบบการเล่าเรื่องอย่างมีความช่ำชองผ่านงานฉันทลักษณ์ได้อย่างลงตัว “เพลงแม่น้ำ” ใช้ภาษาได้อย่างงดงามไพเราะผ่านท่วงทำนองที่ลื่นไหลดุจสายน้ำที่ซ่อนความลุ่มลึกเคลื่อนผ่านกาลเวลา หลายบทตอนผู้เขียนใช้ทักษะที่มีอยู่เล่นคำให้เกิดความหมายในมิติใหม่ๆผ่านจิตวิญญาณกวี ส่องทางให้ผู้อ่านมองเห็นชีวิตเลือดเนื้อของคนในสังคมชั้นล่างได้อย่างคมชัด ทั้งในด้านความรักความผูกผันของสมาชิกในครอบครัว ชุมชน และลุ่มน้ำอย่างกลมกลืน
ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าสายน้ำ ธรรมชาติชีวิตหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว เพราะสายน้ำเปรียบเสมือนแม่ ผู้ก่อกำเนิดสรรพสิ่งที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิต แต่แม่ในวันนี้มีเสียงสะท้อนการร่ำไห้ เพราะถูกทำร้ายด้วยน้ำมือของลูก นั่นคือมนุษย์ กระนั้น ผู้เขียนมิได้กล่าวด้วยน้ำเสียงเกรี้ยวกราด หากแต่เขาใช้ความสามารถพิเศษอย่างมีวรรณศิลป์บอกเล่าด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนและชวนครุ่นคิดคำนึง

Comments are closed.

Pin It