Art Eye View

ยล “จันทบุรี”ผ่านงานศิลป์ 70 นักศึกษาศิลปะ ค่ายเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย ครั้งที่ 8

Pinterest LinkedIn Tumblr

“เมืองจันทบุรีมีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของธรรมชาติ มีครบทั้งภูเขา น้ำตก ทะเล รวมทั้งผลไม้ขึ้นชื่อต่างๆ โดยเฉพาะมังคุด พริกไทย พลอยต่างๆและสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ทำให้นึกถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองจันทบุรี ด้วยความที่รู้ประวัติพระเจ้าตากสิน จากหนังสือในวัยเด็ก ทำให้ข้าพเจ้าชื่นชอบพระเจ้าตากสินเป็นอย่างมาก จึงนำเสนอผ่านเรื่องราวให้เห็นได้ว่า ทรงเป็นผู้สร้างจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของเมืองจันทบุรี ทำให้มีสิ่งสวยงามเกิดขึ้นมากมาย”  ณัฐวุฒิ ชูมะโนวัฒน์ เจ้าของผลงาน “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เทคนิคสีอะคริลิค และสีน้ำมันบนผ้าใบ
ART EYE VIEW—ลองโยนโจทย์สั้นๆให้ศิลปิน หรือนำพวกเขาไปลงพื้นที่เพื่อสัมผัสกับสถานที่หรือวิถีชีวิตของผู้คนที่ไหนสักแห่ง ไม่ช้าไม่นานเราย่อมได้สัมผัสกับแง่มุม เรื่องราว และจินตนาการที่หลากหลาย ผ่านผลงานศิลปะของพวกเขา

ตัวอย่างเช่น โครงการค่ายเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย ครั้งที่ 8 ประจำปี 2560 ที่ก่อนหน้าที่ได้นำนักศึกษาด้านศิลปะ จำนวน 70 คน จาก 23 มหาวิทยาลัย ของทุกภูมิภาคของประเทศ ที่ผ่านการคัดเลือกโดยศิลปินแห่งชาติและศิลปินร่วมสมัยมาเข้าค่ายฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ และจังหวัดจันทบุรี

โดยตลอดการอบรม รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 7 วัน (ระหว่างวันที่ 5 – 11 มกราคม 2560 ) นอกจากมีการบรรยายให้ความรู้จากศิลปินแห่งชาติ ,วิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ ยังมีการจัดทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้สำคัญด้านศิลปะร่วมสมัย การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในพื้นที่ และการทำกิจกรรมศิลปะเพื่อสังคม อีกด้วย

กระทั่งล่าสุดนักศึกษาศิลปะทั้งหมดที่ถูกคัดเลือกให้เข้าค่ายมีผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ภายใต้แนวคิด “จันทบุรี”มาจัดแสดงให้ผู้สนใจได้ชมผ่านนิทรรศการ “จันทบุรี” ระหว่างวันนี้ – 28 มีนาคม พ.ศ.2560 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

โครงการค่ายเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย ครั้งที่ 8 ประจำปี 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะ ความรู้ เทคนิควิธีการ รวมถึงประสบการณ์สร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยให้กับเยาวชน ในการสืบทอดภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เป็นการประสาน เชื่อมโยง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ระหว่างศิลปินแห่งชาติ ศิลปินร่วมสมัย และเยาวชนรุ่นใหม่ในการพัฒนาต่อยอดงานศิลปะร่วมสมัย และเป็นการสร้างโอกาสและความเป็นเลิศทางด้านศิลปะให้กับเยาวชนก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพต่อไป โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้ทำงานร่วมกับสภาศิลปกรรมไทย ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549 โดยมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบการฝึกอบรมให้เหมาะสมต่อสภาพการณ์ปัจจุบันในแต่ละครั้ง
“ได้แรงบันดาลใจมาจากอ่าวคุ้งกระเบนที่ในหลวงทรงได้นำทางไปสู่ความสมบูรณ์ และทรงได้พัฒนาอ่าวแห่งนี้ให้ได้มีกินมีใช้ มีธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบโดยที่เราไม่ต้องไปไขว่คว้าหาจากที่ใดเลย แต่หาจากสิ่งที่เรามีอยู่ใกล้ตัวและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้ความพอดี พอเพียงเป็นที่ตั้ง เพราะที่จริงแล้วเราอยู่ได้เพราะธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งอื่นใดเลย”  วรรนิสา ปิตตุลา เจ้าของผลงาน “ความสุขที่อยู่ใกล้ตัว”  เทคนิคเย็บหนัง ใยสังเคราะห์
“ความประทับใจแรก หลังจากที่ได้ทัศนศึกษาเมืองจันทบุรี  โบสถ์โรมันคาทอริค อาสนวิหารพระนางมารียาปฏิสนธินิรมล มีความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมาก และได้มีโอกาสไปสัมผัสด้วยตาตนเอง ดิฉันจึงอยากเขียนจากแรงปะทะทางอารมณ์ความรู้สึกประทับใจแรก โดยถ่ายทอดด้วยเทคนิคเฉพาะตน” สุจิตรา แสงพุก เจ้าของผลงาน  อาสนวิหารพระนางมารียาปฏิสนธินิรมล  เทคนิคสื่อผสมบนผ้าใบ
“คำร่ำลือเกี่ยวกับความงามของอัญมณีเมืองจันทบุรี ที่มีความสวยสดงดงาม  จนทำให้ข้าพเจ้ามีความอยากได้เก็บไว้ในครอบครองเป็นของตน” ขวัญฤทัย แสนจุ่มจันทร์ เจ้าของผลงาน “มีพลอยเท่าหัวไม่มีผัวก็ได้”เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ
“ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูกมากที่สุดในจันทบุรี โดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้ามีความชื่นชอบผลไม้ชนิดนี้ ข้าพเจ้าจึงได้นำเอาทุเรียนมาสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมในรูปแบบ pop art”  เพชรพลอย ชัยมงคล เจ้าของผลงาน  Local Fruits  เทคนิคจิตรกรรม
“ข้าพเจ้าได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินเที่ยวชุมชนริมน้ำจันทบูร เกิดความชอบในความงามของตัวสถาปัตยกรรมหรือบ้านของคนจันทบุรี จึงได้ถ่ายทอดวิถีชีวิตความสงบสุข ความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของคนจันทบุรี ผ่านความประทับใจจากบางมุมของบ้าน สร้างสรรค์ผลงานโดยใช้เทคนิคสีฝุ่นบนผ้าใบรองพื้นดินสอพอง” ธนพล ขวัญทองยิ้ม เจ้าของผลงาน “บ้านคนจันทบุรี” เทคนิคสีฝุ่นบนผ้าใบรองพื้นดินสอพอง

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It