Art Eye View

บทกวีแห่งความสิ้นหวังของ “ศิระ สุวรรณศร” คุณพ่อศิลปินของลูกออทิสติก

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ชีวิตของคุณเคยสิ้นหวังกับเรื่องราวใดบ้าง และหน้าตาของความสิ้นหวังนั้นเป็นอย่างไร

ผลงานประติมากรรมชิ้นใหญ่ซึ่งกำลังติดตั้งอยู่บริเวณทางเข้าหอศิลป์วิทยาลัยเพาะช่าง ในขณะนี้ ไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่าคือหน้าตาหนึ่งของความสิ้นหวังของ 'ศิระ สุวรรณศร' ศิลปินวัย 44 ปี ,อาจารย์สอนด้านประติมากรรม วิทยาลัยเพาะช่าง และนักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประติมากรรมชิ้นนี้ มีลักษณะเป็นรูปร่างมนุษย์ 3 คน ที่ต่างกำลังอยู่ในสภาพใกล้หมดแรง และมือของแต่ละคนต่างฉุดดึงกันไว้ ไม่ให้ใครคนหนึ่งต้องล้มลงไปกองกับพื้น

ช่างไม่แตกต่างกับสภาพครอบครัวเล็กๆของศิระในเวลานี้…


ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน หลังจากที่ศิระและภรรยาแต่งงานกัน เขาและเธอ ก็ไม่ต่างจากคู่สามีภรรยาอีกหลายๆคู่ ที่ฝันอยากจะมีลูก

หนึ่งปีผ่านไปเมื่อเริ่มสงสัยว่าทำไมภรรยาถึงไม่ท้องเสียที เขาและเธอจึงไปพบแพทย์ ผลปรากฏว่าสุขภาพของภรรยาประสบกับภาวะเนื้องอกในมดลูก ต้องตัดมดลูกทิ้ง และเลือกที่จะมีลูกโดยการพึ่งเทคโนโลยี เด็กหลอดแก้ว (เทคโนโลยีที่ช่วยในการปฎิสนธิระหว่างไข่และสเปิร์มที่ภายนอกร่างกาย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาภาวการณ์มีบุตรยาก)

แต่ทุกอย่างก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะตลอดระยะเวลา 6 ปี ที่พึ่งเทคโนโลยีนี้ นอกจากจะหมดเงินไปเป็นจำนวนมาก ยังต้องเสียใจครั้งแล้วครั้งเล่า กับเหตุการณ์ท้องแล้วแท้ง

“หมดเงินหลายล้านในการพยายามที่จะมีลูก ไปหาหมอทุกวัน ไปต่อคิว ทำทุกกระบวนการ ฉีดฮอร์โมน ต้องฉีดเอง 30- 40 เข็มทุกวัน พอติดแล้วแท้ง ร้องไห้ เสียใจ เพราะแท้งหลายครั้ง แม้แต่ตอนที่ท้องได้ 6 เดือนแล้ว ยังต้องไปยับยั้งการคลอด จนครั้งสุดท้ายลูกคลอดออกมาแล้ว หัวใจไม่ปิด ต้องรักษาอีก หมดเงินจนแทบไม่เหลืออะไรเลย”

ความเสียใจยังไม่จบสิ้นเพียงเท่านั้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อลูกชายของเขาเติบโตจนมีอายุได้ 3 ขวบ ศิระและภรรยายังได้พบอีกว่าลูกเป็นโรคออทิสติก

“เดินทางไปทั่วประเทศไทย ใครเขาว่าหมอที่ไหนดี จนชีวิตไม่ได้ไปไหนเลย หมกมุ่นอยู่กับตรงนั้น อยู่กับการรักษาลูก เคยฉีดยาเข็มละหมื่นทุกวันก็ช่วยอะไรไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องยอมรับ จนถึงเวลานี้เราแค่ประคับประคองชีวิตเขาให้พอที่จะอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ ไม่งั้นเขาก็จะอยู่ไม่ได้”

ปัจจุบันลูกชายของศิระมีอายุ 10 ขวบ หากถามว่าเขายังมีความหวังแค่ไหนกับการที่จะได้เห็นลูกมีพัฒนาการดีขึ้น คำตอบดูเหมือนจะ “สิ้นหวัง”

“เวลานี้แม้แต่ตอนอึก็ยังล้างก้นไม่ได้ ศิลปะเป็นตัวเดียวที่ทำให้เขามีสมาธิยาวขึ้น เพราะเขาจะโฟกัสกับอะไรได้ไม่นาน ดูหนัง ฟังเพลง เล่นดนตรี อยู่ได้ไม่เกินหนึ่งนาที แต่กับศิลปะเขาอยู่ได้เป็นชั่วโมง”

ผลงานประติมากรรมซึ่งสะท้อนความทุกข์ในความครอบครัวเล็กๆของศิระผู้มีลูกเป็นโรคออทิสติก กำลังจัดแสดงให้ชมเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “บทกวีแห่งความสิ้นหวัง” ระหว่างวันนี้ – 12 กรกฎาคม พ.ศ.2560 ณ หอศิลป์วิทยาลัยเพาะช่าง ถนนตรีเพชร นิทรรศการแสดงผลงานวิทยานิพนธ์ก่อนจบปริญญาเอกของศิระ ซึ่งเขาสนใจศึกษาในหัวข้อ “สังเวชวิจักษ์ : ทางสู่ปัญญาผ่านความเสื่อมสลาย”

“มีที่มาจากเราได้รับปัญญาจากความเสื่อมสลาย คนที่เข้ามาชมงานจะได้เผชิญกับความทุกข์และความเสื่อม เข้าใจถึงที่มาต่างๆของชิ้นงาน ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติ เรื่องของความจริงที่อยู่บนโลกนี้ และได้มาเจอกับสภาวะของครอบครัวๆ หนึ่ง”

โดยศิระเลือกใช้ผลงานประติมากรรมที่สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคดินผสมกับผงเหล็กสะท้อนสภาวะของครอบครัวนี้..อันคือครอบครัวเล็กๆของเขาเอง

“เทคนิคดินผสมกับผงเหล็กผมใช้มานานแล้วในการสร้างงานศิลปะ ผงเหล็กสามารถใช้เป็นตัวแทนของกิเลสได้ เวลามีสนิมขึ้น เกิดการกัดกร่อน เหมือนกิเลสที่มันกัดกร่อนจิตใจของเรา ขณะเดียวกันผงเหล็กก็จะช่วยทำให้เนื้อของวัสดุมีความร่วน เวลาที่มันร่วงเวลาที่มันแตกจะมีลักษณะป่น ไม่เกาะตัวกันเป็นก้อน ทำให้ตัววัสดุมีความงามในเชิงสุนทรียะด้วย”

หากใครที่แวะผ่านไปชมผลงาน ไม่ต้องแปลกใจ หากบางเวลาจะได้เห็นศิระและนักศึกษาเพาะช่างลูกศิษย์ของเขา กำลังระดมแรงทำอะไรหลายๆอย่างกับผลงานชิ้นนี้ เพื่อให้ผลงานคงสภาพเอาไว้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ไปจนถึงวันสุดท้ายของนิทรรศการ

เพราะมันคือส่วนหนึ่งของการแสดงผลงานชิ้นนี้ ที่ต้องการสะท้อนถึงความพยายามของครอบครัวเล็กๆครอบครัวหนึ่ง ที่พยายามจะประคับประคองครอบครัวและชีวิตของลูกที่มีความบกพร่อง ไปจนกว่าจะหมดแรงกันไปข้างหนึ่ง

“ผลงานของผมแสดงให้เห็นชัดๆเลยว่า ทุกสรรพสิ่งมันมีความทุกข์ เราจะพยายามจะยื้อ พยายามจะทำให้สมบูรณ์แบบ เมื่อสู้ไม่ไหว สุดท้ายเราก็ต้องปล่อย มองมันร่วงหล่น แต่ขณะเดียวกันเราก็จะได้เห็นความงามของมันด้วย ความงามอันเกิดจากรอยแตก การขาดหายของรูปทรง

ในท่ามกลางวิกฤติ ที่มันบีบคั้นมากๆ มันไม่ใช่ทุกเวลาหรอกที่คนเราจะกอดคอรักกัน บางครั้งมันสร้างรอยร้าวเกิดขึ้น ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆในการดูแลรักษาลูกที่เริ่มมากขึ้น ทั้งการถกเถียงกันว่าฉันจะดูแลลูกอย่างนี้ จะเอาไว้โรงเรียนนี้ มันมีความขัดแย้งพอกพูนขึ้น เหมือนสนิมในผลงานประติมากรรมที่จะค่อยๆมีสีส้มขึ้นเรื่อยๆ วัสดุจะเปลี่ยนสภาพไปเรื่อยๆ แล้วจะค่อยๆเริ่มแตกเริ่มร้าว เหมือนจิตใจแตกสลาย สุดท้ายเราก็จะอยู่กับมันด้วยความรู้สึกที่ไม่เหมือนเดิม อยู่กับมันด้วยความเข้าใจมากกว่า

แต่งานชิ้นนี้มันทำให้ผมได้รู้ถึงคุณค่าของตัวเอง มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราต้องรับผิดชอบดูแลอะไรต่างๆท่ามกลางความบกพร่อง บีบคั้น สามามารถที่จะดำเนินต่อไป เห็นเป้าหมายของตัวเองชัดเจนมากขึ้น ถ้าลูกไม่เป็นแบบนี้เราอาจจะไปสำมะเลเทเมา แต่เราได้ใช้เวลาไปกับการทำอะไรทุกอย่างเพื่อให้ลูกดีขึ้น”

ศิระพยายามที่จะสะท้อนบอกเราด้วยนั่นเองว่า ในภาระนั้นมีธรรมะ ในความสิ้นหวังก็ยังมีความไพเราะและงดงามดังบทกวี

“แต่ก่อนผมทำงานเกี่ยวกับเรื่องไกลตัว แต่ตอนนี้ทำเรื่องใกล้ตัวเพราะเราทำงานศิลปะเพื่อเยียวยาตัวเองด้วย ปฏิบัติธรรม เพื่อให้เราเข้าใจและยอมรับสภาพความเป็นไปต่างๆที่มันทำให้เราเป็นทุกข์ เมื่อเราเข้าใจ เราก็จะไม่ทุกข์กับมันอีกต่อไป

ชีวิตของผมส่วนใหญ่เจอแต่เรื่องเลวร้าย เจอความทุกข์มากกว่าความสุข บางครั้งความสุขมันมีจริงหรือเปล่าผมยังไม่รู้ หรือความสุขอาจจะหมายถึงการมีความทุกข์น้อยแค่นั้นเอง แต่ความทุกข์มันเป็นความจริงมากๆเลย”

เสริมคุณ คุณาวงศ์ ผู้ก่อตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ จะเป็นประธานในพิธีปิดนิทรรศการ “บทกวีแห่งความสิ้นหวัง” โดย ศิระ สุวรรณศร พร้อมการเสวนาในหัวข้อ “ศิลปินทัศนะกับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ” ในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2560 เวลา 16.00 เป็นต้นไป ณ หอศิลป์วิทยาลัยเพาะช่าง ถ.ตรีเพชร สอบถาม โทร. 092-ุ656-6602




ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It