Art Eye View

“ความสุขคือการได้ทำสิ่งที่รักและได้สตางค์ด้วย” นที อุตฤทธิ์ แรงงานสร้างสรรค์ในโลกศิลปะ

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—“ความสุขคือการได้ทำสิ่งที่รักและได้สตางค์ด้วย” เป็นความสุขที่หลายคนปรารถนา แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถพาชีวิตของตนเองเดินทางมาถึงจุดนี้ได้

นที อุตฤทธิ์ ศิลปินไทยผู้มีผลงานสะสมอยู่ในคอลเลกชันของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ชื่อดัง ทั้งในเอเชีย,เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป ได้เข้าเป็นสู่ระบบมืออาชีพและเป็นสากลในแบบที่ศิลปินหลายคนใฝ่ฝัน ได้ร่วมงานกับแกลเลอรี่ชั้นนำมากมาย และมีคิวจัดแสดงผลงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1994 – ปัจจุบัน

ที่สำคัญได้ทำงานศิลปะที่เขารักเป็นอาชีพมากว่า 15 ปี อีกทั้งยังไม่มีวี่แววที่จะเบื่อหน่ายหรือหมดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานออกมาเลยแม้แต่น้อย

จนศิลปินอาชีพเช่นเขา สามารถเอ่ยปากบอกใครต่อใครได้เต็มปากว่า “ความสุขคือการได้ทำสิ่งที่รักและได้สตางค์ด้วย”


มีหลายคนที่อยากทำสิ่งที่ตัวเองรักแต่มันเลี้ยงชีวิตไม่ได้ เขาก็ต้องกันมันไปเป็น Hobby(งานอดิเรก) แล้วก็ไปทำอีกอาชีพที่ได้สตางค์

ผมอาจจะโชคดีที่สามารถเอาสองสิ่งมารวมกันได้คือสิ่งที่ผมรักและเลี้ยงชีวิตได้ และเวลาทำไปผมก็มีความสุขด้วย”

หากจะมีความทุกข์อยู่บ้าง ก็เป็นเพียงความทุกข์อันเกิดจากความเครียดในการทำงานที่เขาไม่สามารถกดปุ่มชัตดาวน์ตัวเองออกจากโลกของการสร้างสรรค์ศิลปะได้อย่างสมบูรณ์

“มันก็เลยทำให้ผมไม่สามารถเอาเรื่องงานออกไปจากตัวเองได้ พออายุมากขึ้น ตอนนี้ผมจะ 50 ปีแล้วนะ บางครั้งเรื่องของสังขารมันต้องการการพัก ต้องการแยกโลกของการทำงานออกไป เนื่องจากศิลปะมันไม่ใช่งานออฟฟิศแบบที่เราเข้าใจ มันเหมือนกับว่าถ้าเราเปิดโหมดของศิลปะไว้ตลอดเวลา มันจะดีต่อความคิดสร้างสรรค์ พอถึงเวลาที่ควรจะปิดมันเพื่อถนอมสังขาร มันเลยปิดไม่ได้ มันเหมือนต้องสแตนด์บาย วิธีคิด วิธีมองในเชิงศิลปะอยู่ตลอดเวลา ถามว่าผมมีชีวิตด้านอื่นมั้ย มันก็มี เพียงแต่ว่า พอโหมดที่เรามองโลกมันยังอยู่ในโหมดของศิลปะ มันก็จะถูกตีกลับ พอเห็นอันนี้จะเอาไปใช้กับงานได้มั้ย มันยังไง ซึ่งบางครั้งมันก็ไม่สนุก

ผมถึงเป็นคนไม่ดูหนังเลย เพราะดูแล้วไม่มีความสุข ดูแล้วมันอดคิดในเชิงศิลปะไม่ได้ ไอ้นี่มันยังไง มันสื่อยังไง มันจะตีความ มันจะค้นหากระบวนการไอ้โน่นไอ้นี่ไปหมด เพราะว่าหนังมันเป็นสื่อที่มีศักยภาพนะ มันมีทั้งเสียง ภาพ ความเคลื่อนไหว มีความเป็นไปได้เยอะมาก ดูแล้วมันไม่มีความสุข ต้องดูสองรอบถ้าอยากดูนะ ยอมไปดูแบบค้นหาก่อน แล้วไปดูอีกทีดูแบบไม่ต้องคิดอะไร”



แม้จะมีคิวจัดแสดงผลงานอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาไม่บ่อยครั้งนักที่ผลงานศิลปะของเขาจะมีมาจัดแสดงให้คนไทยได้ชม

ย้อนเวลากลับไปเมื่อกลางปี พ.ศ. 2556 ผลงานศิลปะของเขาเคยถูกหยิบยืมจากคอลเลกชันต่างๆทั้งในยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาจัดแสดงให้คนไทยได้ชม ณ หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท

การจัดแสดงผลงานครั้งนั้นถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะมีผู้ชมงานและนักศึกษาศิลปะให้ความสนใจอย่างล้นหลาม รวมถึงกิจกรรม Artist Talk ที่หลายคนต่างดั้นด้นมาฟังเขาพูดจนล้นห้อง

“ในครั้งนั้น ทำให้ผมได้พบว่าคนที่ให้ความสนใจศิลปะมีเยอะมาก เยอะมากกว่าที่เคยคิด และเยอะมากกว่าในสมัยที่ผมยังเป็นนักศึกษาศิลปะ

มีนักศึกษาศิลปะจากที่ต่างๆ นั่งรถบัสรถทัวร์จากต่างจังหวัดเข้ามาชมผลงานของผมในกรุงเทพ ผมรู้สึกดีใจที่มีคนสนใจที่จะดูนิทรรศการแสดงศิลปะเป็นจำนวนมากขนาดนั้น และอาจจะประกอบกับที่ว่าผมไม่ค่อยมีนิทรรศการแสดงผลงานในประเทศไทยด้วย เขาก็เลยอยากมาดูว่าผลงานศิลปะของเราพัฒนาไปยังไงบ้าง”

ทุกวันนี้ถ้ามีเวลาว่าง เขาจึงไม่เคยปฏิเสธ หากได้รับเชิญไปถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาศิลปะ

“เพราะสมัยก่อน ผมอยากได้ข้อมูล มันไม่มีใครให้ อยากจะรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ เราก็ต้องขนขวยหาเอง สมัยที่ภาษาเป็นอุปสรรค เราก็ต้องมานั่งเปิดดิกชันเนอรี่แปล จนกว่าเราจะได้องค์ความรู้บางอย่างมา มันเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับผม นักศึกษาศิลปะที่อยากจะได้ข้อมูลที่ดีที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์งานของตัวเอง ดังนั้นถ้ามีโอกาสส่งถ่ายความรู้ที่ผมเคยมีประสบการณ์มาให้ใครได้ มันก็เป็นเรื่องที่ดีที่ควรทำ”

หลังจากที่เมื่อเร็วๆนี้เพิ่งเดินทางไปเปิดแสดงผลงานศิลปะ ณ National Gallery กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศสุดท้ายของโปรแกรมทัวร์แสดงผลงานศิลปะ ( Traveling Exhibition) ของเขา ตลอด 2 ปีนี้ ตามพิพิธภัณฑ์หลายๆแห่ง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป และเป็นการรวบรวมผลงานศิลปะที่เขาสร้างสรรค์ขึ้น ระหว่างปี ค.ศ.2012 – 2016 ไปจัดแสดง

“ผลงานจะจัดแสดงที่กัวลาลัมเปอร์ เป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยไปจัดแสดงที่มะนิลา(กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์) จาการ์ต้า (กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเชีย) และบางส่วนแยกไปมิลาน (กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี)

ล่าสุด หนังสือชื่อ Natee Utarit: Optimism is ridiculous ซึ่งรวบรวมบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะและภาพเขียนผลงานของนที ชุด Optimism is ridiculous ซึ่งเป็นชุดเดียวกับ Traveling Exhibition ผ่านมุมมองของ ดีมีทริโอ ปาปาโรนี่ (Demetrio Paparoni)นักเขียน นักวิจารณ์ศิลปะ และภัณฑารักษ์ชื่อดังชาวอิตาลี และตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สกิร่า เอดิตอรี (Skira Editore) สำนักพิมพ์ชื่อดังของประเทศอิตาลี มีมาเปิดตัวสู่สายตาชาวไทยครั้งแรก ณ ล้ง 1919 ภายใต้การสนับสนุนของ ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้เป็นแฟนผลงานของนทีและเห็นถึงคุณค่าของศิลปะที่สามารถกระตุ้นความคิด และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในอีกทางได้ด้วย

“หนังสือเล่มนี้ เป็น Monograph หนังสือที่รวบรวมผลงานในชุดใดชุดหนึ่งของศิลปินทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจบในซีรีย์นั้นไม่ว่าจะเริ่มต้นในปีไหนก็ตาม มีรายละเอียดครบถ้วน มีข้อมูลทุกอย่างอย่างสมบูรณ์ ผลิตโดยสำนักพิมพ์สกิร่า ของอิตาลี ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือศิลปะในระดับโลก ผลิต Monograph ของศิลปิน Text Book ที่เกี่ยวกับศิลปะมากมาย

มันเกิดขึ้นมาได้ด้วยนิทรรศการของผมที่ตระเวนไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ แล้วผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายสนใจที่จะทำมันขึ้นมาให้เป็นหนังสือก็เลยได้ดีมีทริโอ ซึ่งเป็นนักวิจารณ์ศิลปะคนสำคัญของอิตาลี มาทำการ Research(วิจัย)และก็ทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

ก่อนหน้านี้ผลงานของผม เคยมีทำเป็นหนังสือออกมาบ้างแล้วเหมือนกัน ทั้งที่ผลิตโดยแกลเลอรี่บ้างหรือสำนักพิมพ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้าง เพียงแต่เล่มนี้ผลิตโดยสกิร่าซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ mainstream(หลัก)ที่ผลิตหนังสือศิลปะของโลก ใช้นักเขียนของยุโรปมาวิเคราะห์ผลงาน โดยเชื่อมโยงกับโลกศิลปะของยุโรป ก็เลยทำให้เนื้อหาของหนังสือเข้มข้นแล้วก็กลายเป็นหนังสือที่เป็นacademic (วิชาการ) สามารถใช้อ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้ เพราะข้อมูลต่างๆค่อนข้างครบถ้วน

ปัจจุบันเท่าที่ผมทราบ ประเทศในเอเชียตะวันเฉียงใต้ ค่อนข้างประสบความสำเร็จพอสมควรในการกระตุ้นให้คนหันมาสนใจหนังสือศิลปะที่สามารถเป็นอ้างอิงได้ด้วย แล้วประกอบกับหนังสือเล่มนี้มีข้อมูลหลายอย่างที่เชื่อมโยงกับโลกศิลปะในตะวันตก ซึ่งเป็นประโยชน์ที่นักศึกษาศิลปะในบ้านเราจะใช้อ้างอิงได้ด้วย เป็นข้อมูลแท้ๆ เป็น Original(ดั้งเดิม)จริงๆ เช่น อย่างการอ้างอิงถึงผลงานในอิตาลี ข้อมูลก็จะค่อนข้างตรง ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจศิลปะที่จะใช้ศึกษาเพื่อต่อยอด องค์ความรู้ทางศิลปะของตัวเอง



เสร็จสิ้นภารกิจจากการเปิดตัวหนังสือ นทีมีคิวจัดแสดงผลงานต่อที่ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งถูกวางแผนไว้ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ส่วนปัจจุบันแกลเลอรี่หลักที่ศิลปินอาชีพเช่นเขาร่วมงานด้วยคือ ริชาร์ต โคห์ ไฟน์อาร์ต(Richard Koh Fine Art) ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ 

“ระบบการบริหารจัดการศิลปะ มันไม่ใช่ว่าคนๆหนึ่งเขียนรูปออกมาแล้วตั้งราคารูป แล้วก็เอาไปฝากขายเหมือนร้านโชว์ห่วยหรือเซเว่นอีเลฟเว่น มันไม่ใช่อะไรอย่างนั้น มันซับซ้อนกว่านั้นเยอะ มีการวางแผน อะไรมากมาย อย่างนิทรรศการที่เป็น Traveling Exhibition ของผม มันถูกวางแผนก่อนหน้านี้ตั้ง 4-5 ปี หรืออย่างหนังสือเล่มที่ที่เปิดตัว มันก็ถูกวางแผนมาแล้วตั้งแต่ปี 2013 กว่าที่จะดำเนินกระบวนการของมันไป มันต้องใช้ระยะเวลาในการทำงานในการวางแผน มันไม่ใช่อยู่ๆวันนี้ฉันจะทำหนังสือ ฉันจะแสดงที่ Museum (พิพิธภัณฑ์) มันไม่ใช่กระบวนการคิดแบบนั้น การทำงานกับแกลเลอรี่ก็เหมือนกัน มันไม่ใช่เราทำงานไปเรื่อยๆ จนได้งานมาครบจำนวนหนึ่ง แล้วก็เอาใส่รถขนไปแกลเลอรี่ ถามว่าจะแสดงให้ได้เมื่อไหร่ มันไม่ใช่กระบวนการคิดแบบนี้ มันต้องมีการวางแผน มีการจัดตาราง ดูความเหมาะสมอะไรต่างๆเยอะแยะไปหมด ซึ่งศิลปินอาชีพส่วนใหญ่เขาก็เป็นกันอย่างนี้”

ภาพของความเป็นศิลปินอาชีพในระบบที่เป็นสากลและมีผลงานตระเวณไปจัดแสดงในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้หลายคนคิดไปว่าปัจจุบันเขาไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทย ทั้งที่จริงแล้ว เขามีบ้านและสตูดิโอ หรือฐานหลักของชีวิตอยู่ที่ย่านลาดพร้าว

“ผมยังต้องใช้ความช่วยเหลือหลายด้านของที่นี่อยู่ แต่ก็มีหลายครั้งที่ต้องไปใช้สตูดิโอที่อื่น อย่างปีที่แล้วผมไปใช้ที่ฝรั่งเศส ทำงานในป่าที่นั่น ก็เลยต้องใช้สถานที่ที่นั่น”

ถึงวันนี้ศิลปินวัย 48 ปี ยังคงหลงใหลไม่เสื่อมคลาย กับการนำเสนอผลงานผ่านสื่อภาพวาดเทคนิคสีน้ำมัน

ภาพวาดของเขาไม่มีรูปแบบหรือสไตล์ที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่า ภาพแบบไหนที่จะสอดคล้องกับเรื่องที่เขาต้องการจะพูดผ่านภาพ

“สื่อ painting (ภาพวาด)เป็นสื่อสำคัญในโลกศิลปะ และผมคิดว่ามันมีความท้าทายอย่างมากที่ในยุคปัจจุบันมันถูกมองว่า ค่อนข้างหมดประสิทธิภาพในการนำเสนอสาระของโลกร่วมสมัยไปแล้ว เพราะมันมีสื่ออื่นที่ดูแล้วน่าสนใจแล้วก็มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ผมชอบ painting และก็ศรัทธาใน painting ในความหมายที่มันมีรากลึกของประวัติศาสตร์ แล้วมีความเป็นไปได้มากมายที่โลกนี้ถูกขับเคลื่อนมาผ่าน painting ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา แล้วผมเองก็ยังเชื่อว่าตัว painting มันยังมีประสิทธิภาพมากพอที่จะ handle (จัดการ)เรื่องราวต่างๆในโลกศิลปะไปอีกนาน”



มีความฝันและเตรียมพร้อมสำหรับโอกาส คือสิ่งที่ทำให้เขาเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จในวันนี้

“ผมฝัน พอฝันแล้วก็ต้องเตรียมพร้อม ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ไม่ใช่ฝันแล้วไม่ทำอะไร ยกตัวอย่างนึงให้ฟัง สมัยก่อน พอเราทำงานของเราเสร็จ เรียนจบใหม่ๆ นักศึกษาส่วนใหญ่ก็ถ่ายรูปเก็บไว้ด้วยฟิล์มปกติ ฟิล์มโกดัก ฟูจิ 100 อะไรอย่างนี้ใช่มั้ยฮะ ถ้ามีสตางค์หน่อยก็ถ่ายด้วยสไลด์ สมัยนั้นยังไม่มีดิจิตอล ผมก็ถ่ายสไลด์ ถ่ายภาพผลงานเก็บไว้

ผมฝันว่า ถ้าวันนึง อีก 20 ปีข้างหน้า เราเกิดประสบความสำเร็จมีโอกาสได้ทำหนังสือสักเล่ม ไอ้สไลด์วันนี้ มันจะอยู่ไปจนถึงวันนั้นมั้ย ผมก็เปลี่ยนวิธีคิดที่จะจัดการกับผลงานและข้อมูลของตัวเองใหม่ สมัยนั้นไปจ้างช่างภาพจากเอเจนซี่โฆษณา มาถ่ายด้วยฟิล์ม 120 หรือ 4×5 ซึ่งราคามันแพงมหาศาลเลยนะสมัยก่อน แสดงนิทรรศการครั้งนึงต้องรวบรวมสตางค์ไปถ่ายภาพผลงานด้วยฟิล์มเก็บไว้ เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ยังขายงานไม่ได้ ตั้งแต่จบใหม่ๆ ซึ่งคนอาจจะมองว่าเสียเปล่าก็ได้ เช่นถ้ามันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ฟิล์มพวกนี้มันก็ไม่ได้ถูกใช้

แต่ผมคิดว่าต้องทำให้ดีที่สุด ในสิ่งที่มันเป็นงานของเรา มันไม่มีวันหรอกที่ก้อนความคิดที่ดีเหล่านี้มันจะนำไปสู่สิ่งที่เป็นความล้มเหลวอะไรแบบนั้น

สุดท้ายวันนึงในอีก 15 ปีถัดมา จากปี 1994-2008 ผมได้ทำหนังสือจริงๆ แล้วก็พบว่าสไลด์ที่ผมถ่ายไว้ด้วยฟิล์ม 4×5มันมีคุณภาพที่สมบูรณ์มากพอกับดิจิตอลในปัจจุบัน และถึงวันนั้นผมก็เอามันไปสแกน แปลงเป็นดิจิตอล ดังนั้นหนังสือเล่มแรกๆในชีวิตที่รวบรวมผลงานตัวเองในปี 2008 คุณภาพของภาพมันเท่ากันทั้งเล่มเลย มันจะดูไม่รู้ว่าไอ้นี่ภาพเก่าถ่ายสมัยปี 90 มันจะไม่มีความเละๆเทะๆ

ภาพมันจะเหมือนเราถ่ายมาทั้งหมดเมื่อวานนี้ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ผมรู้สึกดีใจว่าสิ่งที่เราเตรียมพร้อมมาตั้งแต่สมัยนั้น มันได้เอามาใช้งานในวันนี้จริงๆมันไม่ต่างอะไรกับเราทำเกษตร เราหย่อนเมล็ดไว้วันนี้ แล้วเราก็รอเก็บเกี่ยวมันในอีก 3 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตามเขายอมรับว่า ในทุกโอกาสมีสิ่งที่เรียกว่าความฟลุ๊คปนอยู่ด้วย

“โอเค…มันมีความฟลุ๊ค มันมีโอกาส แต่จริงๆแล้วทุกคนก็อยู่ในโอกาสที่เท่าเทียมกัน แต่ทำไมบางคนถึง handle(จัดการ)โอกาสตรงนั้นได้ดีกว่าอีกคนหนึ่ง มันมีเงื่อนไขปัจจัยเยอะมาก ผมจึงไม่อยากให้มองว่า สิ่งที่เป็นความสำเร็จของผมมันเป็นความแปลกประหลาด เหนือความคาดหมาย หรือว่าจะเป็นสิ่งที่คนอื่นจะเป็นไปไม่ได้

ใครๆก็ทำอะไรแบบนี้ได้ ถ้ามีความคิดวิธีเดียวกับผมเมื่อสมัยก่อนแล้วก็ handle มันมาแบบที่ผมทำ สุดท้ายก็ต้องมีคนแบบผมเพิ่มอีกแหล่ะ ไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไร”

รายงานโดย : อ้อยอรุณ   ถ่ายภาพโดย : จิรโชค พันทวี

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It