Art Eye View

“ภูมิใจ…ไทยแลนด์ #PrideofThailand” การประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 33

Pinterest LinkedIn Tumblr


ปตท. ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเชิดชูความเป็นไทย จัดประกวดผลงานศิลปกรรมครั้งที่ 33 ในหัวข้อ “ภูมิใจ…ไทยแลนด์ #PrideofThailand” เปิดโอกาสให้ศิลปินทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ส่งผลงานสร้างสรรค์ สะท้อนความภาคภูมิใจในความเป็นไทยและความสำเร็จของประเทศไทยในหลากมิติ

นับเป็นปีที่ 33 ไปแล้ว สำหรับการจัดประกวดผลงานศิลปกรรม ปตท. ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดขึ้น โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร และกล่าวได้ว่ามีความคึกคักมากขึ้นทุกปี มีน้องๆ เยาวชนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปสนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดมากขึ้นทุกปีเช่นกัน

อย่างปีนี้ที่จัดประกวดในหัวข้อ “ภูมิใจ…ไทยแลนด์ #PrideOfThailand” ปรากฏว่ามีคนส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมากถึง 632 คน 785 ชิ้นงาน และล่าสุด คณะกรรมการได้ตัดสินไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีรางวัลยอดเยี่ยม 4 รางวัล รางวัลดีเด่น 20 รางวัล และมีผลงานที่ได้การคัดเลือกให้ร่วมแสดงในนิทรรศการอีกจำนวน 111 ชิ้น

โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีประทานรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดและทรงเปิดนิทรรศการผลงานศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 33 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันชัย สุทธะนันท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมด้วยนายอรรถวุฒิ วิกิตเศรษฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ ปตท. ให้การรับเสด็จ ณ ท้องพระโรง หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ
คุณประเสริฐ สลิลอำไพ
คุณประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงความเป็นมาของงานนี้ว่า ปตท. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดประกวดศิลปกรรม ปตท. มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2529

คุณประเสริฐกล่าวต่อไปว่า … “ปีนี้ เรามีหัวข้อว่า “ภูมิใจ…ไทยแลนด์” เปิดโอกาสให้ศิลปินทุกระดับส่งผลงงานสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับยุคสมัยนี้ที่เรากำลังโหยหาเรื่องของความภาคภูมิใจหรือความสำเร็จของประเทศไทยในแง่มุมต่างๆ เข้ามาประกวดกัน ซึ่งเราเชื่อว่า การที่ศิลปินทั้งหลายมีมุมมองที่แตกต่างกัน ก็จะนำเสนอผลงานที่สร้างสรรค์ได้หลากหลายและเป็นประโยชน์ในการที่เราจะถ่ายทอดพลังศิลปะให้สังคมได้รับทราบกัน”

“เนื่องจากปีนี้หัวข้อไม่ได้ยากนัก ทำให้มีคนส่งผลงานเข้ามาประกวดกันมาก และแต่ละชิ้น เราเชื่อว่าจะสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ได้มาเยี่ยมชม และเชื่อว่าการประกวดศิลปกรรม ปตท.นี้ จะต่อยอดให้น้องๆ ทั้งหลายได้เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงต่อไปในอนาคต”

ที่น่าดีใจก็คือ นอกเหนือจากเงินรางวัล คุณประเสริฐกล่าวว่า จะมีโครงการพาผู้ที่ชนะเดินทางไปต่างประเทศ อย่างรุ่นใหญ่หรือระดับประชาชน ในปีนี้ก็จะได้ไปประเทศสเปน เพื่อศึกษางานศิลปะเปรียบเทียบในต่างประเทศอันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาต่อยอดในเรื่องของแนวคิดและพัฒนาฝีมือตัวเอง ส่วนน้องๆ เยาวชนก็จะได้ไปประเทศมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ ถ้าใครมีโอกาสได้ไป ก็จะมีประโยชน์มากต่อการเป็นศิลปินในอนาคต

ทางด้านอาจารย์พีระพงษ์ ดวงแก้ว หนึ่งในคณะกรรมการโครงการศิลปกรรม ปตท. กล่าวว่า รู้สึกประทับใจในจุดประสงค์และจุดมุ่งหมายของ ปตท. ที่สนับสนุนงานศิลปะ เพื่อให้ผู้มีทักษะทุกระดับมีโอกาสพัฒนาตนเอง เป็นสนามแห่งหนึ่งซึ่งช่วยผลักดันศิลปะวัฒนธรรมของประเทศไทยให้พัฒนาก้าวหน้า
อาจารย์พีระพงษ์ ดวงแก้ว
อาจารย์พีระพงษ์ ให้ความเห็นว่า ศิลปะในประเทศไทยในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะระดับเด็ก เยาวชน หรืออุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป มีความก้าวหน้าขึ้นมาตลอด สำหรับกลุ่มประเทศใน South East Asia ไทยเราก็ถือว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ในด้านครีเอทีฟ และที่สำคัญ เรายังมีความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย ขณะที่หัวข้อและเนื้อหาของการประกวด ซึ่ง ปตท. กำหนดขึ้น ก็จะตรงกับสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน

“ก็อยากจะเชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจและเยาวชนระดับต่างๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมของ ปตท.อีกครั้งในปีหน้าครับ ส่วนสำหรับปีนี้ ผมมีความเห็นว่าผลงานดีมากๆ ครับ ทำให้เกิดความหวังว่าวงการศิลปะของเราจะต้องเจริญทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศได้อย่างแน่นอน” อาจารย์พีระพงษ์ ดวงแก้ว กล่าวทิ้งท้าย
นายเดโช โกมาลา
ด้านนายเดโช โกมาลา ผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมระดับประชาชน จากผลงานชื่อ “บ้านฉัน” กล่าวว่าการจัดประกวดศิลปกรรม ปตท. ทำให้มีแรงกระตุ้น มีความฝันและจินตนาการ มีเนื้อที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน

นายเดโชยังบอกอีกว่า สำหรับผลงานชิ้นนี้ เขาใช้เทคนิคผสม (แกะไม้) ไอเดียความคิดนั้นเกิดจากความภูมิใจในความเป็นประเทศเกษตรกรรมของไทย แผ่นดินไทยนั้นคือ “บ้านของฉัน” มีทรัพย์ในดิน มีสินในน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกแล้ว ยังมีการเพาะปลูกและการประมงซึ่งส่งผลให้วิถีเกษตรกรรมยังคงยั่งยืน อยู่คู่กับคนไทยมาเนิ่นนาน และก่อให้เกิดเป็นความภาคภูมิใจในแผ่นดินไทย

จากรุ่นใหญ่… ไปดูผลงานของรุ่นเล็กบ้าง โดยในปีนี้ รางวัลยอดเยี่ยมระดับเยาวชนอายุต่ำกว่า 9 ปี ตกเป็นของ ด.ช. พรหมพิริยะ ประวรรณา จากโรงเรียนพุทธิโศภณ (Art is me) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งส่งผลงานชื่อ “ภูมิใจความเป็นไทย” เข้ามาคว้ารางวัลไปได้ ซึ่งไอเดียแรกเริ่มในการสร้างผลงานชิ้นนี้ เขาบอกว่าเกิดจากความคิดแบบเด็กไทยที่รู้สึกว่า เด็กไทย ภูมิใจ รักความเป็นไทย และอยู่อย่างไทย ใจสุข
ภาพผลงาน ด.ช. พรหมพิริยะ ประวรรณา
ความดีงามของภาพรางวัลยอดเยี่ยมดังกล่าวนี้ อาจารย์พีระพงษ์ ดวงแก้ว หนึ่งในคณะกรรมการโครงการศิลปกรรม ปตท. กล่าวชื่นชมไว้ว่า “ในภาพ เราจะเห็นว่ามีพระมาช่วยกันขัดล้างสี และเด็กๆ ก็ไปช่วยกันพัฒนาวัด ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงสังคมที่ดีงาม ความมีจิตสาธารณะ การช่วยทะนุบำรุงศาสนา เรื่องราวและองค์ประกอบเห็นชัดเจน มีพระประธานช่วยกระตุ้นให้เรานึกถึงพุทธศาสนาและความเชื่อของคนไทย เรื่องราวจึงเด่นขึ้น และการจัดองค์ประกอบก็ดี จึงทำให้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมนี้ไป”
ด.ญ.กัญญาวีร์ สุทธิสนธิ์
ถัดจากรุ่นเล็กสุด มาดูผลงานของเด็กโตขึ้นมาหน่อย… ด.ญ.กัญญาวีร์ สุทธิสนธิ์ ผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมระดับเยาวชนอายุ 9-13 ปี จากผลงานชื่อ “ภูมิใจในเอกราชของชาติไทย” เธอมีไอเดียในการสร้างสรรค์งานชิ้นดังกล่าวจากการประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของชาติใด และเอกราชนั้นก็แลกมาด้วยการเสียสละของบรรพบุรุษ เราคนไทยจึงภูมิใจในเอกราชของชาติไทยจนถึงทุกวันนี้

ด.ญ.กัญญาวีร์ ยังบอกเล่าด้วยรอยยิ้มอีกว่า “หนูเคยส่งผลงานเข้าประกวดกับ ปตท. มาหลายครั้งแล้วค่ะ แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ส่วนที่ผ่านมาก็จะได้ร่วมแสดงผลงานเท่านั้น รู้สึกภูมิใจที่ได้รางวัลในครั้งนี้ และปีหน้าก็คิดว่าจะส่งอีกค่ะ อยากให้ ปตท. จัดต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ”
นางสาวจิดาภา แสนวงศ์
ขยับวัยขึ้นไปอีกหน่อย ในระดับเยาวชนอายุ 14 – 18 ปี โดยนางสาวจิดาภา แสนวงศ์ จากโรงเรียนกาวิละวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากผลงานชื่อ “หัวใจรัตนโกสินทร์” เธอบอกเล่าถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานว่าเกิดจาการที่เธอเคยไปเที่ยววัดพระแก้วแล้วรู้สึกประทับใจ จึงนำกลับไปสร้างผลงาน ทั้งนี้ ภายในภาพยังมีพระบรมมหาราชวังที่ยิ่งใหญ่และงดงาม เปรียบเสมือนหัวใจแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะเดียวกันก็มีศิลปะแขนงอื่นที่อยู่คู่กับวัดพระแก้ว เช่น ศิลปะการต่อสู้ แม่ไม้มวยไทย ที่แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง และนาฏศิลป์อันอ่อนช้อยของคนไทย

แชมป์ระดับเยาวชนอายุ 14 – 18 ปี ยังกล่าวพร้อมรอยยิ้มอีกว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัล และครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่เธอส่งผลงานเข้าประกวดกับ ปตท. ขณะที่ปีหน้าก็คิดว่าจะส่งเข้าประกวดอีก สำหรับเพื่อนๆ น้องๆ คนไหนที่สนใจและมีความคิดสร้างสรรค์ในด้านงานศิลป์ เธอก็อยากให้ส่งผลงานเข้ามาประกวดร่วมกันในปีต่อไป

ทั้งนี้ ผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 24 ชิ้น รวมถึงผลงานที่ผ่านการคัดเลือกอีก 111 ชิ้น จะมีการนำไปจัดแสดงเป็นนิทรรศการให้ผู้สนใจได้เข้าชมตามจุดต่างๆ ดังนี้ คือ

วันที่ 28 กรกฏาคม 2561 จะจัดแสดง ณ ท้องพระโรง หอศิลป์ วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร
วันที่ 24 สิงหาคม – 21 กันยายน 2561 จัดแสดงที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา
วันที่ 12 ตุลาคม – 27 พฤศจิกายน 2561 จัดแสดงที่หอศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
และ วันที่ 7 ธันวาคม 2561 – 6 มกราคม 2562 จัดแสดงที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ใครสะดวกจุดไหนอย่างไร ไปชมกันได้ ฟรี

Comments are closed.

Pin It