Art Eye View

เปิดโลก “มายา” นิทรรศการในชีวิตจริง “แทน โฆษิตพิพัฒน์”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่า “อินเตอร์เน็ต” เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกคนจนเปรียบเสมือนปัจจัยพื้นฐานในชีวิต บางคนติดอยู่ในโลกออนไลน์ตั้งแต่ตื่นนอน ต่อเนื่องไปตลอดทั้งวัน ผ่านอุปกรณ์ทันสมัย อย่าง โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่มนุษย์ต่างสรรค์สร้างขึ้นเป็นสื่อกลาง

ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตและการออนไลน์ เปรียบเสมือนโลก “มายา” สำหรับใครหลายคน เพราะอาจให้คำนิยามจากเพียงแค่มองในมุมของความหลอกลวง เป็นเรื่องไม่จริง ทำให้เสียเวลา แต่สำหรับ ศิลปินหนุ่ม “แทน โฆษิตพิพัฒน์” ทายาทหนุ่มของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ กลับมองเห็นถึงสิ่งเชื่อมโยงของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคนที่มีความแตกต่างกัน


แทน ยอมรับว่า เป็นคนหนึ่งที่เติบโตมาพร้อมกับอินเตอร์เน็ต เรียนรู้ทุกสิ่งที่ชอบในชีวิตนี้ ทั้งการเรียนวาดรูป เรียนร้องเพลง ล้วนมาจากอินเตอร์เน็ต จนอาจเรียกได้ว่า เป็นเพื่อนที่โตและอยู่ด้วยกันทุกช่วงของชีวิต ที่สำคัญยังได้นำพาให้แทนพบและรู้จักกับเพื่อนๆ จากหลากหลายมุมโลก บางคนได้รู้จัก ติดต่อและเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากว่า 10 ปี จนกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันในชีวิตจนถึงปัจจุบัน มุมมองหรือความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนในรูปแบบนี้ คนส่วนใหญ่อาจไม่เข้าใจ แต่สำหรับแทน เป็นที่มาและคอนเซ็ปต์หลักของการจัดนิทรรศการ “มายา”

“มายา” เป็นงานนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในชีวิตของ “แทน” ที่ต้องการถ่ายทอดความรู้สึก แนวความคิด จินตนาการ การสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงความรู้สึกของกลุ่มเพื่อนที่อยู่บนโลกออนไลน์ ที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก ให้ได้ออกมาเปิดเผยตัวตนในชีวิตจริง เน้นสื่อออกมาในรูปแบบและมุมมองของศิลปินยุคใหม่ โดยมี “แท็บเล็ต” เป็นช่องทางการสื่อสาร และเล่าเรื่องราวจากเพื่อน ที่ได้รวบรวมไว้ ถ่ายทอดผ่าน คลิปวิดีโอจำนวน 600 คลิป นำเสนอเป็นภาพเคลื่อนไหวผ่านแท็บเล็ต 60 เครื่อง เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ และแสดงให้เห็นถึงสัมพันธภาพของผู้คนในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าโลกออนไลน์เหล่านั้นจะเป็นเพียงแค่จุดเล็กๆ ที่รวมกันเป็นภาพบนหน้าจอ (pixel) แต่ทุกอย่างล้วนเป็นภาพสะท้อนของความเป็นจริง และตีแผ่ให้เห็นถึงจิตใต้สำนึกของมนุษย์ทั้งสิ้น

นับเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการนำเสนองานศิลปะ เพื่อให้ผู้ชมที่เดินทางมาชม เปรียบเสมือนบุคคลในโลกแห่งความเป็นจริง ได้สัมผัสกับมิติชีวิตอันหลากหลายของผู้คนมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีโลกส่วนตัวสูง ว่าเป็นอย่างไร ผ่านหน้าต่างแบบดิจิทัล

นิทรรศการครั้งนี้อาจให้คำตอบกับคุณได้ว่า ทำไมคนจำนวนมากจึงใช้เวลาไปกับโลกออนไลน์ที่เป็นเหมือนโลก “มายา” มากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง

ภายในนิทรรศการ ยังแบ่งโซนสำหรับแสดงงานวาดเส้น และงานจิตกรรมชิ้นเอกที่ได้รวบรวมไว้กว่า 40 ชิ้น ซึ่งแทนให้คำนิยามของงานทุกชิ้นนี้ว่า เป็นงานที่ “พิถีพิถัน” เริ่มตั้งแต่การคิด แรงบันดาลใจก่อนที่จะลงมือ ไปจนถึงกระบวนการสร้างสรรค์งานแต่ละชิ้นที่สร้างขึ้นด้วยความใส่ใจ

“แต่ละชิ้นก่อนที่จะออกมาเป็นงาน จะต้องรวบรวมรายละเอียดของงานที่จะวาด ซึ่งในงานวาดนั้นนับว่าเป็นเพียงไม่กี่อย่างในชีวิต ที่แทนใช้คำว่า “ซีเรียส” เพราะงานทุกชิ้นไม่ใช่แค่การเอาปากกาจิ้มกระดาษให้ออกมาเป็นผลงาน แต่มันมีรายละเอียดและยากกว่านั้น”

ตัวอย่างงานที่นำมาใช้เป็นรูปหลักของนิทรรศการครั้งนี้ เป็นชิ้นหนึ่งที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจ ใช้เวลาวาดไม่นาน แต่ใช้เวลาเก็บรายละเอียดอยู่หลายวัน โดยเป็นงานที่สื่อได้ตรงกับแนวคิดของงานนิทรรศการได้พอดี เพราะจะเห็นว่า ในภาพคนที่ยืนอยู่ที่หน้าต่างบานนั้น เปรียบเสมือนตัวตนของแทนในโลก “มายา” ในขณะที่ องค์ประกอบของภาพเน้นสื่อออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์ ซึ่งเป็นโลกที่ได้เรียนมาในชีวิตจริง

อาจารย์เฉลิมชัย ผู้เป็นพ่อ ย้ำอยู่เสมอว่า ลูกชายรักและชอบงานศิลปะมานาน ซึ่งในมุมของการเป็นพ่อไม่ได้ให้คำแนะนำใดๆ เป็นพิเศษ แต่มักบอกลูกชายเสมอว่า ให้ทำงานอย่างมีความสุข

“สิ่งที่ต้องทำก็คือสู้กับตัวเอง อยู่กับตัวเอง ทำงานศิลปะแบบที่รัก และพอใจกับสิ่งที่ทำ อย่าสนใจคำนินทาว่าร้าย อย่าสนใจรางวัล อย่าสนใจเกียรติยศ คนยกย่องสรรเสริญ จงสนใจอย่างเดียวว่าวาดรูปแล้วมีความสุข และถ้าขายรูปได้แล้วจงช่วยเหลือสังคม นั่นคือสิ่งที่พ่อคนนี้อยากให้เป็น”

วันนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นกับสิ่งที่คุณพ่ออยากให้ “แทน” เลือกทำประโยชน์ให้กับสังคม เพราะนิทรรศการ “มายา” นอกจากเป้าหมายของการแสดงความคิดศิลปะในมุมมองของคนรุ่นใหม่ ที่เป็นโลก “มายา” ของใครหลายคน แต่เหนืออื่นใด “มายา” ก็สามารถส่งผลในชีวิตจริงไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากรายได้ที่เกิดขึ้นภายในงานในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะ ยอดการจำหน่ายภาพวาด ส่วนหนึ่งจะได้นำไปมอบให้กับ ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ เพื่อโรคมะเร็งเต้านม เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง และงานวิจัยนวัตกรรมใหม่ในอนาคตของศูนย์ฯ ส่วนแท็บเล็ตอีก 60 เครื่อง หลังจากเสร็จงาน จะได้ส่งต่อไปยังโรงเรียนต่างจังหวัดในจังหวัดเชียงราย เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน

นอกจากนี้ ในช่วงการจัดงานระหว่างวันที่ 4-13 ตุลาคม 2562 ยังมีกิจกรรมพิเศษ “MAYA TALK” ซึ่งเป็นเวทีของการถ่ายทอดความรู้ และความรักของงานศิลปะที่มาจากจิตวิญญาณ ของ ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย และ แทน โฆษิตพิพัฒน์ ภายใต้หัวข้อที่น่าสนใจ เช่น “การดูงานศิลปะให้เข้าใจ” ในวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2562 หัวข้อ “ชมศิลปะแล้วได้อะไร” ในวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2562 และ “ศิลปะรับใช้มนุษย์ได้อย่างไร” ในวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2562 เป็นต้น

นิทรรศการ “มายา” เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมตั้งแต่วันนี้-14 ตุลาคม 2562 เวลา 10.00-20.00 น. (ยกเว้นวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เปิดถึงเวลา 21.00 น.) ณ Bowen Hall ล้ง 1919 (LHONG 1919)

Comments are closed.

Pin It