โดย…ฮักก้า
สงครามเกิดขึ้น และจบลงภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ความทรงจำของผู้คนที่มีชะตาชีวิต ร่วมในสงครามเหล่านั้นไม่มีวันสลาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่มีวันหมดอายุ
เรื่องราวของสงคราม ซึ่งมีความซับซ้อน หลากหลายมิติ ในมุมของประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม หรือแม้กระทั่งความเป็นมนุษย์ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจมากมายให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ นักประพันธ์เพลง ศิลปินผู้ผลิตงานศิลปะ นักเขียน รวมถึง หนังสือเล่มนี้ด้วย… ITYM “WAR” (ไอติมวอร์)
แพร-นัดดา ธนทาน ศิษย์เก่าสาขาคอมพิวเตอร์อาร์ต คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต และตอนนี้กำลังศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร หนึ่งในผู้มีผลงานนำเสนอในหนังสือบอกเล่าว่า นี่คืออีกผลงานภายใต้ชายคา สำนักพิมพ์สตูดิโอ 33 ที่เธอและแฟนหนุ่มศิลปินชื่อดัง (โลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี) เป็นผู้ก่อตั้ง หลังจากที่เคยทำคลอดหนังสือ โลเลตูน (LOLAYTOON) และหนังสือใต้ดินเล่มอื่นๆมาแล้ว
“สำนักพิมพ์ของเราต้องการสนับสนุนผลงานศิลปะและงานที่เป็นไปในทางสร้างสรรค์ ไม่เหมือนใคร ไม่จำกัดเฉพาะงานของแพรและพี่โลเล แต่เราจะคิดโปรเจ็กต์ใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ”
และหนังสือ “ไอติมวอร์” เป็นตัวอย่างของการทดลองทำงานร่วมกันของแพร,โลเล รวมถึงเพื่อนนักเขียน นักวาดภาพ และนักถ่ายภาพ รวมทั้งหมด 23 คน โดยแต่ละคนได้ร่วมลงขันคนละ 5,000 บาท และมีโอกาสใช้พื้นที่คนละ 20 หน้า ตีพิมพ์ผลงานที่ถ่ายทอดความคิดและความรู้สึกที่มีต่อสงคราม และบอกเล่าว่าสงครามส่งผลกระทบถึงพวกเขาแต่ละคนอย่างไรบ้าง
“การลงทุนครั้งนี้ไม่ใช่ธุรกิจ ไม่มีใครได้กำไร เป็นการลงทุนเพื่อให้ออกมาเป็นรูปแบบของหนังสือเท่านั้น พิมพ์จำนวนจำกัดเพียง 1,000 เล่ม ไม่มีการพิมพ์เพิ่ม นอกจากทุกคนจะมีผลงานของตัวเองตีพิมพ์ในหนังสือ ก็จะได้หนังสือไปคนละ 30 เล่ม ซึ่งจะเอาไปขายหรือแจกก็ได้”
สาวแพรย้ำบอกถึงเหตุผลที่วาระนี้เธอและเพื่อนๆต้องรวมตัวกันถกเรื่องสงครามผ่านรูปแบบหนังสือเป็นกรณีพิเศษ แทนที่จะเป็นเรื่อง “สันติภาพ” หรือหัวข้ออื่นใดว่า
“ไม่มีใครชอบสงครามอยู่แล้ว เพราะสงครามไม่ได้ให้อะไรใครนอกจากความสูญเสีย สงครามมันอยู่กับเรามาทุกยุคทุกสมัย แม้กระทั่งในหัวของเราเอง
จุดเริ่มต้นของสงครามมันมาจากความขัดแย้งที่อยู่ในหัวมนุษย์ และมนุษย์คนนั้นอาจจะเป็นผู้นำก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธ ประเทศ หรือประชาชน ทุกอย่างถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองความขัดแย้ง”
ผลงานภาพวาด ภาพถ่าย และงานเขียนของเพื่อนคนอื่นๆภายในเล่ม มีทั้งที่สะท้อนไปไกลถึงสงครามในระดับโลกที่เคยเกิดขึ้นและสิ้นสุดลงแล้ว รวมถึงสงครามในจิตใจของมนุษย์ที่ยังครุกรุ่นไม่ยอมดับ
“เพื่อนบางคนวันหนึ่งเขาไปเจอภาพข่าวสมัย14 ตุลาในบ้านของเขาเอง ก็เอามาทำเป็นงาน ซึ่งความจริงแล้ว สงครามมันอยู่ในประวัติศาสตร์ของเรามานานแล้ว”
ก่อนหน้านี้ผลงานศิลปะของแพรตัวอย่างเช่น ชุด The automatic sister เคยถูกนำเสนอภายใต้แนวคิดที่ว่า “การที่ต้องทำอะไรตามหน้าที่ซ้ำๆกันทุกวัน ทำตามกระแสนิยมตลอดเวลา และมีชีวิตอยู่ในกรอบที่มองไม่เห็นนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างได้กลายเป็นกลไกที่ดำเนินไปโดยอัตโนมัติตามระบอบที่สร้างขึ้นมา”
และชุด CHEMO ที่เป็นการเล่าถึงเด็กผู้หญิงชื่อ “คาน่อน” ผู้มีสภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดีทุกประการ ยกเว้นสภาพจิตใจของเธอ ที่อ่อนแอและเปราะบางอย่างที่สุด จนเกินกว่าจะอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงได้
มาถึงหนังสือ “ไอติมวอร์” สงครามในมุมมองของเธอ ถูกถ่ายทอดผ่านภาพการแสดงอำนาจของฮิตเลอร์และคำกล่าวที่ว่า …คนที่อ่อนแอ ก็คือคนที่ไม่สมควรที่จะมีชีวิตอยู่บนโลก และคนไหนที่คิดว่าตัวเองเหมาะสมที่จะอยู่บนโลกต่อไป ก็ต้องลุกขึ้นสู้
“แพรทำเรื่องของความเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นผู้ก่อสงครามขึ้นมา ทำเกี่ยวกับฮิตเลอร์ จากที่ศึกษามา ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ฮิตเลอร์ก็ทำสงครามขึ้นมาเลย แต่เขาคิดไว้ก่อนแล้วว่า เส้นทางนี้มันถูก แต่อีกฝ่ายหนึ่งที่มันไม่ทำตาม มันผิด
เขาสร้างมาตรฐานขึ้นมา แล้วก็คิดว่ามันถูกต้อง ซึ่งแพรคิดว่าจริงๆแล้วมันอาจจะไม่ถูกทั้งหมด แต่มันเป็นแค่ความขัดแย้งที่มันมีอยู่ข้างในหัวของคนเรา”
“ไอติมวอร์” หนังสือเล่มนี้ เป็นสิ่งที่จะช่วยสนับสนุนความเชื่อที่ว่า ที่ทางของศิลปะไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่ในแกลเลอรี่ และยังเป็นช่องทางที่จะสามารถนำเสนอตัวเองได้ยาวนานกว่าระยะเวลาที่แกลเลอรี่ส่วนใหญ่เปิดพื้นที่ให้ผลงานศิลปะของศิลปินแต่คนได้แสดงตัวตน
ซึ่งมันอาจจะเป็นเวลาที่น้อยเกินไปสำหรับแพร,โลเลและเพื่อน ในการพูดเรื่องใหญ่ที่เป็นปัญหาระดับโลกให้คนทั่วไปได้ฟังกันชัดๆอีกครั้ง
“การทำออกมาเป็นหนังสือสิ่งที่แต่ละคนคิดและถ่ายทอดมันออกมา จะอยู่ไปได้อีกนานมาก และสามารถเผยแพร่ได้กว้างไกล เช่น อาจจะมีคนหิ้วหนังสือเล่มนี้ไปอเมริกา โดยที่เราอาจจะไม่ต้องไปเปิดแกลเลอรี่แสดงผลงานกันที่อเมริกาก็ได้”
“ไอติม” เบื้องหลังของการใช้คำนี้เป็นชื่อหนังสือ แทนที่จะเป็น “ไอกรีม” หรือ “ไอครีม” มีเหตุผลอยู่เหมือนกันว่า มันเป็นนิคเนมง่ายๆที่คนไทยมักใช้เรียก ดังนั้น “ไอติมวอร์” จึงมีสถานะของการเป็น ไอติม Home Made รสสงคราม ที่ทำขึ้นโดยคนไทย หรือแทนความคิดความรู้สึกที่คนไทยจำนวนหนึ่งมีต่อสงคราม และอยากให้เราได้ลองลิ้มรส
“ไอติมวอร์” อาจรับประทานให้อยู่ท้องไม่ได้เช่น “ไอศกรีมวอลล์” ตามท้องตลาด ที่เราเคยซื้อหามาลิ้มลอง แต่ก็น่าจะช่วยดับร้อนที่มีอยู่ใจทุกคนไม่โหมกระพรือและรุกรามจนกลายเป็นสงครามเช่นในอดีตอีกครั้ง…และอีกครั้ง
Comments are closed.