ภาพเขียนจำนวน 35 ภาพซึ่งเป็นผลงานจิตรกรรมในหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร (พระธิดาพระองค์เดียวในพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์บริพัตร) ที่ขณะนี้ทรงประทับรักษาตัวอยู่ที่ฝรั่งเศส หลังจากประชวรลงเมื่อปี พ.ศ.2547 ยังคงติดแสดงให้ผู้สนใจไปชมในนิทรรศการ MARSI ณ ฮอลล์ ออฟ มิเรอร์ ชั้น เอ็ม ศูนย์การค้าสยามพารากอน ไปจนถึงวันที่ – 29 มีนาคม พ.ศ.2553
หลังจากที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดนิทรรศการ ซึ่งมี หม่อมราชวงค์ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ประธานกรรมการมูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตรและนาย Michel Steve สถาปนิกชาวฝรั่งเศส สหายคนสนิทของท่านหญิง และเป็นผู้ออกแบบนิทรรศการในครั้งนี้ เฝ้าฯรับเสด็จ
Michel Steve ออกแบบนิทรรศการโดยการจำลองให้มีบรรยากาศอันรื่นรมย์คล้ายสตูดิโอทรงงานของท่านหญิง ณ เมือง Annot ประเทศฝรั่งเศส และทุกวันสุดสัปดาห์ ระหว่างเวลา 15.00 – 17.00 น. ยังจัดให้มีการบรรเลงเพลงโปรดของท่านหญิง อาทิ บาค โมซาร์ต บีโทเฟน และให้บริการอาหารว่างและเครื่องดื่มที่ท่านหญิงโปรดปราน แก่ผู้ชมนิทรรศการ
ตลอดจนมีการจำหน่ายของที่ระลึกและหนังสือรวบรวมภาพเขียนฝีพระหัตถ์ที่ท่านหญิง ทรงสะสมมาตลอดพระชนม์ชีพ โดยรายได้ทั้งหมดจะนำไปสมทบทุนมูลนิธิหม่อมเจ้าหญิง มารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร เพื่อดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปะและสงเคราะห์สัตว์พิการ
ในวันเปิดนิทรรศการมีศิลปินไทยหลายท่านให้เกียรติไปร่วมงาน และส่วนหนึ่งได้แสดงความรู้สึกชื่นชมในพระปรีชาสามารถของท่านหญิง
อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร คณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกเล่าว่า เคยชมผลงานของท่านหญิงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2517 ซึ่งเวลานั้นตนยังเป็นนักศึกษาเพาะช่าง และได้ไปชมผลงานของท่านหญิงสองชิ้นที่ถูกนำไปจัดแสดง ณ หอศิลป์พีระศรี ย่านถนนสาทร
นิทรรศการ MARSI ทำให้ความทรงจำที่ดีๆในอดีตของ อ.ปัญญาหวนกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าผลงานในนิทรรศการครั้งนี้จะไม่ใช่ผลงานชิ้นเดียวกันกับที่เคยได้ชมเมื่อหลายปีก่อนก็ตาม
“สิ่งที่ผู้ชมจะสัมผัสได้จากการชมงานของท่านคือ ความมีจินตนาการและอิสรภาพในการทำงาน นั่นคือเราคิดและเราเชื่อมั่นในสิ่งไหนแล้วเราทำมันออกมาด้วยความเชื่อมั่นในตัวเอง
นอกจากนี้ท่านยังเป็นศิลปินที่เป็นนักศึกษาค้นคว้า ไม่ใช่ใช้แต่จินตนาการที่พรั่งพรูออกมาเพียงอย่างเดียว ท่านศึกษาและค้นคว้าทั้งจากวรรณคดี และเทพนิยายต่างๆ งานของท่านแม้ทั้งเทคนิคและวิธีการเขียนจะออกไปในแนวยุโรป แต่ถ้าเราดูงานของท่านอย่างลึกซึ้ง มันมีปรัชญาและแนวคิดทางตะวันออกซ่อนอยู่ แสดงว่าท่านยังคงสนใจในความเป็นตะวันออก และมีความเป็นไทยในตัวท่านเอง ท่านยังคงค้นหาความเป็นตัวเองอยู่เสมอ ไม่ได้ทำงานไปตามกระแส”
จำนันต์ สารารักษ์ อดีตนักศึกษาศิลปะผู้เคยได้รับทุนจาก มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ องค์กรสาธารณกุศลที่ก่อตั้งขั้นเมื่อปี พ.ศ. 2511 โดยหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร หรือ “คุณท่าน” ได้กล่าวถึงท่านหญิงในมุมที่เขารู้จักว่า
“ผมเคยได้ยินเรื่องราวของท่านมาบ้าง เพราะตอนเรียนศิลปากร ผมเคยเป็นนักศึกษาทุนมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ทราบว่าท่านเป็นพระธิดาของคุณท่าน และเป็นศิลปิน ผมติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับท่านเสมอและเวลาไปที่วังสวนผักกาดผมก็จะไปชมผลงานของท่านที่ติดไว้ที่นั่น
ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ ผมชอบทุกชิ้นเลยครับ เป็นงานศิลปะที่ออกมาจากความรักที่แท้จริง ภาพแต่ละภาพทำให้เราสัมผัสถึงจินตนาการและความฝันของท่าน รู้สึกได้ว่าจิตนาการของท่านโลดแล่นไปกับเรื่องราวต่างๆที่ท่านถ่ายทอด ผมถือว่าเป็นงานที่มีคุณค่ามาก เพราะท่านทำงานศิลปะด้วยความบริสุทธิ์”
วรรณิกะ ชีวิน แม้จะเป็นศิลปินหญิงซึ่งมีโอกาสชมผลงานของท่านหญิงเป็นครั้งแรก แต่ก็เป็นครั้งแรกที่ทำให้เธอรู้สึกทึ่งในพระปรีชาสามารถของท่านหญิง และทำให้อยากกลับมาชมงานอีกหลายๆครั้ง
“สิ่งที่เวนิก้าสัมผัสได้จากงานของท่านคือท่านกล้ามาก และสิ่งนี้คือความสำเร็จที่สุดในการทำงานศิลปะ เพราะว่าเราสามารถทำงานศิลปะออกมาโดยที่ไม่ต้องแคร์ใคร
เวนิก้าต้องมาชมอีกหลายๆครั้งแน่นอน ชมครั้งเดียวคงไม่พอ เพราะมันมีหลายสตอรี่อยู่ในภาพแต่ละภาพ และต่างมีความหมายที่ลึกซึ้งมาก”
นิติกร กรัยวิเชียร ช่างภาพและที่ปรึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทย เบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นอกจากจินตนาการที่กว้างไกลของท่านหญิง สีที่ท่านหญิงทรงใช้ในการเขียนภาพคือสิ่งที่ทำให้ช่างภาพเช่นเขาหลงใหลในภาพเขียนทุกชิ้นของท่านหญิง
“เคยได้ยินชื่อและเห็นผลงานของท่านมานานแล้ว แต่เป็นการเห็นจากหนังสือเท่านั้นเอง ไม่เคยได้เห็นผลงานจริง พอได้เห็น ตื่นเต้นมาก เพราะเคยทราบมาว่าท่านทรงไปใช้ชีวิตและทำงานศิลปะอยู่ที่ฝรั่งเศส
บังเอิญว่าเมื่อสองสามเดือนก่อนหน้าที่จะมีนิทรรศการนี้ ทางผู้จัดงานได้มาปรึกษา อยากจะหาผู้สนับสนุน พอดีผมเป็นที่ปรึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมที่ ไทย เบฟเวฟเวอเรจ ผมเห็นว่าเป็นนิทรรศการที่น่าสนใจและมีคุณค่ามากๆ จึงสนับสนุนเต็มที่
สิ่งที่ผมประทับใจในผลงานของท่านคือ ท่านมีจินตนาการกว้างไกลมากทีเดียว แต่ที่ชอบเป็นพิเศษก็คือเรื่องของสี เพราะสีที่ท่านใช้ในการเขียนภาพสวยงามมาก ดูแล้วรู้สึกว่ามีความหมายแอบแฝงอยู่มาก”
เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความชื่นชมที่ศิลปินไทยมีต่อผลงานจิตรกรรมในหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ราชนิกูลไทยในฝรั่งเศส
คลิกอ่าน “ภาพวาดของ ความรัก ชีวิต และความตาย ของราชนิกูลไทยในฝรั่งเศส”
Comments are closed.