ระบำลาว-ไทยปณิธาน การแสดงที่สื่อให้เห็นถึง สัมพันธภาพระหว่างไทยและลาว ประพันธ์เนื้อร้องและและทำนองโดย ครูมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยและศิลปินแห่งชาติ และประดิษฐ์ท่ารำโดย ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทยและศิลปินแห่งชาติ ร่วมกับ ละมุน ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย มีมาแสดงให้ชมในโอกาสที่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จัดงานเปิดตัว แสตมป์ชุด 60 ปี ความสัมพันธ์ไทย – ลาว ณ พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน
เพื่อร่วมฉลอง 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการฑูตอันยาวนานของทั้ง 2 ประเทศ โดยมี อ้วน พมมะจัก เอกอัคราชฑูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประะจำประเทศไทย,ภาสกร ศิริยะพันธุ์ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก,สุวิทย์ สิมะสกุล เลขาธิการสมาคมมิตรภาพไทยลาวและอานุสรา จิตต์มิตรภาพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มาร่วมงาน
แสตมป์ชุดนี้ สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของทั้งสองประเทศ ผ่านเครื่องแต่งกายของสตรีและดอกไม้ประจำชาติ โดยภาพแสตมป์ของลาวเป็นภาพแม่หญิงลาวในชุดผ้าซิ่นพื้นเมืองและดอกจำปาลาว ออกแบบโดย Mr.Vongsavanh Damlongsouk ส่วนภาพแสตมป์ของไทยเป็นภาพของหญิงไทยในชุดไทยบรมพิมาน และดอกราชพฤกษ์ ออกแบบโดย เอื้อมพร ศุภฤกษ์ชัย
โอกาสฉลองความสัมพันธ์ทางการฑูตของไทยและลาวผ่านแสตมป์ดวงน้อย อ้วน พมมะจัก เอกอัคราชฑูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทย ซึ่งเดินทางมาร่วมงานเปิดตัวแสตมป์ในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า
“พวกข้าพเจ้า ได้ลงไปเยี่ยมยามคนไทยและคนลาวตามต่างจังหวัด เพื่อเว้าถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและลาว เว้าถึงนโยบายของลาว ในการสานต่อความสัมพันธ์กับประเทศไทย และทางกระทรวงการต่างประเทศของไทย ก็ได้เชิญข้าพเจ้าไปปาฐกถา ไปเว้า มีเจ้าหน้าที่ของลาวมาแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการลงทุนในลาวของประเทศไทย และความจริงแล้วพวกข้าพเจ้าได้ทำมาแล้วหลายกิจกรรม เพื่อให้ความสัมพันธ์ของลาวและไทยมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง”
และสิ่งที่ท่านฑูตอยากให้คนลาวและคนไทยมีส่วนร่วม ฉลอง 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการฑูต คือ
“อยากให้คนลาวและคนไทยมีความฮักใคร่กัน มีความเข้าใจกัน เพราะว่าความสัมพันธ์ของลาวและไทยไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับเฉพาะผู้คนในระดับบนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้คนในระดับรากหญ้าที่ยังเดินทางไปมาหาสู่กันเสมอ”
ส่วนการได้เห็นภาพวาดของ แม่หญิงลาวในชุดประจำชาติและดอกจำปา อันเป็นดอกไม้ประจำชาติลาว ปรากฎบนแสตมป์ในวาระนี้ พร้อมกับภาพวาดของแม่หญิงไทยในชุดประจำชาติและดอกราชพฤกษ์ อันเป็นดอกไม้ประจำชาติไทย ท่านฑูตแสดงความรู้สึกว่า
“สะท้อนว่า วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ต่อไป คนลาวมีคำเว้าอันหนึ่งว่า ถ้าสูญเสียวัฒนธรรม คือการสูญเสียเอกลักษณ์ของชาติ ดังนั้นผู้หญิงลาวทุกคนในทุกวันนี้ จึงยังคงนุ่งผ้าซิ่นกันอยู่
ส่วน ดอกจำปา เป็นดอกไม้ประจำชาติลาวมานาน จะเห็นว่าเวลาแต่งตัวไปงาน แม่หญิงลาวจะแต่งตัวทัดดอกจำปา แล้วเวลาสงกรานต์คนลาวจะเอาดอกจำปามาใส่น้ำเพื่อรดกัน”
อานุสรา จิตต์มิตรภาพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า แสตมป์ชุดนี้เป็นแสตมป์ฉลองความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างไทยและลาวชุดแรก เนื่องจากการจัดทำแสตมป์ในวาระครบความสัมพันธ์และเหตุการณ์สำคัญต่างๆ มักจะเลือกช่วงเวลาครบรอบ 60 ปี,100 ปี,120 ปี และ 200 ปี
แม้ว่าก่อนหน้านี้ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด จะเคยจำจัดทำแสตมป์ ฉลองการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 มาแล้ว แต่นั่นถือเป็นเพียงแสตมป์ที่ระลึกการเปิดสะพาน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าทั้งสองประเทศมีเส้นทางคมนาคมติดต่อกันและมีการเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจ
เธอเชื่อว่าแสตมป์ชุดนี้จะได้รับความนิยมในหมู่นักสะสม และที่ผ่านมามีกลุ่มคนที่นิยมสะสมแสตมป์ที่สื่อเรื่องความพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆอยู่จำนวนไม่น้อย
“ชุดนี้จำนวนผลิตคือ 5 แสนดวง คาดว่าจะเป็นแสตมป์ที่จะได้รับความนิยม เพราะว่าในทุกครั้งที่เราทำแสตมป์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะมีบางคนที่ชอบสะสมแสตมป์ประเภทนี้และเลือกสะสมแสตมป์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับบางประเทศมากเป็นพิเศษ
ซึ่งก็แน่ใจค่ะว่า แสตมป์ ฉลอง 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการฑูตไทยและลาว จะได้รับความนิยม อีกเหตุผลหนึ่งคือ ไทยและลาวเป็นประเทศที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน แล้วครั้งนี้ก็ถือเป็นครั้งแรกของการจัดสร้างแสตมป์ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการฑูตของทั้งสองประเทศ”
แสตมป์ ฉลอง 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการฑูตไทยและลาว วางจำหน่ายวันแรก 22 เม.ย.54 ที่ผ่านมา ในราคาหน้าดวงละ 3 บาท(ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายตลาดตราไปรษณียากร โทร.0-2831-3583,0-2831-3816 หรือ Call Center 1545 หรือสั่งซื้อได้ที่ Post e – Mart ทาง www.thailandpost.co.th)
Text by ฮักก้า
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com
Comments are closed.