Art Eye View

FOR GROW NOT FOR SHOW หมู่บ้านอีสาน จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

Pinterest LinkedIn Tumblr

เฮือน นางเอื้อย ปะกระโทก

เผลอแป๊ปเดียว มี “เฮือน” เพิ่มขึ้นเป็น 14 หลัง แล้วเด้อ

และ ไม่เกินปลายปีนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 15 หลัง หมู่บ้านอีสาน ของ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ณ ต. ตะขบ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา

หลังจากที่ได้เริ่มสร้างหมู่บ้าน ขึ้นในปี พ.ศ.2550 โดยการเสาะแสวงหา “เฮือน” หรือ “บ้าน” เก่า มาอนุรักษ์ไว้ บนพื้นที่ 10 ไร่ ตลอดจนรวบรวมช่างพื้นบ้านฝีมือดี มาสร้างบ้านอีกหลายหลังขึ้นเพิ่มเติม

ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ หมู่บ้านอีสาน จึงจะแล้วเสร็จเป็นรูปร่าง อย่างที่ตั้งใจไว้ หลายคนเกิดคำถาม เมื่อได้ไปเยือนฟาร์มกว้างแห่งนี้ ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของทุกปี

ได้รับคำตอบจาก อ.ทอม – พหลไชย เปรมใจ สถาปนิกหมู่บ้านอีสาน ณ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ว่า

“เราทำแบบค่อยๆเป็น ค่อยๆไป ทำเล็กๆ แต่ทำให้ยั่งยืน คนที่จะเข้ามาชมหมู่บ้านอีสาน ในช่วงนี้ เราจึงต้องบอกข้อมูลแก่พวกเขาว่า ตอนนี้เรายังเพิ่งเริ่มต้น อยู่ในช่วงของการเก็บรวบรวม

ฉนั้น สิ่งที่เราต้องการมากที่สุด จากคนที่เข้ามาเยี่ยมชม คือ ความเห็นและข้อชี้แนะ ว่าสิ่งที่เราทำถูกหรือผิด ถ้าผิดเราจะได้รีบปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้อนาคต หมู่บ้านอีสานของที่นี่ มีความสมบูรณ์และใกล้เคียงกับวิถีชีวิตที่แท้จริงของคนอีสานในอดีตมากที่สุด”

เช่นกันกับการที่ทางฟาร์มฯ ร่วมกับ กรรมาธิการสถาปนิกอีสาน จัดเสวนา “สถาปัตยกรรมพื้นบ้าน อีสานพื้นถิ่น” ขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา โดยการเชิญ ผู้รู้ด้านสถาปัตยกรรมอีสาน ได้แก่ รศ.กาญจนา ตันสุวรรณรัตน์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน,ผศ.ทรงยศ วีระทวีมาศ คณบดีคณะสถาปัตกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น,ดร.ติ๊ก แสนบุญ คณะศิลปะประยุกต์ และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผศ.สมชาย นิลอาธิ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาร่วมพูดคุย

เป้าหมายหนึ่งก็ เพื่อเป็นการเชื้อเชิญให้ท่านเหล่านั้นมาเยี่ยมเยือนสถานที่ พร้อมกับให้ข้อชี้แนะไปในตัว

“เพราะท่านอื่นอาจจะได้เห็นอะไรมาเยอะกว่า บอกเราได้ว่าไอ้สิ่งที่ทำ มัน ขะลำ หรือ มีข้อผิดพลาดอะไรตรงไหน ดีกว่าที่เราจะมัวลองผิดลองถูก”

ปัจจุบัน หมู่บ้านอีสาน ได้ขยายพื้นที่จาก 10 ไร่ เพิ่มเป็น 50 ไร่ และนอกจากบรรดา เฮือนอีสาน ,เรือนโคราช,หอแจก รวมถึง ยุ้งข้าว,เถียงนา (กระท่อมกลางนา), ตูบ ,คอกควาย ,กองฟาง ฯลฯ

ปีนี้ยังได้มีการสร้าง “ศาสนอาคาร” เพิ่มเติม นั่นคือ “สิมอีสาน” หรือ “โบสถ์” ขึ้นกลางน้ำ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีกไม่ช้า

“ปีนี้งานของเราหนักไปที่การสร้างสิมกลางน้ำ,หอแจก และสิ่งที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย สิมกลางน้ำ ในส่วนของตัวสถาปัตยกรรม เดือนพฤศจิกายน ก็น่าจะเสร็จแล้วครับ แต่สิ่งที่ยากที่สุดของการสร้าง คือ ส่วนของฐานใต้น้ำ

เราได้ต้นแบบมาจาก “สิมบก” ของวัดที่จังหวัดศรีษะเกษ สัดส่วนทุกอย่างเราจะเอามาจากสิมอันนั้น และให้คุณค่าในเรื่องของความงาม ที่มีการแกะสลักลวดลายอะไรต่างๆ จำลองมาไว้ที่นี่ และเพื่อให้คนได้ชมลวดลายแกะสลัก ในแบบต่างๆ ที่วัดแห่งอื่น ไม่ค่อยมีให้เห็น เราจึงนำลวดลายเหล่านั้นมาถ่ายทอดลงบนสิมกลางน้ำแห่งนี้”
เฮือน นางอ้อยใจ  เก่งสูงเนิน
ภาพที่ชัดเจนของหมู่บ้านอีสาน อาจต้องรอคอยอีกหลายปี เพราะแนวคิดที่สถาปนิกท่านนี้ตั้งเอาไว้ คือ FOR GROW NOT FOR SHOW

นั่นคือไม่ต้องการให้หมู่บ้านอีสาน มีใว้เพื่อแสดงวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมแบบอีสานอย่างฉาบฉวย แต่อยากให้เป็นสถานที่เรียนรู้อย่างแท้จริง ดังนั้นจึงไม่แค่ตัวสถาปัตยกรรมเท่านั้น ที่จะเป็นตัวบอกเล่าเรื่องราว แต่ยังหมายถึงสภาพแวดล้อมโดยรวม ที่ต้องใช้เวลาในการสร้างขึ้นมา อีกด้วย

“ตอนนี้เรามีบ้านแล้ว แต่เรายังไม่มีเรื่องราวต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลาสะสม แต่ ณ เวลานี้เรากล้าพูดได้เต็มปากว่า หมู่บ้านอีสานของที่นี่ เป็นที่ซึ่งรวบรวมสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของอีสานเอาไว้เยอะที่สุด และค่อนข้างที่จะสมบูรณ์ที่สุด

อย่างไรก็ตาม เรายังเพิ่งเริ่มต้น อนาคตยังจะต้องมีอะไรอีกเยอะ เราจะไม่หยุดอยู่ที่บ้านจำนวน 14 หลัง ที่มีอยู่ในตอนนี้แน่นอน เรายังจะสร้างเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ทีละหลังสองหลัง”

ตามประสา คนที่เชื่อว่า ช้าๆได้พร้าเล่มงาม … แม่นบ่
 

Text by  ฮักก้า  Photo by  ณัฐพันธ์ ครุธทิน
 
รายงานจาก    โคราชบ้านเอง  (เพิ่งรู้ว่าหมายถึง โคราชบ้านของเราเอง ไม่ใช่ โคราชบ้านเอ็ง หรือ บ้านแก อย่างที่คิดมานาน)

แบบ สิมกลางน้ำ
เฮือน นางเอื้อย ปะกระโทก

เฮือน นางเผอะ เพ็ญพลกรัง

เฮือน นางแตงอ่อน ท่วมพุดซา




หมายเหตุ : ขะลำ,คะลำ หรือ กะลำ บางท่านเชื่อว่ามาจากรากศัพท์ของคำว่า กรรม ซึ่งหมายถึงการกระทำ อันเป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันของคนอีสานในอดีต

เนื่องจากคะลำเป็นข้อห้ามในการกระทำแสดงออกต่างๆ หรือสิ่งต้องห้าม ต้องเว้น ห้ามประพฤติปฏิบัติ ไม่สมควรที่จะกระทำ ทั้งกาย วาจาและใจ หากละเลย หรือล่วงละเมิดจะเป็นอัปมงคล เป็นบาปกรรม ผิดฮีตผิดคอง นำความเสื่อมเสีย และอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลที่ฝ่าฝืนรวมทั้งมีผลต่อสังคมที่อยู่ด้วย
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com

Comments are closed.

Pin It