ART EYE VIEW—แม้จะเคยได้ยินชื่อเสียงของ ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี แต่หลายคนคงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เหตุใดอริยสงฆ์รูปนี้ซึ่งกล่าวกันว่าปฏิเสธการเอารูปตัวท่านไปเคารพกราบไหว้บูชาในฐานะพระขลัง พระศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ และมุ่งเน้นให้คนเข้าใจแก่นธรรมของพุทธศาสนาไม่ให้ยึดมั่นใน “ตัวกู ของกู” ถึงมีภาพถ่ายตัวท่านในอิริยาบถต่างๆ พร้อมบทกลอนสอนธรรมะให้ผู้คนทั่วไปได้เห็นบ่อยจนชินตา
หรือแม้แต่คนที่ศรัทธาในแนวทางการถ่ายทอดธรรมะและศึกษางานเขียนของท่านมานักต่อนัก ก็ยังมีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่อยากจะทราบถึงที่มาที่ไป
นิทรรศการภาพถ่ายฝีมือชั้นครู พุทธทาสภิกขุ ณ คัดมันดู โฟโต้ แกลเลอรี่ ได้ให้คำตอบนั้นแก่เรา แม้ไม่ใช่จากท่านพุทธทาส โดยตรง เนื่องจากท่านได้ละสังขารไปตั้งแต่ปี 2536 แต่เป็น พระมหาบุญชู จิตบุญโญ ที่เมื่อครั้งยังเป็นสามเณรเคยทำหน้าที่ช่างภาพให้แก่ท่านพุทธทาสตลอดระยะเวลาหลายปี
กระทั่ง เมื่อปี 2549 (ช่วงเวลาเดียวกันกับที่ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องให้ท่านเป็น 'บุคคลสำคัญของโลก' ประจำปี 2549-2550) งานอนุรักษ์ต้นฉบับงานเดิมและศึกษากระบวนวิธีทำงานของท่านอาจารย์พุทธทาส เนื่องในโอกาสพุทธทาส 100 ปี ได้รวบรวมบทกลอนประกอบภาพถ่ายจำนวน 423 บท ที่ท่านพุทธทาสพิมพ์ค้างไว้ มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือชุด 3 เล่มในชื่อ บทพระธรรมประจำภาพ
ผลงานภาพถ่ายและบทกลอนธรรมะที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจของท่านพุทธทาสต่อศิลปะและเทคโนโลยี โดยเฉพาะ ‘พลังของภาพถ่าย’ ที่ถูกนำมารับใช้การเผยแผ่ธรรมะ และอาจถือได้ว่าเป็นความคิดที่มาก่อนการ ในยุคที่วงการศิลปะไทยยังไม่รู้จักคำว่า Conceptual art หรือ Conceptual photography
เป็นแรงบันดาลใจให้ มานิต ศรีวานิชภูมิ ช่างภาพและเจ้าของแกลเลอรี่ โดยความร่วมมือกับ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้ทำการอัดขยายภาพถ่ายและบทกลอนธรรมะ จำนวน 30 ชิ้น จากต้นฉบับหนังสือ 'บทพระธรรมประจำภาพ' พร้อมมีวิดีโอสัมภาษณ์ พระมหาบุญชู จิตบุญโญ ซึ่งขณะนี้พำนักอยู่ ณ สำนักสงฆ์แทนวันดีเจริญสุข บางขุนเทียน มานำเสนอให้ชมในนิทรรศการ
>>>ไม่ทำตามสิ่งที่สอน อย่ามาอ้อนเรียกอาจารย์
บางตอนของวิดีโอสัมภาษณ์บอกให้เราได้ทราบถึงสิ่งที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมท่านพุทธทาสจึงใช้ตัวท่านเองเป็นแบบในการถ่ายภาพ
“โดยความตั้งใจของท่านอาจารย์ฉันไม่ทราบจริงๆ ว่าท่านมีความรู้สึกอะไร แต่ความเห็นของฉันนะ ท่านอาจารย์เราก็ทราบว่าท่านเป็นพระที่เผยแผ่ธรรมะ ให้ได้ประโยชน์กับชาวบ้านมากที่สุด และเป็นธรรมะชั้นลึกด้วย แต่โยมทราบไหมว่า โยมส่วนหนึ่งที่นับถือท่านอาจารย์ เขาไม่คิดอย่างนั้นนะ เขากลับชอบท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นแบบพระขลัง (หัวเราะ) มีลูกศิษย์บางคนที่เป็นทหาร สมัยนั้นส่งจดหมายมาขอเส้นผมท่านอาจารย์ จะขอไปห้อยคอ เพราะทำหน้าที่ปราบปรามสงครามสมัยนั้น เขาไม่ได้สนใจเลยว่าท่านพุทธทาสสอนอะไร เขารู้สึกว่าท่านเป็นพระขลัง
เวลาคนมาหาท่าน เกือบทุกคนจะต้องขอภาพถ่ายของท่าน ฉันก็เลยคิดว่าอาจจะเป็นเพราะสาเหตุนี้หรือเปล่าที่ท่านอาจารย์ถึงจะต้องทำภาพของท่านให้เป็นปริศนาธรรม คือแทนที่จะให้เขาดูภาพของท่านเปล่าๆ ก็ให้มันมีปริศนาธรรมสอนเขาไปด้วยในตัว ฉันมองของฉันอย่างนี้ ส่วนท่านจะยังไงฉันไม่ทราบ
คำบรรยายใต้ภาพของท่าน มันเป็นธรรมะทั้งนั้นนะ แม้กระทั่งคำที่โยมอาจจะได้ยินบ่อย ‘ไม่ทำตามสิ่งที่สอน อย่ามาอ้อนเรียกอาจารย์’ (หัวเราะ) อันนี้ก็เหมือนเป็นเจตนาบอกคนที่เลื่อมใสท่าน”
>>>ช่างภาพนักทดลอง
ด้านเรื่องราวเกี่ยวกับความสนใจถ่ายภาพและความเป็นนักทดลองของท่านพุทธทาสนั้น พระมหาบุญชู ซึ่งแรกเริ่มนั้นอยากหัดถ่ายภาพ จึงไปขอให้ท่านพุทธทาสช่วยสอนให้ กระทั่งได้รับการฝึกฝน จนได้มีโอกาสช่วยงานด้านการถ่ายภาพอย่างเป็นจริงเป็นจัง เล่าว่า
“ได้ยินว่าท่านอาจารย์สนใจเรื่องแบบนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ท่านอยู่สวนโมกข์เก่าที่ตำบลพุมเรียง ท่านอาจารย์เป็นนักทดลอง ไอ้ภาพคนแฝดถ้าเอาไปให้ร้านเขาทำ เขาจะไม่ทำให้ ท่านถึงต้องทำเอง แม้แต่ช่วงที่ชั้นไปหัดทำให้ท่าน มีหลายอันที่ฉันเอาไปให้ร้านถ่ายภาพในอำเภอไชยา ไปอัด เขาไม่อัด เขาบอกว่าฟิล์มมันหนาไป เขาไม่รับทำ แล้วอีกอย่างหนึ่ง สมัยนั้น การเอาฟิล์มที่ถ่ายเองไปให้ร้านล้าง เสียเวลามาก อย่างไวที่สุดคือ 7 วัน อันนี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ท่านอาจารย์ต้องทำห้องมืดเอง
และเป็นเครื่องยืนยันว่าท่านอาจารย์ใช้กล้องมาตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านเป็นนักโบราณคดีสมัครเล่น ท่านเคยทำหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า รอบอ่าวบ้านดอน ภาพประกอบในหนังสือเล่มนี้ ท่านเล่าให้ฟังว่าไม่ได้ใช้ฟิล์มถ่ายรูปถ่าย เพราะมันหายาก และมันแพง ท่านก็เลยใช้กระดาษอัดรูปมาแทนฟิล์ม อัดแปะเข้าไปในกล้อง ตรงช่องมองของกล้อง แล้วเปิดรูรับแสงให้นานหน่อย ซึ่งหนังสือเล่มนี้ ได้จากกระดาษอัดรูปที่เอาไปแทนฟิล์ม นี่คือความเป็นนักประยุกต์ของท่าน”
>>>บทพระธรรมประจำภาพ
เมื่อท่านพุทธทาสเห็นว่าฝีมือในการถ่ายภาพของพระมหาบุญชูเริ่มเข้าที่เข้าทาง ปี 2515 จึงชักชวนให้มาเป็นลูกมือช่วยถ่ายภาพชุด 'บทพระธรรมประจำภาพ' ซึ่งได้กลายมาเป็นหนังสือ 3 เล่มหลังจากที่ท่านละสังขารไปแล้ว ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยการถ่ายภาพแต่ครั้งนอกจากท่านพุทธทาสจะทำหน้าที่เป็นแบบ ยังเป็นผู้คิดคอนเซ็ปต์ทั้งหมด
“ท่านก็จะบอกว่า ฉันจะนั่งตรงนี้นะ เธอไปยืนตรงโน้น ตั้งกล้องมาทางนี้ ดูแบรคกราวน์นะ อย่าให้มีอะไรรุงรัง อย่าให้มีอะไรเหมือนเฉียดหัวเราอยู่ อันนี้จะโดนท่านดุประจำ คือตาฉันกับท่านอาจารย์นี่ มันมองไม่เหมือนกัน ตาท่านอาจารย์มีศิลปะสูงมาก ส่วนฉันจะมองเห็นแค่ตัวท่าน แต่แบรคกราวน์ฉันไม่รู้เรื่อง บางทีถ่ายออกมา มันมีกิ่งไม้เสียบปักที่กลางหัว(หัวเราะ) ท่านบอกว่าอันนี้น่าเกลียด ใช้ไม่ได้”
ถ่ายต่อเนื่องมาหลายปีจนกระทั่งมีการทดลองใช้เทคนิคในการนำเสนอที่หลากหลายขึ้น อาทิ ภาพที่มีท่านพุทธทาสแฝดสอง หรือแม้แต่ แฝดสาม ก็ยังมี
“ภาพที่เป็นท่านพุทธทาสสองคนในภาพเดียวกันกำลังสนทนาธรรม ต้นกำเนิดมันมีโยมคนหนึ่งเขามีอาชีพในการถ่ายภาพทำบัตรประชาชนอยู่ที่ ศาลากลางจังหวัดสงขลา เขาเป็นคนที่ศรัทธาท่านอาจารย์ พอเขามาสวนโมกข์ เขาก็เลยถ่ายท่านอาจารย์แบบที่เรียกว่าภาพซ้อน โยมอาจจะเคยเห็นมาบ้าง ที่เป็นภาพท่านอาจารย์สองคนยืนคุยกันอยู่ แล้วก็มีคำพูดบอกว่า ‘ทั้งวันฉันไม่ได้ทำอะไรเลย’ เนี่ย.. เป็นฝีมือคนนี้ ท่านอาจารย์บอกว่า เอ้อ.. มันเข้าท่า ทำเป็นปริศนาธรรม ทำเป็นภาพถามตอบได้ แต่ไอ้ภาพอย่างนี้หนึ่งคืนฉันทำในห้องมืดได้เพียงภาพเดียว บางทีสองคืนไม่ได้เลย มันไม่สนิทกัน มันบังยากมากที่จะให้ภาพมันเนียน”
ระหว่างการถ่ายภาพและเขียนกลอนธรรมะ บางครั้งท่านพุทธทาสก็เลือกทำอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนและหลัง และยังสอนให้พระมหาบุญชูใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายที่ดูเหมือนว่าใช้งานไม่ได้แล้ว
“บางอย่างเหมือนท่านร่างสคริปต์ไว้ แล้วให้ถ่ายตามสคริปต์ บางอย่างถ่ายทันทีเดียวนี้ มีหลายรูปที่ฉันถ่ายไว้ ท่านเอาไปเก็บไว้ แล้วท่านค่อยเขียนคำประกอบ แต่ทีนี้พอนานไปภาพมันเน่า เพราะว่าสวนโมกข์ความชื้นสูงมาก
มีบางภาพอุตส่าห์ส่งมาอัดขยายอย่างดีที่กรุงเทพนะ ภาพขนาด 5×7 พอเก็บไว้ประมาณปีหนึ่งมันเริ่มเน่า เริ่มซีดก็มี ท่านอาจารย์ก็จะบอกว่า ให้ไปรื้อออกมา ทำความสะอาด หรือฉันบอกว่า ท่านอาจารย์ครับสงสัยรูปนี้จะต้องทิ้ง ท่านอาจารย์บอก ไม่ต้องทิ้งใช้ได้ เราสามารถเอาไปอธิบายให้เข้ากับรูปได้ ซึ่งก็มีตัวอย่างหลายรูปที่ฉันคิดว่าต้องทิ้งแล้ว แต่ท่านเอามาใช้ได้”
>>>ขาวดำ เพียงพอต่อการเผยแผ่ธรรม
ภาพที่ถ่ายส่วนใหญ่จะเป็นภาพขาวดำเนื่องจากท่านพุทธทาสไม่สนับสนุนให้ถ่ายภาพสี เพราะมองเป็นการสิ้นเปลืองและแค่ภาพขาวดำก็เพียงพอแล้วต่อการใช้เผยแผ่ธรรมะ
“ภาพสีเนี่ย ท่านอาจารย์ไม่สนับสนุนให้ถ่าย แต่เป็นความร้อนวิชาของฉันเองที่อยากถ่ายสี ตอนนั้นรูปของท่านอาจารย์ที่ฉันถ่ายให้ 99 เปอร์เซ็นต์ เป็นรูปที่ท่านอาจารย์ให้ปัจจัยไปซื้อฟิล์มมา ส่วนฟิล์มสี ฉันหาปัจจัยซื้อเอง เพราะท่านอาจารย์ไม่สนับสนุนให้ถ่ายภาพสี เพราะท่านคิดว่ามันเฟ้อ ไม่จำเป็น ท่านเน้นขาวดำ”
ในแต่ละวันของตลอดระยะเวลาหลายปี การทำหน้าที่ช่างภาพของพระมหาบุญชูให้กับท่านพุทธทาสดำเนินไปตามวัฎจักรที่เหมือนๆ กัน นั่นคือ เช้าถ่าย บ่ายเสร็จ ตกเย็นเตรียมตัวเข้าห้องมืด และบอกเล่าด้วยว่าภาพถ่ายที่เหลือมาเป็นต้นฉบับเพื่อการตีพิมพ์ 'บทพระธรรมประจำภาพ' ในปัจจุบัน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพที่ถ่ายมาทั้งหมดเท่านั้นเอง
“ส่วนมากจะเริ่มถ่ายตั้งแต่ 9 โมงเช้า ตระเวนหาสถานที่กัน จะไปหยุดประมาณสักบ่าย 4 โมง แล้วฉันก็รอจนกระทั่งถึงตอนค่ำ พอดีฉันเป็นคนคุมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยตอนนั้น ก็เริ่มทำตั้งแต่หกโมง ฟ้ามืดเข้าห้อง ห้องนั้นเป็นห้องเก็บหนังสือของฉัน แต่ก็แบ่งมุมหนึ่งใว้เป็นมุมที่อัดภาพแล้วก็ทำจนถึงสี่ทุ่ม ทำเสร็จท่านไม่มาดูนะ ท่านจะตรวจตอนเช้า นี่ครับท่านอาจารย์ ผมทำเมื่อคืนนี้ ท่านก็จะเอามาดู ว่าอันไหนใช้ได้ ใช้ไม่ได้ หรือนี่ไม่ได้ความ(หัวเราะ)
ถ่ายมาหลายปี จะบอกให้ว่าไฟล์ภาพที่เหลืออยู่ มันส่วนหนึ่งเท่านั้นนะ นอกนั้นมันเสียหมด มันเน่า เพราะความชื้น และมันหายไปด้วย เพราะมีคนยืมไปแล้วไม่ค่อยคืน”
>>>ช่างภาพชั้นครู ผู้มาก่อนกาล
ด้าน มานิต ศรีวานิชภูมิ กล่าวว่า ส่วนตัวนั้นตนมีความศรัทธาในท่านพุทธทาสอยู่แล้ว และประทับใจในคำสอนของท่านหลายเรื่อง เพราะเป็นคำสอนที่นำไปปฏิบัติได้จริง ไม่ได้สอนให้เพ้อเจ้อเรื่องนรกสวรรค์ เช่น ตัวกูของกู,ตายก่อนตาย ธรรมะคือธรรมชาติ ฯลฯ
แต่หากจะถามในฐานะที่เป็นศิลปินและช่างภาพแล้วคิดว่าภาพถ่ายและกลอนธรรมะที่มีท่านพุทธทาสเป็นผู้วางคอนเซ็ปต์มีความน่าสนใจในแง่ศิลปะเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเป็นแบบอย่างได้อย่างไรบ้าง มานิตตอกย้ำถึงความเป็น ช่างภาพชั้นครูผู้สร้างงาน Conceptual photography ผู้มาก่อนกาล ของท่านพุทธทาสว่า
“ผมไม่เคยเจอพระที่ใช้ภาพถ่ายตัวเองในการเผยแผ่ธรรมะ ถือว่าเป็นพระสงฆ์รูปแรกของไทย พระสงฆ์รูปอื่นใช้ภาพถ่ายในการเรียกคนเข้าวัด หรือไม่ก็เป็นการแจกภาพตัวเองเพื่อให้คนไปบูชาแบบพระขลัง บูชาเพื่อเอาไปขอหวยบ้าง ร่ำรวยบ้าง อย่างนู้นอย่างนี้ แต่ไม่เคยมีใครพูดถึงแก่นสารธรรมมะ แต่วิธีการของท่าน มีการคิด มีการวางคอนเซ็ปต์
ปี 2515 คำว่า Conceptual art ยังไม่มีคำนี้ครับ แม้ในต่างประเทศเขาก็ยังไม่รู้ว่าคำนี้ได้ใช้กันหรือยัง หรือแม้แต่คำว่า Conceptual photography เราก็ยังไม่มีกัน สิ่งที่ท่านเริ่มต้นทำในตอนนั้นจึงถือเป็นสิ่งใหม่ ตอนแรกที่เห็นภาพถ่ายครั้งแรก ผมชอบที่ท่านใช้เทคนิคถ่ายภาพซ้อน ผมสะดุดตรงนั้น เพราะฉะนั้นท่านไม่ธรรมดานะ ท่านต้องเข้าใจภาพถ่ายลึกซึ้ง
และท่านเองก็สนใจศิลปะอยู่แล้วด้วย ไม่ใช่เฉพาะภาพถ่ายเท่านั้น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพยนตร์ ท่านก็สนใจ ท่านสนใจศาสตร์ทางศิลปะ เพราะมองว่าศิลปะใช้ในการสื่อสารด้านธรรมะได้
ถ้าศึกษาเรื่องราวของท่านจะเห็นว่าท่านชอบภาพเขียนแบบนิกายเซน ภาพปริศนาธรรม และโรงมหรสพทางวิญญาณที่ท่านทำจะเห็นได้ว่าเต็มไปด้วยงานศิลปะ แสดงว่าท่านสนใจอย่างมาก
พอมาถึงปี 2515 ท่านก็เริ่มโครงการบทพระธรรมประจำภาพขึ้นมา คอยให้เณรเป็นลูกมือ แล้วท่านก็กำกับ เหมือนกับเป็นผู้กำกับหนัง”
นิทรรศการภาพถ่ายฝีมือชั้นครู พุทธทาสภิกขุ วันนี้ – 30 มิถุนายน 2556 ณ คัดมันดู โฟโต้ แกลเลอรี่ ถ.ปั้น (ใกล้วัดแขก) สีลม กรุงเทพฯ โทร.0-2234-6700
ส่วนหนึ่งในโครงการ “ค้นหาภาพถ่ายชั้นครู” ที่ประวัติศาสตร์ภาพถ่ายไทยยังมิได้บันทึกของแกลเลอรี
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.