Art Eye View

ผู้ยิ่งใหญ่ในท้องฟ้าแห่งอัฟริกา : แอชลีย์ วินเซนต์

Pinterest LinkedIn Tumblr

Kenyan Sunrise
อาทิตย์นี้ ผมขอนำภาพถ่ายและเรื่องราวของ “นกอินทรีมาเชอร์” (Polemaetus bellicosus) มาเสนอต่อทุกท่านนะครับ “มาเชอร์” เป็นพันธุ์ของนกอินทรีที่มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดในทวีปอัฟริกา และมีน้ำหนักตัว มากเป็นอันดับที่ห้าของอินทรีที่ยังเหลืออยู่ในโลก
Taking Wing
“อินทรี” ถูกจัดให้เป็น “นกนักล่า” หมายถึง มันล่าสัตว์อื่นเพื่อกินเป็นอาหาร นกนักล่าชนิดอื่นก็คือพวก นกเหยี่ยว เหยี่ยวนกเขา และนกฮูก ไงล่ะครับ

“นกนักล่า” ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Raptors” ครับ แปลงมาจากภาษาละตินอีกทีคือ “Rapere” ซึ่งหมายถึง “การยึดครองด้วยการใช้กำลังข่มขู่บังคับ” พวกมันดุดัน รวดเร็ว เด็ดขาด เหมือนสัตว์นักล่าบนบกชนิดอื่น ที่ต้องล้มเหยื่อด้วยการใช้กำลังในการล่าเช่นกัน คงจะไม่มีเหยื่อตัวไหน ยินยอมพร้อมใจและเต็มใจกับการเป็นอาหารจานเด็ดของใครหรอกครับ คนที่คิดตั้งชื่อจัดกลุ่มให้พวกมันนี่ช่างมีอารมณ์ขันเหลือเกิน

“นกนักล่า” ถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์โน้นแน่ะครับ หลายพันธุ์ในยุคเก่าก่อนมีขนาดตัวมหึมาไม่น้อย เช่นพวก “Velocirator” พวกมันมีรูปร่างใหญ่โตจนบินไม่ได้ แต่ก็มีขนและปีกบนตัว จนถูกระบุให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับนก และผมคิดว่า น่าจะเป็นไปเพื่อความสมดุลของธรรมชาติ ที่พวกมันได้สูญพันธุ์กันไปจนหมดแล้ว

“อินทรีมาเชอร์” ที่โตเต็มวัย จะมีน้ำหนักตัวประมาณ 3 – 6.2 กิโลกรัม และเมื่อกางปีกออกเต็มที่ อาจวัดได้ถึง 188 – 260 เซนติเมตร มันน่าประทับใจใช่ไหมครับ อินทรีมาเชอร์มีสายตาที่ยอดเยี่ยมมาก สามารถเล็งเห็นเหยื่อได้จากระยะไกล ไม่ว่าเหยื่อเคราะห์ร้ายตัวนั้นจะกำลังพักผ่อนอยู่ตามกิ่งไม้หรือกำลังบินอยู่ก็ตาม

มีการศึกษาและจดบันทึกไว้ว่า 45 % ของอาหารจานโปรดของอินทรีคือ “สัตว์จำพวกนก” ชนิดอื่นครับ ตัวอย่างเช่น ห่าน ไก่ฟ้า นกกระสา นกกระทา นกเงือก ไปจนถึง นกกระจอกเทศ อีก 38 % จะเป็นพวกสัตว์เลื้อยคลาน เช่น ตะกวด กิ้งก่า งูเหลือม หรืองูมีพิษอื่น ๆ 17 % ที่เหลือเป็นพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ยกตัวอย่างก็ กระต่าย ไฮแร็กส์ พังพอน กระรอก หมาป่า หนูป่า ลิง หรือลูกของสัตว์อื่น ๆ ด้วย

อินทรีมาเชอร์นี่เป็นนักล่ามือฉกาจด้วยนะครับ เคยมีการเก็บบันทึกไว้ว่า มันล่าแม้กระทั่งสัตว์นักล่าชนิดอื่น ที่มีขนาดตัวไม่เล็กเลย อย่างพวก คาราเคิ้ล แมวป่า และหมาใน
David and Goliath
ผมต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเลยล่ะครับ ก่อนที่จะยืนยันสายพันธุ์ของนกแต่ละชนิดที่ผมเก็บภาพมาได้ ผมศึกษาจากหนังสือรวบรวมสายพันธุ์นกจากแต่ละประเทศ และยังค้นหาข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ตอีกด้วยหลายเว็บไซด์ เพื่อให้การระบุชื่อนกของผมเป็นไปอย่างถูกต้อง

พวก “นกนักล่า” นี่ ระบุสายพันธุ์ได้ไม่ง่ายเลยนะครับ พวกมันมีรูปลักษณ์ที่คล้ายคลึงกันมาก สีสันก็ไม่แตกต่างโดดเด่น ยิ่งตอนที่พวกมันยังไม่โตเต็มวัย ยิ่งจะดูเหมือน ๆ กันไปหมด และถึงจะมองดูตัวที่โตเต็มวัยแล้ว ก็ยังแยกพวกมันออกจากกันยากอยู่ดี เพราะมันจะต่างกันแค่ ตรงขนบางส่วนที่อาจมีสีเข้มขึ้นหรืออ่อนลง หรืออาจมีขนขึ้นเป็นลายทางให้พอสังเกตความแตกต่างได้เล็กน้อยเท่านั้น

ผมจึงขออนุญาติออกตัวไว้ตรงนี้สักนิด ว่าผมมั่นใจเพียง 99.9 % เท่านั้นว่า ภาพนกที่ผมนำมาแนะนำให้คุณรู้จักในครั้งนี้คือ “อินทรีมาเชอร์” เผื่อความผิดพลาดไว้สัก 1 % หากจะมีผู้รู้ และชี้ผลลัพธ์ที่ต่างจากนี้ออกไป กรุณาฝากคอมเม้นท์ไว้ข้างล่างด้วยนะครับ เพื่อเป็นวิทยาทานต่อผมไงล่ะครับ 555

หากความเข้าใจของผมถูกต้อง ภาพนกที่คุณเห็นอยู่นี่ คืออินทรีมาเชอร์วัยรุ่นครับ ผมหมายถึง มันยังไม่ได้เติบโตเต็มที่ แต่ก็คงจะใกล้เต็มที อินทรีมาเชอร์ที่โตเต็มวัยแล้ว รูปลักษณ์ก็จะดูคล้าย ๆ กับเจ้าตัวนี้แหล่ะครับ เพียงแต่ ขนบนปีกด้านบนที่ยาวไปทั้งหัว ตลอดจนใบหน้าถึงลำคอของมันจะมีสีเข้มมากขึ้น ส่วนบนหน้าอกและที่ท้องจะมีขนสีขาวขึ้นเป็นลายจุดเล็ก ๆ
Skiing Practice!
ภาพทั้งสี่ใบนี้ ถ่ายได้จากสถานที่แตกต่างกันในเขตสงวนธรรมชาติมาไซมาร่า ในวันและเวลาที่ต่างกันด้วยครับ แต่ผมเกือบจะมั่นใจว่า มันอาจจะเป็นมาเชอร์ตัวเดียวกันก็ได้ นกแต่ละตัวมีจังหวะการบินที่ต่างกันออกไป แต่เจ้าตัวที่ผมถ่ายภาพได้ทั้งสี่ใบนี่ พฤติกรรมการบินและการร่อนลงดูคล้ายกันจนน่าสงสัย หากจะมีมาเชอร์ที่แปลกหน้าไปสักหน่อย ก็น่าจะเป็นตัวที่กำลังสยายปีก เพราะมันดูห้าวหาญกว่าภาพอื่นครับ

ภาพใบแรก ผมตั้งใจถ่ายให้เป็นภาพเงาครับ มันเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์กำลังจะขึ้น แสงแรกของวันนั้นอบอุ่นให้อารมณ์ที่สงบสุข ช่วงเวลาที่ผมเก็บภาพอยู่ในเคนย่าเป็นต้นฤดูฝนพอดี ผมจึงไม่ได้เห็นท้องฟ้าที่มีสีสันแบบอลังการทั้งยามอาทิตย์ขึ้นและยามอาทิตย์อัศดงอย่างที่ผมและหลายคนคงจะคาดหวัง

ในภาษาละติน ชื่อรองของอินทรีมาเชอร์คือ “Bellicosus” มันมีความหมายว่า ผู้ที่ชอบทำสงคราม ดุร้าย ก้าวร้าว คำจำกัดความก็ดูจะเหมาะสมกันดีนะครับกับธรรมชาติ “นักล่า” ของมัน แต่ไม่ว่ารูปร่างใหญ่โตน่าเกรงขามของมันจะดูน่าหลีกเลี่ยงแค่ไหน มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ หากคุณจะได้เห็นนกที่มีขนาดตัวเล็กกว่ามันมาก ส่งเสียงก่อกวนและพยายามที่จะไล่อินทรีมาเชอร์ออกไป ดูภาพถ่ายใบที่สามของผมสิครับ

ผมเคยเห็นภาพถ่ายของคนอื่นในบรรยากาศประมาณนี้มาก่อน แต่นี่เป็นครั้งแรกครับ ที่ผมได้เป็นสักขีพยานในความบ้าบิ่นของนกกิ้งโครง (Lamprotornis superbus) ตัวจ้อย ผมส่องกล้องเห็นอินทรีมาเชอร์กำลังร่อนลงบนกิ่งไม้สูง มันคงจะเลือกตรงนั้นเป็นจุดพักปีก เพราะดูมันนั่งนิ่งสงบอยู่พักใหญ่ แล้วนกกิ้งโครงตัวหนึ่งก็โผล่มาจากไหนไม่รู้อย่างอารมณ์เสีย มันตรงเข้าจิกตีเจ้ามาเชอร์เหมือนจะไล่คนแปลกหน้าให้ออกจากบ้าน มันเป็นหนึ่งในหลายภาพแปลกตาที่ผมได้พบเห็น ผมขำในความใจกล้าของนกกิ้งโครง และขันในความเมินเฉยของอินทรีมาเชอร์ ที่ในที่สุดเมื่อมันบินจากไป มันยังสะบัดปีกเชิดหน้าดังจะประกาศกร้าวว่า “ฉันจะไปอยู่แล้วย่ะ”

เชื่อไหมครับว่า เจ้ากิ้งโครงนี่ไม่ได้ยอมความง่าย ๆ นะครับ อินทรีมาเชอร์บินจากไปแล้ว เจ้ากิ้งโครงก็ยังบินตามไล่ส่งอีกตั้งไกล มันคงจะต้องการให้แน่ใจว่าเจ้ามาเชอร์จากไปแล้วจริง ๆ

อีกหลายวันต่อมา เมื่อผมผ่านไปเก็บภาพแถวนั้นอีก ผมก็ได้เห็นนกกิ้งโครงอีกตัวกำลังบินวางท่านักเลงขับไสไล่ส่งพังพอนแคระตัวหนึ่งที่หากินวนเวียนอยู่บนต้นไม้ ไม่รู้ว่า จะใช่กิ้งโครงตัวเดียวกันหรือเปล่า ท่าทางคลั่งไม่แพ้กันเลย 555

ผมมองดูพฤติกรรมของกิ้งโครง และนึกสงสัยว่าบนต้นไม้ในละแวกนั้น คงจะต้องมีรังที่มีไข่นกหรือลูกนกกิ้งโครงน้อยอยู่แน่ ๆ พ่อนกแม่นกคงจะพยายามปกป้องคุ้มครองลูกน้อยของมันให้อยู่อย่างปลอดภัย ผมมอง คิดตาม และอดชื่นชมมันไม่ได้ สรรพสัตว์ทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่ในสายพันธุ์ไหน ต่างต้องรู้จักและได้เห็นว่าความรักของพ่อแม่ช่างยิ่งใหญ่ และเสียสละมากเหลือเกิน

ภาพสุดท้ายที่ผมนำมาฝาก เป็นภาพพฤติกรรมตอนนกทำความสะอาดตัวเองครับ สัตว์ประเภทนกชอบตบแต่งขนตัวเองเสมอ สัตว์หลายชนิดก็ชอบทำความสะอาดให้ตัวมันเองเช่นกัน เพื่อขจัดฝุ่นและกำจัดปรสิตในร่างกาย การทำความสะอาดขนของนกสำคัญอย่างยิ่งต่อการบินของมันนะครับ ขนที่ปราศจากฝุ่นหรือโคลนจะช่วยให้การบินเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ ขนที่แห้งสนิทจะช่วยให้สามารถบินได้เร็วขึ้น ทำให้การไล่ล่าเกิดประสิทธิผลที่สุด

เช่นเคยครับ ขอบคุณทุกท่านมาก ที่กรุณาเข้ามาเยี่ยมชมคอลัมพ์นี้ ขอบคุณทุกท่านที่กรุณาฝากคอมเมนท์ไว้กับงานในอาทิตย์ก่อน ๆ ของผม ผมซาบซึ้งใจมากครับ ผมขอให้ทุกท่านมีวันและคืนที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม พบกันใหม่อาทิตยย์หน้าครับ

รู้จัก…แอชลีย์ วินเซนต์

ชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอล ที่ผันตัวเองจากการทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท มาทำงานเป็นช่างภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน นอกจากเปิดร้าน Nature Impressions จำหน่ายผลงานของตัวเอง ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่กล่าวกันว่า เป็นสวนสัตว์เปิดที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เขายังทำงานให้กับสวนสัตว์แห่งนี้ ในฐานะอาสาสมัครเก็บภาพสัตว์ป่าไปพร้อมกันด้วย

ผลงานภาพถ่าย “บุษบา” เสือโคร่งเพศเมีย ถ่ายจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ของแอชลีย์ได้รับการประกาศให้เป็น สุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012

เสมือนบอกย้ำให้กำลังใจช่างภาพหลายๆ คนว่า “ภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ดี ไม่ต้องไปถึงเคนยา”

ติดตามอ่าน …Nature Impressions โดย  แอชลีย์ วินเซนต์  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It