Art Eye View

ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ของ ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ฝ้ายและป่าน ซึ่งถูกทอด้วยเทคนิคทอสองชั้น (Double Weaving) ให้เป็นผลงานหน้าตาคล้ายรากและลำต้นของต้นไม้ใหญ่ชื่อ The Temple of God คือผลงานศิลปนิพนธ์เมื่อครั้งเรียนจบปริญญาโท Integrated Design สาขา Textile Designs ที่ Kobe Design University ของ วี -ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์ ศิลปินและนักออกแบบเสื้อผ้าลูกครึ่งไทย -ญี่ปุ่น เจ้าของแบรนด์ VL และGumgum ผู้เป็นภรรยาสาวของ ตั้ม – วิสุทธิ์ พรนิมิตร นักวาดการ์ตูนชื่อดัง

มากกว่าเคยได้รับรางวัล Encouragement Award จากมหาวิทยาลัย เมื่อปี 2006 และ Design Research Asosiation ของญี่ปุ่น ยังถือเป็นตัวแทนของความทรงจำ ที่ทำให้วีหวนนึกถึงช่วงเวลาที่ทุ่มเทให้กับการทำงานออกแบบสิ่งทอเพียงอย่างเดียวและ สภาพรอบตัวที่มีแต่ป่า เพราะที่พักอาศัยในช่วงเวลาที่เธอเรียนอยู่นั้นตั้งอยู่บนภูเขา

“จริงๆ แล้ว วีเริ่มทำงานออกแบบสิ่งทอก่อนทำเสื้อผ้าค่ะ ก่อนงานทุกอย่างเลยด้วยความที่ไปต่อโท เราก็จะมีเวลาขลุกอยู่กับมันร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้แบ่งเวลาที่จะไปทำอะไรอย่างอื่น ทำแต่สิ่งนี้อย่างเดียว

แล้ววีก็ชอบที่จะไปเที่ยวศาลเจ้าญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละที่จะมีต้นไม้ใหญ่อยู่เยอะมาก และดูศักดิ์สิทธิ์ เหมือนคนญี่ปุ่นเขาก็จะมีความเชื่อด้วยว่ามีเทพสิงสถิตย์อยู่ในต้นไม้ และทุกสิ่งตามธรรมชาติ”

ผลงานงานชิ้นนี้ของเธอจึงได้รับแรงบันดาลใจมาจากต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุเป็นร้อยๆปี สื่อถึงความมีชีวิตที่ยืนยาวของมัน และความเชื่อที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันของผู้คนจำนวนไม่น้อยว่า ต้นไม้ใหญ่มักจะมีเทพสิงสถิตย์อยู่

“ต้นไม้ที่มันเติบโตไปมากๆ มันก็จะมี detail(รายละเอียด)ในตัวมันเยอะขึ้น มีความ strong (แข็งแรง)กว่าต้นไม้เล็ก และจะมีสิ่งชีวิตอื่นเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย เช่น เกิดพืชใหม่อยู่บนพื้นผิวมันด้วย วีก็เลยพยายามสร้างผลงานเพื่อแสดงออกถึงสิ่งเหล่านี้ทั้งพลังทางธรรมชาติและความศักดิ์สิทธิ์ของต้นไม้

โดยใช้เทคนิคในการทอแบบ Double Weaving คือเป็นการทอสองผืนพร้อมๆกัน มีชั้นบนชั้นล่าง ชั้นล่างก็จะเป็นส่วนสีเขียว ชั้นบนก็จะเป็นส่วนสีน้ำตาล ซึ่งการที่ทอสองผืนพร้อมๆกัน เนี่ย มันทำให้เกิดมิติ และทำให้เกิดช่องว่างระหว่างสองผืนนั้น ในส่วนนี้ก็เลยยัดนุ่นลงไปเพื่อให้มันพองมีและมิติขึ้น

แล้วด้ายพุ่งซึ่งทำจากฝ้ายและป่านสำหรับทอ วีได้ทำการมัดย้อมเพื่อให้สีของมันเมื่อเกิดเป็นผลงานไม่แบน มีอ่อนมีแก่ และเลือกทอสีอ่อนตรงส่วนที่เราคำนวณไว้ว่าเราจะให้มันเกิดความนูนตรงนั้น เพื่อเน้นให้ผลงานมีมิติมากขึ้น”

ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ‘ออกแบบสิ่งทอ’ หรือแม้แต่งาน ‘วาดภาพ’ และงาน ‘ออกแบบเสื้อผ้า’ ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง (ซึ่งสองอย่างหลังนี้เธอมีผลงานออกมาจัดแสดงอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและญี่ปุ่น)ล้วนได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานมาจากธรรมชาติรอบตัวทั้งสิ้น

แม้รอบตัวในปัจจุบันจะไม่ค่อยมีต้นไม้ใหญ่ให้ได้เห็น แต่เธอก็พยายามสร้างบรรยากาศในแบบที่ตัวเองชอบขึ้นมาทดแทน เท่าที่จะสามารถทำได้

“ตอนนี้อยู่เมืองไทย งานของวีจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากสภาพความเป็นอยู่ของเรา ซึ่งตอนนี้ครอบครัวเราย้ายไปอยู่นอกเมืองที่ยังเป็นเขตกรุงเทพฯอยู่ เมื่อสภาพความเป็นอยู่เปลี่ยนไป ต้นไม้ที่มีก็คือต้นไม้ที่เราปลูกเอง ทั้งที่เมื่อก่อนปลูกต้นไม้ไม่เป็น เหมือนจะปลูกอะไรก็ตาย(ยิ้ม)

แต่ตอนนี้เราปลูกมันด้วยมือของเราเอง ตั้งแต่ที่ยังเป็นต้นไม้เล็กๆเลย ซึ่งมันก็ดี เพราะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรา และทำให้รู้สึกสดชื่น ในเวลาที่ทำงาน

ทุกวันนี้วีก็ยังชอบไปเดินเที่ยวตามสวนสาธารณะ หรือตามศาลเจ้าอยู่ ในความรู้สึกส่วนตัววีไม่ได้เชื่อหรอกว่า ต้นไม้ใหญ่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปสิงสถิตย์ แต่เชื่อในพลังตามธรรมชาติของมัน ในฐานะที่มันอยู่มานานและมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆอื่นๆ เข้าไปอยู่อาศัยเป็นส่วนหนึ่งด้วย”
โยชิโกะ อิวาโมโต้ วาดะ
หลังจากที่ผลงานออกแบบสิ่งทอเป็น ‘ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์’ หรือ The Temple of God เคยถูกนำไปจัดแสดงมาแล้วในญี่ปุ่น และช่วงเวลาหนึ่ง เคยถูกยืมไปจัดแสดงที่ศูนย์การค้าเกษร

ล่าสุดถูกนำมาจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ mnēmonikos(เมมโมนิกอส): ศิลปะ ความทรงจำในสิ่งทอร่วมสมัย ร่วมกับผลงานของศิลปินและนักออกแบบจากประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลกรวม 29 คน ซึ่งมี โยชิโกะ อิวาโมโต้ วาดะ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอชาวญี่ปุ่นและผู้เขียนหนังสือ’ชิโบริ’ ที่กลายเป็นตำนานและตำราสำหรับผู้สนใจด้านสิ่งทอทั่วโลก ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์คัดสรรผลงานของศิลปินและนักออกแบบแต่ละคนมาจัดแสดง วันนี้ – 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ซ.เกษมสันต์ 2

วี -ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์ เชิญชวนให้ไปชมงานออกแบบสิ่งทอของเธอและของศิลปินและนักออกแบบคนอื่นๆว่า

“สำหรับวี ในฐานะที่เราเป็นผู้ผลิต นิทรรศการนี้มีความน่าสนใจตรงที่ว่าเราได้มาเห็นว่าคนอื่นเขาทำงานอะไรใช้เทคนิคอย่างไร เหมือนเป็นแรงบันดาลใจเป็นแรงกระตุ้นให้กับเราเหมือนกัน เพราะสิ่งที่คนอื่นทำ บางอย่างเราก็ไม่เคยคิดมาก่อน”

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ   Photo : วารี น้อยใหญ่

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW www.astvmanager.com และ เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It