Art Eye View

จากอัมสเตอร์ดัม สู่ราชดำเนิน ‘ชวลิต เสริมปรุงสุข’ ขนสตูดิโอจากเมืองดัชท์ ยกเป็นสมบัติชาติ

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—จากกรณีที่ ฟินเซนต์ ฟาน ก็อกฮ์ ( Vincent van Gogh) จิตรกรยุคอิมเพรสชันนิสม์ชื่อดังระดับโลก ขณะยังมีชีวิตอยู่ ต้องทำงานศิลปะท่ามกลางความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพ

เป็นที่มาของการก่อเกิด ‘กองทุนอุปถัมภ์ศิลปินทัศนศิลป์’ โดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ประเทศบ้านเกิดฟาน ก็อกฮ์ นับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เพื่อให้ศิลปินที่มีพรสวรรค์ทางด้านศิลปะ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำงานศิลปะอย่างเดียว และสุขสบายเทียบเท่าปัญญาชนอาชีพอื่น


>>> ชวลิต เสริมปรุงสุข ศิลปินไทยในระบบอุปถัมภ์ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์

เมื่อเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา ชวลิต เสริมปรุงสุข คือศิลปินไทยที่ต่อสู้จนได้เข้าสู่ระบบอุปถัมภ์ของกองทุนนี้
หลังจากที่เรียนจบจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วได้รับทุนการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศเนเธอร์แลนด์ไปศึกษาต่อด้านศิลปะที่กรุงอัมสเตอร์ดัม 2 ปี

แม้ว่าเขาจะเรียนไม่จบตามทุนที่ได้รับมา แต่จากความพยายามสร้างผลงานให้เหล่ากรรมการผู้ทำการคัดเลือกศิลปินเข้าสู่ระบบกองทุนดังกล่าว มองเห็นว่าเขามีแวว สมควรได้รับการสนับสนุน ในที่สุด ชวลิตก็ได้กลายเป็นหนึ่งในศิลปิน 3,000 กว่าคน ที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณสูงเป็นพันล้านกิลเดอร์ดัตช์ต่อปีในการอุ้มชู

“เพราะว่าเขามีบทเรียนในสมัยที่ปล่อยให้ ฟาน ก็อกฮ์ อดอยาก น้องชายต้องเป็นคนดูแล และตายไปโดยที่ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลย และนอกจากนี้ยังมีศิลปินอีกหลายคนในสมัยเดียวกันที่ไม่มีใครช่วยเหลือเช่นกัน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเกิดกองทุนขึ้นมา เพื่ออุปถัมภ์ศิลปินที่มีพรสวรรค์ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มสาว ให้สามารถทำงานศิลปะอย่างเดียว โดยไม่ต้องไปทำอาชีพอื่น ไม่ต้องวิ่งขายรูป ไปสอนหนังสือ หรือไม่ใช่รอจนแก่ถึงจะสนับสนุน เพราะเขาต้องการให้คนพวกนี้ได้ใช้เวลาทำงานศิลปะ ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะศิลปะมัน ไม่ใช่งานสมัครเล่น แต่เป็นอาชีพ

ผมเห็นว่าเป็นโอกาสหนึ่งซึ่งเราจะอยู่ได้ โดยไม่ต้องไปทำอาชีพอื่น ถ้าเรากลับมาเมืองไทย เราก็อาจจะต้องไปรับงานมาทำ ไปสอนหนังสือ ไม่มีทางทำงานศิลปะได้หรอก หรือถ้าทำได้ ก็ไม่ดี เราต้องหาทางที่จะได้ใช้เวลาทั้ง 365 วันไปกับการทำงานศิลปะ และต้องทำติดต่อกันหลายปี มันถึงจะได้ผล”

แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป 18 ปี นับจากวันเริ่มก่อตั้งกองทุน เป้าหมายที่เคยมีว่าจะอุปถัมภ์ศิลปินไปตลอดชีวิต ก็มีอันต้องยุติลง เพราะมีคนทำงานศิลปะแขนงอื่นที่ไม่ใช่สาขาทัศนศิลป์ทักท้วงว่าพวกตนก็คือคนทำงานศิลปะสมควรได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาลเช่นกัน

ขณะที่งบประมาณที่ใช้ในแต่ละปีก็มากเกินกว่าที่รัฐบาลจะรับไหว รวมไปถึง ศิลปินส่วนหนึ่งที่เคยได้รับการอุปถัมภ์ ก็ไม่มีความใส่ใจในการทำงานศิลปะเท่าที่ควร บ้างก็นำเงินเดือนจำนวนมากที่ได้รับในแต่ละเดือนไปใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ครั้นพอถึงเวลาที่ต้องทำงานศิลปะเพื่อมอบเป็นสมบัติของรัฐ ก็ไม่ได้ตั้งใจทำเท่าที่ควร

“ศิลปินแต่ละคนเงินเดือนสูงมาก เทียบเท่าโปรเฟสเซอร์ เหมือนสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ให้นั่งค้นคว้าในแลป หน้าที่คุณคือค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ เขาตีคุณค่าศิลปินไว้สูง ศิลปินก็จะสบาย ถ้าได้เข้าไปอยู่ระบบนี้

มีเงินเดือน มีบ้านให้อยู่ มีห้องทำงานให้ มีค่าขนส่ง มีรถมารับรูปไป ทุกอย่างรัฐบาลจ่ายให้ งบประมาณที่ใช้จึงมากเกิน นอกจากศิลปินแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ต้องคอยดูแลบริหารจัดการกองทุนนี้อีกตั้ง 200 กว่าคน ในหน่วยงานซึ่งเป็นตึกเกือบสิบตึกเลย

และมีศิลปินเป็นร้อยในจำนวนทั้งหมดที่เกเร ไม่ค่อยมีผลงาน ได้เงินมาก็ ไปเที่ยว กลับมาก็มาละเลงๆ ทำงานสวะๆไปส่งเขา ขณะที่สียังเปียกๆอยู่ ก็ยังมีเลย มันก็เลยทำให้ศิลปินดีๆพลอยเสียไปด้วย

ปี 1988 จึงมีการยุบกองทุน ตอนแรกเขาก็ไม่คิดจะล้ม เพราะทำมานาน จนสามารถเก็บงานศิลปินที่มีชื่อเสียงเอาไว้เยอะแยะ ศิลปินส่งงานให้รัฐ แล้วรัฐก็เอาไปเก็บเป็นสมบัติของชาติ”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากองทุนจะถูกยุบไป แต่ก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชวลิตมากเท่าใดนัก เพราะเขาเริ่มดูแลตัวเองได้แล้ว และมีคอนเนกชั่นมากพอที่จะเป็นช่องทางทำมาหาเลี้ยงชีพได้ และยังได้รับเงินเลี้ยงดูจากรัฐในฐานะคนว่างงาน

“พอเงินเดือนที่เคยได้หายไป เราก็จะได้เงินสนับสนุนของคนว่างงาน แต่ได้น้อยมาก เมื่อเทียบกันแล้ว แต่ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่งานของเราพัฒนามาเยอะแล้ว บางครั้งก็อาจจะมีลูกค้าตามมาซื้องาน มีแกลเลอรี่ที่เขาเคยซื้อรูปเรา ตั้งแต่สมัยที่ยังอยู่ในระบบอุปถัมภ์”

รวมถึงรัฐได้ตั้งงบประมาณขึ้นมาส่วนหนึ่ง เพื่อซื้องานศิลปะของศิลปินที่รัฐมองว่าเป็นงานที่ดี

ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีที่ใช้ชีวิตและทำงานศิลปะที่เนเธอร์แลนด์ จึงทำให้ชวลิตมีผลงานศิลปะ ติดตั้งอยู่ตามหน่วยงานของรัฐหลายแห่งทั่วประเทศ

“ตามตึกราชการมีทุกแห่งทั่วประเทศ บางที่ก็อยู่ในห้องทำงาน ที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปดูได้ เพราะกองที่ดูแลงานศิลปะเหล่านี้อยู่ เป็นที่ซึ่งหน่วยงานของรัฐทั่วประเทศจะมาขอยืมผลงานไปจัดแสดง แต่หน่วยงานแรกที่มีสิทธิ์มายืมและเลือกงานได้ก่อนใครคือ Museum of Modern Art

ตามโรงพยาบาลก็มีผมงานของผมติดอยู่ แต่ที่เมืองไทยล่าสุดผมไปโรงพยาบาลไม่เห็นมีงานศิลปะติดอยู่เลย ไม่เคยมีใครสนใจเลยว่า งานศิลปะมันจะให้ความสุขกับคนไข้ที่มานั่งรอคิว ทั้งที่ผนังก็มีอยู่เต็ม กำไรก็มีปีละเป็นร้อยๆล้าน จะซื้อรูปสักล้านสองล้านไม่น่าจะเดือดร้อนอะไรเลย”


>>>ตระเวนถ่ายภาพพิพิธภัณฑ์แบ่งปันเพื่อนในโลกออนไลน์

ปัจจุบันชวลิตมีอายุ 74 ปีแล้ว….แต่ชีวิตที่เนเธอร์แลนด์ของศิลปินอาวุโสผู้นี้ ยังคงทำงานศิลปะทุกวัน แต่ผลงานส่วนใหญ่จะเป็นการร่างไอเดียเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ เมื่อมีลูกค้าหรือใครประสงค์อยากได้ผลงานชิ้นใด จึงค่อยซื้อผ้าใบมาเขียน

นอกจากนี้ยังมีความสุขกับการออกไปเดินเที่ยวถ่ายภาพตามพิพิธภัณฑ์ และสนุกกับการทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ยิ่งในช่วงหลังมี facebook ให้ใช้ เขายิ่งสนุกกับการอับโหลดภาพที่ถ่ายมา แบ่งปันกับผู้คนในโลกออนไลน์ทั่วโลก ที่เข้ามาขอเป็นเพื่อน

“ร่างเป็นไอเดียเก็บไว้ ถ้าคนอยากจะได้งานเรา เราก็ไปซื้อผ้าใบมาเขียนให้ แต่เราจะไม่ทำไว้เหมือนสมัยก่อนเพราะเราอายุมากแล้ว ไม่อยากจะสร้างสมบัติเพิ่มแล้ว ให้รูปอยู่ในคอมพิวเตอร์อย่างเดียว บางทีไปมิวเซียมก็ไปถ่ายผนังสวยๆกลับมา แล้วทดลองเอารูปของตัวเองที่ร่างไว้ติดลงบนผนังที่ถ่ายมา
 

ผมชอบถ่ายรูป ชอบทำกราฟิก ก็เลยได้ใช้คอมพิวเตอร์บ่อย สมัยก่อนก็จะใช้โฟโต้ชอป เพื่อการร่างงาน แล้วก็ไปทำอิงค์เจ็ทบนผ้าใบ เมื่อตอนอายุ 60 ปี งานที่เคยแสดงที่วังสวนผักกาด เป็นงานอิงค์เจ็ทบนผ้าใบโดยเฉพาะ

ใช้คอมมานานก่อนเฟซบุ๊คจะเกิด แล้วการทำโฟโต้ชอปเนี่ย ผมก็เรียนเองนะ ปล้ำกับมันทั้งวันทั้งคืน เพราะชอบที่จะทำกราฟิก สิ่งที่มือมันทำไม่ได้ แต่เราต้องรู้ศิลปะ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะโดนเทคนิคกลืนหมด

ตอนหลังมันมีเฟซบุ๊คขึ้นมา ในเมื่อเราไปมิวเซียม ไปทุกอาทิตย์ ถ่ายรูปทุกวัน ก็เลยอัพเดทให้คนดู มีฝรั่งทั่วโลกมาขอเป็นเพื่อนทุกอาทิตย์ เพราะเฟซบุ๊คเรามีรูปเยอะ และเป็นรูปที่แปลกๆ ที่คนไม่มีโอกาสได้มาเห็นของจริงอยากดู

คนเขาอยากรู้ว่ามิวเซียมแต่ละแห่งหรือที่เปิดใหม่มีอะไรบ้าง เราก็เลยไล่ถ่ายมิวเซียมไปทุกแห่งเลย แล้วมาอัพเดทให้คนดูทุกอาทิตย์ ฝรั่งเขาไม่ขยันเท่านี้หรอก เราทำด้วยใจรัก ไม่มีใครจ้าง

คือคนทั่วไปพออายุ 60 ปี เขาก็ไม่อยากยุ่งกับคอมพิวเตอร์แล้ว แต่เราชอบ ถ้าไม่สนุกเราอยู่ไม่ได้หรอก อีกอย่างเราใช้ชีวิตคนเดียว มันก็เลยควบคุมอะไรได้ง่าย ศิลปินส่วนมากจะชอบทำงานจนดึก ง่วงเมื่อไหร่ถึงจะนอน”

ชวลิตผ่านการผ่าตัดหัวใจมาแล้วสองครั้ง และเวลานี้เขาใช้ลิ้นหัวใจวัวแทนลิ้นหัวใจเดิมของตัวเองอยู่

เคล็ดลับในการดูแลสุขภาพนอกจากอยู่กับสิ่งที่ชอบแม้จะต้องนอนดึก คือการใส่ใจในเรื่องการกินและการออกกำลังกาย

“พยายามกินผัก กินผลไม้ให้เยอะ อยู่เมืองไทยผมกินมังคุดวันละโล เนื้อวัวไม่กิน กินปลา กินกุ้ง และเดินให้มาก ออกไปเดินทุกวัน แต่ก่อนก็ขี่จักรยาน กินข้าววันละสองมื้อ คือ เช้ากับเย็น กลางวันไม่กิน อาหารเช้าก็ง่ายๆ ขนมปังสองสามแผ่น”

แต่ก็ใช่ว่าเขาจะเคร่งครัดกับสุขภาพของตัวเองไปทุกกระเบียดนิ้ว นานทีปีหนก็ตามใจปากตัวเองด้วยการสั่งไส้ย่างมารับประทานเหมือนกัน


>>>เตรียมตัวตาย ยกงานศิลปะเป็นสมบัติของชาติ

ชวลิตเดินทางกลับมาเมืองไทยบ่อยครั้งและมีผลงานมาจัดแสดงอย่างสม่ำเสมอ ล่าสุดเพิ่งกลับมาทำสวนประติมากรรมที่โป่งรี จ.กาญจนบุรี และช่วยออกแบบสร้างบ้านบนภูเขาให้กับเพื่อน

และกำลังจะมีนิทรรศการแสดงผลงานครั้งล่าสุด In Amsterdam with Chavalit Soemprungsuk เกิดขึ้นที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ซึ่งมีความพิเศษกว่าครั้งไหนๆตรงที่ เมื่อการแสดงสิ้นสุดลง ผลงานทั้งหมดจะถูกยกให้เป็นสมบัติของชาติ

“เราอยากให้งานของเราอยู่เพื่อเป็นประโยชน์กับคนอื่นต่อไป และรัฐบาลดัชท์ เขาก็มีงานเราเยอะแล้ว คิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทยจะได้มีงานเอาไว้ให้เด็กรุ่นหลังดูเพื่อเป็นตัวอย่าง ยังไม่มีเคยมีศิลปินยกงานให้แบบนี้เลยมั้ง เราน่าจะเป็นคนเริ่มต้น”

เฉพาะงานภาพเขียนที่ยกให้เขาบอกว่ามีมากกว่า 2,000 ชิ้น ทั้งที่ขนมาจากเนเธอร์แลนด์ และสร้างขึ้นที่กรุงเทพฯ รวมไปถึงงานศิลปะประเภทอื่นๆ,ของสะสม และสตูดิโอสร้างงานที่ต้องการยกให้เป็นสมบัติของชาติช่นเดียวกัน ซึ่งต้องใข้งบประมาณเป็นล้านจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผู้รับเป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการให้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการขนข้าวของเหล่านี้ข้ามประเทศ

ดังนั้นนิทรรศการครั้งล่าสุดนี้ของชวลิตจึงประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ งานศิลปะ,ของสะสมและสตูดิโอสร้างงาน

“ภาพเขียนที่ติดแสดงได้ประมาณ 200 รูป ,ประติมากรรม 5 ชิ้น และห้องแสดงงานศิลปะจัดวางชุด สุสานชาวนา นาผืนสุดท้ายแห่งราชอาณาจักรสยาม ที่เคยแสดงมาแล้วครั้งหนึ่งที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ของสะสมส่วนมากจะเป็นเซรามิก มีภาพเขียนจากแอฟริกาบ้าง มีของกระจุกระจิกแปลกๆที่เป็นงานออกแบบ ของที่ซื้อเพราะชอบ แต่ผมไม่ซื้อของแพงนะ ซื้อของถูกๆริมถนน เราไม่ใช่นักสะสมที่เขาซื้อของเก่าๆ แพงๆ แต่จะซื้อของสวยๆ ที่ไม่แพง แต่มีคุณค่าทางความคิดที่บางคนมองไม่เห็น แต่เราเห็น ซื้อมาตั้งเล่นให้มันรกไปงั้น เต็มบ้านไปหมด เพราะชอบไปตลาดขายของเก่า แต่ตอนนี้ของเหล่าก็ยกให้เขา(ประเทศ)ไปหมดแล้ว เพราะเราเตรียมตัวตายแล้ว เตรียมไว้ก่อน ตายเมื่อไหร่ก็พร้อมตายได้

และยังยกสตูดิโอที่อัมเตอร์ดัมให้ ที่ข้าวของต่างๆมีความทรงจำย้อนไปถึงปี 1970 เป็นต้นมา เพราะก่อนหน้านั้นผมยังเช่าห้องอยู่สะเปะสะปะ ยังไม่ได้อยู่ตึกหลวง “

ในส่วนนี้ คนที่จะมาชมก็จะได้เห็นว่า ชีวิตที่อัมสเตอร์ดัม เขาอยู่อย่างไร เพราะทุกอย่างยกมาหมด ทั้งมุมครัว โซฟาที่มีคนฆ่าตัวตายบนนั้นแล้วมีคนยกให้ และข้าวของต่างๆที่ยังปรากฎให้เห็นรอยเท้าของสุนัขที่เคยเลี้ยง

“เป็นหมาที่อยู่ด้วยกันมา 16 ปี เอาจากเชียงรายไปเลี้ยงที่โน่น เพราะช่วงเวลายี่สิบปีหลังจากที่หย่ากับภรรยา ก็อยู่กับหมา เพราะว่าหมามันไม่ค่อยทะเลาะกับเรา (หัวเราะ) แต่ตอนนี้หมาตายแล้ว”

กลับไปอัมสเตอร์ดัมคราวนี้ เขาจึงต้องกลับไปพบกับห้องโล่งๆ อันเป็นทั้งที่พักและสตูดิโอทำงานศิลปะซึ่งอยู่กลางเมือง เพราะแม้แต่จักรยานที่เคยปั่น เสื้อผ้าที่เคยใช้ ก็ขนมาเมืองไทยเพื่อมาบริจาคและหารายได้ไปช่วยสุนัข

“สตูดิโออยู่ห่างจากสถานีรถไฟแค่สองกิโล มองเห็น เดินไปได้ เป็นตึกของโรงเรียนเก่า ที่ย้ายโรงเรียนไปสร้างตึกใหม่ และได้ยกตึกทั้งหมดให้เป็นที่ทำงานของศิลปิน จะมีตึกแบบนี้อยู่ประมาณสองร้อยตึกในอัมสเตอร์ดัม ศิลปินเยอะมากเป็นหมื่น เพราะเป็นเมืองศิลปะ ศิลปินต่างชาติก็ไปอยู่เยอะแยะ”


>>>เมืองไทย นักการเมืองโง่ รสนิยมต่ำ ไม่สนใจศิลปะ

ประโยชน์ที่ผู้ชมจะได้รับเมื่อมาชมนิทรรศการครั้งนี้ของเขา ชวลิตกล่าวว่าในแง่ของผู้ชมที่เป็นคนทำงานศิลปะ น่าจะได้เห็นตัวอย่างของศิลปินคนหนึ่งที่ทำงานอย่างจริงจังมานาน และประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ ขณะผู้ชมที่เป็นประชาชนทั่วไปเขาไม่กล้าหวังมาก

“อยู่ที่คนทำงานศิลปะที่มาดูงานผมว่าจะเห็นประโยชน์ตรงไหน อาจจะเห็นว่าศิลปินคนนี้เขาสร้างงานมา 50 ปี เขาทำจริงจังนะ และก็เป็นกำลังใจให้เขา แต่มันก็อยู่ที่ตัวเขาด้วย และมันอยู่ที่ดวงด้วย สำหรับการมาอยู่จุดนี้ได้เหมือนกับผม อาจจะดวงดีและเราเอาจริงด้วย ถ้าคุณดวงดี แล้วคุณขี้เกียจ คุณไม่ไปไหนหรอก หรือบางทีคุณดวงดี คุณเขียนรูปให้ตายคุณก็ไม่ประสบความสำเร็จ คุณก็เข้าป่าไปเลย บางคนยิ่งเขียนยิ่งเละก็มี เพราะจับจุดไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับหลายอย่าง ทั้งสมอง ปัญญา จิตใจที่มั่นคง

คือคำว่าประสบความสำเร็จมันวัดกันที่อะไร บางคนบอกว่าเป้าหรือการประสบความสำเร็จ คือมีชื่อเสียง มีตำแหน่งสูง ได้เป็นหัวหน้ากอง เป็นคณบดี หรือบางคนบอกว่าฉันต้องมีเงินร้อยล้าน มันแล้วแต่เป้าของแต่ละคน

แต่เป้าของผมไม่ได้อยู่ตรงนั้น เป้าของผมคือว่า ทำอย่างไรให้ผมได้ทำงานศิลปะ โดยไม่ต้องหาเงินจากทางอื่นมาเลี้ยงชีพ ซึ่งผมก็ประสบความสำเร็จแล้ว ผมไม่ได้ต้องการชื่อเสียง ผมต้องการให้มีเงินพออยู่ได้ พอมีกินมีใช้

คือถ้าเผื่อเราทำงานดี ชื่อเสียงมันมาเอง ไม่ต้องไปหามัน มันหาไม่ได้ แล้วมันได้อะไรขึ้นมาเวลามีชื่อเสียง คนมีชื่อเสียงกับคนไม่มี มันก็คล้ายๆกันนั่นแหล่ะ สังคมไปวางให้

สำหรับประชาชนทั่วไปที่มาชม ผมหวังไม่ได้มากหรอก เราจะเทียบประชาชนคนไทยกับประชาชนของเมืองนอกไม่ได้เลย เพราะพื้นฐานต่างกันเยอะ พื้นฐานของเมืองนอก เขาเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสะอ้าน แต่คนไทย รวมๆแล้วทั่วไป เติบโตมาจากสิ่งแวดล้อมที่สกปรก ในความหมายที่ว่า สิ่งแวดล้อมไม่มีสุนทรีย์ รกไปหมด ไม่มีอะไรที่เป็นความงาม ไปไหนก็รก ไปไหนก็สกปรก ทางด้านสายตา นอกจากสกปรกในคลองแล้ว ยังสกปรกสิ่งแวดล้อมด้วย ตึกก็ไม่มีระเบียบ เละเป็นสลัม คุณจะมองเห็นความงามที่ไหน

คนเราถ้ามันเกิดความเคยชินกับสิ่งสกปรก ประสาททางความงาม ทางสุนทรีย์ ถูกทำลายตั้งแต่เด็ก โอกาสที่จะเข้าใจงานศิลปะมันยากกว่าฝรั่งเยอะหลายเท่า เราพูดถึงประชาชนคนทั่วไปคนเดินถนนนะ

แม้แต่เรียนสูงก็ยังรับไม่ได้ ลองไปถามนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ไม่เรียนศิลปะดูสิ ว่ารู้และเข้าใจศิลปะไหม ไม่รู้เรื่องเลย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วศิลปะมันมีไว้สำหรับมนุษย์ มันไม่ได้มีไว้สำหรับพวกเด็กเรียนศิลป์อย่างเดียว นักการเมืองก็ต้องรักศิลปะ หมอก็ต้องรักศิลปะ นักบัญชีก็ควรจะรักศิลปะ เพราะศิลปะมันเป็นประโยชน์ทางด้านจิตใจของมนุษย์ ตรงนี้เขาไม่เข้าใจ

นักการเมืองมันถึงโง่อยู่อย่างนี้ ไม่สนใจศิลปะ เทสต์มันก็ต่ำ พอต่ำแล้ว เสนอโครงการศิลปะอะไรเข้าไปมันก็ไม่เอา เพราะว่ามันจะให้เป็นไทยท่าเดียว ลายกนก นุ่งผ้าถุง ถึงจะเป็นไทย

ประเพณีไทยเนี่ยมันดี แต่ถ้าไปถึง Contemporary Art (ศิลปะร่วมสมัย) แล้วเนี่ย มันจะต้องเป็นอิสระ จะเอาความคิดแบบนั้นเข้ามาปนกันไม่ได้ วัดวาอารามเก็บเอาไว้ให้ดี เก็บแบบถูกวิธี นี่ไปทำลายของเก่าแล้วไปสร้างของใหม่ขึ้นมาเละเทะ นั่นคือการทำลาย

ดังนั้นมันเป็นหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมที่จะต้องโปรโมทให้คนธรรมดาเข้ามาหาศิลปะให้มากที่สุดเพื่อที่จะได้ลืมสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็กที่ตัวเองรับมา ให้มันหลุดออกไป แต่มันยากมาก คือประสาททางสุนทรีย์มันถูกทำลายหมดแล้ว เมื่อถูกทำลายแล้ว สิ่งดีๆมันรับยาก เกิดความโลภเรื่องวัตถุเข้ามาอีก แต่ศิลปะเป็นเรื่องของจิตใจ ทำให้เกิดปัญญา ถ้าเกิดคุณมีความโลภอย่างอื่นเข้ามาสูงไป คุณก็จะไม่รับแล้ว ความดีทางด้านปัญญา มันรับยาก

เพราะฉะนั้น ประชาชนทั่วไป ผมไม่หวังอะไรมากมาย แต่ก่อนเคยหวังนะ คิดว่าประชาชนน่าจะตื่นตัวได้ แต่พอเราไปอยู่ในเมืองฝรั่งแล้ว เราจะรู้เลยว่าคนไทยเป็นแบบนั้นไม่ได้ คนไทยก็คือคนไทย ฝรั่งมันคือฝรั่ง คนไทยมีส่วนดีก็ต้องยึดถือเอาส่วนดีไว้ แต่เรื่องรสนิยมของคนไทยจะให้เท่าฝรั่งทั่วๆไป โดยรวมๆ มันไม่มีทาง

นิทรรศการอาจจะสามารถดึงคนบางส่วนให้มาสนใจ แล้วไปต่อเนื่องของเขาเองถ้าสนใจจริง แต่เราจะเปลี่ยนคนทั้งประเทศไม่ได้”

นิทรรศการ In Amsterdam with Chavalit Soemprungsuk โดย ชวลิต เสริมปรุงสุข ระหว่างวันที่ 13 กันยายน – 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดําเนิน ถ.ราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ

เปิดนิทรรศการ วันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2556 เวลา17.00 – 19.00 น.

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : วารี น้อยใหญ่ และชวลิต เสริมปรุงสุข





ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW www.astvmanager.com และ เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It