Art Eye View

“ด.ญ. เพ้นท์ฟ้า ชาญชุติวาณิช” ศิลปินรุ่นเยาว์ วัย 7 ขวบ

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ด.ญ. เพ้นท์ฟ้า ชาญชุติวาณิช วัย 7 ขวบ คนนี้ ชีวิตของเธอถูกวาด ให้มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับศิลปะมาตั้งแต่ยังไม่ลืมตาดูโลก โดย คุณพ่อ (ณัฐพร)ของเธอซึ่งเรียนจบมาทางด้านนี้ ผู้มีความเชื่อว่า ศิลปะให้แต่สิ่งดีๆกับชีวิต

แม้ที่ผ่านมาคุณพ่อของเธอจะไม่ได้มีอาชีพเป็นศิลปินอิสระอย่างเต็มตัว แต่ประกอบอาชีพอื่นที่ต้องอิงอาศัยศิลปะ

ดังนั้นทันทีที่คุณพ่อทราบว่า คุณแม่(ราตรี) ของเธอตั้งท้อง ก็ได้ตระเตรียมชื่อที่มีความเกี่ยวข้องกับศิลปะไว้ให้ล่วงหน้า

แม้จะเกิดความผิดพลาดนิดหน่อยที่เพ้นท์ฟ้าไม่ได้เกิดมาเป็นเด็กชาย ดังที่คุณหมอเคยอัลตร้าซาวด์แจ้งเพศไว้ จึงทำให้ไม่มีโอกาสได้ใช้ชื่อว่า 'ด.ช.ดินสอ'

จาก ด.ช.ดินสอ สู่ เด็กหญิงเพ้นท์ฟ้า

“เรื่องชื่อ ค่อนข้างกะทันหัน ตอนอยู่ในท้อง คุณหมออัลตร้าซาวด์บอกว่าเป็นผู้ชาย เราก็เลยตั้งชื่อลูกไว้ว่า 'ดินสอ' พอคลอดออกมาเป็นผู้หญิง ก็เลยต้องหาชื่อใหม่สำหรับเด็กผู้หญิงที่ยังเกี่ยวข้องกับศิลปะ

คำว่า 'พู่กัน' หรือ 'สีน้ำ' และอีกหลายชื่อ เราเห็นว่ามีคนตั้งเยอะแล้ว ไม่อยากให้ลูกชื่อซ้ำกับคนอื่น ในที่สุดจึงมาลงเอยที่ชื่อ เพ้นท์ฟ้า (Paintfa)

แม้ว่าเราจะตั้งความหวังไม่ได้หรอกว่า ลูกจะชอบศิลปะหรือเปล่า แต่คนเป็นพ่อเป็นแม่ ก็เป็นแบบนี้ มักจะตั้งชื่อลูกให้มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตัวเองรู้สึกใกล้ชิดและผูกพัน”

กระนั้นเมื่อแรกที่เพ้นท์ฟ้าลืมตาดูโลก คุณพ่อก็ไม่ได้มีเวลาอยู่ใกล้ชิดกับลูกสาวเท่าใดนัก เนื่องจากต้องเดินทางไปทำงานที่ประเทศดูไบ ด้วยงานที่ยุ่งและระยะทางที่ไกล ทำให้ไม่มีโอกาสกลับมาเยี่ยมบ้านบ่อยครั้งนัก

กระทั่งเพ้นท์ฟ้าอายุ 3 – 4 ขวบ คุณพ่อของเธอได้ตัดสินใจลาออกจากงานที่ให้รายได้ดี แล้วเดินทางกลับมาเมืองไทย ด้วยมีบางสัญญาณมาเตือนให้ทราบว่า คุณพ่อคนนี้ชักจะเหินห่างกับลูกสาวมากไปแล้ว

“ตอนเค้าเกิด จริงๆบริษัทอนุญาตให้พนักงานลางานกลับมาดูแลลูกได้ แต่ผมไปทำงานในช่วงที่บริษัทกำลังยุ่ง กว่าจะได้กลับมาเมืองไทยครั้งแรก ลูกก็สองขวบแล้ว

ซึ่งเค้ายังพูดไม่ได้หรอก แล้วพอกลับมาอีกทีเขาก็สามขวบ และ เค้าแสดงออกให้เราเห็นว่า ไม่รู้ว่าคนไหนเป็นพ่อ และไม่ยอมให้เราจับ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราคิด และเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เราต้องตัดสินใจลาออก โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะกลับมาทำอะไร เรียกว่าตกงานเลยแล้วกัน

ตอนทำงานอยู่ที่นู่นเราก็คิดถึงเรื่องนี้อยู่ตลอดนะ ขณะที่ ภรรยาเองก็จะคอยถามเสมอว่าจะเลือกงานหรือว่าครอบครัว จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะทำงานต่อไปได้หรือเปล่า ก็เลยตัดสินใจลาออกมา”

ตบแปะทำไม?

แต่อีกไม่นานคุณพ่อคนนี้ก็ต้องพบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อลูกอีกครั้ง เมื่อเพ้นท์ฟ้าในวัย ที่ต้องถูกส่งเข้าเรียนระดับอนุบาล ไม่สามารถใช้ชีวิตให้เป็นไปตามแบบแผนที่ทางโรงเรียนกำหนด จนคุณพ่อและคุณแม่ถูกครูใหญ่เรียกไปพบหลายครั้ง

“ค่านิยมของครอบครัวผม ก็เหมือนสังคมเมืองทั่วไป ต้องส่งลูกเรียนในโรงเรียนมีระบบรองรับ และยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี นั่นคือประมาณ 4 ขวบ แต่น้องเพ้นท์เข้าเรียนตอน 4 ขวบครึ่ง เนื่องจากผมยังไม่พร้อม เพราะเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ

ใหม่ๆ ไปโรงเรียนก็ไม่มีปัญหานะ เพราะน้องเพ้นท์เป็นเด็กที่ไม่ซน จะชอบสังเกต และดูนิ่งๆ บางครั้งทำให้ครูรู้สึกว่า น้องไม่ค่อยให้ความร่วมมือ อย่างเวลาครูให้ตบแปะ ร้องเพลงพร้อมกัน น้องจะไม่ค่อยทำ เพราะน้องบอกว่า… งง ทำไมต้องทำ และครูไม่อธิบาย

น้องเพ้นท์ถูกฝึกมาตั้งแต่เล็กๆ เรื่องการฟังและอธิบายว่าทำ ไมต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ นับตั้งแต่เรื่อง การอาบน้ำ การแปรงฟัน การนอน เราจะคุยกัน และให้เหตุผล เขาก็เลยเป็นเด็กที่จะฟัง เหตุผลก่อนแล้วจึงปฏิบัติ

แต่พอไปอยู่ในระบบ ที่บางครั้งไม่มีใครอธิบาย เขาก็เลยสะสมความไม่เข้าใจ กระทั่งกลางเทอม เริ่มมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น ไม่ให้ความร่วมมือเรื่องกิจกรรมของโรงเรียน หรือครูเริ่มบอกว่าน้องดื้อ เช่น เวลานอนกลางวันชอบคุย ต้องไล่ให้ไปนอนนอกห้อง จะเรียกว่าขู่หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่น้องเพ้นท์ทำจริง เอาที่นอนออกมานอนนอกห้อง ครูก็เลยเดือดร้อน บอกว่าไม่ได้นะ ให้เอาที่นอนกลับไปนอนในห้อง

ครูเห็นว่าเด็กคนนี้น่าจะมีปัญหา จึงเรียกผู้ปกครองไปคุย ซึ่งมีการคุยถึง 3 ครั้ง และครั้งสุดท้าย ผมไปเอง เพราะส่วนหนึ่งผมรับไม่ได้กับวิธีสอนการจับดินสอ ในลักษณะที่โรงเรียนสอนให้จับเหมือนกันหมด

น้องเพ้นท์ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เล็กๆ ก่อนเข้าเรียน ข้อมือเขาจะฟรีมาก สามารถวาดวงกลมได้ แต่พอต้องจับ ตามที่โรงเรียนสอน น้องวาดไม่ได้ ตัวผมเองก็เลยเดือดร้อน

เพราะเวลาที่เราเห็นว่ามีวิธีการจับดินสอและเขียนหนังสือในแบบที่ดีกว่าแล้วเอามาสอนเขาที่บ้าน เขาจะไม่ฟัง แต่เขาจะเชื่อครู ขณะที่เขาเองก็ทำไม่ได้ด้วย ก็เลยเป็นที่มาว่าผมต้องไป Fight กับครูเรื่องเราไม่อยากให้ลูกเราต้องถูกเกณฑ์ให้ทำตามวิธีการต่างๆ โดยที่โรงเรียนเป็นผู้กำหนดทั้งหมด อยากจะให้มีการยืดหยุ่น ถึงขั้นที่ว่า ผมไม่อยากให้ลูกผมต้องได้มาตรฐานเหมือนกับเด็กทั่วไป เช่น การบ้าน การเขียนหนังสือสวย ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ผ่อนผันกันได้ไง

ครูคงจะมองเห็นว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ มีความคิดในลักษณะที่อยากให้โรงเรียนอ่อนมาหา ซึ่งครูประจำชั้นไม่มีอำนาจ แล้วก็เห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่โรงเรียนจะอ่อนเข้าหาเด็ก ผมก็เลยถูกครูใหญ่เรียกเข้าไปคุย เลยเป็นที่มาของการที่ครูใหญ่แนะนำให้เราเลี้ยงลูกเอง”

จากรั้วโรงเรียน สู่ เด็กบ้านเรียน

หัวใจของคนเป็นพ่อสั่นคลอนไปไม่น้อย เพราะคำแนะนำของครูใหญ่ในเวลานั้น สำหรับพ่อผู้ไม่เคยสัมผัสกับคำว่า Home School มาก่อน ทำให้พาลรู้สึกไปเองว่า ลูกของตนถูกไล่ออกจากโรงเรียน

“ ผมคิดว่าโรงเรียนไล่ออก เพราะผมไม่มีความรู้เรื่อง Home School เลย เวิ้งว้างมาก ว่าควรจะต้องเปลี่ยนโรงเรียน หรือเลี้ยงเองตามที่ครูใหญ่แนะนำ จนกระทั่ง 7 ขวบ จึงค่อยเข้าโรงเรียน ซึ่งกรณีหลังนี้เป็นสิ่งที่ภรรยาผมเชื่อว่าถูกต้องมาตลอด เพราะก่อนที่เขาจะเข้าโรงเรียนเคยมีแพทย์ท่านหนึ่งซึ่งเป็นนักจิตวิทยา เคยให้คำแนะนำว่า พ่อแม่ควรจะเลี้ยงลูกให้ได้สัก 7 ขวบก่อน แล้วค่อยส่งเข้าโรงเรียน

แต่ตอนที่ถูกแนะนำจากครูใหญ่ ผมรู้สึกเศร้ามาก ที่ลูกไม่ได้เรียนในโรงเรียนตามปกติเหมือนเด็กทั่วไป แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป

แต่ครูใหญ่ก็ได้ไขปริศนาข้อนึงว่า พ่อแม่สามารถจัดการศึกษาเองได้ ตาม พรบ. ปี 2542 ทำให้เราเห็นว่า ครูใหญ่มีความจริงใจ เพราะยกหลักการที่เชื่อถือได้มาพูด เราก็เริ่มฟัง แล้วถามว่าจะสอนอย่างไร

ครูใหญ่จึงหยิบส้มที่โต๊ะมาให้ดู แล้วพูดว่า คุณพ่อดูนะ ส้มมันสอนได้ทุกวิชา ตั้งแต่มันชื่อว่าส้ม ภายนอกมีสีแบบนี้ พอแกะออกมาเนื้อมีความชุ่มฉ่ำ ข้างในมีเมล็ด ฯลฯ จากนั้น เราจะต่อยอดไปสู่วิชาอะไรก็ได้ แค่เรื่องส้มเรื่องเดียว ผมก็เลยเข้าใจ แล้วไปหาข้อมูลเพิ่มทางอินเตอร์เน็ท

จนไปเจอ สมาคมบ้านเรียนไทย ที่ทำให้เรารู้สึกว่าลูกเราไม่เวิ้งว้าง เพราะว่าสมาคมฯ เป็นตัวแทนในการออกกฎหมาย เพื่อให้ลูกเราได้สิทธิ เหมือนกับเด็กปกติ

ผมก็เลยได้รับคำแนะนำเรื่อง การเขียนแผนการศึกษา โดย ครอบครัว ตามความสามารถที่ครอบครัวรู้สึกว่า ลูกเราน่าจะเรียนได้ ตามธรรมชาติของเขา ซึ่งสำหรับน้องเพ้นท์ผมเป็นคนเขียนเอง เริ่มเขียนตอนเขา 6 ขวบ แล้วก็ยื่นเสนอให้กับคณะกรรมการ การศึกษาของรัฐ โดยมี สมาคมบ้านเรียนไทย เป็นพี่เลี้ยง

ตอน 6ขวบ น้องเพ้นท์เริ่มมีความชัดเจนแล้วว่า เขาจะมาทางด้านศิลปะ ผมจึงเขียนแผนการศึกษาให้เขา โดยใช้ศิลปะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้วิชาอื่นๆ เมื่อทางเขตยอมรับ เราก็เลยหายห่วง”

เด็กหญิงที่พ่อวาด ขอเรียนศิลปะทั้งวัน

แววทางศิลปะของเพ้นท์ฟ้าที่เห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งก็มีที่มาจากการส่งเสริมของคุณพ่อมาโดยตลอดนั่นเอง ทั้งในยามที่อยู่ที่บ้านและที่โรงเรียน

“ตัวผมเองเรียนจบมาทางสาขาจิตรกรรม( คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร) แม้จบมาไม่ได้ทำงานศิลปะเต็มตัว แต่อาชีพที่ทำ ตอนที่อยู่ดูไบ 6 ปี ก็ยังเกี่ยวข้องกับงานศิลปะอยู่

งานศิลปะมันผูกพันเรา ทั้งในเรื่องการดำรงชีพ และเป็นกิจกรรมที่เราทำได้โดยไม่รู้เบื่อ อีกทั้งเราก็มีความเชื่อส่วนนึงว่า ศิลปะสร้างให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ดีขึ้น ดังนั้น หากเป็นคนที่เรารู้จัก หรือคนที่เราเกี่ยวข้อง เขารักในงานศิลปะ จึงเป็นเรื่องที่เราอยากส่งเสริม”

และยิ่งเมื่อเป็นทายาทด้วยแล้ว หากเลือกได้ จึงไม่แปลกอะไรที่คนเป็นพ่อจะปูเส้นทางนี้ให้เป็นการเฉพาะ

“ตอนที่ออกจากโรงเรียนใหม่ๆ น้องเพ้นท์ก็เรียนรู้เหมือนเด็กปกติ เรียนทุกวิชานั่นแหล่ะ ก็ซื้อแบบฝึกหัดจากร้านขายหนังสือ มาสอนให้เขาเรียนบวกลบเลข วิธีการพูดการเขียนภาษาอังกฤษ การคัดลายมือ มีทุกวิชา เรียนไปตามตารางสอนที่เราเขียนให้ ว่า เช้ามาทำอะไร บ่ายมาทำอะไร ทำอยู่เป็นปี จาก 4ขวบครึ่ง ถึง 5 ขวบครึ่ง ปีนึงเต็มๆ

พอห้าขวบครึ่ง น้องเพ้นท์เริ่มเบื่อวิชาการ สามารถบอกได้ว่าเค้าชอบหรือไม่ชอบวิชาอะไร วิชาแรกที่เค้ามาบอกว่าไม่ชอบเลยคือ คัดลายมือ แล้วต่อมา เค้าก็มาบอกเลยว่า เค้าไม่อยากเรียนวิชาอื่นแล้ว เค้าอยากเรียนวิชาศิลปะอย่างเดียวได้ไม๊ เราก็เลยแกล้งถามเค้ากลับไปว่า ถ้าจะเรียนศิลปะอย่างเดียวจะเรียนแบบไหน

เค้าก็บอกว่า ไม่เห็นยาก ก็เรียนศิลปะทั้งวัน (หัวเราะ) ก็เลยเป็นที่มาของการให้อยู่กับศิลปะทั้งวัน ปรากฏว่าอยู่ได้ ถ้านับชั่วโมงต่อเนื่องคือ 6 ชั่วโมง อยู่ได้ ถ้าเป็นวิชาอื่นก็คือแป๊ปๆ หาวิธีชิ่งไปชิ่งมา อู้ไปอู้มา แต่ถ้าเป็นศิลปะอยู่ได้

แรกๆเราก็เลยเริ่มจากการไม่ได้ไปกำหนดอะไรมาก ให้เขาวาดรูปจากการ์ตูนที่เขาดู เค้าอยากจะทำอะไรก็ทำไป”


ตระเวนชมงานศิลป์กับคุณพ่อ

กระทั่งวันหนึ่ง ด.ญ.เพ้นท์ฟ้า เริ่มเป็นที่คุ้นตาของหลายๆคนในนิทรรศการศิลปะ ทั้งในฐานะผู้ชมและแขกรับเชิญให้ไปสร้างสีสัน

“ด้วยความที่เราเรียนศิลปะมีเพื่อนเป็นศิลปิน ก็เลยเริ่มพาเขาออกนอกสถานที่ เพื่อให้ได้ไปเจอศิลปิน ไปเห็นภาพเขียน จนเขาเริ่มบอกว่า ภาพเขียนนี่สวยเนาะ และเริ่มอยากรู้ว่าใครวาด ปรากฏว่าไอ้คนที่วาดก็เพื่อนเรา ทำให้ เราต้องคอยเล่าให้ฟัง แล้วต่อมาเค้าก็มาบอกอีกว่า ปาป๊า เป็นศิลปินดีจังเลยเนาะ”

เมื่อ ART EYE VIEW หันไปมองสาวน้อยผู้เป็นเจ้าของต้นเรื่อง ซึ่งกำลังวาดภาพไปพลาง ขณะที่หูก็ตั้งใจฟังเรื่องราวของตัวเองผ่านคุณพ่อไปพลาง แล้วตั้งคำถามไปว่า “ใช่ไม๊ลูก” เพ้นท์ฟ้ารีบพยักหน้าตอบทันใด

และเมื่อถูกถามอีกว่า “เรียนศิลปะ สนุกกว่าเรียนวิชาอื่นอย่างไรคะ” เพ้นท์ฟ้าตอบว่า

“สนุกกว่าวิชาอื่นตรงที่ว่า วิชาอื่นสำหรับหนูมันมีความรู้น้อย และหนูคิดว่าศิลปะมันดีที่สุดแล้ว”

ก่อนที่คุณพ่อจะเล่าให้ฟังต่อ ถึงปฏิกิริยาของลูกสาว เวลาที่ไปชมนิทรรศการศิลปะตามที่ต่างๆ

“เค้าสนใจมาก ไม่ใช่ว่าทุกชิ้นนะ แต่มันจะมีบางชิ้นที่เค้ามองแล้วมองอีก ใหม่ๆก็ไม่สามารถบอกได้หรอก ว่าทำไมถึงชอบมอง หรือมีความหมายอะไร แต่พอหลังจากที่เขาได้คุยกับศิลปินบ้าง ก็เริ่มพูดถึงงาน หรือวิจารณ์งานเป็น

ผมจำได้ว่า เคยอัดวิดีโออันนึงไว้ น้องเพ้นท์เขาวิจารณ์ภาพเขียนพระพุทธเจ้า ภาพไตรภูมิ ผลงานของศิลปินคนหนึ่ง ซึ่งผมก็สงสัยว่า ทำไมเขาสามารถที่จะบอกได้ว่า อันนี้นะคือคนที่ตายไปแล้ว อันนี้นะคือคนที่ตกนรก แล้วอันนี้นะ ถ้าทำความดีจะไปเจอพระพุทธเจ้า และอันนี้นะคือ พระพุทธเจ้าที่ทำบารมีมากๆ จะได้อยู่สูงกว่าพระพุทธเจ้าองค์อื่น

บางชิ้นก็จะเป็นงานศิลปะประเภท Abstract (นามธรรม) เค้าดูแล้วสามารถมาคุยให้ฟังได้ว่า เป็นรูปนั้นรูปนี้ คือเซ้นต์การรับรู้ของเค้าดี เราก็เลยรู้สึกว่าลูกเราคงจะมาทางด้านศิลปะนี่แหล่ะ แต่จะเป็นศิลปะประเภทไหนเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะงานออกแบบ ภาพยนตร์ ฯลฯ เราลองให้เค้าได้สัมผัสหลายๆอย่าง เวลาให้เค้าเล่น เราก็ปล่อยให้เค้าเล่นตัดกระดาษมั่ง วาดการ์ตูนมั่ง ทำหุ่นมือมั่ง แต่ให้อยู่ในขอบข่ายของศิลปะ”

โดยที่ผ่านมาหากคุณพ่อพบว่ามีกิจกรรมทางด้านศิลปะ กิจกรรมใด จัดขึ้นไม่ไกลจากรัศมีของบ้าน คุณพ่อมักจะไม่พลาดพาลูกสาวไปร่วมกิจกรรมเสมอ ดังเช่นที่มักมา Update ความเคลื่อนไหวให้ได้รับรู้ผ่าน Paintfa Chan และ กลุ่ม Art Exhibit by paintfa ทาง Facebook

“ที่ต้องพาเค้าไปบ่อยๆ เพราะเราเชื่อว่าเด็กจะเปลี่ยนสถานะจากการชอบวาดรูปไปชอบอย่างอื่นได้ ถ้าเราไม่สร้างสถานการณ์ให้เค้าได้ซึมซับ เค้าเปลี่ยนแน่นอน ผมจึงรู้สึกว่า การได้พาเค้าไปในสถานที่จะทำให้เค้าอยู่กับสิ่งนั้นได้นาน มันก็จะทำให้ทักษะ หรือความชอบของเค้า มันเติบโต

จะมีเพื่อนบางคนถามว่า ถ้าลูกโตไปเค้าเปลี่ยน เราจะเสียใจไม๊ เปลี่ยนไปเริ่มต้นใหม่อะไรซักอย่าง

เราบอกว่าไม่เสียใจ เพราะนั่นอาจหมายถึงเราทำหน้าที่ไม่ดีพอ แต่ตราบใดที่เรามั่นใจว่า เรายังทำหน้าที่ได้ดี ลูกเราไม่เปลี่ยนหรอก เช่น ครั้งล่าสุดที่เราพาเค้าไป ร่วมนิทรรศการศิลปะเกี่ยวกับในหลวงที่ โอพี การ์เด้นท์ มีแต่คนบอกว่าเค้าเก่ง น่ารัก ไปเจอดารา เค้าก็คุยได้ กับไฮโซ เค้าก็คุยได้ จูงมือกันมาวาดรูป เค้ามั่นใจ เพราะเค้ารู้ว่าสิ่งที่เค้าทำ มันทำให้เค้าภูมิใจ”

เรียนรู้วิชาอื่นผ่านศิลปะ

คุณพ่อได้อธิบายให้เห็นภาพว่า แม้ที่ผ่านมาจะเลือกวิชาศิลปะให้ลูกเรียนเป็นพื้นฐาน แต่ลูกสาวก็สามารถเรียนรู้วิชาอื่นๆไปด้วยได้จริง

“ ในตัวศิลปะเอง มันมีความรู้พื้นฐานของวิชาอื่นๆอยู่ในนั้น เราก็จะพยายามเชื่อมโยง เพื่อให้เค้าเกิดความเข้าใจว่า ในตัวศิลปะของมันเพียวๆ มันมีเนื้อหาอื่นประกอบอยู่ เพื่อให้เค้าตะหนักรู้ว่า ศิลปะมันมีคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ คัดลายมือ อยู่นะ เช่น ลายเซ็น บนภาพเขียน ก็เป็นวิชาคัดลายมือ หรือเวลาอ่านนิทาน บางทีเขาวาดรูปจากนิทานก่อนนอน ซึ่งเขาก็ได้เรื่องของภาษาไปด้วย

คณิตศาสตร์เองก็มีอยู่ในเรื่องของตัวกระดาษที่เขาใช้วาดรูป อย่าง A4 ความกว้างเท่าไหร่ ความยาวเท่าไหร่ หรือมันเล็กกว่า A3 เล็กกว่า A2 อะไรอย่างนี้

และเวลาเขานั่งกับโต๊ะ เราก็จะเอาตลับเมตรให้เค้าวัด เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เป็น Stepการเรียนรู้ เหมือนแบบฝึกหัด แต่จะว่ากันไปตามความจำเป็นในการเอามาใช้กับศิลปะ

หรืออย่างเวลา เค้าดู Youtube สอนวาดรูปโดยใช้สี Oil pastel เค้าก็จะได้ฝึกภาษาอังกฤษ เพราะใน Youtube ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษ แรกๆก็ยังจะถามพ่ออยู่ว่า มันแปลว่าอะไร เราก็มีหน้าที่ในการที่จะบอกเค้า แล้วเค้าก็ซึมซับเข้าใจได้เองในที่สุด อย่างมี Youtube อันนึง เค้าฟังจนกระทั่งเค้าสามารถพูดสอนเองได้เลย เช่น วิธีสอนการเขียนแอปเปิ้ล เค้าเขียนไปเค้าสอนไปเป็นภาษาอังกฤษ สอนตั้งแต่วิธีการร่างภาพ ลงสี ตอนนั้นเราก็ทึ่งเนาะ ว่าเค้าไปแอบเปิด Youtube ดูตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็เลยอัดวิดีโอเก็บไว้

มันเลยเป็นที่มาของความเชื่อของเราที่ว่า เด็กเนี่ยนะ เขามีอะไรบางอย่างที่น่าแปลกใจ ไอ้การเรียนรู้ การซึมซับของเค้าจากสิ่งที่เห็น จากสิ่งที่ฟังเนี่ย แล้วอยู่ๆมาวันนึงเค้าแสดงออกมาเอง เหมือนเด็กหัดพูดอย่างนี้ บางทีเค้าพูดได้โดยที่ก่อนหน้านี้เค้าสะสมการเรียนรู้มาก่อน ดังนั้นการ เลี้ยงลูกเองของเรา มันทำให้เราได้เห็น ได้ประทับใจกับพัฒนาการหลายอย่าง”

นักเรียนสารพัดช่าง วัย 7 ขวบ

เวลานี้เพ้นท์ฟ้า วัย 7 ขวบ ยังเขยิบไปเรียนศิลปะเพิ่มเติมใน ‘วิชาจิตรกรรมเบื้องต้น’ ที่ ‘วิทยาลัยสารพัดช่างธนบุรี’ ในทุกวันจันทร์ -ศุกร์ อีกด้วย ทั้งที่ผู้มีสิทธิสามารถเรียนได้ ต้องมีอายุ 15 ปี ขึ้นไป แต่เพ้นท์ฟ้าถือเป็นกรณีพิเศษ เพราะก่อนหน้านี้เธอทำคะแนนไว้ดี จึงสามารถผ่านใจเจ้าหน้าที่ผู้รับสมัครไปได้ไม่ยาก แม้ว่าอายุจะไม่ผ่าน

“มันอยู่ในช่วงที่เค้าเห็นว่าเราเป็นครูคนเดียว แล้วเราเองก็เริ่มรู้สึกว่า ลูกเริ่มเบื่อกับครูคนนี้ เราเห็นจากการที่เวลาเราสั่งงาน หรือสอนเค้า เหมือนเค้าไม่อยากจะทำ ถ้าเป็นแต่ก่อนจะให้ความร่วมมือ พอเป็นแบบนี้ ผมก็เลยต้องพาเขาไปเรียนที่สารพัดช่าง เนื่องจากเค้าบอกว่าเค้าอยากจะเรียนที่นี่

หลักๆเราอยากให้เค้าได้เริ่มเรียนรู้เรื่องเวลาและหน้าที่ เวลาของการไปโรงเรียน และหน้าที่เมื่อเราต้องไปโรงเรียน เขาจะได้ฝึกทำเหมือนอย่างที่นักเรียนคนอื่นเขาทำ เพราะเวลาอยู่กับบ้าน บางทีมันยืดหยุ่นเกินไป ผมก็เลยต้องเคร่งครัดในบางครั้ง

แล้วเราเหนื่อย ที่ตอนหลังเราจับได้ว่าลูกไม่ให้ความร่วมมือ ก็เลยหาเรื่องพาเค้าไปเที่ยวก่อน เพื่อจะสอบอารมณ์เค้าว่า จะเรียนไม๊ที่นี่

แต่จริงๆเราอยากสอนให้เค้าเข้าสังคม ตรงต่อเวลา เวลาเข้าไปเรียนแล้วคุยไม่ได้นะ ต้องตั้งใจเรียน อีกอย่างถ้าเป็นครูคนอื่น จะมีหลักวิธีคิด วิธีสอน ไม่เหมือนเราหรอก เค้าก็จะได้รู้ว่า เรียนกับคนอื่นและเรียนกับพ่อ มันแตกต่าง และได้วิธีการวาดรูปแบบใหม่ๆมา จากการที่เค้าได้ไปสัมผัสวิธีการสอนของครูคนอื่นๆ เช่น การระบายสีไปทางเดียวกันอย่างนี้ เค้าก็ได้มา หรือการที่เค้าเป็นคนที่ค่อยๆประดิดประดอย มีความเนี๊ยบ วาดเส้นรอบนอกเนียน ซึ่งแต่ก่อนไม่เป็นแบบนั้น สิ่งที่เค้าได้มา มันเป็นผลดีหรือไม่ดี เราไม่คิดมาก แต่ เราคิดว่าลูกเราได้ประสบการณ์ใหม่ๆ

ก็ตลกนะ เพราะสารพัดช่าง เขาจะรับคนเข้าเรียนตอนอายุ 15ปี แต่ว่าเจ้าหน้าที่ทะเบียน เขาเคยมาจัดกิจกรรมเกี่ยวกับงานหัตถกรรม ในชุมชนใกล้ๆบ้าน แล้วน้องเพ้นท์เค้าก็ไปร่วมกิจกรรม 7 วัน ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งบ่าย เค้าอยู่ได้ ทำวิชาเกี่ยวกับงานหัตถกรรม ทั้งหมด 8 อย่าง ทำขนม ร้อยลูกปัด ร้อยสร้อย ปักครอสติส พับริบบิ้น ฯลฯ เจ้าหน้าที่เค้าเลยได้เห็นว่าเด็กคนนี้สมาธิดี จึงทำให้การเข้าไปเรียนสารพัดช่างก่อนเกณฑ์ไม่เป็นปัญหา เพราะว่าเด็กวัยนี้ โดยปกติแล้วไปเรียนไม่ได้หรอก เดี๋ยวจะไปซน ไปกวนคนอื่นเค้า”


ศิลปินอายุน้อยสุด ของห้องสมุดเนลสันเฮย์

หลังจากที่ไปเป็นแขกในนิทรรศการศิลปะของศิลปินรุ่นคุณน้า รุ่นคุณพ่อ ไปจนถึงรุ่นคุณลุงและรุ่นคุณปู่มาเยอะแยะ และไปเรียนรู้ศิลปะกับครูคนอื่นๆเพิ่มเติม นอกเหนือจากเรียนอยู่ที่บ้านกับคุณพ่อ

ล่าสุด เพ้นท์ฟ้าได้มีนิทรรศการแสดงผลงานของตัวเอง และถือเป็นศิลปินอายุน้อยสุดที่เคยมีผลงานมาจัดแสดง ณ ผนังคาเฟ่ ภายในอาณาบริเวณอันร่มรื่น ของ ห้องสมุดเนลสันเฮย์ ถ.สุรวงศ์ จากที่เมื่อก่อนมักจะแวะเวียนไปชมนิทรรศการศิลปะและไปหาหนังสืออ่านกับคุณพ่อ อยู่บ่อยๆ

และการแสดงงานครั้งแรกของเพ้นท์ฟ้าในครั้งนี้ ทั้งคุณพ่อและคุณแม่บอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ การแสดงงานแบบศิลปิน

“นิทรรศการครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะความต้องการของเค้า และห้องสมุดเนลสันเฮย์ หนึ่งอยู่ใกล้บ้าน ด้วย และเป็นความคุ้นชินของเค้าที่เราเคยพามาดูนิทรรศการศิลปะบ่อยๆ เพราะที่นี่มีงานศิลปะหมุนเวียนมาแสดงทุกเดือน เค้าก็เลยประทับใจ และบอกว่าอยากแสดงงานที่นี่ ซึ่งบอกมาตั้งแต่เมื่อ 5- 6 เดือนที่แล้ว

จริงๆแล้วที่นี่ นอกจากตรงคาเฟ่ ข้างในห้องสมุดก็ยังมีห้องครึ่งวงกลมสำหรับแสดงงานด้วย แบ่งเป็น 2 โซน แต่กว่าจะมาแสดงงานที่นี่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีขั้นตอน เพราะว่ามันเป็นเครดิตของที่นี่ด้วย ตอนแรกที่นำเสนอไปเขาก็เฉยๆนะ เพราะอาจจะยังไม่เชื่อว่าตัวอย่างผลงานที่ส่งไปให้ดูคือฝีมือเด็ก 7 ขวบ เราก็เลยให้ Facebook ของน้องไป พอตอนหลังเราโทรไปอีกที เค้าก็ตอบรับ

พอได้มาแสดงจริง เราก็สัมผัสได้ว่า เจ้าหน้าที่เค้าก็ดีใจนะ เพราะว่ามันเป็นครั้งแรกที่เด็ก 7 ขวบ มาแสดงงานที่นี่ ตอนพิธีเปิดนิทรรศการ ภัณฑารักษ์ (Curator)ก็ชม เพราะว่าพิธีเปิดน่ารักมาก ทำให้บรรยากาศของเนลสันเฮย์มันพิเศษ มีไวโอลิน มาเล่น แล้วมี คุณมีชัย วีระไวทยะ มาเป็นประธาน มีสมาคมบ้านเรียน มาทำกิจกรรม

หลักๆวันเปิดนิทรรศการ พื้นที่ตรงสนามหญ้าหน้าคาเฟ่และห้องสมุดนี้จะเป็นนิทรรศการ การเรียนรู้ของเด็กบ้านเรียนไทย มีการให้ข้อมูลสำหรับผู้ปกครองที่ต้องการเลี้ยงลูกแบบ Home School และเป็นวันที่เด็กๆภายใต้สมาคมบ้านเรียนไทย มารวมตัวกัน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ลูก รวมตัวกันในวันนั้นแหล่ะ เด็กๆเยอะแยะเลย”

และที่สำคัญนอกจากผลงานภาพวาดอื่นๆที่จัดแสดงให้ชมบนผนังคาเฟ่ วันเปิดนิทรรศการยังมีความพิเศษตรงที่ เพ้นท์ฟ้าได้นำภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เธอเป็นคนวาดเอง มาจัดแสดงด้วย
กล่าวเปิดนิทรรศการพร้อมคุณพ่อ

“อยากให้คนมาดูงานหนูเยอะๆ และหนูก็ดีใจด้วย”

เพ้นท์ฟ้าเอ่ยขึ้นก่อนจะพักมือจากภาพที่เพิ่งวาดเสร็จ แล้วทำหน้าที่เจ้าของนิทรรศการ นำชมภาพวาดฝีมือของตัวเองที่ติดอยู่บนผนัง ซึ่งเป็นภาพผลงานบางส่วน ที่เธอวาดในช่วงอายุ 6-7 ขวบ ประกอบด้วยภาพวาดการ์ตูน ภาพสัตว์เลี้ยง ภาพผี ภาพรีโพรดักส์ผลงานของศิลปินชื่อดัง ภาพวาดใบหน้าตัวเอง และภาพไปโรงเรียนวันสุดท้ายของเธอ ก่อนจะกลายมาเป็นเด็ก Home School ซึ่งภาพทั้งหมดวาดด้วยสี Oil Pastel หรือ สีเทียน ที่เธอชอบใช้มากเป็นพิเศษ ด้วยเหตุผลที่ว่า “เวลาเขียนมันลื่นดี”

คุณพ่อยกตัวอย่างที่มาก่อนจะมาเป็นภาพวาดผีหลายๆภาพของลูกสาวว่า

“วาดผีเนี่ยเ เขามาเล่าให้ฟังในช่วงคั่นโฆษณาของตอนที่ทำงานศิลปะอยู่ว่า เขาหลับแล้วเขาเห็นวิญญาณ มันเป็นประสบการณ์ของเขา เพราะตอนนั้นจะสนใจดูหนังผีบ่อยมาก และวาดโดยใช้ภาพเขียนของศิลปินต่างประเทศเป็นแนวทาง” คุณพ่อเล่า

ก่อนที่เพ้นท์ฟ้าจะอธิบายต่อว่า “สมมุตินะว่าเราตายไปแล้ว วิญญาณมันออกจากตัวเรา พอเราฝันถึงเรื่องอะไรที่มันเป็นผีบ้าง สิ่งที่อยู่ในหัวมันก็ออกมา หนูก็เอาเรื่องเหล่านั้นมาสร้างเป็นศิลปะ”

ขณะที่ภาพเหมือนใบหน้าตัวเองที่ถูกใช้เป็นภาพประชาสัมพันธ์นิทรรศการ ภาพต้นแบบนั้นเป็นภาพถ่ายขณะที่เพ้นท์ฟ้าใช้ไฟฉายส่องหน้าตัวเองเพื่อทำหน้าผีหลอกพ่อ
อย่าลืมมาให้กำลังใจหนูด้วยนะคะ
ชุดที่คุณแม่เย็บให้ศิลปินวัย 7 ขวบ ใส่ไปวันเปิดนิทรรศการแสดงผลงานของตัวเองครั้งแรก
ฐานเรียนรู้ต่อไป เรียนตัดเย็บเสื้อผ้า

วันที่ 25 ธันวาคมนี้ จะเป็นวันที่เพ้นท์ฟ้ารับประกาศนียบัตร จากวิทยาลัยสารพัดช่างธนบุรี หลังจากเก็บชั่วโมงเรียนมาจนได้ครบ 150 คาบ ขณะที่นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกของเธอจะเปิดแสดงเป็นวันสุดท้ายในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2557

จากนั้นเพ้นท์ฟ้าบอกว่าจะขอหยุดพักชั่วคราวแต่ไม่ยาวนาน เพราะมีสิ่งใหม่ที่เธอสนใจเรียนรู้รออยู่นั่นเอง

“ต่อไปนี้ก็พักเดือนนึง แล้วก็ทำงานต่อ เพราะถ้าเราไม่ทำงานต่อ มันก็จะเหมือนเราไม่ก้าวต่อไป เราต้องก้าวต่อไป ถ้าย่ำอยู่กับที่ มันเหมือนคนนอนกิน”

โปรดเชื่อเถิดว่านี่คือประโยคคำตอบของเด็กหญิงวัย 7 ขวบจริงๆ ขณะที่คุณพ่อเสริมว่า

“เราต้องลองสัมผัสกับเขาดู เขาคิดได้ขนาดนี้จริงๆ เวลาเราเลี้ยงเค้า เราจะพยายามแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน เป็นไปได้มากเลยที่เด็กจะตั้งคำถามเยอะมาก แต่คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องไม่ตัดบท ต้องอดทนกับการอธิบาย แล้วคำถามมันจะน้อยลงเรื่อยๆ วันนึงเค้าก็จะคิดเองได้ พูดเองได้

ตอน 5 ขวบ นี่เหนื่อยมาก เพราะเขาจะเป็นเด็กจำไมมาก แต่ด้วยความที่เราตอบคำถาม จากวันนั้นมาวันนี้ คำถามน้อยมาก เค้าช่วยเหลือตัวเองได้เยอะมาก”

เมื่อถามคุณพ่อว่า แล้วเมื่อไหร่จะให้น้องหยุดเรียนแบบ Home School แล้วกลับเข้าสู่รั้วโรงเรียนดังเช่นเด็กปกติ คุณพ่อตอบว่า “จนกว่าเค้าจะบอกเองว่าเค้าอยากไปเรียนในระบบ”

และเมื่อถามเพ้นท์ฟ้าบ้างว่า หนูมั่นใจว่าอยากจะเป็นศิลปินแน่ๆแล้วหรือ เธอตอบกลับมาสั้นๆว่า

“มั่นใจแล้ว”

และเมื่อถามว่า “ไม่ชอบอาชีพอื่นเลยหรือลูก”

เพ้นท์ฟ้าตอบว่า “ก็ชอบอาชีพอื่นอีกอาชีพเดียว คือตัดเย็บเสื้อผ้า”

ซึ่งที่มาของความสนใจในอีกอาชีพนี้ก็ไม่ใช่ใครไหน แต่เป็นคนใกล้ตัวคือคุณแม่นั่นเอง

“คือคุณแม่เรียนตัดเย็บเสื้อผ้ามาก่อนแต่งงาน และก็เปิดร้าน พอแต่งงานก็ปิดไป มาทำงานกับคุณพ่อ เขาเห็นแม่เย็บนั่นเย็บนี่ ตาประสาเด็กเขาเห็นแม่ทำ เขาก็ชอบ แล้วอยากทำ

เค้าบอกว่า พอแสดงงานครั้งนี้เสร็จ เค้าจะเรียนตัดเย็บเสื้อผ้า แต่แม่มองว่า เค้ายังเด็กอยู่ อาจจะเริ่มวิธีง่ายๆก่อน เพราะการเย็บเสื้อผ้า มันต้องมีการอยู่กับเครื่องจักร แต่เดี๋ยวนี้มันก็มีจักรคอมพิวเตอร์นะ มันจะง่าย แค่กดปุ่ม มันก็หยุดแล้ว ทุกการเรียนรู้ของเค้า ไม่ว่าจะออกมาดีหรือไม่ดี เราเป็นพ่อแม่ เราก็สนับสนุนเค้า

เมื่อเป็นความต้องการของเค้า เสร็จจากแสดงงานครั้งนี้ เราจึงมีแผนจะให้เค้าเรียน เพราะพ่อแม่ เมื่อสัญญากับเค้าแล้ว เราต้องทำเป็นตัวอย่างว่าเราสอนเค้าจริง เค้าวางแผนเอง เราก็มีหน้าที่ให้ความรู้เค้า แม้กระทั่งวันนี้เค้าถามว่า

แม่ตุ๊กแกมีหัวใจไม๊ เราไม่รู้ เราก็ต้องมีหน้าที่หาข้อมูลมาตอบเค้า ทุกเรื่อง พอเป็น Home School พ่อแม่ต้องหาความรู้มาให้เค้าหมด เราไม่รู้หรอกบางเรื่อง เราก็ต้องเข้าไปใน google ให้เค้าดูรูป ดูทุกอย่าง เพราะมันคือการเรียนรู้ของเค้า”

เด็กยุคใหม่ เป็นตัวของตัวเอง รับใช้สังคม

หลังบทสนทนาถึงที่มาของการเป็น ด.ญ.เพ้นท์ฟ้า ผู้ฉายแววด้านศิลปะให้หลายๆคนชื่นชม จะจบลง คุณพ่อของเธอซึ่งขณะนี้เลี้ยงลูกไปด้วยและเปิดโรงเรียนสอนศิลปะไปด้วยออกตัวว่า ที่ลูกสาวมีความโดดเด่นทางนี้เพราะได้ทำทุกวันและได้รับการส่งเสริม และเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้ไม่แตกต่างจากเพ้นท์ฟ้า หากได้รับการส่งเสริมให้ได้ใช้ศักยภาพที่ตัวเองมีอย่างเต็มที่

“ทำไมน้องเพ้นท์ถึงโดดเด่นมากในเรื่องนี้ เพราะเค้าได้ทำทุกวัน และได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เค้าถึงทำงานออกมาได้เกินเด็ก แต่แน่นอนเค้าต้องสูญเสียบางอย่าง เช่น การเรียนรู้เรื่องภาษาพื้นฐาน การอ่านออกเขียนได้ เค้าอ่อนกว่าเด็กทั่วไปอยู่แล้ว เพราะเค้ามุ่งเน้นมาทางด้านเดียว เรื่องการคัดลายมือเค้าก็ไม่ได้คัด ให้เค้าไปคัดแข่งกับเด็กปกติ เค้าคัดไม่สวยหรอก

พ่อแม่มีทิศทางต่อการมองลูกย่างไร เนี่ยสำคัญ ถ้าพ่อแม่เห็นว่าเด็กควรจะมีสิ่งที่เค้ารัก และสามารถพัฒนาสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเด็กคนไหน สามารถที่จะเดินจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานได้ไม่ว่าจะเป็น กีฬา ดนตรี วิชาการ

ผมเชื่อว่าในศตวรรษนี้ การเรียนแบบนี้ถูกต้อง ไม่ใช่ไปเรียนเหมือนกันทั้งหมด แล้วกลายเป็นเด็กส่วนใหญ่ที่มีทักษะเหมือนๆกัน มันไม่ใช่ การเรียนแบบนั้นเป็นการเรียนในยุคอดีตที่มุ่งเน้น ตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แต่ว่าในปัจจุบันการเรียนต้องตอบโจทย์ผู้เรียนให้มากที่สุด เพื่อที่เค้าจะได้มีความภูมิใจ แล้วออกไปแสดงความเป็นตัวเอง เพื่อตนเอง เพื่อสังคม รับใช้สิ่งที่ตัวเองเชื่อ รับใช้คนอื่น มันต้องเป็นแบบนี้แล้ว”

Educate นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของ เด็กหญิงเพ้นท์ฟ้า ชาญชุติวาณิช วัย 7 ขวบ ผู้มีงานศิลปะเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้อย่างมีความสุข เปิดแสดง วันนี้ – วันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2557 ณ Neilson Hays Library ถ.สุรวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ โทร.0-2233-1731

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ  Photo : พลภัทร วรรณดี และณัฐพร ชาญชุติวาณิช


ไปโรงเรียนวันสุดท้าย ก่อนเป็นเด็ก Home School



ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It