Art Eye View

หลงรักได้ แต่อย่าให้ลุ่มหลง "เวลาของดอกไม้" วรรลภ มีมาก

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ผู้หญิงสวยๆ ในช่วงเวลาที่เรือนกายเปรียบเหมือนดอกไม้กำลังเบ่งบานเต็มที่ ใครบ้างที่ไม่ชายตาไปมอง

ไม่ต้องถามถึงกรณีผู้มองซึ่งเป็นผู้ชาย เพราะ “ผู้ชายทุกคนชอบมองผู้หญิงสาวๆสวยๆด้วยกันทั้งนั้น”

วรรลภ มีมาก เปิดใจสารภาพ และเขาคือศิลปินเจ้าของผลงานภาพเขียนหญิงสาวผู้แสนน่ารักน่าใคร่เหล่านี้ ซึ่งมีฉากหลังเป็นภาพของความร่วงโรยของดอกไม้

วรรลภกล่าวว่าชาวพุทธทุกคน รับรู้กันดีอยู่แล้ว ถึงหลักคำสอนของศาสนา ในเรื่องความไม่เที่ยง ความไม่จีรังของสังขาร

แต่เหตุการณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาใช้เวลานานถึง 4 ปี ไปกับสร้างสรรค์ผลงานภาพเขียนราว 23 ภาพ เพื่อมาจัดแสดงในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของตนเอง ภายใต้แนวคิดที่ว่า

“หญิงสาว เพศที่ปรุงแต่งร่างกายภายนอกเพื่อให้เกิดความงดงามอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เป็นสัญลักษณ์ของความงาม วัยที่อยู่ในช่วงเวลาของการหลงรูปกาย มีเพียงเปลือกภายนอกลวงตาห่อหุ้มสิ่งที่เน่าเหม็นที่อยู่ภายใน

เมื่อถึงเวลาร่างกายก็จะเสื่อมสลาย ร่วงโรย เหี่ยวแห้ง ไม่ต่างอะไรกับ ความงดงามของดอกไม้ที่รอเวลาเหี่ยวเฉา ไร้ซึ่งกลิ่นหอมยั่วยวน เฉกเช่นหญิงสาวที่หมดเสน่ห์ เหลือเพียงแต่สัจธรรมของสังขารเท่านั้น”

มีที่มาจากช่วงเย็นของวันอันแสนธรรมดาวันหนึ่ง ขณะที่วรรลภกำลังรอรถเมล์เพื่อกลับบ้าน บังเอิญว่า มีผู้หญิงต่างวันสองคนซึ่งต่างไม่รู้จักกันมาก่อน มานั่งรอรถเมล์อยู่ข้างๆกัน

ผู้หญิงคนแรก คือหญิงสาวและสวย แน่นอนว่าสายตาของวรรลภย่อมมองไปที่เธอเป็นอันดับแรก แต่ขณะเดียวกันเขาก็อดไม่ได้ที่จะชายตามามองผู้หญิงอีกคนที่กำลังอยู่ในวัยร่วงโรยซึ่งนั่งอยู่ข้างๆเธอคนนั้น

แม้เหตุการณ์นี้ จะไม่ถึงขนาดทำให้วรรลภตกอยู่ในภาวะปลง และยังคงรักที่แอบมองหญิงสาวในวัยที่เรือนกายกำลังเบ่งบาน ต่อไป

แต่ท้ายที่สุดมันได้แปรมาเป็นผลงานภาพเขียนชุดนี้ ที่มีภาพของหญิงสาว ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนดอกไม้ในช่วงที่กำลังเบ่งบาน และมีภาพของความแห้งเหี่ยวของดอกไม้ แทนความร่วงโรย

ศิลปินแต่ละคนอาจจะเลือกเขียนภาพดอกไม้ชนิดใดก็ได้เป็นสัญลักษณ์แทนความร่วงโรย เพราะไม่ว่าจะเป็นดอกอะไร ถึงเวลาก็ต้องแห้งเหี่ยวด้วยกันทั้งนั้น

แต่ที่วรรลภเลือกเขียนดอกบัวโดยเฉพาะ รวมไปถึงส่วนประกอบอื่นๆ อาทิ ฝักบัว ใบบัว ฯลฯ เพราะดอกบัวถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของพระพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธทุกคนรับรู้กันดีอยู่แล้ว ซึ่งเขาต้องการเชื่อมโยงกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเรื่องความไม่เที่ยง ความไม่จีรังยั่งยืนของสังขารนั่นเอง

ภาพเขียนแนวเหมือนจริงของผู้หญิงในวัยเบ่งบานกับดอกบัวที่แห้งเหี่ยว อาจสื่อสารบางเรื่องราวกับผู้ชมอย่างตรงไปตรงมา และไม่มีอะไรที่ซับซ้อน

แต่อย่างน้อยวรรลภเชื่อว่า น่าจะช่วยให้ผู้ชมไม่ว่าหญิงหรือชาย ฉุกคิดเกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัวของตนเองอยู่เรื่อยๆและไม่ลุ่มหลงจนเตลิดไปไกล

“ผู้ชมที่เป็นผู้หญิงเขาน่าจะรับรู้และเข้าใจได้อยู่แล้ว เพราะหลายคนกำลังอยู่ตรงจุดนี้ หรือเคยผ่านจุดนี้มาแล้วทั้งนั้น

ส่วนผู้ชมที่เป็นผู้ชายเขาก็รับรู้และรู้สึกได้ว่า ผู้หญิงในภาพเป็นวัยที่เขาสนใจ อย่างน้อยๆภาพของผมน่าจะช่วยเตือนให้เขาได้ฉุกคิดในระดับหนึ่งว่า อย่าไปลุ่มหลงมัวเมามากมายเกินไป”

เวลาของดอกไม้ ( IMPERMANENT BEAUTY) นิทรรศการภาพเขียน โดย วรรณลพ มีมาก

วันที่ 30 พฤษภาคม – 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เปิดนิทรรศการวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2557 เวลา 18.00 น โดยมี ดร.ชุมพล พรประภา ประธานกรรมการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) เป็นประธาน









ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It