Art Eye View

“เราไม่ใช่เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดงานศิลปะ” กลุ่ม PhotoJourn “กระบอกเสียงภาพถ่าย มุมมองคนทำสารคดี”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—มีงานสัมนาน่าสนใจมาแจ้งให้ทราบสำหรับช่างภาพที่ทำงานในแนวสารคดี เนื่องจากในช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ กลุ่ม PhotoJourn จัดสัมมนาในหัวข้อ “ กระบอกเสียงภาพถ่าย มุมมองคนทำสารคดี “

โดยมี สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพสารคดีผู้มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศ และโกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ บรรณาธิการบริหารนิตยสารเนชั่นแนลจี โอกราฟฟิก (ฉบับภาษาไทย) มาเป็นวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานสารคดี และกระบวนการทำงาน ในฐานะผู้ที่คลุกคลีกับงานทางด้านนี้มานาน

สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพสารคดีผู้มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศ
โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ บรรณาธิการบริหารนิตยสารเนชั่นแนลจี โอกราฟฟิก (ฉบับภาษาไทย)
สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพสารคดีผู้เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเจ้าของผลงานภาพถ่ายชุด “โรฮิงญา…บนเส้นทางสุดขอบโลก” ,เป็นผู้ฝึกสอนชาวเอเชียเพียงคนเดียว ที่ฝึกสอนช่างภาพเอเชียรุ่นใหม่ ณ Angkor Photography Festival และเป็นเจ้าของรางวัลระดับนานาชาติ หลายรางวัล จากผลงานภาพถ่ายชีวิตของคนหาปลาที่ต้องทำมาหากินอยู่กับความเสี่ยง บริเวณริมแม่น้ำโขง และความเดือดร้อนของผู้คน หลังพายุไซโคลนนากีส ถล่มพม่า

รวมทั้งเป็นหนึ่งในสมาชิก กลุ่ม PhotoJourn (www.photojourn.net) ได้บอกเล่าให้ ART EYE VIEW ฟัง ถึงความน่าสนใจและเหตุที่ทำให้ทางกลุ่ม จัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้นว่า

“ทางกลุ่มเล็งเห็นว่าปัจจุบันช่างภาพไทยได้ให้ความสนใจงานสารคดีกันมากขึ้น แต่ยังขาดทิศทางที่ชัดเจน และหลายท่านอยากรู้เคล็ดลับการทำงานระดับอินเตอร์ และครั้งนี้เราได้เชิญบรรณาธิการนิตยสารสารคดีอย่าง NG ไทย มาร่วมแชร์ประสบการณ์

ทางเราจึงเห็นว่าการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้จะช่วยชี้แนวทางที่เป็นประโยชน์แก่ช่างภาพรุ่นใหม่เพื่อที่ว่าช่างภาพเหล่านี้จะได้รู้ว่าจะต้องเตรียมพร้อมอย่างไร เสนองานอย่างไร ทำงานอย่างไรจึงจะไปสู่ระดับอินเตอร์

เคยสังเกตุบ้างไหมว่าบนแผงหนังสือจะมีหนังสือที่เน้นเกี่ยวกับงานสารคดีสักกี่เล่ม ในบางเล่มอย่างที่เห็นนี้ ก็ปิดตัวเองไปแล้ว บางเล่มเลิกแล้วก็เปิดใหม่ สถานการณ์หลายเล่มก็ไม่สู้ดี แล้วช่างภาพที่ชื่นชอบงานแบบนี้จะอยู่อย่างไร”

ดังนั้นในงานสัมนาครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่มืออาชีพอย่างสุเทพและวิทยากรอีกท่าน จะมาช่วยแนะแนวทางให้กับช่างภาพที่สนใจทำงานภาพถ่ายในแนวสารคดี

“บอกให้เขาได้รับรู้ว่าตลาดมันเล็กลง แล้วจะก้าวไปอย่างไร ถ้าชอบจริง ก็ต้องหาทางออก บางทีอาจพึ่งแค่ลงในนิตยสารอย่างเดียวไม่ได้ ตรงนี้เราจะไปแนะทางกันในงาน แต่มันไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จ”

ในเบื้องต้นมาทำความรู้จัก กลุ่ม PhotoJourn กันก่อนดีกว่า

พวกเขาคือใคร?

“กลุ่ม PhotoJourn เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มช่างภาพที่รักการถ่ายภาพสารคดี และต้องการนำการถ่ายภาพแนวนี้ไปสู่วงกว้าง”

พวกเขาทำอะไร?

“เรานำเสนอสารคดีภาพถ่าย และมัลติมีเดียที่มีคุณภาพจากทั่วโลก ให้กับคนในภูมิภาคได้เห็น โดยเฉพาะสารคดีเชิงลึกที่มีผลสะท้อนการเปลี่ยนแปลงแต่ไม่ค่อยมีใครได้เห็นนัก อีกทั้งสถาบันในอนาคตแห่งนี้มุ่งหวังจะให้ทุนจำนวนหนึ่งในแต่ละปี เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการผลิตงานลักษณะดังกล่าวขึ้นมา ทางกลุ่มยังจะมีการฝึกอบรมโดยช่างภาพที่มีประสบการณ์อันยาวนาน แก่ช่างภาพรุ่นใหม่ในภูมิภาค”

พวกเขามุ่งหวังอะไร?

“เราต้องการเห็นช่างภาพสารคดีรุ่นใหม่เกิดขึ้น บนพื้นฐานที่ว่าภาพถ่ายช่วยสร้างความเข้าใจที่ดีถูกต้องแก่สังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การพัฒนา ปัญหาสังคม และสิทธิมนุษยชนต่างๆ เราต้องการเห็นช่างภาพเป็นแนวหน้าในการสร้างสรรค์สังคมในรูปแบบต่างๆ โดยการร่วมมือกับองค์กรต่างๆเพื่อนำไปสู่การแก้ไขและพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดงานศิลปะ”

สัมมนา “กระบอกเสียงภาพถ่าย มุมมองคนทำสารคดี”

วันเสาร์ที่ 20 กันยายน 2557 เวลา 09.30 – 16.30 น. ณ. เค.วี. แมนชั่น อ่อนนุช กรุงเทพมหานคร
(รถไฟฟ้า BTS อ่อนนุช Exit 9 อยู่ในซอยสุขุมวิท 81 ตรงข้าม เซเว่นอีเลฟเว่น )
โดยมีค่าลงทะเบียนในการร่วมสัมมนา 950 บาท ต่อ 1 ท่าน (รับจำนวนจำกัด)

สามารถจองที่นั่งโดยโอนเงินมาที่ สุเทพ กฤษณาวารินทร์ เลขที่บัญชี 034-2-35672-9 ธนาคารกสิกรไทย สาขาภาษีเจริญ จากนั้นแจ้งและส่งสลิปการโอนได้ที่ คุณณัฐวร บุญวิทยา โทร. 089-113-7790

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It