Art Eye View

จาก "กำแพงแห่งความหวัง" สู่ "คามาอิชิที่ฉันรัก" เคียวโกะ อาเบะ

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—เหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2011

“คามาอิชิ” เป็นหนึ่งเมืองที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง

ต้นปี 2013 เคียวโกะ อาเบะ ศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่นในไทย ได้มีโอกาสเดินทางไปที่เมืองนี้ และใช้เวลาในช่วง 1 ปีเต็มไปกับการวาดภาพลงบนกำแพงขนาดความยาว 43 เมตร และสูง 8 เมตร



กำแพงแห่งความหวัง

เดิมทีกำแพงนี้เป็นเพียงกำแพงคอนกรีตสกปรกๆ ของโรงงานแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆกับสนามเด็กเล่นของบรรดาเด็กๆ ผู้ประสบภัยที่ส่วนหนึ่งได้อพยพมาอาศัยอยู่ ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราวบนภูเขา

และเพื่อนของเคียวโกะ เคยมาเป็นอาสาสมัครที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวแห่งนี้

ด้วยความร่วมมือจากคนในท้องถิ่นและอาสามัครทั่วประเทศญี่ปุ่น ภาพวาดบนกำแพง ซึ่งถูกตั้งชื่อว่า “กำแพงแห่งความหวัง” และเคียวโกะเป็นผู้ออกแบบและร่วมวาด ได้เสร็จสมบูรณ์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และมีสื่อหลายแห่งในญี่ปุ่นที่มาทำข่าวเกี่ยวกับกำแพงนี้ ที่เติมเต็มความสุขให้กับผู้พบเห็นด้วยสีสันอันสดใส และประกอบด้วยภาพของดวงอาทิตย์ ภาพนก ฯลฯ ตลอดจนภาพของเด็กๆที่กำลังยืนเรียงหน้ากระดานจับมือกัน ซึ่งในส่วนนี้เด็กๆในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่มาใช้สนามเด็กเล่น รับหน้าที่เป็นผู้วาดภาพตัวเองขึ้นมา

ด้วยว่าในอนาคต หากพวกเขาเดินทางกลับมา พวกเขาจะได้รำลึกถึงความทรงจำของตัวเอง เกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้


คามาอิชิ 4 ฤดู คามาอิชิที่ฉันรัก

ล่าสุดในนิทรรศการแสดงเดี่ยวภาพวาด ครั้งที่ 6 ของเคียวโกะ ที่เมืองไทย ณ อักโกะ แกลเลอรี่

ภาพวาดบนผืนผ้าใบซึ่งมีขนาดใหญ่มากหนึ่งภาพในนิทรรศการ และ ประกอบด้วยภาพขนาด 1×1.5 เมตร จำนวน 4 ภาพ นำมาเรียงต่อกัน อาจทำให้ผู้ชม หวนคิดถึง ภาพวาดบนกำแพงแห่งความหวัง ณ เมืองคามาอิชิ
แม้ว่าเรื่องราวในภาพจะไม่ใช่เรื่องราวเดียวกันกับภาพวาดบนกำแพง

แต่ก็เป็นภาพที่เคียวโกะได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับสถานที่และผู้คน ที่เธอได้รู้จักและร่วมงานด้วย ตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็ม ณ เมืองคามาอิชิ นับตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง จวบจนกระทั่งฤดูหนาว

นอกจากนี้เคียวโกะยังวาดภาพเล็กๆ ขึ้นมาอีกหลายภาพ ซึ่งภาพเหล่านี้ต่างสะท้อนความสุขและความทรงจำในช่วงเวลาที่เธอได้ใช้จ่ายไปที่เมืองคามาอิชิ เช่นกัน

อาทิ ภาพทางรถไฟสายที่เธอนั่งจากโตเกียวไปยังคามาอิชิ, สวนซากุระใกล้ๆกับสถานีรถไฟ ที่เบ่งบานราวกับเป็นของขวัญส่งท้ายในช่วงเวลาที่เธอทำงานวาดภาพกำแพงแห่งความหวังเสร็จสมบูรณ์,ภาพลำธารบนทางอันแสนสงบที่เธอต้องเดินผ่านในช่วงตี 5 ของทุกวัน,ภาพอุโมงค์ซีเมนต์ที่รายล้อมไปด้วยดอกไวโอเลต ซึ่งเธอจำได้ว่า จะมีเด็กบางคนในศูนย์พักพิงมาแอบร้องไห้ที่นี่ เนื่องจากเข้ากับเพื่อนคนอื่นๆไม่ได้ และเธอก็ได้ใช้สีที่เหลือจากการวาดภาพกำแพงแห่งความหวังมาวาดภาพฝากไว้ในอุโมงค์ซีเมนต์อันนี้

ด้วยหวังใจว่า เด็กที่มาแอบร้องไห้จะยิ้มออก เมื่อเห็นภาพวาดของเธอ

รวมไปถึงภาพวาดของตัวเธอเองที่กำลังจินตนาการถึงทุ่งดอกคอสมอสที่คามาอิชิ ซึ่งดอกไม้นี้จะเบ่งบานและสวยงามที่สุด ในช่วงเดือนตุลาคม และอยากจะกลับไปเที่ยวทุ่งดอกคอสมอสที่คามาอิชิอีกครั้ง

แต่เนื่องจากต้องใช้เวลาไปกับการเตรียมงานเพื่อจัดแสดงนิทรรศการภาพวาด เคียวโกะจึงวาดภาพขึ้นมาทดแทนความรู้สึกตรงนั้นและนำมาจัดแสดงในนิทรรศการด้วย

“คามาอิชิที่ฉันรัก” ชื่อของนิทรรศการจึงมีที่มาจากตรงนี้นี่เอง

จากความรู้สึกที่เคียวโกะอยากจะถ่ายทอดถึงความรัก ความสุข ความทรงจำ ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีเต็มของตัวเองที่คามาอิชิ

และในวันเปิดนิทรรศการ นอกจากบรรดาแขกคนสำคัญในเมืองไทย ที่มีส่วนสนับสนุนให้เธอได้เดินทางไปวาดภาพกำแพงแห่งความหวัง

ส่วนหนึ่งยังเดินทางมาจากญี่ปุ่น และคนเหล่านี้เป็นคนที่เธอเคยรู้จักและร่วมงานด้วยที่คามาอิชิ และทุกคนต่างตื่นเต้นดีใจเมื่อได้เห็นตัวเองปรากฎอยู่ในภาพวาด 4 ฤดูของเคียวโกะ



ประเทศไทยที่ฉันรัก

ถึงเวลานี้ เป็นระยะเวลา 18 ปี แล้วที่เคียวโกะมาใช้ชีวิต ทำงานศิลปะและสร้างครอบครัวอยู่ที่ประเทศไทย

นอกจากจะเคยจัดนิทรรศการแสดงผลงานของตัวเองในชื่อ “ประเทศไทยที่ฉันรัก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการยืนยันถึงความรักและความรู้สึกดีๆที่เธอมีต่อประเทศที่เธออาศัยอยู่มานาน

พบเธอครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน ยังจำได้ว่าศิลปินคุณแม่ลูกสองคนนี้ได้บอกเล่าให้ ART EYE VIEW ฟังว่า “ฉันรักประเทศไทย ฉันชอบแสงแดดที่นี่มากๆ”

พบเธอครั้งล่าสุด เคียวโกะได้บอกเล่าให้ฟังว่าพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะว่า “ฉันรักประเทศไทย ก่อนจะมารักและแต่งงานกับคนไทยเสียอีก”

เคียวโกะเกิดที่โออิตะ เมืองทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น จบการศึกษาจาก Fukuoka Kyushu Designer School เมืองฟูกูโอกะ เมื่อเรียนจบทำงานเป็นนักวาดประกอบ ขณะเดียวกันก็ได้เดินทางไปท่องเที่ยวในหลายๆประเทศ

ในครั้งแรกที่เดินทางมาประเทศไทย เธอรู้สึกหลงรักและบอกกับตัวเองว่าสักวันจะต้องมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

หลังจากนั้นเมื่อเดินทางกลับไปญี่ปุ่นและทำงานอยู่สักระยะ เธอก็มีโอกาสได้พบรักกับสามีซึ่งเป็นคนไทยที่ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น กระทั่งแต่งงานและได้ย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทยอย่างที่เคยตั้งใจไว้

ปัจจุบันสามีของเคียวโกะเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะที่ตัวเธอเองทำงานศิลปะและเปิดสอนศิลปะเด็ก อยู่ที่บ้านในย่านสุขุมวิท

แม้เวลาจะผ่านมานานหลายปี นับแต่ครั้งที่เคยพบเธอในนิทรรศการครั้งแรกๆ กระทั่งเจอกันครั้งล่าสุด เคียวโกะยังคงพูดประโยคเดิมให้ใครๆได้ยินว่า “ฉันรัก ฉันชอบประเทศไทยมากๆ”

ประโยคนี้ คนไทยบางคนได้ยินได้ฟังอาจรู้สึกว่า มันก็แค่ประโยคที่หลุดออกมาจากชาวต่างชาติที่พูดจาปากหวานคนหนึ่ง

หากยังไม่มีโอกาสได้เห็นภาพวาดเธอแต่ละภาพในนิทรรศการครั้งแรกๆ จนถึงปัจจุบัน

ภาพวาดที่สื่อให้ผู้ชมรับรู้ได้ว่า ผู้วาด สามารถมองเห็นความสุขเล็กๆน้อยๆที่โคจรอยู่รอบตัว

ตัวอย่างเช่นภาพวาดหลายๆภาพเกี่ยวกับชีวิตของเธอในประเทศไทย ที่เคียวโกะวาดในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา และถูกนำมาจัดแสดงให้ชมในนิทรรศการครั้งล่าสุดด้วย

อาทิ ภาพอยากจะไปอีก โลคัลพัทยา ภาพเกษตรแฟร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาพเพื่อนของปู ที่เคียวโกะเขียนคำบรรยายประกอบภาพไว้อย่างน่ารักๆว่า

“เลี้ยงปูซาริ (คล้ายกุ้งก้ามกราม) ซึ่งตัวเล็กมากๆ ปูเหล่านี้จะลอกคราบซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่หลายครั้ง แต่ละครั้งก็จะตัวโตขึ้นเรื่อยๆ การเจริญเติบโตก็ช่างน่าสนใจมาก และเรามักจะเฝ้ามองดูอยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่ได้การตอบกลับมาก็ตาม แต่พวกเราก็พูดคุยกับพวกเขาอยู่ทุกวัน ทุกวัน พอทำเช่นนี้ก็เกิดความรู้สึกรักเขาขึ้นมา จนเกิดความรู้สึกเป็นเพื่อนกันไปแล้ว ฉันเริ่มเล่นกับปูซาริด้วยจินตนาการ ขอให้มีชีวิตอยู่นานๆนะคุณปูซาริ”

บางคนที่รู้จักเธอบอกเล่าให้ฟังว่า นี่ขนาดเธอใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่แค่ในกรุงเทพฯเท่านั้น เธอยังมีเรื่องราวให้เก็บมารู้สึก เก็บมาวาดมากมาย บางทีแค่เดินออกจากบ้านมาแค่ปากซอย ได้พบเห็นอะไรที่ชอบ เธอก็สามารถเก็บมาเป็นแรงบันดาลใจได้แล้ว

เคียวโกะมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวตามต่างจังหวัดแค่ปีละครั้งเท่านั้น สาเหตุหนึ่งที่เธอไม่อยากไปบ่อย ก็เพราะกลัวว่าตัวเองจะไปพบไปเจออะไรที่ถูกใจมากมาย จนอดวาดไม่ได้นั่นเอง

ดูแค่ผลงานแม้ไม่ได้เจอตัว ชวนให้ใครต่อใครรู้สึกเสมอว่า โลกของเคียวโกะช่างเต็มไปด้วยความสุข

เจอเธอครั้งล่าสุด จึงถามเธอว่า ชีวิตของเธอเคยมีช่วงเวลาของความเศร้าบ้างไหม เพราะมองจากภาพเธอแล้วเรามองแทบไม่เห็นความเศร้าเจือปนอยู่เลย

เจ้าของตัวคาแรคเตอร์ ซึ่งเป็นภาพคนแก้มแดง (ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเวลาที่คนเรารู้สึกตื่นเต้นหรือดีใจ มักจะมาอาการแก้มแดง) ตอบว่ามีเหมือนกัน เช่นในเวลาที่ทะเลาะกับเพื่อน หรือคนที่ไม่รู้จักเธอ แต่มาพูดถึงงานของเธอให้รู้สึกไม่ดี

แต่เธอก็มีทางออกให้ตัวเองด้วยการลงมือวาดภาพ… และวาดภาพ

จนในที่สุดเธอจะรู้สึกดีขึ้น…และดีขึ้นไปเอง

คามาอิชิที่ฉันรัก( Kamaishi, the city I love) วันที่ 15 พฤศจิกายน – 27 ธันวาคม พ.ศ.2557 ณ อักโกะอาร์ตแกลเลอรี่ ถนนสุขุมวิท (ระหว่างสถานีรถไฟฟ้าทองหล่อ- ซอย 49) โทร.0-2259-1436

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It