Art Eye View

“เกล้ามาศ” ประกาศปิด “สวนศิลป์มีเซียม” หลัง Coy Girl ประติมากรรมชิ้นสุดท้ายในชีวิตของย่า “มีเซียม ยิบอินซอย” ถูกขโมยไป

Pinterest LinkedIn Tumblr

Coy Girl 1988
“รูปปั้น “coy girl” งานชิ้นสุดท้ายที่ยังปั้นไม่เสร็จ
โดย มีเซียม ยิบอินซอย ถูกขโมยไปจากสวนศิลป์มีเซียม
ผู้ใดพบเห็นหรือทราบเบาะแส ขอความกรุณาแจ้งด้วยค่ะ”

ART EYE VIEW—เกล้ามาศ ยิบอินซอย หลานแท้ๆ ของ มีเซียม ยิบอินซอย (จิตรกรและประติมากรหญิง ผู้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2531) ยังคงแชร์ภาพและข้อความให้ช่วยตามหา เมื่อผลงานประติมากรรมชื่อ Coy Girl ที่ติดตั้งไว้ภายใน “สวนศิลป์มีเซียม” ย่านพุทธมณฑล สาย 7 ได้ถูกขโมยไป
 
เกล้ามาศได้ทราบว่าผลงานงานประติกรรมของผู้เป็นย่าได้หายไปจากสวนเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

“ตอนเช้าของวันที่ 26 ธันวาคม คนที่สวนโทรมาบอกว่ารูปปั้นหายไป ทุกคนก็บอกว่าไม่มีใครรู้เรื่อง และไม่พบร่องรอยอะไร”

ก่อนที่จะหายไปผลงานติดตั้งไว้ในลักษณะวางอยู่บนแท่น สามารถอุ้มหรือยกไปได้โดยง่าย และก่อนที่จะแชร์ภาพและข้อมูลผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คให้เพื่อนๆได้ทราบข่าว เกล้ามาศได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ซึ่งตำรวจคาดว่าผู้ที่ขโมยไปไม่น่าจะเป้นคนที่ทราบว่าผลงานประติมากรรมชิ้นนี้มีคุณค่ามากกว่าแค่การเอาไปขายชั่งกิโลขายเป็นเศษเหล็ก

“ไปแจ้งตำรวจแล้วค่ะ ตำรวจบอกว่า ลักษณะการขโมยแบบนี้ ไม่น่าจะใช่ลักษณะการขโมยเอาเศษเหล็กไปขาย ก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นคงมีคนที่ตั้งใจจะเอาไป ก็เลยฝากบอกทุกคนว่า ถ้ามีใครพบเห็นก็ช่วยบอกจะได้ไปเอากลับมา”

Coy Girl เป็นหนึ่งในผลงานประติมากรรมทั้งหมด 24 ชิ้น ที่มีเซียมสร้างสรรค์และติดตั้งไว้ภายในสวนศิลป์มีเซียม และเป็นผลงานประติมากรรมชิ้นสุดท้ายที่มีเซียมสร้างสรรค์ ทว่ายังไม่เสร็จ เพราะว่าเสียชีวิตไป

“คุณย่าทำงานไปเรื่อยๆค่ะ ทำงานกระทั่งเสียชีวิต แค่ว่าไม่สบายอยู่หนึ่งอาทิตย์แล้วก็เสียชีวิต ก่อนคุณย่าเสียชีวิต งานยังปั้นไม่เสร็จ ยังอยู่บนแท่นที่ปั้น”

และเป็นผลงานประติมากรรม ที่ได้รับแรงบันดาลจากสิ่งต่างๆรอบๆตัว ก่อนจะปั้นออกมาเป็นงาน ไม่เจอะจงว่าต้องการปั้นใครคนใดคนหนึ่ง หรือสิ่งใดที่พบเห็นโดยเฉพาะ ดังเช่นผลงานประติมากรรมชิ้นอื่นๆภายในสวน

ที่ผ่านมาสวนศิลป์มีเซียมเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปชมฟรี นับตั้งแต่ครั้งที่มีเซียมยังมีชีวิตอยู่กระทั่งปัจจุบัน เป็นระยะเวลานานเกือบ 30 ปี เพียงแต่การเข้าไปชมแต่ละครั้งต้องโทรไปนัดหมายล่วงหน้า

แม้ว่าจะเป็นสวนส่วนตัว ไม่ได้เปิดเป็นของสาธารณะ แต่ใครที่ติดต่อมาหรือนัดมา เราก็เปิดให้เข้าไปชม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เราไม่เคยเก็บสตางค์คนที่เข้าชม เราจะมีคนมาเปิดประตูให้ แต่ไม่ได้มีการนำชม เพราะว่าจริงๆคุณย่าเพียงแค่อยากให้ คนได้เข้าไปอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับรูปปั้น แค่นั้นเอง ไม่มีทัวร์นำชม และจริงๆงานศิลปะแบบนี้ ก็ไม่ได้เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว มีคนเฉพาะกลุ่มที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นคนสนใจงานศิลปะร่วมสมัยและคนที่สนใจงานของคุณย่าโดยตรง”

การที่ผลงานประติมากรรมหายไปในครั้งนี้เกล้ามาศบอกว่า เป็นเรื่องที่ตนเองคิดไม่ถึง เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นที่สวนศิลป์มีเซียม และขณะนี้ตนยังไม่สงสัยใครเป็นพิเศษ

“ไม่สงสัยใครเป็นพิเศษ นึกไม่ออกค่ะ เพราะว่ารูปปั้นอยู่กับสวนมายี่สิบกว่าปี ตั้งแสดงมาตลอด ก็ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะมีใครมาเอาไปเพื่อตัวเอง สวนก็เปิดให้คนเข้ามาดู อยากมาดูเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่เคยคิดว่าจะมีคนคิดขโมยไป

(ขโมยไปขายไม๊) ไม่ทราบเลยจริงๆค่ะ ว่าขโมยไปเก็บไว้เอง ขโมยไปขาย หรือทุบเอาไปทำเศษเหล็ก ไม่ทราบ นึกมาออกเลย”

เกล้ามาศ จบการศึกษาจาก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และศึกษาต่อด้านประวัติศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาเธอได้ทุนของฟูลไบรท์ ของ USIS เพื่อศึกษาต่อทางด้านพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะ และช่วงหนึ่งของการเรียน เธอได้ฝึกงานที่ Whitney Museum of American Art

สิ่งแรกที่ทำเมื่อเธอกลับมาเมืองไทยคือการมาสานต่องานให้คุณย่า นั่นคือทำงานดูแล “สวนศิลป์มีเซียม” แห่งนี้

ปัจจุบันเกล้ามาศ ดูแล “มูลนิธิเกี่ยวกับศิลปะ” เพื่อพัฒนาและสนับสนุนงานศิลปะร่วมสมัย และทำงานที่ด้านการดูแลพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เคยเปิดอาคาร 2 ชั้น ใกล้วงเวียน 22 กรกฎา เพื่อทำอะเบาท์คาเฟ่ อะเบาท์สตูดิโอ โดยขณะที่ชั้นล่างจัดให้เป็นที่ขายอาหาร ไม่มีเหล้าหรือเครื่องดื่มมึนเมา ชั้น 2 ได้จัดเป็นพื้นที่เพื่อแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย

ระหว่างที่ยังคิดไม่ออกว่าจะหาทางนำผลงานประติมากรรมของย่าที่หายไปกลับคืนมาอย่างไร และจะหาทางป้องกันผลงานประติมากรรมชิ้นอื่นๆต่อไปอย่างไร

เกล้ามาศจึงตัดสินใจที่ปิดสวนศิลป์มีเซียมเป็นการชั่วคราว และยกงานประติมากรรมทุกชิ้นที่เคยติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆภายในสวน ไปเก็บไว้ในที่ซึ่งคิดว่าน่าจะปลอดภัย

“คิดว่าคงต้องปิดสวนไปก่อน คงไม่สามารถเปิดให้คนเข้ามาชม และเก็บผลงานชิ้นต่างๆ เพราะไม่รู้จะดูแลอย่างไร รู้สึกเสียดายมากที่ต้องปิด

คงต้องให้คนที่เอาไป ไม่ว่ารูปแบบไหน เอามาคืนก่อน และดิฉันเองต้องพยายามเอากลับคืนมาให้ได้ ในเมื่อคุณย่าตั้งใจไว้แล้วว่าอยากให้มันได้อยู่ในที่ๆคนทั่วไปเข้ามาชมได้”

แม้จะรู้สึกใจหายที่ผลงานประติมากรรมของผู้เป็นย่าหายไป ขณะเดียวกันเกล้ามาศบอกว่ารู้สึกดีกับสิ่งที่หลายๆ คนพยายามช่วยเหลือ และมองว่าผลงานของย่าคือสมบัติของชาติ

“ข้อดีของเหตุการณ์นี้คือทุกคนพยายามช่วยกัน และเห็นว่างานของคุณย่าเป็นสมบัติของชาติ ที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษาและช่วยกันนำกลับมา เป็นเกียรติมาก และรู้สึกดีมากค่ะ

หากมีใครพบและทราบเบาะแสผลงานประติมากรรม Coy Girl ให้แจ้งไปที่ หน้าเพจ Misiem Yipintsoi หรือ อีเมล misiemyipintsoi@gmail.com หรือ โทรไปที่ 090-991-0111 และ0-2353 – 8600 ต่อ 2225 และ2321

ด้านประวัติของ มีเซียม ยิบอินซอย เกิดที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2449 ในตระกูลเลนำคิน ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ จนอายุ 17 ปี ได้สมรสกับ นายหยิบ ยิบอินซอย และทุ่มเทชีวิตหลังการแต่งงานให้กับสามีและบุตร-ธิดาทั้ง 5

มีเซียมเป็นผู้รักศิลปะมาแต่เยาว์วัย จะเห็นได้จากการออกแบบเสื้อผ้า เครื่องประดับเองอยู่เสมอ แต่จุดหักเหสำคัญในชีวิตที่ทำให้เป็นศิลปิน คือ การเดินทางไปยุโรปเพื่อนำบุตรสาวไปรักษาโปลิโอ ทำให้ ได้พบเห็นงานศิลปะมากมายตามหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ และบ้านพักของเพื่อน ซึ่งทำให้ได้ทราบว่าในสังคมของชาวยุโรปศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อาคารบ้านเรือนมักมีภาพวาดหรือศิลปวัตถุที่งดงามประดับตกแต่งอยู่เสมอ พิพิธภัณฑ์ และหอศิลป์จึงมีมากมายในยุโรป

เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย มีเซียมเริ่มมองหาภาพวาดมาประดับผนัง แทนที่ของเดิมที่รู้สึกว่าช่างขาดชีวิตชีวาเหลือเกิน เมื่อเทียบกับภาพวาดที่ได้ไปพบเห็นมาโดยเฉพาะภาพวาดในศิลปะอิมเพรสชั่นนิสต์ (Impressionist) ด้วยฝีแปรงและสีสันที่ท่านรู้สึกถึงอารมณ์ และชีวิต จัดเป็นศิลปะที่คุณมีเซียมชื่นชอบและมีอิทธิพลต่อมีเซียมมากที่สุด

มีเซียมจึงตัดสินใจที่จะวาดขึ้นเอง และเริ่มเรียนศิลปะเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 42 ปีกับมิสเตอร์มูเน ซาโตมิ (Mounet Satomi) ศิลปินชาวญี่ปุ่น ซึ่งสำเร็จการศึกษาจาก The Beaux Arts Academy ประเทศฝรั่งเศส

มีเซียม ใช้เวลาในการเรียนเขียนภาพทิวทัศน์ด้วยสีน้ำมันอย่างที่ตั้งใจ เป็นเวลา 10 เดือน ในช่วงนั้นมหาวิทยาลัยศิลปากรจะจัดงานศิลปกรรมแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก (พ.ศ. 2492) มิสเตอร์ซาโตมิ ได้แนะนำให้มีเซียม ส่งผลงานภาพวาดเข้าประกวด ในตอนแรกมีเซียมไม่มั่นใจ เนื่องจากเพิ่งจะเรียนวาดภาพได้เพียงสิบเดือนเท่านั้น แต่ในที่สุดก็ส่งภาพ “ วิถีแห่งความฝัน ” หรือ “ สันติคาม ” (Dreamer's Avenue) เข้าประกวด โดยไม่ได้คาดหวังรางวัลใดๆ นอกจากขอเพียงภาพไม่ถูกคัดออกเท่านั้น และผลการประกวดที่เกิดความหมายก็เกิดขึ้น เมื่อภาพวาดของมีเซียม ได้รับรางวัลเหรียญทอง

ต่อจากนั้นในงานประกวดศิลปกรรมอีกสองครั้งต่อมา มีเซียมได้รับรางวัลเหรียญทองสาขาจิตกรรมทั้งสองครั้ง ทำให้ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมคนแรกของไทย และไม่มีโอกาสส่งผลงานเข้าประกวดได้อีก นอกจากเข้าร่วมแสดงเท่านั้น

จากแม่บ้านธรรมดา อายุ 42 ปี ที่เพียงอยากจะมีภาพฝีมือตนเองประดับผนังบ้าน กลับกลายเป็นจิตรกรหญิงคนแรกที่ได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมของไทย และถึงแม้ว่าจะไม่มีโอกาสส่งผลงานเข้าประกวดได้อีก แต่มีเซียมก็ยังคงสร้างสรรค์ผลงานอย่างสม่ำเสมอ ตลอด 3 ปีก่อนที่จะหันมาสนใจงานด้านประติมากรรม โดยมีแรงบันดาลจากงานของ ออกุส โรแดง (Auguste Rodin) และสวนในบ้านของตัวเอง โดยอาจารย์ศิลปะท่านที่สองในชีวิตของมีเซียม คือ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ( Corado Feroci)

ชีวิตในช่วงหลังมีเซียมอุทิศให้กับการสร้างสรรค์งานประติมากรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวกับศิลปะ แขนงอื่นๆ เช่น การเขียนบทความเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ก่อตั้งกองทุนศิลปะ ฯลฯ

รวมในปี พ.ศ. 2523 ได้ก่อตั้ง “สวนศิลป์ มีเซียม” บนถนนพุทธมณฑล สาย 7 อ.สามพราน จ.นครปฐม ด้วยแนวคิดที่ว่า “ประติมากรรมควรอยู่รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ”

จากที่พักขนาดเล็ก อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีต้นไม้ มีสระน้ำใหญ่อยู่กลางสวน จากนั้นประติมากรรมทีละชิ้นสองชิ้นของมีเซียมก็ได้ถูกเคลื่อนย้ายมาไว้ที่สวนแห่งนี้

“ เมื่อดิฉันเริ่มเขียนภาพ ดิฉันเขียนเพราะคิดอยากจะมีภาพประดับผนังบ้านตัวเอง ต่อมาเมื่อจับงานปั้น ก็เพราะนึกถึงสวนในบ้าน ดิฉันมีความเชื่อว่าประติมากรรมควรอยู่นอกบ้าน เพราะประติมากรรมเป็น ‘ อันหนึ่งอันเดียว ' กับธรรมชาติและสมควรจะได้พำนักอยู่ที่ซึ่งพระเป็นเจ้าได้ประทานไว้ ด้วยเหตุนี้ สวนในบ้านของดิฉันจึงมองดูแน่นไปด้วยรูปปั้น ดิฉันจึงต้องคิดอ่านที่จะทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ …”

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It