Art Eye View

“สิ่งที่เราทำ เพื่อให้นายค้นหาตัวนายเอง” สมบูรณ์ หอมเทียนทอง

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEWความสัมพันธ์ที่ดำเนินมาถึงปีที่ 504 ระหว่างประเทศ “ไทย” และ “โปรตุเกส” เมื่อต้องถูกตีความโดยศิลปินร่วมสมัยจะออกมาเป็นผลงานศิลปะที่มีลักษณะเช่นไร

คำตอบส่วนหนึ่งคงอยู่ใน Fervently Yours (504 Years of Luso – Thai Friendship สายสัมพันธ์มิตรภาพ 504 ปี ไทย – โปรตุเกส) นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง


ตีความ 2 วัฒนธรรม เป็นศิลปะระดับสากล

ที่มาของการเป็นศิลปินไทยที่ได้รับโอกาสให้ตีความ ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ สมบูรณ์เล่าว่าเริ่มต้นมาจากเมื่อครั้งที่เขาจัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะย้อนหลังของตนเอง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในบรรดาผู้สนใจ หนึ่งในจำนวนนั้นมี เอกอัครราชฑูตโปรตุเกส ประจำประเทศไทย ผู้ที่มีความรักในงานศิลปะ เดินทางไปชมนิทรรศการด้วย

นอกจากท่านฑูตจะมีความประทับใจในผลงาน รวมถึงได้เดินทางไปเยี่ยมชมสตูดิโอทำงานศิลปะของสมบูรณ์ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย และซื้อผลงานศิลปะชุด “ช้างกับม้า” ไปติดตั้งที่สถานฑูตเก่าแก่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

สมบูรณ์ยังได้รับเชิญให้เดินทางไปโปรตุเกส เพื่อหาแรงบันดาลใจกลับมาทำงานศิลปะสักชุดที่สื่อถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศ

หลังจากไปใช้ชีวิตอยู่ที่โปรตุเกสเป็นเวลา 6 สัปดาห์ และใช้เวลาอีกราว 1 ปี กับการตีความและสร้างสรรค์ผลงาน ล่าสุดผลงานศิลปะชุดนี้ได้ถูกนำมาจัดแสดงให้ชม ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

“พอได้รับโจทย์นี้ สำหรับเรา มันน่าสนใจ เพราะว่าเราจะตีความวัฒนธรรมของ 2 ประเทศให้ออกมาเป็นงานศิลปะได้อย่างไร และต้องเป็นงานศิลปะที่ก้าวพ้นไปจากประเทศไทยและโปรตุเกสได้อย่างไร ก้าวพ้นเพื่อไปเป็นงานศิลปะในระดับสากลที่คนทั่วไปทุกชาติทุกภาษาเขารับได้อย่างไร อันนี้คือโจทย์ที่ผมได้รับ กระทั่งได้เดินทางไปที่โปรตุเกส แล้วกลับมา ใช้เวลาหนึ่งปีเพื่อจะตีความออกมา”

ก่อนจะตีความออกมา… รากเหง้าทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาในอดีต ที่เป็นความภาคภูมิใจของทั้งสองประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของคนทำงานศิลปะในอดีต คือสิ่งที่สมบูรณ์ให้ความสนใจและพยายามซึมซับ

“ผมไปซึมซับและทำความรู้จักกับเพื่อนในอดีตที่ทำงานในสายงานเดียวกับเรา ผู้สร้างทำสิ่งดีๆไว้ให้กับทั้งสองประเทศ และเราได้นำเขาออกมาสนทนากัน ให้เป็นภาษาปัจจุบัน”

ซึ่ง “ภาษาปัจจุบัน” ในความหมายของสมบูรณ์คือ ผลงานศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบเฉพาะตัวของเขาเอง

ผู้ชมจะพบว่าผลงานแต่ละชิ้นที่จัดแสดงในนิทรรศการ จะมีภาพ ที่เป็นตัวแทนสื่อถึงความเป็นไทยและโปรตุเกส เคียงคู่กันไปตลอดทั้งนิทรรศการ และในผลงานทุกชิ้น เราจะพบสัญลักษณ์ อาทิ เส้นตรง สี่เหลี่ยม วงกลม ฯลฯ ที่เคยพบในงานศิลปะประเภทนามธรรมของสมบูรณ์ มาผสมอยู่ด้วย ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้ สมบูรณ์ใช้แทนค่าความรู้สึกที่ตนมีต่อภาพ ซึ่งเป็นรูปธรรมในผลงานแต่ละชิ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพศาสดาของทั้งสองประเทศ ภาพของสถานที่ต่างๆของทั้งสองประเทศ โดยภาพของสถานที่และสิ่งต่างๆ ที่ปรากฎในนิทรรศการเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ สมบูรณ์ผ่านไปพบและซึมซับ ตลอดช่วงเวลา 6 สัปดาห์ในโปรตุเกส และตลอดทั้งชีวิตในประเทศไทย

“เวลาที่ผมผ่านไปพบและซึมซับสิ่งต่างๆเหล่านี้ ผมไม่ใช่ตัวแทนของนักท่องเที่ยว และ ไม่ใชตัวแทนของคนไทย หรือโปรตุเกส แต่เราเป็นตัวแทนของมนุษย์คนหนึ่งที่ไปพบสิ่งต่างๆ แล้วไม่ได้มองสิ่งนั้นผ่านไป แต่เราหยุดสิ่งนั้นเพื่อมาแบ่งปันให้กับคนที่สนใจศิลปะได้ดูร่วมกัน

ฉนั้น นิทรรศการนี้มันก็เลยกลายเป็นเรื่องเล่าของสิ่งเราผ่านไปเห็น โดยที่เราจะไม่อธิบายให้คนรับรู้ แต่ให้เขาค้นหาด้วยตัวเขาเอง”
 


สิ่งที่เราทำ เพื่อให้นายเข้าไปค้นหาตัวนายเอง

ในส่วนของภาพที่เป็นรูปธรรมในผลงานแต่ชิ้น ถ้าผู้ชมไปเดินเข้าไปสังเกตใกล้ๆชิ้นงาน อาจจะเข้าใจว่าเป็นภาพถ่าย แต่ในความจริงแล้ว มันคือภาพวาดเทคนิค Charcoal on Paper

“ถ้าคนที่เขาสนใจงานจริงๆ เขาจะเข้ามาดูใกล้ๆและเห็นรายละเอียด สิ่งนี้คือความไม่ธรรมดาของงานที่ผมอยากให้เขาเห็น เพราะถ้าเป็นรูปถ่าย มันไม่น่าสนใจเท่าไหร่หรอก แต่ที่มันน่าสนใจคือ เราใช้ความสามารถของมนุษย์ สร้างมันอีกที

ถ้าเขาละเอียดเขาจะเห็นอะไร ได้รับสุนทรียศาสตร์แบบเต็มๆเลย และมีสมาธิ มีเวลาที่จะเข้าไปสังเกตตัวเขาเองด้วย แต่ถ้าเขาไม่ละเอียด เขาก็จะไม่เห็นอะไร นี่คือแนวคิดของผมเลย เวลาที่คนมาดูงาน อย่าถามอะไรไปมากกว่านี้

แม้แต่บางคนที่มาดูงานแล้วถามผมว่าอาจารย์ครับ เส้นอันนี้ หรือสี่เหลี่ยมจัตุรัสอันนี้คืออะไร เป็นสิ่งที่ผมไม่ชอบเลย และผมจะไม่ตอบ

เพราะสิ่งที่เราทำ เราทำเพื่อให้นายเข้าไปค้นหาตัวนายเอง ถึงนายจะมาฟังเรา นายก็จะไม่มีวันเข้าใจ เพราะนายไม่เข้าใจตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว แต่คนที่เขาผ่านเรื่องราวศิลปะมาเยอะ คนที่ดูงานรู้เรื่อง ตัวอย่างนักสะสมงานชาวฝรั่งเศส คุณเชื่อไม๊ เขาดูงานแล้วเข่าอ่อนเลยนะ เพราะเขาได้เห็นสิ่งที่เขารอคอย สิ่งที่เขารู้สึกว่ามันเป็นงานที่ดีมาก ไม่เคยเห็น ไม่เสียเวลา เพราะการตีความแบบนี้ไม่เคยมีใครเคยตีความหรอก ตัวอย่างเช่น ผมตีความภาพศาสดา ด้วยสองเส้น คุณรู้ไม๊มันคืออะไร มันคือสมาธิ ความเงียบ ความว่าง ความสงบ จะสังเกตว่างานทุกชิ้นมีแต่ความสงบ”

ด้วยเหตุนี้นอกจากสมบูรณ์จะเห็นว่าผลงานในนิทรรศการครั้งนี้จะเป็นเสมือนประตูให้ผู้ชมแต่ละคนเปิดเข้าไปค้นหาตัวเอง ขณะเดียวกันพวกเขาน่าจะค้นพบความสงบในตัวเองด้วย

“มนุษย์เนี่ยนะ จะบอกให้ แต่ละคนที่เกิดมา เวลาเราไปที่ไหน เรามีตัวเราไปด้วย เรามีจิตวิญญาณของเรา เราจะพบความสงบ ไม่ใช่ประเทศนั้นเขาให้ความสงบเรา แต่ความสงบอยู่ที่ตัวเราเอง

ตัวเราไม่สงบ เราถึงไม่มีความสงบ ถ้าตัวเราสงบ มีสมาธิ ไปที่ไหน ที่ๆมันวุ่นวาย มีรถวิ่งเยอะแยะ เราก็เห็นความสงบ เห็นความงาม อันนี้คือสิ่งที่มนุษย์ที่มาดูงานผม เขาจะได้เห็นตัวเขาเอง ไปหาตัวเขาเอง เขาได้อะไรก็แล้วแต่ตัวเขาเอง เพราะว่า ผมไม่ได้ตั้งความหวังอะไร มนุษย์แต่ละคนก็มีพื้นฐาน เขามาดูงานแล้วเขาจะไปต่อยอดได้หรือไม่ได้ มันเป็นเรื่องของเขา”

ส่วนกรณีที่ตัวศิลปินเอง นับจากเคยเดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ต่อสู้สร้างอนาคตบนเส้นทางศิลปะ ที่เยอรมัน นานเกือบ 30 ปี กระทั่งเดินทางกลับมาเมืองไทย และไปสร้างครอบครัว สร้างสตูดิโออยู่ที่ อ.เชียงคาน ถามเขาว่ากรณีนี้ไม่เรียกว่าเป็นการหนีเมืองใหญ่ไปหาความสงบหรือไร สมบูรณ์ตอบว่า

“คุณรู้ไม๊ว่า เวลาที่เราทำงานศิลปะ มันต้องทุ่มเทพลังงานให้กับตัวงาน และงานต้องการสมาธิ ฉนั้น ผมไปในที่ๆมันมีสมาธิให้กับตัวงาน แล้วเมื่องานมันมีสิ่งนี้ คนดูจึงได้รับมัน อันนี้คือเหตุผล(หัวเราะ)”


อนุสาวรีย์ของอดีต

เมื่อหมดช่วงเวลาจัดแสดงในประเทศไทย ผลงานศิลปะชุดนี้ของสมบูรณ์ จะสัญจรไปจัดแสดงต่อ ณ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส

ประสบการณ์อันทีค่าที่สมบูรณ์บอกว่าได้รับจากการทำงานชุดนี้ ในฐานะคนทำงานศิลปะคนหนึ่งคือ

“ผมได้ทำงานกับของโบราณแล้วตีความออก จนเป็นงานโมเดิร์นอาร์ต นี่คือปัญญาที่ผมได้จากการทำงานชุดนี้ มันท่วมท้นมากแล้ว ดูงานชิ้นนึงแล้วบอกภรรยาว่า คุ้มมากเลยที่ฉันไปโปรตุเกสกลับมาแล้วฉันทำงานนี้ได้ เพราะก่อนหน้านี้ ฉันคงไม่ได้คิดแบบนี้ แสดงว่าตลอดระยะเวลาที่เราอยู่ที่นั่น เราควบคุมสมาธิของเราเพื่อค้นหาอะไรบางอย่าง และนี่คือผลที่มันออกมา

นิทรรศการชุดนี้ ส่วนหนึ่งมันเป็นการเล่าตั้งแต่การเริ่มเดินทาง สิ่งเหล่านี้เป็นบทประพันธ์ส่วนตัวของผมทั้งสิ้น

นักวิชาการโปรตุเกสบอกว่า เขาดีใจที่ไม่ได้เห็นแค่การเปรียบเทียบของสองประเทศ เพราะผมก้าวพ้นจากที่นี่ไป ผมไม่ได้ทำเรื่องเปรียบเทียบ แต่ผมทำเรื่องที่เป็นการเล่าเรื่อง ฉนั้นคนดูให้ลองไปค้นหาตัวเองจากงานชุดนี้ดู”

ส่วนอะไรคือสิ่งที่สมบูรณ์มองเห็นในความเหมือนและแตกต่าง ของไทยและโปรตุเกส

“ผู้คนเขามีจิตใจดี เป็นผู้ดีด้วย และมีความเป็นมิตรมาก คือสิ่งที่ผมเห็น ประการที่สองเขามีรากฐานทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งมากในอดีต ดูจากศาสนสถานต่างๆและการแผ่ไพศาลของภาษาของเขาที่มีผู้รู้ 200 กว่าล้านคน ทั้งที่ในประเทศเขามีคนอยู่ประมาณหกล้านคนเอง อันนี้คือสิ่งที่น่าเคารพในบรรพบุรุษของเขา

ประเทศไทยก็เหมือนกัน สิ่งที่บรรพบุรุษมีอยู่ก็เป็นสิ่งที่น่าเคารพ แต่ในปัจจุบัน สองประเทศนี้ เดี๋ยวนี้ มันไม่มีอะไร ที่มีอยู่ มันกลายเป็นอนุสาวรีย์ของอดีต

เมืองไทยไม่มีอะไร อย่างภาพพระที่ผมวาด มันคืออนุสาวรีของอดีต ความอ่อนโยน ความนุ่มนวล ความสูงส่งทางด้านสุนทรียศ่าสตร์ ความมีสมาธิอะไร ขาดหายไปเยอะทั้งสองประเทศ นี่คือสิ่งที่เห็น

แต่ผมก็เชื่อนะว่า คนทุกรุ่นมีตัวแทน แต่มันจำนวนน้อย เขาจึงควรได้เห็นสิ่งที่มันดี เพื่อที่จะมีกำลังใจ ฉนั้นผมก็เป็นเหมือนตัวแทนของคนปัจจุบันที่มีความภาคภูมิใจในสิ่งที่เป็นอดีต แต่เราไม่ได้ลอกเลียนเขา เราเป็นคนรุ่นต่อมาที่ให้ความเคารพเขามากแล้วก็จะทำหน้าที่ของตัวเราเอง คนทำงานศิลปะในยุคของเรา

งานของผมไม่ได้ตามฝรั่งอะไรทั้งสิ้น เราเป็นคนเอเชีย และจริงๆแล้ว ไอ้ความเป็นสากล มันมีอยู่ในทุกมุมโลกอยู่แล้ว ถ้ามันมีปัญญาที่ชัดเจน มันจะรู้เรื่องกัน แต่มันจะไม่รู้เรื่อง ถ้าปัญญานั้นยังแสดงไม่ออก มันก็เลยไม่รู้เรื่อง

ดังนั้นสิ่งที่ผมหวัง ผมหวังว่าคนดูจะเข้าไปดูตัวเขาเองให้รู้เรื่อง หรือไม่รู้เรื่องเขาก็ต้องไปหาหนทางเอาเองนะ

ดร.เจตนา นาควัชระ เคยพูดกับผมว่า คนไทยมาดูงานผมแล้วจะดูรู้เรื่องเหรอ คือถ้าเราไม่คาดหวังอะไรเลย เราก็หมดกำลังใจ เราคิดว่ามันน่าจะมีคนที่รู้เรื่องบ้าง (หัวเราะ)”
 


ไม่ได้แสวงผลประโยชน์ ผมแสวงปัญญา

แต่หากถามว่าคนทำงานศิลปะเช่นเขารู้สึกสั่นคลอนแค่ไหน เวลาที่คนมาดูงานศิลปะแล้วอาจวิพากวิจารณ์ไปต่างๆนานา ทั้งชอบไม่ชอบ เข้าใจไม่เข้าใจ ยิ่งในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วยแล้ว ที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีมากขึ้น

“ฟังให้ดีนะ อาร์ตติสต์ที่เข้าเส้นทางหลักของตนเองแล้ว ไม่มีคำว่าสั่นคลอน

เหมือนคนที่ศรัทธาในพุทธศาสนา เค้าจะตามรอยพระพุทธเจ้าไป ไปสู่ภาวะสูงสุด

และมันจะสั่นคลอนไม่ได้เลย เพราะผมทำงานศิลปะ ผมไม่ได้แสวงผลประโยชน์ ผมแสวงปัญญา

และปัญญาของผม มันได้ก่อตัว เหมือนต้นไม้เล็กๆ กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ รากมันแผ่ไปไกลมากเลย มันสั่นคลอนไม่ได้

ไอ้คนถาม..มันสั่นคลอนตัวมันเอง เพราะว่ารากมันยังไม่มี

ที่ตอบเช่นนี้ มันไม่ได้เกี่ยวกับความเชื่อมั่นในตัวเอง แต่ทุกอย่างได้รับการตรวจสอบและไตร่ตรองแล้ว

สิ่งที่เราทำ เราหวังว่า คนดูงานจะได้เข้าไปไตร่ตรองตัวเค้าเอง เพื่อเจอความลุ่มลึกและความละเอียด ในตัวของเค้าเอง

เพราะคนส่วนใหญ่สมาธิสั้น ความอดทนมีน้อย ไม่ตามเรื่องอะไรทั้งสิ้น

คนทำงานศิลปะอย่างผม ผมตามเรื่องของผมตลอดเวลา”


ด.ช.สมบูรณ์ “เพราะมีวันนั้น จึงมีวันนี้”

ตัวอย่างเช่นเร็วๆนี้ นายสมบูรณ์ กำลังวางแผนที่จะออกไปตามหาเรื่องราวของ ด.ช.สมบูรณ์ อีกครั้ง

“ตอนที่ผมเป็นเด็ก ผมอยู่ที่วงเวียนใหญ่ แม่ไม่มีสตางค์ และผมไม่ได้ขอสตางค์แม่เป็นพิเศษ ผมเดินจากวงเวียนใหญ่ ไปที่บางกอกน้อย ไปที่โรงเรียนทวีธาภิเษก

เมื่อไม่กี่ปีนี้ผมลองเดินเล่น จากวงเวียนใหญ่ไปสี่แยกบ้านแขก ก็ว่าไกลแล้ว แล้วที่เหลืออีกตั้งไกล กว่าจะถึงบางกอกน้อย

ผมจึงมีความตั้งใจว่า วันหนึ่งผมจะไปเดินตามเส้นทางของ ด.ช.สมบูรณ์ ไปให้ถึงโรงเรียนทวีธาภิเษก เช้าไปเย็นกลับ เพื่อไปเก็บความทรงจำว่า ด.ช.สมบูรณ์ต้องเดินไกลแค่ไหน เมื่อครั้งที่ต้องเก็บเงิน สลึงนึงสองครั้ง เพื่อให้ได้เงินห้าสิบสตางค์ต่อวัน และเก็บอยู่เป็นเดือนๆ เพื่อเอาเงินมาซื้อพู่กันเขียนรูป”

ทำไมต้องลงทุนทำแบบนั้น? เขาตอบสั้นๆว่า

“เป็นเพราะมีวันนั้น จึงมีวันนี้”

และสิ่งที่มีในวันนั้นในความหมายของเขาคือ “ความมุ่งมั่น”









ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It