Art Eye View

อาจารย์สอนศิลปะชื่อ “อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา” หรือ “ต้า Paradox”

Pinterest LinkedIn Tumblr

ถ่ายภาพโดย : ปวริศร์ แพงราช
ART EYE VIEW— “สนุกทุกครั้งที่ได้กลับมาสอนนักเรียนครับ” …..อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา หรือ อาจารย์ต้า ของเด็กๆ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม เอ่ยปากบอก ในวันที่ถูกเชิญให้มาเป็นหนึ่งในวิทยากรโครงการด้านศิลปะของโรงเรียนที่เขาเคยเรียนมาตั้งแต่ระดับประถม และมัธยม

รวมถึงเมื่อครั้งเรียนในระดับปริญญาตรี ช่วงเวลาที่เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะ นักร้องนำ และมือกีตาร์ วง Paradox เขาก็เคยเลือกมาเป็นอาจารย์ฝึกสอนที่นี่ และเมื่อจบการศึกษา ยังทำงานเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่นี่นานถึง 7 ปี ควบคู่ไปกับการเล่นดนตรี ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากอาชีพอาจารย์ไปในที่สุด

“ระหว่างที่สอนวงก็ค่อยๆดังขึ้นเรื่อยๆ ตอนแรกอาชีพครู หรือ อาจารย์เป็นงานหลัก แต่ตอนหลังวงมีงานให้ไปเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเบียดเวลา ต้องมีการแลกชั่วโมงกับอาจารย์ท่านอื่นบ่อยๆ เพราะต้องไปต่างจังหวัด

กระทั่งมีอยู่วันหนึ่งอาจจะอัดเสียงดึกหรืออะไรไม่รู้ ลุกขึ้นมา จากที่นอน คุณแม่ (อัจฉรา กฤดากร ณ อยุธยา อดีตอาจารย์สาธิต จุฬาฯ) เขาเห็นว่าเรามีเลือดออกมาจากจมูก ก็เลยตกใจ และบอกให้เลือกเราเล่นดนตรีอย่างเดียวไปก่อนดีกว่า เพราะไม่งั้นมันจะหนักเกินไป

ตอนนั้นขณะที่เล่นดนตรีช่วงกลางคืน พอถึงช่วงเช้าก็ต้องไปสอน เรียกได้ว่าทำงานเกือบ 24 ชั่วโมง แทบไม่ได้พัก คุณแม่ก็เลยอยากให้เลือกไปทำอะไรซักอย่างหนึ่ง ผมก็เลยลาออกจากอาชีพอาจารย์ไปเล่นดนตรีก่อน แต่ก็ตั้งใจไว้ว่า เดี๋ยวในอนาคตค่อยกลับมาสอนใหม่ก็ได้”


ศิษย์เก่า “ครุศิลป์ จุฬาฯ”

เจ้าตัวบอกว่าประทับใจอาชีพอาจารย์ตั้งแต่ช่วงที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย ที่คณะครุศาสตร์ ศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่คนทั่วไปเรียกติดปากว่า “ครุศิลป์ จุฬาฯ”

“ผมออกอัลบั้มตั้งแต่ตอนอยู่ ปี 2 ครับ แต่ตั้งแต่ปี 1 ก็เสนอฟอร์มวง เสนออัลบั้มแล้ว จนปี 2 ออกอัลบั้ม แล้วปี 4 ก็มาฝึกสอน

ตอนนั้นยังเป็นวงอินดี้ คนยังไม่ค่อยรู้จัก ก็ยังมีเวลา ได้มาฝึกสอนด้านศิลปะ ก็เลยติดใจ การเป็นอาจารย์ พอเรียนจบก็เลยอยากจะเป็นอาจารย์ และ เป็นอาจารย์คนแรกของรุ่นเลยด้วยซ้ำ

เป็นคนที่ตั้งใจจะมาสอนหนังสือโดยตรงเลย เพื่อนก็มองว่า ผิดแนวมากเลย นึกว่าเราจะไปทางสายเป็นศิลปิน แต่เรามุ่งมาที่อาจารย์เพราะชอบ

และเลือกสอนระดับประถม เพราะว่าถ้าสอนเด็กมัธยม มันจะดูใกล้กันเกินไป เหมือนรุ่นพี่ รุ่นน้อง ก็เลยสอนประถมดีกว่า”

และบอกถึงเหตุผลเริ่มต้นที่ทำให้เลือกเรียนทางด้านศิลปศึกษา แทนที่จะเลือกทางด้าน Fine Art

“ดูจากวิชาที่เรียนครับ มันจะมีวิชาเรียนที่ค่อนข้างกว้าง และที่เราชอบและน่าสนใจที่ ครุศิลป์ จุฬาฯ จะไม่เน้นไปทางด้านศิลปะโดยตรง แต่เน้นเรื่องสอนหนังสือ สอนศิลปะโดยรวมๆ เรียนจบมาเพื่อเป็นครูสอนศิลปะ ฉนั้นวิชาที่เลือกเรียนมันจะมีหลากหลายมาก เพราะเวลาเราจะสอนหนังสือสิ่งที่เรารู้มันต้องครอบคลุม

ไม่ว่าจะเป็นวิชาภาพพิมพ์ วาดภาพสีน้ำมัน วาดภาพสีน้ำ การปั้น ถ่ายภาพและวิชาเสริมอื่นๆ อย่างละนิดอย่างละหน่อย รู้สึกชอบ ก็เลยเลือกเรียน ตอนแรกก็ไม่ค่อยอยากเป็นอาจารย์ แต่พอได้มาฝึกสอน รู้สึกประทับใจอาชีพอาจารย์ ก็เลยตั้งใจว่าจะมาสอนหนังสือ”


 ตาต้า สตูดิโอ

ปัจจุบัน วง Paradox มีอายุครบ 20 ปีแล้ว และกำลังจะมีอัลบั้มใหม่คลอดออกมาภายในปีนี้ ซึ่งเป็นปีย่างเข้าสู่ปีที่ 21 ของการก่อตั้งวง

ดังนั้นงานหลักของเขา ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับการทำอัลบั้ม และเดินสายเล่นคอนเสิร์ต ยังไม่ได้มีเวลากลับไปเป็นอาจารย์ต้าเต็มเวลา ดังเช่นเมื่อหลายปีก่อน

นอกจากนี้เขายังมีงานรับทำเพลงโฆษณาและเพลงประกอบทุกอย่าง ที่รับทำส่วนตัว ภายใต้ชื่อ “ตาต้า สตูดิโอ”

ซึ่งใครที่เป็นแฟนผลงานของ “ต้า Paradox” โดยตรง สามารถเข้าไปติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางหน้าเพจ Tatastudio

“เป็นงานของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ งานที่ทำเดี่ยวฮะ มีขายของที่ระลึกด้วยเล็กน้อย
และผลงานต่างๆ เช่น ผลงานเพลงโฆษณา เพลงประกอบอะไรต่างๆ พอร์ทงานจะอยู่ในเพจนี้”

ขณะที่เวลาว่างส่วนหนึ่งใช้ไปกับการวาดภาพและประดิษฐ์สิ่งของจากเศษวัสดุ

“ผมชอบวาดภาพสีน้ำครับ ว่างๆจะถือกระดานสีน้ำอันเล็กๆเท่ากระดาษ A 4 หรือใหญ่ขึ้นมาหน่อยไปวาดภาพ
และงานพวกนี้จะถูกนำไปประมูลอยู่บ่อยๆครับ ดังนั้นเวลาวาดเสร็จผมก็จะใส่กรอบไว้เรียบร้อยเลย พอมีกิจกรรมการประมูลเพื่อการกุศลต่างๆ ที่ทางผู้จัดเขาเชิญมา ก็จะส่งไป โดยคนส่วนใหญ่ที่ประมูลไปเป็นแฟนเพลงของ Paradox ดังนั้นนอกจากคนอื่นได้ใช้ประโยชน์ เราก็มีโอกาสได้ฝึกฝีมือไปด้วย

และอีกงานหนึ่งที่ผมชอบทำคือ งานประดิษฐ์หุ่นกระป๋องจากเศษวัสดุ เวลาเจอเศษขยะที่ใช้ได้ ผมจะเก็บไว้ แล้วก็เอามาติดกาวยาง สร้างเป็นหุ่นขึ้นมา คล้ายๆ Transformers แต่ประดิษฐ์จากเศษวัสดุที่ใช้แล้ว เช่นเดียวกันว่า เป็นงานที่ทำไว้สำหรับนำไปประมูล ช่วยการกุศล

ศิษย์ “อ.สมโภชน์ ทองแดง” ชอบสีน้ำแนวโรแมนติกของ “ศศิ วีระเศรษฐกุล”

เขามีศิลปินสีน้ำที่ชื่นชอบอยู่สองคน.. คนแรกเป็นอาจารย์ของเขาตอนเรียนมหาวิทยาลัยและอีกคนเป็นนักเขียน,ศิลปินและนักวาดภาพประกอบ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย

“ศิลปินสีน้ำที่ผมชอบคนแรกเป็นอาจารย์ของผมเอง คือ อาจารย์สมโภชน์ ทองแดง เมื่อก่อนผมก็กลัวกับการวาดสีน้ำ พอมาเรียนกับ อ.สมโภชน์ ที่ครุศิลป์ จุฬาฯ ฟังที่อาจารย์สอน ก็รู้สึกว่าการวาดสีน้ำสนุกจังเลย แถมตอนที่เรียนยังได้คะแนนดีด้วย ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้วาดภาพสีน้ำ แล้วสำหรับผม อ.สมโภชน์เป็นศิลปินวาดภาพสีน้ำที่เก่งมาก

และอีกคนที่ผมชอบงานคือ คุณศศิ วีระเศรษฐกุล (เจ้าของเพจ ‘การเดินทางของพระจันทร์’ ) เป็นศิลปินยุคใหม่ในดวงใจ เพราะเขาวาดสีน้ำได้โรแมนติกมาก และเมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งได้ร่วมงานกับเขา ผมแต่งหนังสือมาเล่มหนึ่งชื่อว่า “อยากมีเธออยู่ตรงนี้” และขอให้คุณศศิ ช่วยวาดภาพประกอบ”


ผลงานของ ศศิ วีระเศรษฐกุล วาดให้หนังสือ อยากมีเธออยู่ตรงนี้ ของ ต้า Paradox

กลับถิ่นเก่า.. เป็นอาจารย์สอนศิลปะและอนาคตผู้คุมทีมฟุตบอล “สาธิตจุฬา”

ล่าสุดการได้กลับมาเป็นวิทยากรให้โครงการ Art Learning ของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ทำให้เขารู้สึกดีมากๆกับการได้กลับมาทำหน้าที่หน้าอาจารย์ และอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่คุ้นเคย หลังจากที่ห่างหายไปหลายปี

“ถึงแม้ว่าช่วงนี้จะงานเยอะมาก แต่ก็รู้สึกว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะมาช่วยโรงเรียนสอน ช่วยทำกิจกรรม

สนุกทุกครั้งที่ได้มาสอนนักเรียนครับ ก็ยังบอกอาจารย์ที่นี่ว่า ถ้ามีโอกาสพร้อมจะรับใช้สาธิตจุฬา นอกจากสอนหนังสือ ก็เห็นอาจารย์ทาบทามไว้ว่า อยากให้ช่วยดูทีมฟุตบอล คือกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับสาธิตจุฬา ผมพร้อมจะกลับมาทำ

เพราะว่ากลับมาแล้วมันได้ความสนุก มีความทรงจำที่ดีเสมอ แล้วตอนหลายปีก่อนนู้นที่ลาออกไป ตอนเลือดออกจมูกแล้วคุณแม่ให้เลือกเล่นดนตรีก่อน เราไม่อยากจะออกด้วย รู้สึกว่า ถ้าได้กลับมาอยู่ในบรรยากาศเดิม อยู่ในสังคมเดิมๆ มันมีความสุข”

ยิ่งการกลับมาครั้งนี้ได้กลับสอนศิลปะโดยตรง ขณะที่หลายปีก่อนหลายคนอาจคิดไม่ถึงว่า เขาเป็นอาจารย์สอนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ (กพอ.) และคอมพิวเตอร์

“ตอนแรกสอน การงานพื้นฐานอาชีพ หรือ กพอ. แล้วก็ย้ายมาสอนคอมพิวเตอร์ ซึ่งสอนนานสุด ประมาณ 5 ปี ช่วงนั้นเป็นอาจารย์หนุ่มไฟแรง เค้าก็มอบหมายให้เปิดแผนกคอมพิวเตอร์ มาช่วยวางแผนการสอน

แต่สอนศิลปะเพิ่งมาสอนครั้งนี้ เพราะหลายปีก่อนที่เคยเป็นอาจารย์ประจำ ที่โรงเรียนมีอาจารย์สอนศิลปะอยู่แล้ว และค่อนข้างเก่ง

ครั้งนี้ได้มาสอนศิลปะโดยตรง สอนเด็ก ป.2 ผมเน้นสอนเรื่องจินตนาการและการสร้างแรงบันดาลใจ
ส่วนสอนวาดภาพจะมีน้องๆทีมงานของโครงการช่วยกันอยู่แล้ว

แต่ไอเดียผมคือเน้นเรื่องจินตนาการและศิลปะกับเด็กๆ เช่น เปิดนิทานให้เด็กๆได้วาดภาพ หรือวาดภาพสัตว์ประหลาดในจินตนาการของฉัน ทุกอย่างเน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เน้นเรื่องจินตนาการ แล้วก็เน้นเรื่องความสนุกกับการได้คิดและวาด ถ่ายทอดออกมา หลังจากนั้นเขาก็ไปต่อยอดเอง แต่ไม่ได้เน้นว่า วาดวงกลมยังไงให้สวย หรือวิธีการลงสีน้ำ อันนั้นเป็นเรื่องที่ทีมช่วยกัน”


สร้างความประทับใจแรก

แต่ไม่ว่าจะสอนวิชาอะไร แนวทางการสอนของเขาแทบไม่แตกต่างกัน เพราะเน้นเรื่องการสร้างความประทับใจแรกให้กับลูกศิษย์

“สร้างความประทับใจแรก และแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ยกตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์สมัยก่อน ผมใช้คำว่าเกลียดคอมพิวเตอร์ได้เลย เกลียดมาก เพราะว่ามันอยู่ในยุคของการทำคอมพิวเตอร์จอเขียว แล้ว floppy disk ใบใหญ่เท่ากระดาษ A4 แล้วเวลาจะสั่งให้วาดภาพที่ละนิด ต้องพิมพ์โปรแกรมประมาณสองบรรทัด เพื่อให้ตัวเต่าเล็กๆ มันวาดเส้นแค่ประมาณ 1 เซนติเมตร แล้วมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก พอผมรียนแบบนั้นก็กลัว ไม่ชอบคอมพิวเตอร์ไปเลย เกือบทั้งชีวิต
ตอนหลัง เริ่มเรียนรู้อะไรมากขึ้น คอมพิวเตอร์เป็นเรื่องสนุก พอมีเครื่องแมค เครื่องอะไรที่มันทำง่ายขึ้น ก็เลยมีความรู้สึกว่า ถ้าเกิด เราทำให้เด็กนักเรียนรู้สึกได้ว่าคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องน่าสนุก เขาก็จะไปต่อยอดเอง

ทุกวิชาและการสอนทั้งหมดทั้งมวลเลย ไม่ว่าจะสอนลูกศิษย์หรือสอนรุ่นน้อง ผมจะใช้ ความประทับใจแรก เป็นแนวคิดสำหรับการสอน สมมุติว่าสอนคอมพิวเตอร์ ผมก็จะพยายามให้เด็กได้เล่นเกมส์ หรือว่าเข้าเวบไซต์ที่เขาสนุก หรือว่าเขาอาจจะยังทำอะไรไม่เป็นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่อย่างน้อยเค้าจะรู้สึกว่า เมื่อนึกถึงคอมพิวเตอร์มันมีความสุข ถ้าเกิดเขาเล่นอะไรที่มันสนุก เดี๋ยวเขาจะไปต่อยอดเอง ไปค้นหาความรู้ของเขาเอง

แต่ถ้าเกิดเขาเริ่มด้วยความไม่สนุก เขาจะเบื่อ แล้วเขาก็ไม่อยากจะไปพัฒนาตัวเอง หรือถ้าเราสอนศิลปะ เราก็ทำยังไงก็ได้เพื่อให้เด็กรู้สึกว่า วิชานี้มันสนุกจังเลย เหมือนเป็นขนมหวานหลอกล่อหน่อย เพื่อให้เขามีแรงบันดาลใจในการไปพัฒนาตัวเองต่อไป หลังจากนั้นเขาจะไปพัฒนาของเขาเองได้ อยู่ที่เราปลูกฝัง”

อาจารย์ต้าและต้า Paradox ในร่างเดียวกัน แลกเปลี่ยนว่าไม่เพียงแต่ลูกศิษย์ตัวน้อยของเขาจะมีช่วงเวลาที่จำกัดในการเรียนรู้ แฟนเพลงของเขาในเวลาที่ฟังเพลง ก็ไม่แตกต่างกัน

ดังนั้นการเรียนรู้จากการสอน โดยเฉพาะการสอนศิลปะจึงมีประโยชน์ต่อการนำไปปรับใช้กับการทำงานอื่นๆของเขาด้วย

“มีสองข้อเลย ที่ได้ใช้ประโยชน์ ข้อแรกคือการฝึกอธิบายการสื่อสาร เช่น เราเป็นอาจารย์ เราต้องฝึกการสื่อสารกับนักเรียน ซึ่งนักเรียนอาจจะมีสมาธิที่แบบประมาณจำกัด เด็กๆ ผมว่าน่าจะอยู่ซัก 5 นาที ดังนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนเทคนิคการสอนใหม่

และมันก็เอามาใช้ในการสื่อสารของเรา ตอนที่เล่นคอนเสิร์ตได้ เช่น เราจะรู้จังหวะว่า คนส่วนใหญ่สมาธิอยู่ประมาณกี่นาที แฟนเพลงก็คล้ายๆกัน เขาจะมีสมาธิอยู่ประมาณนั้น เราจึงต้องเลือกใช้เทคนิคที่ไม่น่าเบื่อ

ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราได้รับความคิดสร้างสรรค์ การสอนหนังสือ หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ มันเป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์ตลอดเวลา แล้วความคิดสร้างสรรค์นี้เราเอามาใช้ในการผลิตงานอื่นได้ เช่น งานเพลง เวลามีความคิดแปลกๆ อะไรที่มันผิดแผก คนไม่ค่อยทำ เราก็จะได้ฝึกสมองตรงนั้น เอามาผสมกับการทำเพลงของเราได้ เช่น ไอเดียในการพูดถึงเรื่องต่างๆ เราเอามาใช้กับเพลงที่เราแต่งได้”
 


อาจารย์ต้า ภาคหุ่นยนต์ วาดโดยลูกศิษย์ตัวน้อย น้องกาโม่ ด.ช.นัทพล โกมลารชุน
หนึ่งในศิษย์เก่าต้นแบบ

 
ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกอะไรที่ อ.สมใจ จงรักวิทย์ อาจารย์สอนศิลปะ ประธานโครงการ Art Learning ผู้เคยเป็นอาจารย์ของเขา นับตั้งแต่ที่นักร้องหนุ่มยังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เคยบอกเล่าว่า โครงการในปีการศึกษาต่อไป เขาก็ยังจะถูกเชิญมาเป็นวิทยากรของโครงการ และเป็นหนึ่งในจำนวนศิษย์เก่าที่โดดเด่น ที่ทางโรงเรียนต้องการสนับสนุนให้เป็นต้นแบบของรุ่นน้อง

“ตัวต้าเองเรียนศิลปะมา และปัจจุบันก็ยังวาดรูปค่ะ งานศิลปะอยู่ในตัวเขาอยู่แล้ว และเขาทำงานเพลงเหมือนทำงานศิลปะ เขาไม่ถึงกับเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านศิลปศึกษา แต่ตัวเขาเองมีศิลปะอยู่ในตัวเอง

การเชิญเขามา สวนหนึ่งเราต้องการให้เค้าได้เป็นต้นแบบของนักเรียน และตอนเด็กๆ เขาได้รางวัลทางศิลปะเป็นประจำ ทั้งจากกระทรวงและนานาชาติ เราอยากให้เห็นว่าตัวตนของต้าเป็นศิลปะ เขาทำดนตรี แต่พื้นฐานเขามีศิลปะ

แล้วตอนเขามาสอนศิลปะเขาทำได้อย่างดีนะคะ เขาคิดหัวข้อที่เด็กๆชอบ น่าสนใจ มีการเพิ่มเติมเรื่องของเพลงเข้ามา เด็กๆก็ผ่อนคลาย”

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It