Art Eye View

รู้จัก “ทอม โพธิสิทธิ์” นักถ่ายภาพเชิงแฟชั่นและศิลปะ ให้มากกว่าภาพถ่ายชุด The Last FareWhale

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ทอม โพธิสิทธิ์ หรือ “ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์” นิยามตัวเองว่าเป็น “นักถ่ายภาพเชิงแฟชั่นและศิลปะ”

แต่หลังจากที่ได้พูดคุยเกี่ยวกับผลงานภาพถ่ายชุดต่างๆที่เขาเคยนำเสนอสู่สาธารณะชน และกำลังจะเกิดขึ้น ART EYE VIEW อยากจะนิยามเพิ่มว่า “เพื่อสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม และความเป็นไทยที่เป็นสากล”

เนื่องจากผลงานภาพถ่ายของเขา โดยรวม วนเวียนอยู่กับการนำเสนอเนื้อหาเหล่านี้

ช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน ระหว่าง “เทศกาลสงกรานต์” (เทศกาลหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย ในการรับรู้ของคนทั่วไป) และ “วันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day 22 เมษายน 2558”

เพื่อให้หลายๆคนได้รู้จักกับเขามากขึ้น และรับรู้ถึงที่มาที่ไป ตลอดจนแรงบันดาลใจในการทำงานภาพถ่ายแต่ละชุด นอกเหนือไปจากผลงานชุด ที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วอย่าง The Last FareWhale (การถ่ายภาพแฟชั่นกับวาฬเสียชีวิตที่จังหวัดสมุทรปราการเมื่อเดือน กรกฎาคม 2557)

เพราะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เขาเพิ่งปล่อยผลงานภาพถ่ายชุดหนึ่งออกมาร่วมสร้างสีสันให้กับเทศกาล โดนใจผู้ชมทางโลกโซเชียลมีเดียที่ติดตามชมผลงานของเขาจำนวนไม่น้อย

และในระยะอันใกล้นี้ เขากำลังจะมีงานแสดงภาพถ่ายที่พูดถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเพื่อนนักถ่ายภาพด้วยกัน รวมถึงผลงานภาพถ่ายช่วยเหลือสังคม ซึ่งถือเป็นโปรเจ็กต์สำคัญ ที่จะจัดแสดงให้ชมต่อเนื่องกันไป

หลังจากที่ผ่านมา เขาเคยทำงานภาพถ่ายที่สะท้อนให้ผู้คนตระหนักถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมมาแล้วหลายชุด บ้างได้เสียงตอบรับเป็นทั้งดอกไม้ และกระถาง


จาก “มัณฑนากร” สู่ “นักถ่ายภาพ”

อดีตมัณฑนากรในนาม Bangkok Design Studio ผู้ผลันตัวเองมาทำงานภาพถ่าย และเรียนจบมาทางด้าน การออกแบบตกแต่งภายในและออกแบบสินค้า คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ , Academia Italiana Professional Photographer และ New York Institute of Photography เล่าว่า

ในช่วงที่ทำงานเป็นมัณฑนากร ด้วยภารกิจที่ทำให้ต้องเดินทางไปหลายประเทศ และโลกกว้างได้ช่วยเปิดมุมมอง ทำให้ได้ตระหนักว่า ภาพถ่ายสามารถเป็นได้มากกว่าการบันทึกช่วงเวลาและเหตุการณ์สำคัญ แต่ยังเป็นงานศิลปะที่สามารถสะท้อนเกิดความเข้าใจ และเปลี่ยนแปลงสังคมในหลายด้าน

ขณะเดียวกันที่มองว่า “แฟชั่น” เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน เขาจึงนำความรู้ทางแฟชั่นมาผสมผสานกับความรู้ทาง “ศิลปะ” เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆที่เขาสนใจ

เพราะเรื่องของแฟชั่น เสื้อผ้า สไตล์ลิสต์ ฯลฯ เป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้ว เราเอามาใช้เพื่อให้ภาพถ่ายของเรา เข้าถึงผู้คน เข้าถึงสังคมได้ง่ายขึ้น แต่มีเนื้อหาของงานที่เข้มข้นมากขึ้น เพราะเราเอามาสะท้อนเรื่องสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ”

ในช่วงเริ่มต้นของการเป็นนักถ่ายภาพ เขายอมรับว่า รู้สึกหนักใจกับการค้นหาสไตล์ที่เป็นตัวเอง อีกทั้งไม่รู้ว่าควรจะหยิบเรื่องราวใดมานำเสนอ

“จึงอยากจะฝากไปถึงนักถ่ายภาพรุ่นใหม่ด้วยว่า ผมก็เคยมีปัญหาตรงนี้มาก่อน เรื่องการค้นหาสไตล์ของตัวเอง
ตอนที่เราเริ่มทำงานภาพถ่าย เราเครียดมาก เพราะเราเห็นคนส่วนใหญ่ที่เป็นไอดอล หรือเป็นต้นแบบให้กับเรา เขามีสไตล์ มีเทคนิคในการนำเสนอที่ชัดเจน

พอมาดูตัวเอง เราก็ถามตัวเองว่า แล้วสไตล์ของเราคืออะไรวะ ฉันต้องการอะไรจากชีวิต ก็เลยเครียด

แต่พอทำงานมาเรื่อยๆ เริ่มรู้สึกว่า สไตล์ของเราเริ่มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการนำเรื่องปัญหาสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม หรือว่าเรื่องอะไรต่างๆที่มันกระทบจิตใจเรา เอามาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน”

อย่างไรก็ตาม มืออาชีพทุกคนล้วนเป็นศิษย์มีครู หนึ่งในไอดอล หรือ คนต้นแบบคนสำคัญของเขาคือ สุรชัย แสงสุวรรณ บรรณาธิการฝ่ายแฟชั่นของนิตยสาร L 'Officiel

“เป็นผู้แนะนำเรื่องการถ่ายภาพแฟชั่นให้กับผมเป็นคนแรก คุณสุรชัยมีวิธีการทำงานที่ดีมาก และเป็นคนที่มีความรู้ทางศิลปะที่สูงมาก เข้าใจเรื่องแฟชั่น สอนเรามากมาย เช่น ทำงานอะไรก็ตาม มันต้องมีที่มาที่ไป สามารถเล่าเรื่องได้ ไม่ใช่ถ่ายออกมาแล้วบอกว่านี่คือศิลปะ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามันคืออะไร”

ที่ผ่านมาผลงานภาพถ่ายของทอมถ้าไม่นับรวมผลงานชุด The Last FareWhale ที่คนส่วนใหญ่รู้จัก ภาพถ่ายชุดอื่นๆยังเคยถูกนำเสนอในนิตยสาร NYI PhotoWorld Magazine (New York, USA),นิตยสาร Dramatic Photography (Thailand) และถูกพูดถึงในฐานะ ช่างภาพ อันดับ 2 จากการจับอันดับเทรนด์ที่น่าสนใจทั่วโลกจาก TrendHunter.com ,ช่างภาพ กระทู้อันดับ 1 ของกระทู้แนะนำโดยสมาชิกบนเว็ปไซต์ pantip.com ในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนตุลาคม พ.ศ 2557 และช่างภาพ Hall of Fame ของ Thailand Creative Photography



เพื่อความเป็นไทยที่เป็นสากล

หลังจากที่หลายคนเพิ่งเดินทางกลับจากวันหยุดยาวของ “เทศกาลสงกรานต์” ทอมบอกเล่าว่าเทศกาลนี้เป็นเทศกาลที่เขาชื่นชอบมากที่สุด และเ มื่อไหร่ที่เทศกาลนี้เวียนมาถึง เขาซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ จ.เชียงใหม่ แต่ปีนี้เปลี่ยนใจไปท่องเที่ยวที่ จ.อุบลราชธานี

“เพราะเราเริ่มอิ่มตัวกับเทศกาลสงกรานต์ที่เชียงใหม่ ปีนี้ก็เลยไปทางอีสาน ไปสัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี การใช้ชีวิตของคนอีสานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก็สนุกดีครับ”

และปีนี้ ทอมยังทำงานภาพถ่ายขึ้นมาหนึ่งชุดคือ “สีสันมหาสงกรานต์” นอกจากเพราะเป็นเทศกาลที่เขาชื่นชอบ ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจาก กรณีดราม่าเรื่องนางแบบคนหนึ่งสวมชุดคล้ายจีวรพระ (ซึ่งคนจำนวนหนึ่งมองว่าคล้ายชุดคลุมทางแอฟริกามากกว่า) และแต่งหน้าคล้ายเอาทองคำเปลวมาปะหน้า เพื่อเดินแบบให้กับงานแฟชั่นวีค ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และหนึ่งในจำนวนภาพถ่ายชุดนี้ของเขา มีภาพนางแบบแต่งหน้าสีทอง ที่ทำให้หวนนึกถึงหน้าทองของนางแบบบนเวทีแฟชั่นวีคที่ปารีสคนนั้นด้วย

ในมุมมองของทอม หากกรณี การแต่งกายของนางแบบคนนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก จีวรพระของชาวพุทธ และความเป็นไทยของเราจริง เขากลับมองว่าเป็นเรื่องที่ดี

“ผมได้รับแรงบันดาลใจ เลยเอามาทำให้ดูว่า จริงๆของไทยมันสวยมาก ต่างชาติเอาไปทำ เอาไปเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน เราควรจะดีใจเนาะ(หัวเราะ) เพราะว่าความเป็นไทยของเรา คนสากลยังให้ความสนใจ ดังนั้น ในมุมมองของคนทำงานศิลปะหรือแฟชั่น ผมมองว่าเป็นส่วนดี ที่ได้โปรโมทความเป็นพุทธ ความเป็นไทย

สงกรานต์ปีนี้ผมก็เลยกลับมามองว่า จะทำยังไงให้สงกรานต์ปีนี้ของตัวเองสนุกสนาน ได้สื่อให้ชาวโลกได้รู้จักมากขึ้น และสื่อด้วยว่าเทศกาลนี้ไม่ใช่เทศกาลของคนไทยอย่างเดียว แต่ยังเป็นเทศกาลของประเทศเพื่อนบ้านเราด้วย เช่น พม่า ลาว เขมร เขามีการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้เหมือนกัน

ผมก็เลยเลือกเอาอีลีเม้นท์ต่างๆ เอาสีสันที่เราสัมผัสและคุ้นเคยในเทศกาลสงกรานต์ มาใส่ไว้ในงานภาพถ่ายชุดนี้”

และเหตุที่เขาเลือกใช้นายแบบนางแบบที่เป็นชาวต่างชาติ สวมใส่เครื่องแต่งกายก็ดูประยุกต์มากขึ้น นอกจากเพราะต้องการเสนออะไรที่เป็นสากล ทอมยังต้องการให้งานภาพถ่ายชุดนี้ ดึงความสนใจจากคนรุ่นใหม่

“ผมอยากจะสื่อถึงความเป็นไทยที่มีความเป็นสากล และ เลือกใช้นายแบบนางแบบ ที่เป็นชาวต่างชาติ เพื่อให้มันดูสนุกสนาน เข้าใจง่าย ทุกคนสามารถสัมผัส โดยเฉพาะประเพณีไทย คนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยให้ความสนใจ หรือแม้แต่เรื่องเครื่องทรงต่างๆ หรือว่า ชุดประจำชาติ มาตรฐานของสังคมไทยจะบอกว่า ต้องแต่งตัวแบบนี้ ต้องเป็นกุลสตรีเท่านั้น ห้ามกินเบอเกอร์ ต้องกินอาหารไทยชาววัง คนรุ่นใหม่ก็เลยไม่ให้ความสนใจ คิดว่าการเป็นไทยแท้ มันยาก มันลำบาก

แต่ความเสี่ยงมันก็มีมาก ถ้าทำพลาดคนก็จะด่าว่า อันนี้เอามาใช้ได้ยังไง แต่งานนี้โชคดีมาก เพราะปกติงานผมโดนทุกงาน อย่างภาพวาฬก็เคยโดนด่า ว่าเป็นช่างภาพสุดเพี้ยน ไปถ่ายรูปกับวาฬ งานชุดนี้มันก็เลยดังขึ้นมา

และก่อนหน้านั้นผมก็เคยทำงานภาพถ่ายแฟชั่นอิงกระแสการเมือง ในช่วงเหตุการณ์ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” แต่อันนั้นใช้นายแบบนางแบบไทย และผมต้องการจะสื่อว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ชัตดาวน์จะมีผลกระทบอะไรบ้าง

ผมอยากให้สังคมเปิดความคิดมากขึ้น เปิดรับมากขึ้น แต่ว่าคนทำศิลปะหรือคนทำแฟชั่น ก็ควรศึกษาเรื่องขนบธรรมเนียมเนาะ ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ หรือควรทำขนาดไหน คือถ้าแต่งหน้าทองขนาดนั้น แล้วไปถ่ายนู้ด มันก็ไม่เหมาะสมหรอก”



ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว

ขยับมาทำความรู้จักเขาในฐานะช่างภาพที่สนใจด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม …. ทอมเป็นผู้ช่วยนักบินและช่างภาพ โครงการสำรวจประชากรสัตว์ทะเลหายากอย่าง พะยูน วาฬ เต่าทะเล โลมา ในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ,ผู้สนับสนุนและอาสาสมัครโครงการคืนชะนีสู่ป่า จ.เชียงใหม่

“ผมบินเครื่องบินเล็กเพื่อทำงานภาพถ่ายเกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากในไทยทั้งหมด สำรวจว่าปัจุบันสัตว์พวกนี้มีประชากรเท่าไหร่ หรือสภาพสิ่งแวดล้อมของสัตว์พวกนี้เป็นอย่างไร

แล้วเมื่อปีที่แล้วมันมีปัญหาเรื่องวาฬตายที่สมุทรปราการ ผมก็เลยคิดว่าจะทำยังไงให้คนหันมาสนใจ ปัญหาเรื่องสัตว์ทะเลหายาก ที่ตายด้วยการกระทำที่ผิดกฎหมายของมนุษย์ ก็เลยทำงานภาพถ่ายแฟชั่นกับซากวาฬ

คือผมต้องการดึงความสนใจให้คนได้เห็นว่า ยังมีปัญหาอย่างนี้อยู่ในประเทศไทย พอมันเป็นภาพแฟชั่นคนก็เลยให้ความสนใจขึ้นมา เพราะถ้าเราเอากล้องไปถ่ายซากวาฬเฉยๆมันก็แค่วาฬตัวนึงที่ตาย”

อย่างที่เคยบอกไป ขณะที่ภาพถ่ายชุด The Last FareWhale ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก แต่สิ่งตอบแทนกลับมายังเจ้าของผลงานคือ “ช่างภาพสุดเพี้ยน” แต่เขายังคงเดินหน้าทำกิจกรรมและทำงานภาพถ่ายที่สะท้อนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

ตัวอย่างเช่น นิทรรศการภาพถ่ายชุด Tree ของเขาและเพื่อนนักถ่ายภาพรวม 20 คน โดยการสนับสนุนของโครงการ PARK 24 ที่กำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 17 พฤษภาคม พ.ศ.2558 ณ Em Quartiea Gallery

เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ที่เริ่มจะหายากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับความต้องการของคนเมือง ที่กระหายพื้นที่สีเขียวมากขึ้น พร้อมๆไปกับชีวิตที่เดินทางสะดวกสบาย แวดล้อมไปด้วยร้านค้าและร้านอาหารชั้นเลิศ

ภาพถ่ายของเขาและเพื่อนนักถ่ายภาพจะเสนอให้คนทั่วไปได้เห็นถึงความสวยงามของสิ่งที่หาได้ง่ายที่สุดในธรรมชาติ แต่กลับหาได้ยากในกรุงเทพฯ นั่นคือ “ต้นไม้” เพื่อแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการให้ความสำคัญกับต้นไม้และพื้นที่สีเขียว และเป็นจุดเริ่มต้นของก้าวเล็กๆในหลายๆก้าวที่จะช่วยขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่อุดมไปด้วยต้นไม้และพื้นที่สีเขียวต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ในนิทรรศการยังเชิญชวนผู้สนใจทั่วไป นำเสนอความสวยงามของต้นไม้ ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆและไม่ลืม hastag #tree #park24 จากนั้นผลงานจะถูกนำเสนอผ่านจอภาพในนิทรรศการ

“จริงๆเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ทุกคนคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไกลตัว โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ จะไม่ค่อยได้สัมผัสธรรมชาติ แต่จริงๆแล้วของพวกนี้มันลิงค์หากันหมด อย่างเช่น ปลาพะยูนที่ผมไปสำรวจเนี่ย คนไม่รู้ว่ามันมีประโยชน์ยังไง แต่จริงๆมันเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ถ้าธรรมชาติเหล่านี้ไม่สมบูรณ์ ปลาพะยูนมันก็หากินไม่ได้ และในที่สุดมันก็กระทบถึงสังคมส่วนต่างๆ ผมอยากให้ทุกคนหันมาสนใจปัญหาพวกนี้มากขึ้น รวมถึงหน่วยงานในภาครัฐและเอกชนต่างๆ”

ไปบริจาคอวัยวะกันเถอะ

ต่อเนื่องจากนิทรรศการภาพถ่ายชุด Tree ทอมยังมีโครงการภาพถ่ายช่วยเหลือสังคมจ่อคิวจัดแสดงต่อ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เขาเคยเป็นผู้ริเริ่มโครงการ “บินรอบโลก รวมใจ เพื่อในหลวง” ในฐานะผู้ช่วยนักบินและช่างภาพเพื่อรวบรวมโปสการ์ดคำถวายพระพรจากคนไทยในกว่า 40 ประเทศทั่วโลกเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในช่วงที่ทรงพระประชวร ปี พ.ศ 2551- 2554

แต่ครั้งนี้เป็นการทำงานภาพถ่ายแฟชั่นที่ต้องการรณรงค์ให้คนทั่วไป บริจาคอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายให้กับโรงพยาบาลจุฬาฯ

“เนื่องจากเมื่อปีที่แล้วผมไปนอนเป็นผู้ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ จึงเกิดแรงบันดาลใจมากในเรื่องนี้ ก็เลยทำแฟชั่นเซ็ทอันนี้ขึ้นมา โดยการเชิญเซเลบริตี้ของไทย 10 คนมาร่วมงาน”

การทำงานครั้งนี้ทอมยังได้ไอดอลของเขา มาเป็นผู้ร่วมงาน ขณะที่นิทรรศการจะมีให้ชมในช่วงเดือนมิถุนายน และสถานที่จัดแสดง คาดว่าจะใช้พื้นที่เดียวกันกับนิทรรศการภาพถ่ายชุด Tree



ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It