Art Eye View

เธอมองเห็นขยะ ฉันมองเห็นดอกไม้แย้มบาน “อลิญญะ” ศิลปินลาวในฝรั่งเศส

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—เขาไม่ใช่ชายผู้ชื่นชอบดอกไม้มากเป็นพิเศษ และไม่กล้าบอกใครต่อใครด้วยว่าดอกไม้ของเขาเป็นศิลปะที่สวยงามและสร้างสรรค์เป็นที่สุด เขาแค่อยากใช้มันเป็นสัญลักษณ์กระตุ้นเตือนให้ผู้คนใช้สิ่งต่างๆรอบๆตัวให้คุ้มค่า แม้แต่ขยะที่คิดจะทิ้งไปให้ไกลตัว เขาหวังว่าทุกคนจะมองเห็นความสวยงามในความน่ารังเกียจของมัน

นิทรรศการ Art for the Ocean จัดโดยกลุ่ม Green Peace เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้เราได้รู้จักกับเขา อลิญญะ ศิลปินลาวสัญชาติฝรั่งเศส ผู้นำขยะที่เก็บได้จากท้องทะเลบางแสนโดยเฉพาะขวดพลาสติก มาสร้างสรรรค์เป็นงานศิลปะรูปดอกไม้ เพื่อสะท้อนถึงวิกฤตของขยะที่ส่งผลกระทบต่อท้องทะเลในปัจจุบัน ดังที่มีข้อมูลเผยออกมาว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรมากที่สุดในโลก นอกจากนี้อลิญญะยังป็นวิทยากรในกิจกรรม Workshop การทำงานศิลปะจากขยะ ให้กับผู้ที่สนใจด้วย

วัดจากงานศิลปะเพียงไม่กี่ชิ้นที่นำเสนอในนิทรรศการและกิจกรรมเล็กๆที่เขามีส่วนร่วมในครั้งนี้ Green Peace อาจไม่จำเป็นต้องเชิญให้เขาบินข้ามน้ำข้ามทะลมาไกลจากฝรั่งเศส

แต่เพราะความสนใจเรื่องการทำงานศิลปะจากขยะของอลิญญะที่มีมานานหลายสิบปี อีกทั้งไม่จำกัดอยู่แค่เรื่องขยะจากท้องทะเล ก็เป็นได้


พนักงานจัดร้านขายถ้วยชามในปารีส

“ข่อยหนีจากเมืองลาวไปตอนอายุ 17 ปี ถึงตอนนี้ไปอยู่ฝรั่งเศสได้ 41 ปีแล้ว”

ภาษาลาวสำเนียงเวียงจันทน์ของอลิญญะ ถูกนำมาใช้สื่อสารอีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นเวลา 41 ปีแล้วเช่นกัน ที่เจ้าตัวยังไม่เคยได้มีโอกาส กลับไปเยือนเวียงจันทน์อีกเลย นับตั้งแต่ที่จากไปเมื่อปี 1974 ช่วงเวลาหนึ่งปีก่อนที่คอมมิวนิสต์จะบุกลาว

อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่ทำให้อลิญญะต้องไปฝรั่งเศส แต่เขาไปเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ไปเพื่อหาช่องทางเรียนต่อ หลังจากที่เคยเข้าเรียนที่โรงเรียนของฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่ในกรุงเวียงจันทน์มาหลายปี

เมื่อยังไม่มีเงินเพื่อจ่ายค่าเรียน ชีวิตในช่วงแรกๆของอลิญญะที่ฝรั่งเศส จึงต้องทำงานเป็นพนักงานจัดร้าน ในร้านขายถ้วยชามซึ่งนำเข้าจากเมืองจีน และถือเป็นร้านเดียวในปารีส ณ ขณะนั้น ที่บรรดาร้านอาหารจากทั่วฝรั่งเศสจะต้องมาซื้อถ้วยชามไปใช้งาน

จัดถ้วยชามอยู่หนึ่งปีในเวลาต่อมา จึงมีโอกาสเข้าเรียนด้านการวาดภาพสถาปัตย์ ในโรงเรียนฝึกอาชีพของรัฐบาลฝรั่งเศส และจบออกมาทำงานเป็นผู้ช่วยสถาปนิกในปารีสอีก 1 ปี

กระทั่งพ่อแม่ และสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัวได้ย้ายจากเวียงจันทน์มาอยู่ที่ฝรั่งเศสด้วยกันทั้งหมด แต่ไปอยู่เมืองอื่นที่ไม่ใช่ปารีส เนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสไม่อยากให้มีคนกระจุกตัวอยู่ในปารีสมากเกินไป อีกทั้งการจะหาบ้านเช่าในปารีสก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เธอมองเห็นขยะ ฉันมองเห็นดอกไม้แย้มบาน

แล้วก่อนจะมาเป็นศิลปินที่มุ่งเน้นทำงานศิลปะจากขยะและของเหลือใช้ อลิญญะมาสนใจทำงานศิลปะได้อย่างไร

“อ้ายข่อยเฮ็ดศิลปะ เฮียนศิลปะอยู่ฝรั่งเศส แต่ข่อยบ่ได้เฮียน ข่อยมักศิลปะ มักไปเบิ่ง Exhibition มักแต่บ่กล้าเฮ็ด”

อลิญญะเล่าถึงพี่ชายเขาที่ได้เรียนศิลปะ ขณะที่เขาไม่เรียนมา แต่มีความชอบ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้รับอิทธิพลจากพี่ชายและจากการที่ได้ไปชมผลงานศิลปะที่จัดแสดงในนิทรรศการต่างๆ

หลังจากที่มีแต่ความชอบแต่ไม่กล้าลงมือทำมาโดยตลอด วันหนึ่งสถานการณ์ก็ทำให้ได้ค่อยๆฝึกฝนตนเอง

เนื่องจากอลิญญะไปซื้อบ้านเก่ามาปลูกเพื่ออาศัย แต่เมื่อไม่มีเงินมากพอที่จะซ่อมแซม ปรับปรุง และตกแต่งบ้าน จึงต้องไปเสอะหา และขอซื้อลดราคา บรรดาเศษวัสดุต่างๆ ทั้งเหล็กและไม้ เพื่อนำมาใช้งาน รวมถึงต้องฝึกฝนใช้เครื่องมือ เพื่อลงมือทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง

ช่วงเวลานี้ทำให้อลิญญะหวนนึกถึงอดีตของตัวเอง เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ที่เวลาอยากได้ของเล่นต้องลงมือทำเอง นอกจากจะไม่มีเงินซื้อ สมัยนั้นยังไม่มีร้านขายของเล่น อีกทั้งเศษวัสดุที่ต้องการจะนำมาทำเป็นของเล่นก็ยังมีไม่มาก

“ตอนข่อยเป็นเด็กน้อยอยู่เมืองลาว คนกะบ่มีเงินท่อได๋ บ่มีฮ้านเครื่องเล่น ให้ไปซื้อ แต่เด็กน้อยสมัยนี้ มีฮ้าน มีพ่อแม่ซื้อให้ แล้วสมัยก่อนยังบ่มีเศษเครื่องกระป๋อง (อาหารกระป๋อง) ยังบ่มีหลาย ถ้ามีหนึ่งอันกะเก็บไว้ใช้งานอย่างอื่น

ตอนเป็นเด็กน้อยข่อยมักเฮ็ดเครื่องเล่น เอากระป๋องมาเฮ็ด เอาล้อมาใส่ แล้วกะยู้ไปให้มันแล่น(ผลักหรือลากไปให้มันวิ่ง)”

จนวันหนึ่งได้รู้จักกับเพื่อนที่ทำงานด้านภาพยนตร์ และได้ช่วยทำฉาก ทุกๆครั้งอลิญญะจะเก็บบรรดาเศษวัสดุที่เหลือทิ้งหลังการถ่ายทำภาพยนตร์มาประดิษฐ์เป็นสิ่งต่างๆ ด้วยเช่นกัน

กระทั่งเริ่มมีคนมาจ้างให้เขาทำของตกแต่ง รวมถึงดีไซเนอร์ชื่อดังของอเมริกา ที่นอกจากมาจ้างให้เขาทำโพเดียมให้ยังมายังจากให้ทำต้นไม้ประดิษฐ์จากเศษวัสดุไปโชว์ในงานอีเว้นต์

นับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา เวลาพบเห็นเศษวัสดุอะไร อลิญญะก็มักเก็บมาทำดอกไม้… และดอกไม้

เขาบอกว่าไม่ต้องการเลียนแบบธรรมชาติ แต่ต้องการสื่อให้คนรู้ว่า ของไร้ค่า ที่เราคิดจะทิ้งมันไป หรือที่ถูกทิ้งตามท้องถนน ที่เรารังเกียจ ไม่กล้าหยิบ สามารถเปลี่ยนมาเป็นสิ่งสวยงามได้ และสิ่งหนึ่งที่จะสื่อแทนสิ่งสวยงามได้ดีที่สุดคือ ดอกไม้

“ถ้าข่อยเปลี่ยนให้มันมาเป็นดอกไม้ คนกะอยากซื่นซม อยากเบิ่ง
แล้วถ้าคนได้เบิ่งดอกไม้ของข่อย เขากะสิฮู้สึกว่า โอ้ …แทนที่สิทิ่ม เก็บไว้เฮ็ดแนวได๋ที่มันมีราคาดีกว่า”

ปี 2006 นอกจากไปร่วมเป็นเกียรติ แต่ยังต้องทำหน้าที่ขนดอกไม้ไปเอ้(ตกแต่ง)ในงานดอง(งานแต่งงาน) ของเพื่อนที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี มีแขกคนหนึ่งในงานได้เห็นดอกไม้ของเขาแล้วรู้สึกประทับใจ จึงโทรศัพท์ไปเล่าให้นักจัดงานศิลปะคนหนึ่งฟังและเมื่อนักจัดงานศิลปะคนนั้นได้เข้าไปดูตัวอย่างผลงานของอลิญญะในเวบไซต์ ในเวลาต่อมาจึงเชิญอลิญญะไปแสดงผลงานที่เวนิส ทำให้อลิญญะได้มีโอกาสแสดงผลงานและร่วมกิจกรรมอื่นๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งในอเมริกา เม็กซิโก อังกฤษ ฯลฯ

ไม่ว่าไปเมืองไหน เขาก็จะเก็บขยะหรือวัสดุเหลือใช้ที่พบเห็นเมืองนั้นมาทำเป็นดอกไม้ ดังนั้นเวลาก้มหน้ามองเห็นขยะที่สามารถนำมาใช้งานได้ สำหรับอลิญญะแล้วจึงไม่ต่างอะไรกับการก้มหน้ามองเห็นดอกไม้ที่กำลังแย้มบาน



ขอให้ฉันได้อยู่ท่ามกลางดอกไม้ทะเลที่สวยงาม

กระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมา ชาวฝรั่งเศส ที่ทำงานให้กับ Green Peace ในไทย กลับไปเยี่ยมบ้าน และได้ไปซื้อผลงานดอกไม้ของเขา รวมถึงได้เห็นสวนประติมากรรมดอกไม้ในบ้าน ที่เขากำลังทำอยู่ จึงชวนให้เขามาร่วมกิจกรรมที่เมืองไทย เนื่องจากในปีนี้ Green Peace ทำแคมเปญเกี่ยวกับเรื่องทะเล

อลิญญะไม่รีรอที่จะตอบตกลงเพราะอยากร่วมงานกับ Green Peace มานาน แต่ก่อนหน้านี้ไม่รู้จักกับใครเป็นการส่วนตัว

เมื่อมาถึงเมืองไทยอลิญญะและทีมอาสาสมัคร ได้ลงพื้นที่ที่บางแสน จ.ชลบุรี ขยะที่เขาพบมากที่สุดและเลือกนำมาสร้างงานให้คนได้ชมในนิทรรศการ คือ ขวดน้ำดื่มทำจากพลาสติก ที่บรรดานักท่องเที่ยวโยนทิ้ง

เขานำแหกับไม้ไผ่ มาทำเป็นปลาตัวใหญ่ลอยอยู่ท่ามกลางดอกไม้ทำจากขวดพลาสติกจำนวนมาก

เพื่อรณรงค์ไม่ให้คนทิ้งขยะหรือขวดพลาสติกเหล่านี้ลงทะเล ซึ่งจะทำลายที่อยู่อาศัยของปลา และคล้ายเป็นหนึ่งเสียงแทนปลาว่า “ขอให้ฉันได้อยู่ท่ามกลางดอกไม้ทะเลที่สวยงาม ไม่ใช่ขวดพลาสติก”

“ตอนนี้อาจสิบ่เป็นหยัง แต่ในอนาคตอีกสิบปีซาวปี ทะเลสิยังมีปลาอยู่บ่ กะบ่ฮู้ได้”

ข่อยคือคนๆหนึ่งอยู่ในโลก

เสร็จสิ้นกิจกรรมที่ประเทศไทย อลิญญะจะต้องกลับไปเดินหน้าทำส่วนประติมากรรมดอกไม้ที่บ้านของเขาต่อไป ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองปารีสราว 60 หลัก (กิโลเมตร) และยินดีที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทุกกิจกรรม ที่มองว่าดอกไม้ของเขาจะเป็นเสียงเล็กๆที่ช่วยกระตุ้นเตือนไม่ให้ผู้คนไม่ทิ้งขยะทำลายโลก

ก่อนจากกัน ถามเขาว่าตั้ง 41 ปี แล้ว ที่ไม่ได้กลับลาว มาถึงเมืองไทยใกล้ลาวขนาดนี้ “บ่กลับไปเยี่ยมยามลาวบ่”
อลิญญะบอกว่า เวลานี้เขาไม่มีญาติพี่น้องเหลืออยู่ที่ลาวสักคน และยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นคนของประเทศไหนเป็นพิเศษ อีกทั้งเขาก็ไม่ใช่คนที่มีเชื้อสายลาวโดยตรง เพราะพ่อเป็นคนจีน และแม่เป็นคนเวียดนามที่มาอยู่ประเทศลาว ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ฝรั่งเศส พ่อของเขาเปิดร้านรับถ่ายภาพพอร์ตเทรตและถ่ายภาพแต่งงาน

“แม้ว่าข่อยจากเมืองลาวไปฝรั่งเศส แต่ตามแท้ข่อยก็บแม่นคนลาว ย้อนว่า พ่อแม่ข่อยมาจากเมืองจีน เมืองเวียด
แล้วในชีวิตนี้ข่อยก็บ่เคยไปเมืองจีนจักเทื่อ ข่อยกะบ่ฮู้สึกว่าเมืองจีนเป็นเมืองข่อย แล้วข่อยใหญ่อยู่เมืองลาวกะบ่แม่นเมืองของข่อยคือกัน ย้อนว่าข่อยอยากเรียนหนังสือ ข่อยกะไปเมืองฝรั่ง แต่เมืองฝรั่งกะบ่แม่นเมืองของข่อย

ข่อยคิดว่าข่อยคือคนๆหนึ่งอยู่ในโลก เมืองใดฮับข่อยอยู่ ข่อยกะอยู่ ข่อยอยู่ได้สะดวก กะดีใจอยู่

ข่อยบ่ผูกพันคือคนไทย แม่นอยู่ เพราะว่าเจ้าเกิดเมืองไทย อยู่เมืองไทยตลอด เจ้าก็รู้สึกว่าเมืองไทยเป็นบ้านของเจ้า”

แต่ทุกครั้งที่ไปร่วมกิจกรรมใดๆก็ตาม อลิญญะจะแนะนำตัวเองในฐานะ “ศิลปินลาวจากฝรั่งเศส” ด้วยเหตุผลที่ว่า

“ย้อนว่า ถ้าข่อยบอกคนว่าข่อยเป็นฝรั่ง ข่อยก็เบิ่งบ่คือคนฝรั่ง หน้าข่อยบ่แม่นฝรั่งเด้ (หัวเราะ) ข่อยใหญ่ที่เมืองลาว แต่ข่อยก็บ่แม่นคนลาว ข่อยปากคำลาวกับอ้ายน้องของข่อย ฮู้ว่าเมืองลาวอยู่เอเชีย ข่อยเคยอยู่เมืองลาว 17 ปี ตามแท้คนต้องแนะนำข่อยว่า คนฝรั่งเศสมาแต่เมืองลาว แต่เขาเสนอข่อยคือคนลาวมาแต่ฝรั่งเศส”












ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It