Art Eye View

เปิด 10 ภาพวาดสุดปีติ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ของ “อ.ดินหิน รักพงษ์อโศก”

Pinterest LinkedIn Tumblr


พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่จัดแสดงอยู่ภายใน บริเวณห้องโถง ชั้น 1 หอสมุดกลาง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ที่จุดประกายขึ้นจากความรักและศรัทธาในพระองค์ที่ทุ่มเทพระวรกาย เพื่อความผาสุขของพสกนิกรปวงชนชาวไทย ตลอดระยะเวลาการครองราชย์กว่า 70 ปี โดย ดินหิน รักพงษ์อโศก ศิลปินผู้ชำนาญการวาดภาพเหมือนบุคคลด้วยเทคนิคเฉพาะจากถ่านชาโคล เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานพระราชปณิธานในการสรรสร้างการสาธารณสุขไทยให้ก้าวไกล กับการประมูลภาพวาดในโครงการ “ให้เพื่อสร้าง” กิจกรรมระดมทุนการสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMCH) สู่การเป็นโรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์แบบครบวงจรแห่งแรกของไทย


อาจารย์ดินหิน รักพงษ์อโศก ศิลปินเจ้าของผลงาน เล่าถึงความตั้งใจของการวาดพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในครั้งนี้ว่า เริ่มต้นเขียนรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นเกิดจากความรักและช่วงที่ตนเริ่มเขียนรูปพระองค์เยอะๆ คือช่วงที่พระองค์ประชวร โดยมีเจตนาคือต้องการให้พระองค์ท่านได้เห็นภาพเขียนที่ตนเขียนเสมือนกับการให้กำลังใจพระองค์ท่าน ว่ามีคนที่รักพระองค์เยอะมาก แต่ในช่วงที่เตรียมจะจัดแสดงนั้นเป็นช่วงที่พระองค์เสด็จสวรรคต จึงได้นำภาพวาดที่วาดขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 ภาพ ซึ่งบางส่วนได้นำไปประมูลเพื่อหารายได้สมทบทุนเข้ามูลนิธิต่างๆ และสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่สาธารณะเป็นลำดับต่อไป

นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสที่มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ มีแผนการระดมทุนเงินบริจาค เพื่อเชิญชวนคนไทยร่วมเป็น “ผู้ให้” จัดสร้าง “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” สู่การเป็นโรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์แบบครบวงจรแห่งแรกของไทย ตนจึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมดังกล่าว โดยการนำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ จำนวน 94 ภาพ ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่าหากปัจจุบันพระองค์ท่านยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ทรงครองราชย์อยู่พระชนมพรรษาจะสิริรวมครบ 94 พรรษา มาร่วมจัดประมูลในงาน “ให้เพื่อสร้าง” เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการเป็นผู้ให้ของพระองค์

อาจารย์ดินหิน กล่าวต่อว่า สำหรับภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ที่ใช้จัดแสดงภายใน หอสมุดกลาง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีจำนวนทั้งหมด 84 ภาพ แต่ 10 ภาพที่จัดทำขึ้นพิเศษนั้นจะมีความแตกต่าง ทั้งในเรื่องของสี การเขียนที่มีองค์ประกอบการเล่าเรื่อง โดยตั้งใจที่จะให้เป็นภาพที่มีติดไว้ในทุกๆ บ้าน และให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเป็นผู้ให้และเป็นผู้สร้างโรงพยาบาลดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง และให้คนไทยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมหรือเครื่องมือแพทย์ ที่พัฒนาโดยคนไทยและเพื่อคนไทยอย่างแท้จริง โดยทั้ง 10 ภาพมีรายละเอียดดังนี้


ภาพที่ 1 กษัตริย์ผู้ภูมิธรรม

ภูมิธรรม แปลว่า พื้นใจที่มีคุณธรรม จะบอกว่า “ธรรมทำให้เรามีภูมิคุ้มกัน กับกิเลสก็ได้” เมื่อมากในภูมิ จิตใจก็จะไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง รู้จักเส้นทางแห่งความพอดีหรือมีมัชฌิมวิถีที่ถูกต้อง รู้ฉลาดแยกโลกียโลก และโลกุตระโลกได้ รู้จักระบบทุนนิยม บุญนิยม ความพอเพียงนิยม และธรรมชาตินิยม จิตใจที่ไม่ใหลลงต่ำ จึงจะเห็นความล้ำค่าของต้นข้าว เห็นรากของข้าวที่ติดในดิน และเห็นคุณค่าในพลังแท้ๆ ของแผ่นดิน และเห็นอัตลักษณ์แท้ๆ ในประเทศเราว่าจะไปในทิศทางใน คนที่มีภูมิจึงจะมีการก่อเกิดปัญญาที่เป็นมงคลได้สูงสุด


ภาพที่ 2 พระมหากษัตริย์จอมทัพไทย

ความเป็นจอมทัพ ไม่ได้ประดับด้วยเครื่องเกียรติยศ และอำนาจอันน่ากลัว
กำลังของกองทัพ มาจากความรักของประชาชน จอมทัพจึงได้อาวุธที่ทรงปัญญาจากประชาชน
ทุกคนสามารถเป็นทหารของชาติได้ ทหารไม่ได้หมายถึงได้ยศ ได้เครื่องแบบประดับ
แต่หมายถึง”การทรงไว้ซึ่งระเบียบวินัย”ทั้งตัวเอง คนรอบข้าง และบ้านเมือง
เราอาจรบกัน โลภะ เพื่อชนะความอยากอันไม่สิ้นสุด รบกับโทสะ เพื่อไม่ประทุษร้ายคนที่ร้ายจากกรรมของเขา และสังหารโมหะ ความหลง ความไม่รู้ เช่นเราชนะสิ่งหนึ่ง เพื่อแลกกับภาวะโลกร้อน หรือเพื่อนบ้านลำบาก

…เมื่อจอมทัพปลุกใจทหารของเขา ชาวพาราก็จะโน้มรับคำสั่ง และชัยชนะไม่ใช่ชนะบนความลำบากของผู้อื่น ต้องชนะความยากจน ชนะใจผู้อื่น และดาวที่ประดับไม่ได้อยู่บนบ่า แต่จะอยู่บนท้องฟ้าชั่วกาลนาน


ภาพที่ 3 พระมหากษัตริย์ผู้ไม่แบ่งแยกชั้นวรรณะ

ความอ่อนโยน (มทฺทวํ) มีได้ทั้งในคนระหว่างปัจเจก สังคม หรือแม้นแต่สรรพสัตว์
ความอ่อนโยน จะมีดวงตารอบทิศ มีอัจฉริยกภาพ สังเกตุในสรรพสิ่ง ถือเป็นศิลปะแห่งความรัก
ความอ่อนโยนจะไม่แบ่ง “ชั้น” วรรณะ แม้นสุนัขโปรดของพระองค์ก็ไม่แบ่งชั้นพันธุ์
ไม่ต่างกับเรามองความอ่อนโยนของดอกหญ้า ก็งามเท่าดอกกล้วยไม้ มองทุกชั้นวรรณะของคนเป็น “ประชาชน” ที่รักได้อย่างเท่าเทียมกัน..


ภาพที่ 4 กษัตริย์ผู้บ่มเพาะ “ต้นไม้แห่งปัญญาและความดี”

….วันนี้เราปลูกต้นกล้า วันหน้าต้นกล้าก็จะเติบโต โดยมันจะเป็น….”ต้นไม้แห่งปัญญา”….”และต้นไม้แห่งความดี” จะให้มีปัญญาอย่างเดียวก็จะเห็นแก่ตัว,จะให้มีแต่ความดี พลังปัญญาถึงพึงจะช่วยสังคมส่วนรวมได้มากกว่า ปัญญาและความดี จึงเป็นเหรียญสองด้าน ที่ต้องใช้สลับไปมา เพราะโลกที่เราอยู่ก็มีการสลับสับเปลี่ยนได้ตลอด

…การเห็นความสำคัญของต้นกล้า จึงจะอนุบาลหน่อธรรมเล็กๆให้เติบใหญ่ การอนุบาลเป็นเรื่องยาก เพราะท่านต้องทะนุทะนอม บำรุง ในสิ่งอ่อนแอให้เติบโต เหมือนท่านเริ่มสร้างประเทศ ดั้งเดิมต้องทะนุถนอม เลี้ยงดู บ่มเพาะ จนประเทศแข็งแร็ง จนประชาชนได้ทั้งปัญญาที่ฉลาด และความดีที่ประเสริฐล้ำ


ภาพที่ 5 ธ ทรงเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่

….ผู้นำที่ดี ต้องมีสมาทานอันแน่วแน่ สมาทานแปลว่า”การตั้งใจรับเอาเป็นข้อปฏิบัติ” สมาทานอาจหมายถึงการเปล่งวาจา หรือนึกในใจว่าจะทำอย่างโน้นอย่างนี้ คล้ายกับให้คำมั่นสัญญาทั้งแก่ตนเองหรือผู้อื่นไว้ การสมาทาน จึงเป็นอุบายวิธีให้ประพฤติปฏิบัติเพื่อรักษาคำมั่นสัญญา หรือสัจจะนั้น ให้พูดจริงทำจริง ไม่โลเลเหลาะแหละ เช่นสมาทานธุดงค์ อาจหมายถึงเราอยากจะไปในถิ่นทุรกันดาล ช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่า หรือสมาทานศีล ศีล อาจจะแปลว่านิสัย หรือความประพฤติก็ได้ การอ่อนน้อมถ่อมตน การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง การมีอำนาจอันยิ่งใหญ่แต่มีสมาทานอันยิ่งใหญ่กว่า ล้วนเป็นบุคลิคสูงสุดของผู้นำ


ภาพที่ 6 พระผู้เป็นครูแห่งแผ่นดิน

….ครูที่ดีที่สุด “คือธรรมชาติ” ทั้งธรรมชาติภายนอก และธรรมชาติภายในใจ มนุษย์สร้างขึ้น (artificial) ต้องสมดุลกับจักรวาลเดิมของมัน โลกจึงจะพออยู่ได้ เมื่อเรียนรู้และเข้าใจลึกซึ๊งในธรรมชาติ ถึงจะกำเนิดความ เหนือธรรมชาติ (supernatural) ได้ ความเหนือธรรมชาติคือความ”ศรัทธา”และความศรัทธา มีอำนาจที่จะทำให้โลกนี้พัฒนาทางจริยธรรม มากกว่าบูชาวัตถุ ทรัพย์สิน เงิน หรือเงินดิจิทัล


ภาพที่ 7 สัตบุรุษ ต้องอุดมด้วยความเพียร

สัตบุรุษ ต้องอุดมด้วยความเพียร (ตปํ) คือ ความเพียรพยายามในการทำความสุขเพื่อส่วนรวม ความเพียรนั้น”ต้องลงทุน”แต่เป็นทุนแห่งความเพียรอันแท้จริง เราอาจยอมลงทุนซื๊อกล้องเพื่อหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยสังคม,ลงทุนซื๊อเฟรม ซื๊อดินสอ ผ่านงานศิลปะเพื่อนำศิลปะนั้นช่วยสังคม,ลงทุนสร้างฝาย เขื่อน เพื่อความมั่นคงของแผ่นดิน หรือลงทุนในความเพียรนั้นด้วยสมอง แรงงาน และหัวใจ เพื่อลูกๆ หลานๆ และประชาชน ของเรา หรือของมหาบพิตรของแผ่นดิน


ภาพที่ 8 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นต้นแบบแห่งสัตบุรุษ

เราควรทำตัวเป็นสัตบุรุษ เยี่ยงมหาแห่งสัตบุรุษทำ
ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักเหตุ…..ก็ดุจเรารู้ต้นแห่งทุกข์ในโลก
อัตถัญญุตา เป็นผู้รู้จักผล……ก็ย่อมรู้ว่าผลมาจากกรรมทั้งปวง อันมีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว
อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตน…..เพื่อให้เป็นฐานที่มั่นจะไปรู้จักผู้อื่น
มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ….ก็จะยับยั้งชั่งใจได้ทัน ไม่โดนโลกหลอกเอา
กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาล…..รู้จักปรับตัวให้เข้ากับกาลเวลา ทั้งกาลสมัย และกาลเวลาแห่งชีวิต
ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักบริษัท….ก็รู้จักญาติ สังคม และประเทศ
ปุคคลัญญุตา เป็นผู้รู้จักบุคคล…..เพื่อยกย่องบุคคล และพึงไว้เพื่อรักษาน้ำใจอีกบุคคล หรือปัจจุบันอาจเรียก”อย่าไปบูลลี่เขา”


ภาพที่ 9 จอมกษัตริย์ผู้ทรงธรรม

ธรรมชาตินอกจาก”ไม่เบียดเบียนกัน”ธรรมชาติยังมีความ “เที่ยงธรรม” เช่นควายแม้นโดนโบกโบยจากชาวนา มันก็ไม่ขวิดชาวนา นกกระยางก็กินพออิ่ม ข้าวก็คอตกโอนเอนให้ชาวนาตัดรวงเพื่อนำไปทำประโยชน์ ดอกบัวรอคอยแสงแดดตอนเช้า เพื่อจะผลิบาน ดอกหนึ่งโรยเพื่อสละให้ดอกหนึ่งเด่น แถมฟักยังนำไปบริโภคได้

…สังคมก็ต้อง”ไม่เบียดเบียน”และ”เที่ยงธรรม” ผู้นำที่ไม่เบียดเบียน ประชาชนก็จะเป็นสุข กษัตริย์ที่เที่ยงธรรม ธรรมนั้นก็สว่างสดใส อยู่ร่วมกันได้อย่างมั่งคั่งและยั่งยืน การเบียดเบียนกันและความไม่เที่ยงธรรม เกิดจากคิดเอาชนะ และมองอธรรมเป็นใหญ่กว่าธรรม มองวัตถุว่าสูงกว่าธรรมชาติ จนทำลายความงามในใจมนุษย์


ภาพที่ 10 รอยยิ้มแห่งความปีติ

….เมื่อข้าพเจ้าวาดบรมบพิตรรัชกาลที่ 9 ข้าพเจ้าสะดุดใจว่า พระองค์ยิ้มสรวล แต่ไม่มีรูปทรงหัวเราะเลย
…..การหัวเราะ เป็นอารมณ์ครื้นเครง เช่นท่านดูหนังตลกท่านก็หัวเราะ ท่านเห็นสุนัขแสนรู้ท่านก็หัวเราะ ท่านฟังมุกตลกบางทีท่านก็หัวเราะท้องแข็ง มันเป็นอารมณ์บันเทิงเริงรมย์ชั่วครั้งคราว เป็นเหมือนยากระตุ้นชีวิต
….การยิ้มสรวล(ยิ้มแบบปราชญ์)…..เป็น “อารมณ์แห่งปีติ”…..เช่นท่านช่วยคนแก่เดินข้ามถนน ท่านคงไม่หัวเราะ แต่ท่านจะยิ้มยามคนแก่ให้พร ท่านคงไม่ให้ทานไปหัวเราะไป ท่านก็แค่มีปิติยิ้มที่มุมปาก หรือยิ้มในใจ
***ปีติpiti…คือความดื่มด่ำ มันมีระดับลึกการความขบขันมากมาย
….ความปิติเป็นวิมุติแห่งมรรคได้ ท่านอาจน้ำตาไหลดีใจที่ได้ช่วยคน,ในกายรู้สึกมีคลื่นซัด,ใจฟู ในปิติก็จะมีสมาธิอยู่ด้วยเสมอ
แม้นพระพุทธเจ้าก็ปิติ เมื่อท่านโกฐทัณยะ เข้าใจในธรรมะอันลึกซึ๊งเข้าใจยาก
….มันก็เหมือนพ่อแม่ลูกหลานได้ดี ไม่มีใครหัวเราะ มีแต่นิ่ง และปิติปลิ่มปลื้ม กษัตริย์ที่ดีก็จะ”ทรงปิติ”ซึ่งเราต้องดึงลักษณะนี้ออกมาให้ได้เมื่อครบรอบ60พรรษา การครองราชย์ ประชาชนโห่ร้อง”ทรงพระเจริญ” ใบหน้าของกษัตริย์ก็จะปิติ
เป็นปิติจากการเจริญตามโลกกุตระมรรคนั่นคือภาพพระพักตร์ที่ต้องวาดออกมาให้ได้อย่างลึกซึ๊ง


ทั้งนี้ ภาพผลงานพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ จำนวน 84 ภาพ ได้จัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำหรับ 10 ภาพ ที่จัดทำขึ้นพิเศษจะนำไปร่วมในกิจกรรม “ให้เพื่อสร้าง” งานประมูลภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่5 ธันวาคม 2564 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 6 อาคารปฏิบัติการวิทยุและโทรทัศน์ บมจ. อสมท โดยรายได้ทั้งหมดจากการจัดงานจะนำไปสมทบทุนโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร

นอกจากนี้สำหรับผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการ “ให้เพื่อสร้าง” สนับสนุนการสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร สามารถร่วมบริจาคได้ที่ บัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารฯ ธนาคารกรุงไทย เลขบัญชี 693-0-32393-4 ทั้งนี้ทุกการบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 100% โดยส่งใบเสร็จรับเงินเพื่อใช้เป็นหลักฐานขอลดหย่อนภาษีได้ที่ ไลน์ไอดี @kmitlhospital สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 092-454-8160, 092-548-2640 www.kmchf-pp.org และ www.facebook.com/KMCHospitalbyKMITL

Comments are closed.

Pin It