Art Eye View

“การฟัง ไม่ใช่แค่การเปิดหูสองข้าง” ภาพและเสียงใน “ประสบการณ์หูสู่อาเซียน”

Pinterest LinkedIn Tumblr


การฟังอย่างลึกซึ้ง
จะทำให้เราได้เรียนรู้ถึงตัวตนของเรา…

ART EYE VIEW—ทันทีที่เปิดประตูเข้าสู่ห้องนิทรรศการ สายตาผู้ชมก็ปะทะกับถ้อยคำที่ติดอยู่บนผนัง ซึ่งหยิบยืมมาจากถ้อยคำ ของ ท่านติช นัท ฮันห์ พระภิกษุชาวเวียดนามซึ่งมีชื่อเสียง

ขณะที่บนผนังในจุดอื่นๆของนิทรรศการ ก็จะมีคำจากนักคิด นักเขียน พระภิกษุรูปอื่น ตลอดจนคำจาก สุภาษิต คัมภีร์อัลกุรอาน คัมภีร์ไบเบิ้ล ที่เกี่ยวเนื่องกับการฟังติดให้ได้หยุดอ่าน หยุดครุ่นคิด อยู่เป็นระยะๆ

สำหรับนิทรรศการ ประสบการณ์หูสู่อาเซียน หรือ AS((EAR))N ที่กำลังจัดแสดงให้ชม ณ มิวเซียมสยาม

นิทรรศการที่เสียงและภาพเคลื่อนไหว ถูกนำมาจัดแสดงในรูปแบบการจัดวางเสียง(sound installation) อีกทั้งยังมีการเสนอสื่อสารสนเทศในรูปแบบแผนที่ปฏิสัมพันธ์ออนไลน์ (onlion interactive) ซึ่งจะมีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยตลอดช่วงเวลาการจัดนิทรรศการ ที่ยาวนานถึง 4 เดือนเต็ม


ดร.อโณทัย นิติพน รองคณบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ส่วนหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันด้านดนตรี ที่มีส่วนร่วมคิดและนำเสนอผลงานผ่านนิทรรศการในครั้งนี้ร่วมกับท่านอื่นๆจากมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนด้านดนตรี และศิลปินที่ทำงานด้านการจัดวางเสียงจากหลายประเทศในอาเซียน

กล่าวเอาไว้ว่า “การเดินทางของผู้ฟัง ผ่านประสบการณ์และเรื่องราวเสียงอันหลากหลาย (ในนิทรรศการครั้งนี้) อาจช่วยให้เราได้รู้จักอาเซียน มิเพียงเสียงที่เราคุ้นเคย แต่รวมไปถึงเสียงที่มีความแตกต่าง และทำให้ประสบการณ์หูของเรา นำพาเราไปสู่อาเซียน ที่ความเข้าใจเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการฟังและการรับรู้อย่างเปิดใจ”

ตัวอย่างภาพและเสียงที่ถูกจัดวางให้ชมนิทรรศการได้แก่ ภาพยนตร์สารคดี ความยาว 82 นาที ผลงานร่วมกำกับและผลิตโดย วราลักษณ์ หิรัญเศรษฐวัฒน์ เอเวอรี และเดวิด รีฟ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของเสียงดนตรีและสิ่งแวดล้อมต่างๆผ่านชีวิต 9 ศิลปินอิสระ ที่ผูกพันกับดนตรีในกรุงเทพฯและภาคอีสาน ผู้อยู่นอกวงการดนตรีกระแสหลักในประเทศ

ภาพและเสียง ขณะการออกกำลังกายยามเช้าที่สวนเลนิน กรุงฮานอย  ซึ่งการออกกำลังกายยามเช้ากำลังเป็นแฟชั่นในเมืองใหญ่ของเวียดนาม เพลงที่ใช้สำหรับการออกกำลัง มักจะดังมากและเป็นจังหวะที่กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหว มักจะสลับไปมาระหว่างเพลงป็อบรุ่นดั้งเดิม ดิสโก้ หรือเพลงเต้นรำ

เราจะเห็นภาพเหล่านี้ทุกที่ในช่วงเวลาตีสี่ถึงหกโมงเช้า โดยเฉพาะในสวนสาธารณะใหญ่ๆ เสียงเพลงดังๆเหล่านี้กลายเป็นภาพลักษณ์ของเสียงเมืองในเวียดนาม การบันทึกเสียงที่ถูกนำมาจัดวางในนิทรรศการครั้งนี้ บันทึกจากสวนที่เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในฮานอย เป็นที่ซึ่งอนุสาวรีย์เลนินเผชิญหน้ากับเสาธงเวียดนาม อันนับเป็นสัญลักษณ์สองประการของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม

เสียงหายากของชนกลุ่มน้อยในประเทศกัมพูชา ตัวอย่างเช่น เสียงของดนตรีขแมร์ เสียงต่างๆจากยุคทองแห่งความรุ่งโรจน์ จนกระทั่งภูมิทัศน์ทางเสียงของปัจจุบัน โดยสองศิลปินนักจัดวางเสียง Saphy Vong และ Julien Hairon ได้มาจากชาวกัมพูชาที่รักและภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมอันรุ่มรวยของตน

รวมไปถึง เสียงของป่าเขตร้อนในมาเลเซีย นาข้าวในพม่า วัดในลาว มัสยิดในบรูไน รถไฟใต้ดินในสิงคโปร์ นอกหน้าต่างตึกในอินโดนีเซีย ตลาดของไทย ท้องถนนของกัมพูชา มอเตอร์ไซด์ในเวียดนาม และบทเพลงของกลุ่มชาติพันธุ์ในฟิลิปปินส์

“สรรพเสียงของอาเซียน มิเพียงร้อยเรียงท่วงทำนองของวิถีชีวิตและผู้คนที่มีวัฒนธรรมอันหลากหลาย ทว่าเสียงของอาเซียน ยังได้เชื่อมต่อกาลเวลาของอดีต กับปัจจุบัน เมืองกับชนบท ผู้คนที่แตกต่างกับเรื่องราวที่คล้ายคลึง

ประสบการณ์หูสู่อาเซียน หรือ AS((EAR))N อาจช่วยให้เราได้ย้อนรำลึกประสบการณ์ของภูมิภาคอาเซียนผ่านความทรงจำของหู เสียงที่คุ้นเคย อาจมาจากที่ที่ห่างไกลไปกว่าพันกิโลเมตร บทเพลงที่ฟังดูแตกต่าง อาจมาจากคนที่อยู่ข้างเรา และเมื่อเราเปิดหูฟังเสียงของผู้คน ดนตรี เมือง ธรรมชาติ อย่างตั้งใจ ไร้อคติ การเดินทางของเสียง ก็จะพาเราไปรู้จักกับอาเซียนที่หลากหลายและคุ้นเคย อีกทั้งเป็นของเราทุกคนอย่างเท่าเทียม”

นิทรรศการจัดวางเสียง ประสบการณ์หูสู่อาเซียน หรือ AS((EAR))N จัดแสดงระหว่างวันนี้ – 20 ธันวาคม พ.ศ.2558 ณ มิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณธ์การเรียนรู้แห่งชาติ ถนนสนามไชย (ใกล้วัดโพธิ์)

นอกจากนี้ในทุกวันอาทิตย์ระหว่างการจัดแสดงนิทรรศการ ยังมีกิจกรรม อาทิ การแสดง การบรรยาย การสาธิต การนำเสนอภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับนิทรรศการ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปตามรายละเอียดได้ทาง www.asearn.com

และเจ้าจงก้าวเท้าของท่านพอประมาณ และจงลดเสียงของเจ้าลง แท้จริง เสียงที่น่าเกลียดยิ่งคือเสียง(ร้อง)ของลา

อัลกุรอาน,ชูเราะห์ ลุกมาน 31:19






ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It