Art Eye View

The Sound of Forest ศิลปะชิ้นแรกในชีวิต "โก้ มิสเตอร์แซกแมน"

Pinterest LinkedIn Tumblr

พรมที่ออกแบบโดย เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ,วรรณสิงห์ ประเสิรฐกุล และฮิวโก้ จักรพงษ์
ART EYE VIEW“ศิลปะสนามสี พรมสื่อศิลป์ เพื่อผืนป่า” คือนิทรรศการแสดงผืนพรมที่ได้รับการออกแบบจากบุคคลที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายวงการ

และเหล่านี้คือตัวอย่างผืนพรมที่ได้รับการออกแบบโดย โก้ มิสเตอร์แซกแมน,เป้ สีน้ำ, เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ,วรรณสิงห์ ประเสิรฐกุล,ฮิวโก้ จักรพงษ์,นิติพันธุ์ ดารกานนท์,ดร.สิงห์ อินทรชูโต และเป้ อารักษ์

กำลังจัดแสดงให้ชมระหว่างวันนี้ -30 ตุลาคม 2558 ณ ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจะมีการประมูลในวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

เพื่อหารายได้สมทบทุนการสร้างอาคารปฎิบัติงานเพื่อหน่วยพิทักษ์ป่าพะบ่ง อันจะก่อเกิดประโยชน์ในการรักษาผืนป่าและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

เนื่องจากบริเวณโดยรอบพะบ่ง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เป็นพื้นที่สุดท้ายก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นจุดล่อแหลมที่เสี่ยงต่อการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าเป็นอย่างยิ่ง จำเป็นต้องส่งชุดลาดตระเวณเข้าไปปฏิบัติงานประจำบริเวณจุดสะกัดพะบ่ง

แต่จนทุกวันนี้ยังไม่มีที่พักหรือแม้แต่สำนักงาน จะมีเพียงแต่ที่พักชั่วคราวที่ทำขึ้นมาเองเท่านั้น ด้วยอุปสรรคเรื่องวัสดุอุปกรณ์ กระทั่งเงินทุนในการก่อสร้าง จึงทำให้จุดสะกัดดังกล่าว ยังไม่สามารถก่อสร้างอาคารสำนักงานเพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น

จึงเป็นที่มาที่ทำให้ PASAYA,มูลนิธิป่าเขตร้อน,มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร,ธนาคารไทยพาณิชย์ ฯลฯ เชิญ นักร้อง นักแสดง จิตรกร นักธุรกิจ และนักกิจกรรมเพื่อสังคมมาร่วมกันออกแบบพรมเพื่อประมูลหารายได้

The Sound of Forest  ของ โก้ มิสเตอร์แซกแมน
ตรงกลาง ของ เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ
The Sound of Forest หรือ เสียงจากผืนป่า คือชื่อผลงานออกแบบผืนพรม โดย โก้ มิสเตอร์แซกแมน ที่เจ้าตัวกล่าวว่าเป็นงานศิลปะชิ้นแรกในชีวิต

“อย่างที่ทราบกันดีถึงหัวใจของมูลนิธิ หัวใจของคุณสืบ ซึ่งสานต่อมาถึงคนรุ่นหลัง เป็นหัวใจอนุรักษ์ ที่อยากจะพูดแทนสิ่งมีชีวิตในผืนป่า ทั้งสัตว์ป่าและต้นไม้ทุกๆต้น

ผมออกแบบพรมชิ้นนี้ด้วยโทนสีที่เป็นธรรมชาติ ทั้งน้ำตาล เขียว ในหลายๆเฉดสีด้วยกัน เรียกว่าเป็นพรมพิเศษผืนแรกในชีวิตที่ผมมีโอกาสหรือจะบอกว่าเป็นงานศิลปะชิ้นแรกในชีวิตก็ว่าได้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ร่วมสร้างบุญกุศล และได้สืบต่อเจตนารมย์ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรครับ”

ขณะที่ เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ ผลงานออกแบบผืนพรมของเธอถูกตั้งชื่อว่า ตรงกลาง ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอะไร นักแสดงสาวชื่อดังอธิบายไว้ว่า

“คำว่าตรงกลางนี้มีที่มาจากมุมมองของชีวิตเราทุกๆคน ที่ต้องเจอทั้งเรื่องร้ายและดีผสมปนเปกันไป หากเปรียบเป็นสีสันที่อยู่บนพรมผืนนี้ คงจะพูดได้ว่าชีวิตคนเราไม่ได้เป็นสีขาวหรือสีดำเสมอไป เราอาจจะได้พบเจอทั้งสองด้านเป็นเหมือนสีเทาที่ผสมเอาด้านทั้งสองเข้าด้วยกัน เรียกว่า “เป็นตรงกลาง” นั่นเองค่ะ

โครงการนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่า และจำเป็นต้องมีคนดูแล รายได้ทั้งหมดจากการประมูลจะมอบให้หน่วยพิทักษ์ป่าพะบ่ง อยากชวนทุกๆคนที่มีใจอนุรักษ์มาช่วยกันเพื่อผืนป่าของเราทุกคนค่ะ”

รวมไปถึง พัทยา ผลงานออกแบบพรมของ ฮิวโก้และฮาน่า จักรพงษ์ “พัทยา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯที่สุดแล้วบรรยากาศที่คลาสสิคที่สุดสำหรับคนที่ไปเที่ยวทะเลก็คือ ภาพพระอาทิตย์ตอนกำลังจะตกดิน ณ จุดที่สีของดวงอาทิตย์ ท้องฟ้า และน้ำทะเลมันไล่เฉดเข้าหากัน จนถึงจุดตัดที่เป็นเส้นขอบฟ้า เป็นภาพที่ได้อารมณ์เหมือนภาพถ่ายในโปสการ์ด

เมื่อป่าสูญเสียหรือเสื่อมโทรมลงไป มันก็ยากที่จะฟื้นฟูกลับมา โครงการนี้ได้ผสมผสานแนวคิดเรื่องของศิปละและการอนุรักษ์ธรรมชาติเข้าด้วยกันอย่างลงตัว จึงอยากจะเชิญชวนทุกคนให้มาชมผลงาน และช่วยประมูลกันเยอะๆครับ”

นอกจากนี้ภายในนิทรรศการยังจัดแสดงพรมที่ได้รับการออกแบบจากคนดังอีกหลายคน ได้แก่ โน้ต วัชรบูล,ติ๊ก ชีโร่,ท๊อบ พิพัฒน์ และ นุ่น ศิรพันธ์,ทฤษฎี ณ พัทลุง,ป๊อด โมเดิร์นด๊อก,ชฎาทิพ จูตระกูล,จิระนันท์ พิตรปรีชาและชเล วุทธานันท์
พัทยา ของ ฮิวโก้และฮาน่า จักรพงษ์
พรมที่ออกแบบโดย เป้ สีน้ำ และ โก้ มิสเตอร์แซกแมน
ผู้ที่แวะไปชมนิทรรศการมาแล้ว คงอดรู้สึกไม่ได้ว่ากำลังเดินชมนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะแนวนามธรรม (Abstract Art) และคงสงสัยด้วยว่า ศิลปะสนามสี  ซึ่งถูกนำมาตั้งเป็นชื่อนิทรรศการ หมายความว่าอย่างไร

ศิลปะสนามสี เป็นแนวคิดของศิลปะที่พัฒนามาจากศิลปะ Abstract Expressionism (ค.ศ.1940-1950) ซึ่งปรัชญาของศิลปะสนามสีถูกกระตุ้นโดยอารมณ์ความรู้สึกลึกๆของจินตนาการที่กล้าหาญ ท้าทาย กล้าแสดงออกถึงความรู้สึกภายในจิตสำนึกส่วนลึกของมนุษย์ โดยใช้สีเป็นสื่อแห่งจินตนาการ

รูปแบบที่โดดเด่นของศิลปะสนามสีคือ การจัดรูปแบบของสีบนพื้นที่ขนาดใหญ่ แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกของศิลปิน แต่ศิลปินไม่ได้กำหนดโครงร่างหรือรูปแบบของงาน โดยเชื่อว่าสีสามารถอธิบายอารมณ์และความรู้สึกได้ด้วยตัวของมันเอง เหมือนกับประโยคที่ว่า

“สีเป็นอิสระจากความเป็นรูปธรรมและกลายมาเป็นนามธรรมในตัวมันเอง”

Barnett Newman ศิลปินที่มีชื่อเสียงในศิลปะกลุ่มนี้ ได้สร้างผลงานที่แสดงถึงภาพลวงตาที่ไม่ซับซ้อน เป็นการนำเสนอความคิดริเริ่มที่โดดเด่นของเขา

และ Mark Rothko ศิลปินที่มีชื่อเสียงในกลุ่มศิลปะสนามสีอีกคนหนึ่ง จุดเด่นในงานของเขาคือ ความสมดุลของรูปทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งคนจำนวนมากได้ให้คำอธิบายว่า เป็นความยอดเยี่ยมเหนือธรรมชาติ แต่สำหรับตัวเขาเองคิดว่า เขาต้องการสื่อสารสิ่งที่เป็นอารมณ์ทั่วไปของมนุษย์ เช่น ความเศร้า ความปลาบปลื้มปิติ ความโชคร้าย ความหายนะ

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ.2015 ผลงานของเขาที่มีชื่อว่า Untitled ถูกประมูลขายที่นิวยอร์กราคา 46.5 ล้านเหรียญ และผลงาน No.10 ถูกประมูลขายในวันถัดมาด้วยราคา 82 ล้านเหรียญ ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ.2012 ผลงานของเขาที่มีชื่อว่า Orange,Red,Yellow ถูกขายไปด้วยราคา 88.86 ล้านเหรียญ และผลงานที่มีค่าสูงที่สุดในบรรดางานของเขาชื่อ No.6 ถูกขายไปในราคา 186 ล้านเหรียญ เมื่อปี ค.ศ.2014
 
ภาพโดย  ART EYE VIEW


พรมที่ออกแบบโดย นิติพันธุ์ ดารกานนท์,ดร.สิงห์ อินทรชูโต และเป้ อารักษ์
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It