ART EYE VIEW—ซ้ายมือคือ เปี๊ยก โปสเตอร์ หรือ สมบูรณ์สุข นิยมศิริ อดีตคนเขียนโปสเตอร์ภาพยนตร์ และอดีตผู้กำกับภาพยนตร์ วัย 83 ปี ขวามือคือ ชวนะ บุญชู อดีตคนเขียนโปสเตอร์ภาพยนตร์ วัย 73 ปี
ในช่วงเวลาที่ โปสเตอร์ภาพยนตร์ หรือ ใบปิดหนัง ประเภทที่ต้องเขียนด้วยมือได้รับความนิยม ทั้งสองท่านนี้ต่างก็เป็นผู้ที่หลายคนคุ้นหูกันดี ในฐานะ “มือฉมังใบปิดหนัง”
โดยเฉพาะชวนะนั้น มีโอกาสได้เห็นผลงานและมีความชื่นชมในฝีมือของเปี๊ยก หรือ “พี่เปี๊ยก” ที่เขาเรียกขาน มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ตัวเขาเองยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยม กระทั่งทำงานเป็นคนเขียนใบปิดหนัง เปี๊ยกก็ยังเป็นหนึ่งในจำนวนคนต้นแบบ สำหรับเขา
อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาหลายปีที่ทำงานเป็นคนเขียนใบปิดหนัง ทั้งคู่ไม่เคยมีโอกาสพบ หรือรู้จักกันเป็นการส่วนตัว
เพียงแต่คุ้นชื่อและเคยเห็นผลงานของกันและกัน ในยามที่มีปิดหนังใหม่ๆออกมาโฆษณาหนังเรื่องใหม่ๆที่กำลังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์
“ผมเพิ่งมารู้จักเขาที่งานนี้ เพิ่งรู้จัก จริงๆ สมัยก่อน ต่างคนก็ต่างเขียนงานของตัวเองออกมา ช่วงนั้น ชีวิตเราไม่ค่อยได้มีโอกาสจะได้ไปสังสรรค์อะไรกับใครที่ไหนหรอกครับ หัวปักหัวปำอยู่กับงานด้วยกันทั้งคู่ แต่เคยเห็นผลงานของเขามาก่อน”
เปี๊ยกบอกเล่า ในวันที่ถูกเชิญมาเป็นประธานเปิดนิทรรศการแสดงใบปิดหนัง ณ ART Café By Brown Sugar ซึ่งเป็นผลงานในอดีตของชวนะ และถือเป็นโอกาสมาพบปะกับเพื่อนพ้องในวงการภาพยนตร์ หลังจากที่โบกมือลาอาชีพคนเขียนใบปิดหนังและผู้กำกับ ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
“ผมเลิกเขียนโปสเตอร์หนังมานานมากแล้ว และช่วงนึงก็ไปทำหนังอยู่นาน 30-40 ปี จนไปอยู่ปากช่องนานกว่า 20 ปีแล้ว ครั้งนี้นอกจากมาเป็นประธานก็เลย อยากจะมาเจอพรรคพวกกันบ้าง พรรคพวกเก่าๆ นักแสดงเก่าๆ”
ปัจจุบันเปี๊ยกหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างเขียนภาพเหมือนบุคคล และเมื่อประมาณ 5- 6 ปี ก่อน มีโอกาสรื้อฟื้นความหลังของตัวเองอยู่บ้าง เมื่อถูกว่าจ้างให้เขียนใบปิดหนังให้กับภาพยนตร์เรื่อง “ฟ้าทะลายโจร”
“มีรายได้จากการเป็นช่างเขียน เขามาจ้างเขียนรูปคน โดยมากจะเป็นรูปเขาบ้าง รูปญาติเขาบ้าง เขียนเสร็จเขาก็เอาไป ผมจึงไม่มีงานเก็บไว้ที่บ้าน”
เปี๊ยกกล่าวว่า เมื่อครั้งที่ตนยังทำงานเป็นคนเขียนปิดหนัง ไม่เคยคิดว่า ในวันหนึ่งใบปิดหนังจะถูกนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการให้คนทั่วไปได้ชม
“ตอนที่เราทำงานเป็นคนเขียนใบปิดหนังอยู่ ก็ไม่ได้มีใครมองเห็นอะไรตรงนี้นะ เพราะมันก็มีออกมาให้เราเห็นอยู่เรื่อยๆ แต่ตอนหลัง วัฒนธรรมของการโฆษณาหนังมันเปลี่ยนไปแล้ว ใบปิดหนังในปัจจุบันมันกลายเป็นงานกราฟิกที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำมากกว่า การเขียนใบปิดหนังแบบเดิมก็เลยหายไป และเมื่อ มีคนส่วนหนึ่งในปัจจุบัน มองว่า แบบเดิมมันไม่มีอีกแล้วนะ มันก็เลยมีคุณค่าขึ้นมา”
เมื่อมายืนมองใบปิดหนังเก่าๆผลงานของอดีตเพื่อนร่วมวงการ ทำให้เปี๊ยกระลึกถึงความหลังของตัวเองเมื่อครั้งมีอาชีพเป็นคนเขียนใบหนัง ที่แม้จะไม่มีเงินไม่มีเกียรติ แต่ก็เป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่ได้ทำงานด้วยความสนุกและท้าทาย
“มันสนุก มันมันส์ครับ เพราะมันจะมีรูปแปลกๆมาให้เราเขียนอยู่เรื่อยๆ รูปที่ปกติ ถ้าไม่มีคนมาจ้างเราไม่ได้คิดที่จะเขียน พูดง่ายๆเขามีโจทย์มาให้เรา มันท้าทาย”
ขณะที่ชวนะก็รู้สึกไม่แตกต่างไปจากนี้ “ผมก็คล้ายๆพี่เปี๊ยก และตอนนั้นเรื่องเงินก็ไม่ได้คิดถึงมันเท่าไหร่ คิดแต่ว่าได้เขียนใบปิดหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่ามันสนุก เป็นมันเป็นไปตามที่เราปรารถนาที่จะเขียน คิดแค่นั้น”
นอกจากจัดแสดงใบปิดหนัง ที่เมื่อหลายปีก่อน หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เคยนำผลงานของชวนะมาจัดแสดงแล้วครั้งหนึ่งผ่านนิทรรศการ “ใบปิดจิตรกรรม ชวนะ บุญชู” ในครั้งนี้ชวนะยังมีผลงานภาพวาดธรรมชาติ ในแนวเหมือนจริง (realistic ) ชุด ทวิภพแห่งธรรมชาติ ที่เขาหันมาฝึกฝนเมื่อหันหลังให้กับอาชีพคนเขียนใบปิดหนัง มาจัดแสดงในวาระเดียวกันด้วย
“ผลงานใบปิดหนังที่เอามาโชว์ให้ชมพร้อมๆกัน เพราะเพื่อนเขาแนะนำว่าแสดงงานทั้งที ก็น่าจะเอางานที่เราเคยทำในอดีตมาแสดงด้วย แต่ใจจริง โดยความตั้งใจของผมแล้ว ผมต้องการโชว์ผลงานภาพวาดธรรมชาติที่ตัวเองทำอยู่ในปัจจุบันมากกว่า
เรารู้สึกภูมิใจ ที่เราสามารถจะเขียนมันได้ ทั้งที่เราไม่ได้เรียนมา เราฝึกฝนด้วยตัวเอง ส่วนที่เลือกเขียนภาพธรรมชาติในแนวเหมือนจริง เพราะเป็นแนวที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงมันได้ไม่ยาก ไม่ต้องมีใครมายืนอธิบาย”
ภาพวาดธรรมชาติแต่ละภาพ สะท้อนตัวตนของชวนะในแง่ที่เป็นคนชอบเดินทางและรักธรรมชาติได้เป็นอย่างดี สถานที่ๆปรากฏในภาพวาด ล้วนแต่เป็นสถานที่ๆเขาเคยเดินทางไปสัมผัสมาแล้ว เกือบทั่วประเทศไทย
“อยากจะให้คนที่มาชมผลงานของผม ซึ่งเป็นภาพวาดเกี่ยวกับธรรมชาติ รู้สึกรักธรรมชาติและช่วยกันอนุรักษ์ให้ธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติตามป่าเขา หรือทะเล ”
เปี๊ยกเอ่ยว่า รู้สึกชื่นชมที่ชวนะสามารถฝึกฝนจนสามารถวาดภาพได้ขนาดนี้ ขณะที่ตัวเขาเองยอมรับ คงไม่มีโอกาสแสดงงงานในลักษณะนี้ ในช่วงบั้นปลายของชีวิต เพียงได้หาเลี้ยงชีพด้วยการรับวาดภาพเหมือนบุคคลไปเรื่อยๆก็พอใจและมีความสุขแล้ว
“ไฟมันมอดแล้วล่ะครับ เราอายุขนาดนี้ จะ 84 ปีแล้ว เราก็รู้สึกทึ่งครับว่าแม้จะเลิกเขียนใบปิดหนังแล้ว แต่ชวนะเขายังสามารถพัฒนาตัวเอง ด้วยการหันมาเขียนงานในเรียลลิสต์ติกได้ลึกซึ้งขนาดนี้ และผมไม่เคยเห็นมาก่อน”
โปสเตอร์ภาพยนตร์ หรือ ใบปิดหนัง ผลงานในอดีตของ ชวนะ บุญชู ณ ART Café By Brown Sugar ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ขณะที่ ภาพวาดธรรมชาติชุด ทวิภพแห่งชาติ ผลงานในปัจจุบัน ของ ชวนะ บุญชู จัดแสดง ณ พีเพิ่ลส์ แกลเลอรี่ ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ระหว่างวันนี้ – 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2558
รายงานโดย อ้อย ป้อมสุวรรณ ภาพถ่ายโดย ART EYE VIEW และชาญชัย แซ่ฉั่ว
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.