Art Eye View

พ่อยังอยู่ในคำสอน “ผมรักในหลวง กิตติ พลศักดิ์ขวา”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—แม้จะไม่มีโอกาสถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท แต่การได้ศึกษาพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ตลอดจนพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็สามารถทำให้ชีวิตของใครหลายคนเปลี่ยนแปลงมาแล้วจำนวนไม่น้อย

รวมถึงชีวิตของคนทำงานศิลปะอย่าง กิตติ พลศักดิ์ขวา ที่ไม่เพียงทุกวันนี้เขาจะยึดพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์ท่านเป็นหลักในการดำเนินชีวิตในหลายๆด้าน

เขายังเปลี่ยนแปลงตัวเองจากคนเขียนภาพที่ถ่ายทอดเรื่องราวหลากหลาย มามุ่งมั่นเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่านเป็นหลัก

หลังจากที่ช่วงเวลาหนึ่งมีเหตุให้ต้องศึกษาพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส เพื่อเป็นข้อมูลและแรงบันดาลใจในการเขียนภาพส่งประกวด

“ผมเรียนจบศิลปะจากเพาะช่าง พอเรียนจบก็ทำงานเขียนภาพ ก่อนหน้านี้ประมาณปี 2538-2539 เคยทำงานเขียนภาพอยู่ที่มาบุญครอง

หลังจากนั้นหยุดเขียนภาพไปหลายปี เพราะตกงานและรู้สึกเบื่อด้วย ต่อมาพอได้ทราบข่าวว่า วุฒิสภา จัดประกวดเขียนภาพ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ของพระองค์ท่าน เพื่อนำภาพที่ชนะการประกวดไปติดตั้งที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ช่วงเวลานั้นมีโครงการจะทำรัฐสภาแห่งใหม่แถวพระราม 5 จึงตัดสินใจเขียนภาพส่งเข้าประกวด”

ปรากฏว่าภาพเขียนที่กิตติส่งเข้าประกวดเวทีดังกล่าว ซึ่งจัดประกวดในหัวข้อ “84 พรรษา ธรรมราชา ประชาธิปไตย” เพื่อสะท้อนความจงรักภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 2 เป็นภาพเขียนที่ต้องการจะสื่อว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานอย่างหนักตั้งแต่เช้าจรดค่ำ และสื่อถึงความเป็นชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ไว้ในภาพเดียว

แม้ว่าการประกวดจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ด้วยความที่ยังประทับใจในพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ส่งผลให้กิตติยังคงมุ่งมั่นที่จะเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่านต่อไปและต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

“เพราะยิ่งศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านมากเท่าไหร่ ยิ่งรู้สึกประทับใจ และอยากให้ผลงานศิลปะของเราเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ด้วย”

“การทำงานใดๆ ไม่ว่าเล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก ถ้าย่อหย่อนจากความเพียรแล้ว ยากที่จะให้สำเร็จเรียบร้อยทันเวลาได้ การฝึกฝนความเพียร ถึงหากแรกๆจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยลำบาก แต่พอได้เพียรจนเป็นนิสัยแล้ว ก็จะกลับมาเป็นพลังอย่างสำคัญ ที่คอยกระตุ้นเตือนให้ทำงานอย่างจริงจังด้วยใจร่าเริง และเมื่อใดพลังของความเพียรนี้เกิดขึ้น เมื่อนั้นการงานทั้งหลายก็สำเร็จได้โดยง่ายดายและรวดเร็ว” พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ สวนอัมพร เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2522

พ.ศ.2558 กิตติได้รับการสนับสนุนจาก จิระพันธ์ อุลปาทร ประธานกรรมการบริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวกับงานช่างเป็นหลัก ให้เขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ ชุด “วิชางานช่าง” จำนวน 12 ภาพ ที่สะท้อนพระอิริยาบถของพระองค์ท่านขณะทรงงานช่าง เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา ในปี 2559 และในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย”

นอกจากผลงานชิ้นออริจนอล พระบรมสาทิสลักษณ์ชุดนี้ยังถูกทำเป็นสำเนาจำนวนหลายชุด ด้วยเทคนิคพิมพ์ลงบนผ้าใบ เพื่อนำไปติดแสดงตามหน่วยงานราชการและองค์กรสำคัญภาคเอกชนอีกหลายแห่ง ได้แก่ มูลนิธิพระดาษส, กระทรวงแรงงาน,สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ,กระทรวงอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งมีการจัดพิมพ์เป็นปฏิทินประจำปี พ.ศ.2559 จำนวน 50,000 ชุด

“ปฏิทินชุดนี้ถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อให้พระองค์ท่านทอดพระเนตร และทรงให้สำนักราชเลขาธิการมีจดหมายตอบกลับมาว่า ทรงขอบใจ ดังนั้นการได้มีโอกาสเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ชุดนี้จึงเป็นอะไรที่สูงสุดในชีวิตของผม”

ภาพโดย : อิทธิศักดิ์ บุบปราศรัย
ในปีเดียวกัน กิตติยังได้มีโอกาสเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ชุด “คู่พระบารมี จักรีเกริกฟ้า” เพื่อจัดทำเป็นปฏิทินแขวนของธนาคารออมสิน และถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อให้พระองค์ท่านและพระบรมวงศานุวงศ์ทอดพระเนตร ด้วยเช่นกัน ซึ่งภาพต้นแบบที่กิตติใช้ในการเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ชุดนี้ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์เดียวกันกับที่ถูกอัญเชิญไปตีพิมพ์เป็นปกนิตยสาร Point De Vue ของฝรั่งเศส ฉบับพิเศษ วันที่ 19 – 25 ตุลาคม เพื่อร่วมน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัย การเสด็จสวรรคตของพระองค์ท่าน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา
“ชาติบ้านเมืองประกอบด้วยนานาสถาบัน อันเปรียบได้กับอวัยวะทั้งปวง ที่ประกอบกันขึ้นเป็นชีวิตร่างกาย ชีวิตร่างกายดำรงอยู่ได้ เพราะอวัยวะใหญ่น้อยทำงานเป็นปรกติพร้อมกันอย่างไร  ชาติบ้านเมืองก็ดำรงอยู่ได้เพราะสถาบันต่าง ๆ ตั้งมั่นและปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยพร้อมมูลอย่างนั้น” พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  พระราชทานแก่ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และอาสาสมัครพลเรือนในพิธีตรวจพลสวนสนาม ในงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2514

และหากย้อนเวลากลับไปราว 3 เดือน ก่อนการเสด็จสวรรตของพระองค์ท่าน กิตติยังได้จัดทำหน้าเพจ facebook ผมรักในหลวง กิตติ พลศักดิ์ขวา นอกจากเพื่อเป็นการเผยแพร่พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่านที่เขาเคยเขียนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเป็นการสะท้อนความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาของเขาในฐานะพสกนิกรชาวไทยคนหนึ่งที่มีต่อพระองค์ท่านดังชื่อเพจ ยังเพื่อร่วมเป็นอีกช่องทางในการเผยแพร่พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน

“ผมเป็นคนบ้านนอกครับ รู้สึกอย่างไรกับพระองค์ท่านก็พูดตรงๆ ก็เลยตั้งชื่อเพจว่า ผมรักในหลวง กิตติ พลศักดิ์ขวา

ผมยังมีโครงการที่จะทำหนังสือรวมพระบรมสาทิสลักษณ์,พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส เพื่อเทิดเพระเกียรติพระองค์ท่านด้วย เป็นโครงการที่คิดจะทำมาก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคต และอยากจะเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ชุด “วิชางานช่าง” ขึ้นมาอีกชุด เพื่อหารายได้มอบให้มูลนิธิพระดาบส แม้พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคตแล้ว แต่ผมไม่ล้มเลิกความตั้งใจ จะยังคงเดินหน้าต่อ”

ด้วยเหตุที่พระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อชีวิตของคนทำงานศิลปะเช่นเขามาโดยตลอด หลังได้น้อมนำพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสไปปฏิบัติและเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ จึงอยากให้คนทั่วไป หรืออย่างน้อยๆสมาชิกในครอบครัวของตัวเองได้น้อมนำไปปฏิบัติด้วย

“ถ้าเราแค่อ่านแค่ฟังพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส เราอาจจะแค่ประทับใจ ไม่เห็นผลชัดเจนเท่าไหร่ แต่ถ้าเราน้อมนำมาปฏิบัติ มันจะเห็นผลชัด

ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลของการปฏิบัติ ผมจึงอยากเผยแพร่ต่อ อย่างน้อยก็ให้คนในครอบครัวและลูกหลานผม ได้ปฏิบัติตาม

แค่พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเรื่องศรษฐกิจพอเพียงเรื่องเดียวก็ช่วยชีวิตเราได้เยอะแล้ว เพราะทำให้เรารู้จักตัวเอง เดินทางสายกลางตามหลักศาสนาพุทธ ทำให้ทุกอย่างในชีวิตดำเนินไปโดยปกติสุข มีความพอดี ไม่มากไม่น้อย สมเหตุ สมผล

พอพระองค์ท่านเสด็จสวรรคต หลายคนอาจรู้สึกเหมือนขาดที่พึ่ง ไม่มีพระองค์ท่านอยู่กับพวกเราแล้ว แต่คำสอนของพระองค์ท่านยังอยู่ และถ้าเราน้อมนำไปปฏิบัติ ก็เหมือนกับพระองค์ท่านยังอยู่กับพวกเราตลอดไป ไม่ได้ไปไหน”

รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ
การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทน เสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทน คือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันควรทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีควรต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตนเอง    พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2516

สุขภาพจิตนี้ขายไม่ได้ แม้แต่ให้ก็ยาก .. แต่ว่าจะต้องเพาะ   พระราชดำรัส ในโอกาสที่คณะจิตแพทย์ นักวิชาการสุขภาพจิต อาจารย์จากมหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เมื่อวันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520
“เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และ ความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2530
การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้” พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2506
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews