Advice

BDMS แนะวิธีป้องกันโรคหัวใจ ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ลดปัจจัยเสี่ยง

Pinterest LinkedIn Tumblr


โรคหัวใจนับเป็นอีกหนึ่งโรคสำคัญที่คุกคามชีวิตและสุขภาพของคนไทย โดยติดอันดับ 1 ใน 3 ของโรคที่คร่าชีวิตคนไทย และมีแนวโน้มว่าตัวเลขผู้ป่วยจะสูงขึ้นทุกปีเพราะหัวใจถือเป็นอวัยวะสำคัญสำหรับทุกคน ที่ต้องรับภาระหนักในการทำงานตลอด 24 ชั่วโมงแบบไม่มีหยุดพักตลอดชีวิต

และวันนี้ Celeb Online ได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โรงพยาบาลในเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS สละเวลามาช่วยไขข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับโรคหัวใจ และแนะนำวิธีปฏิบัติตนให้ปลอดภัย ห่างไกลจากโรคนี้

– ประเภทของโรคหัวใจที่พบมากสุดในประเทศไทย
ประเด็นนี้ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก มีความคล้ายกันคือ โรคที่เป็นกันบ่อยเกี่ยวกับหัวใจ คือโรคที่เกี่ยวกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบ ซึ่งสำคัญคือเป็นโรคที่ร้ายแรงถึงชีวิต อย่างคำที่ได้ยินกันบ่อยๆ ว่า หัวใจวาย นั่นหมายถึงการที่หัวใจอ่อนกำลังลงจนทำงานไม่ได้ โดยโรคนี้มีทั้งที่แบบเป็นเรื้อรัง และเฉียบพลัน ส่วนโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับหัวใจ ก็มีที่เกี่ยวกับลิ้นหัวใจอย่างลิ้นหัวใจรั่ว หรือโรคที่เกี่ยวกับการเต้นของหัวใจผิดปกติ

– สาเหตุหลักของการเกิดโรคหัวใจในประเทศไทย
สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจมีหลายอย่าง โดยปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเป็นโรคหัวใจที่พบมากในประเทศไทยนั้นมีอยู่ 5 ประการ คือ สูบบุหรี่ ไขมันสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อายุที่เพิ่มมากขึ้น

– วิธีป้องกันโรคที่เกี่ยวกับเส้นเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
ทำได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย ทั้งการปรับพฤติกรรม ไม่สูบบุหรี่ ระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ การดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี พยายามควบคุมปัจจัยเสี่ยง ว่าควรรับประทานอย่างไร ระวังอาหารจำพวกคอเลสเตอรอลที่มีผลต่อไขมัน หรือ ความดัน หรือไม่ควรทำสิ่งใดที่จะก่อให้เกิดโรคความดัน สำหรับเรื่องการออกกำลังกายอาจไม่ได้ส่งผลโดยตรง แต่ส่งผลทางอ้อมด้วยการช่วยดูแลป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยให้เน้นการออกกำลังกายที่ต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ใช้กล้ามเนื้อขา เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่าง เดิน วิ่ง ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ แอโรบิก เอ็กเซอร์ไซส์ ทำต่อเนื่อง 20-30 นาที พวกนี้จะช่วยเรื่องการหมุนเวียนของเลือด ได้การทำงานของหัวใจ

– แนวทางการรักษาโรคที่เกี่ยวกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
มีทั้งการรักษาด้วยวิธีใช้ยา การทำบอลลูนหลอดเลือด การผ่าตัด รวมไปถึงการควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้วย โดย BDMS ได้อัปเดตนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างในเรื่องการผ่าตัดถ้าในสมัยก่อนจะใช้วิธีการผ่าเปิดหน้าอก ใช้หัวใจเทียม เพราะต้องทำให้หัวใจหยุดเต้นอยู่นิ่งๆ แล้วจึงผ่าตัดหัวใจได้ โดยการนำเลือดไปผ่านหัวใจเทียมแทนชั่วคราว แต่ทุกวันนี้เราสามารถผ่าได้โดยที่หัวใจไม่ต้องหยุดเต้น แต่ใช้เทคนิคในการนำเครื่องมือไปตรึงกล้ามเนื้อหัวใจเฉพาะจุดที่จะผ่าตัดให้อยู่นิ่งๆ ขณะที่ส่วนอื่นของหัวใจยังทำงานได้ตามปกติ จึงไม่ต้องใช้หัวใจเทียม ซึ่งส่งผลดีกว่าต่อคนไข้ เพราะเลือดที่เข้าไปผ่านเครื่องหัวใจเทียม อาจเกิดการเสื่อมการทำลายเม็ดเลือด เกล็ดเลือดได้ รวมถึงมีโอกาสในการเกิดอัมพาต อัมพฤกษ์ได้

– นโยบายการสร้าง ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Center of Excellence : COE)โรคหัวใจของ BDMS
ที่ BDMS ซึ่งมีนวัตกรรมในการรักษาเรื่องโรคหัวใจที่ครอบคลุมครบถ้วน และมีมาตรฐานทัดเทียมต่างประเทศ และยังมีการสร้าง ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง(Center of Excellence : COE) โรคหัวใจเกิดขึ้น เพื่อยกระดับการรักษาคนไข้โรคหัวใจให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้น ดีขึ้น รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายในการรักษาโรคหัวใจในระหว่างโรงพยาบาลในเครือซึ่งมีมากถึง 45 แห่งนี้ จะช่วยทำให้การออกแบบการทำงานเป็นระบบ ระเบียบ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะแต่ละแห่งอาจจะเชี่ยวชาญในแต่ละด้านไม่เท่ากัน บางโรงพยาบาลอาจจะถนัดด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ การสร้างเครือข่าย ทำให้มีการให้คำปรึกษา ถ่ายทอดทั้งความรู้ บุคลากร รวมถึงสามารถบริการคนไข้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเหมาะสมยิ่งขึ้น โดย COE ของโรคหัวใจในเครือBDMS มีหลักๆ อยู่ 5 แห่ง คือ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ศูนย์วิจัย, โรงพยาบาลพญาไท2, โรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา, โรงพยาบาลกรุงเทพ ภูเก็ต และโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่

– นวัตกรรมล้ำสมัยในการดูแลคนไข้โรคหัวใจของ BDMS
การทำงานเป็นเครือข่ายซึ่งจะมีในการส่งต่อคนไข้จากพื้นที่ต่างๆ การเคลื่อนย้ายคนไข้เป็นสิ่งสำคัญ โดยทาง BDMS ซึ่งมีความพร้อมในการเคลื่อนย้ายคนไข้อย่างรวดเร็วด้วยสารพัดวิธี ไม่ว่าจะเป็นรถพยาบาล เฮลิคอปเตอร์ ไปจนถึงเครื่องบิน พร้อมดูแลคนไข้ด้วยเครื่อง ECMO (Extra Corporal Membrance Oxygenator) เครื่องหัวใจเทียม ที่สมัยก่อนมีแต่ใน OR แต่ตอนนี้เรามีเครื่องขนาดย่อม และสามารถนำเข้าไปอยู่ใน CCU หรือแม้กระทั่งรถพยาบาล เพื่อกับผู้ป่วยวิกฤตได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ยังมี ไฮบริด โออาร์ หรือ The Hybrid Operating Room คือห้องผ่าตัดอัจฉริยะ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดได้ เนื่องจากสามารถปฏิบัติการรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อนได้พร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการทำบอลลูน หรือการผ่าตัด หรือเอกซเรย์ โดยไม่ต้องทำการเคลื่อนผู้ป่วยไปห้องอื่น ช่วยให้การผ่าตัดสะดวก แม่นยำและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Comments are closed.

Pin It