Advice

ใครอยากเลิกบุหรี่ “ยกมือขึ้น” !?

Pinterest LinkedIn Tumblr


ในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) กำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก หรือ World No Tobacco Day สำหรับในปี พ.ศ. 2561 องค์การอนามัยโลกกำหนดประเด็นรณรงค์ว่า “Tobacco and Heart Disease” และกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดคำขวัญภาษาไทยว่า “รักษ์หัวใจ ห่างไกลบุหรี่”

“รู้นะแต่มันทำไม่ได้” นี่คงเป็นเหตุผลหลักของการสูบบุหรี่ ทั้งที่ทราบถึงภัยร้ายที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้าง โดยเฉพาะ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น หลายคนอาจคิดและพยายามที่จะเลิก และสรรหาวิธีต่างๆ มาใช้ เช่น เลิกซื้อ…แต่ก็ยังขอเพื่อน เลิกสูบในบ้านแต่ออกมาสูบนอกบ้านแทน เป็นต้น

นพ.ประธาน วาทีสาธกกิจ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลว่า การเดินทางของสารนิโคตินจากบุหรี่จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้วผ่านไปยังสมองอย่างรวดเร็วภายใน 6 วินาที บุหรี่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการคลายเครียด เพราะผู้สูบจะรู้สึกผ่อนคลายทันทีที่สูบ แต่นั่นเป็นเพียงระยะสั้น เมื่อระดับนิโคตินลดลงอารมณ์ที่เคยดี ผ่อนคลายก็จะหายไปด้วย จึงต้องสูบอีกเรื่อยๆ เพื่อความสบายใจจนกลายเป็นการเสพติดในที่สุด

หากมองเห็นจุดจบของการสูบบุหรี่อยู่ข้างหน้าแล้วไม่อยากเสี่ยง สามารถเลี่ยงได้ง่ายๆ เพียงแค่เลิกแล้วหันมาดูแลตัวเอง ซึ่งวิธีเลิกบุหรี่ทำได้ดังนี้

– หักดิบหรือเลิกด้วยตัวเอง โดยการหยุดสูบทันที วิธีนี้อาจจะง่ายที่สุด แต่พบว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่พยายามเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมักจะเกิดอาการขาดนิโคตินจนต้องกลับไปสูบอีกในเวลาเพียง 1 สัปดาห์

– พฤติกรรมบำบัด เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชิน หลีกเลี่ยงอารมณ์ที่ทำให้เกิดความอยากสูบ โดยใช้วิธีเสริมสร้างแรงจูงใจภายในเพื่อการเลิกบุหรี่ และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และพยาบาล

– ใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ ยาที่มีสารนิโคตินทดแทนในขนาดต่ำ ในรูปแบบของหมากฝรั่งอดบุหรี่ หรือแผ่นแปะผิวหนังนิโคติน และยาชนิดเม็ดที่ไม่มีนิโคตินสำหรับช่วยลดอาการถอนยาเนื่องจากขาดนิโคติน

– การฝังเข็ม เพื่อช่วยลดอาการอยากสูบบุหรี่และคลายความหงุดหงิด

Comments are closed.

Pin It