“จะคิด จะทำสิ่งใด ต้องคิดหน้า คิดหลัง ให้รอบคอบ ทำให้ดี ให้ถูกต้อง”
“มีสติ รู้ตัว ปัญญา รู้คิด กำกับตลอดเวลา”
“ข้อสำคัญ จะต้องระลึกรู้ โดยตระหนักว่า ประโยชน์ส่วนรวมนั้นเป็นประโยชน์ที่แต่ละคนพึงยึดถือเป็นเป้าหมายหลักในการประพฤติตัวและปฏิบัติงาน เพราะเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนแท้จริง ซึ่งทุกคนมีส่วนได้รับทั่วถึงกัน”
นี้คือ ส่วนหนึ่งในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานพรปีใหม่ให้แก่พวกเราชาวไทยทุกๆ คน ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ที่ผ่านมา
“ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน อยู่เป็นมิ่งขวัญของข้าพเจ้าและปวงชนชาวไทยตลอดไป”
**********
เดี๋ยวนี้เริ่มติดเป็นนิสัยแล้วกับการเข้าไปอ่านคอมเม้นต์ของท่านผู้อ่านทุกคนในวันเสาร์ ก่อนที่จะเริ่มต้นเขียนบทความตอนใหม่ส่งทาง “ผู้จัดการ” ในวันอาทิตย์
อยากบอกว่า อ่านแล้วรู้สึกดีมากๆ จนอยากจะนัดเจอกับท่านผู้ที่เข้ามาคอมเม้นต์ทุกๆ คน รวมถึงผู้อ่านท่านอื่นๆ ด้วยนะคะ ถ้าเป็นไปได้
**********
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ หลังจากได้หยุดยาวช่วงสิ้นปีเก่าเสียหลายวัน กลับมาเริ่มต้นทำงานใหม่อีกครั้ง ก็เข้าไปวันที่ 4 มกราคม
หยุดจนเบื่อ? หรือว่า หยุดน้อยไป ยังไม่เต็มอิ่ม?
ทั้งนี้ก็คงขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน
อ้วนเอง ได้มีโอกาสไปพักผ่อนหนึ่งคืน ที่ “วังน้ำเขียว” กับญาติพี่น้อง เคยได้ยินชื่อเสียงมานานแล้ว เพิ่งได้มีโอกาสเดินทางไป ก็ครั้งนี้ นี่เอง
“วังน้ำเขียว” ได้ชื่อว่า เป็นดินแดนที่มี “โอโซน” ติดอันดับ 7 ของโลก
หลานสาวตัวน้อยวัย 8 ขวบ ถามพ่อของเขาหรือพี่ชายของอ้วนว่า
“โอโซนคืออะไรคะ เหมือนอ๊อกซิเจนหรือเปล่า?”
“แล้วทำไมวังน้ำเขียวถึงมีโอโซนดีกว่าที่อื่น”
เป็นคำถามที่คมมากเลยหลานเอ๋ย ดีแล้ว..ที่ไม่ถามอา เพราะอาก็กลัวตอบผิดเหมือนกัน
**********
อ้วนคิดว่า คงมีหลายๆ ท่านได้เคยเดินทางไปท่องเที่ยวที่ “วังน้ำเขียว” ดินแดนที่ถูกเรียกว่า “สวิสเซอร์แลนด์แดนอีสาน” กันบ้างแล้ว
ตอนที่พี่สะใภ้ของอ้วนชี้ให้มองดูวิวทิวทัศน์ พร้อมกล่าวคำพูดนี้ออกมา
อ้วน “งง” ค่ะ ไม่ได้งง เพราะไม่รู้จักสวิสฯ นะคะ
แต่ “งง” กับสิ่งที่เราเห็น มันคือ ภูเขาเป็นลูกๆ ที่โดนตัดต้นไม้ไปจนเกลี้ยง เหลือแต่หญ้าคา กับไม้ไร้ค่าที่ไม่สามารถแปรรูปอะไรได้ ขึ้นอยู่เป็นหย่อมๆ อาจมีที่ดินบางแปลงที่มีการปลูกต้นไม้ใหญ่ขึ้นมาแทนที่บ้าง
ที่โดดเด่นจริงๆ คงเป็นบ้านหลังใหญ่ๆ ปลูกในสไตล์ยุโรปหรู ดูดี บนภูเขาแต่ละลูก
ยิ่งมาได้ข้อมูลบางอย่างจากผู้รู้หลายๆ ท่านบอกว่า จริงๆ แล้ว “วังน้ำเขียว” เกิดขึ้นจากการตัดถนนจากเขตป่าอุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่ เพื่อไปทางปราจีนบุรี และลัดไปสู่ภาคตะวันออกได้ เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง
จากนั้นก็มีชาวบ้านซึ่งไม่มีที่ดินทำมาหากินมาอยู่อาศัย อยู่ไปอยู่มา ก็เลยได้สิทธิทำกินบนที่ดินห่างจากถนน 500 เมตร แล้วไปๆ มาๆ ก็คืบคลานขยายไปเรื่อยๆ กลายเป็นที่บนเขาก็มีโฉนด มีเอกสารสิทธิได้ จากชาวบ้านธรรมดาเป็นเจ้าของที่ดินก็กลายสภาพเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนักการเมืองไปในที่สุด
จากป่าดงดิบอยู่หลังเทือกเขาใหญ่เมื่อหลายสิบปีก่อน ก็กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม แล้วก็ไม่มีพื้นที่ป่าเหลืออีกแล้วในปัจจุบันนี้
ถือเป็นโชคดีของผู้คนเหล่านั้น ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช(อส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ไม่สามารถฟ้องในข้อหา “ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน” ย้อนหลังได้ หากเป็นการกระทำผิดที่เกิดขึ้นก่อนมีการบังคับใช้กฎหมาย
การฟ้องเรียกร้อง “ค่าเสียหายจากการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน” เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช(อส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้ฟ้องร้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากชาวบ้านในพื้นที่ จ.ตรัง, พัทลุง และกระบี่ ที่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา จ.กระบี่ ฐานบุกรุกทำลายป่าทำให้โลกร้อน อากาศร้อน ฝนตกน้อยลง
และศาลได้พิพากษาให้ชาวบ้านทั้ง 15 รายจ่ายค่าเสียหายให้แก่รัฐบาล โดย 7 รายต้องจ่ายค่าเสียหายรวมยี่สิบล้านสามแสนบาท !?! เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งศาลพิจารณาพิพากษาตามกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 97 ที่บัญญัติว่า
“กำหนดให้ผู้ใดที่กระทำ หรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการทำลาย หรือทำให้สูญหาย หรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐจากมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปแล้ว”
นิยามของคำว่า “ทำลาย หรือเสียหาย” นอกจากตัดไม้แล้ว ยังหมายถึงการเผา แผ้วถางทำไร่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด
โดยมีรายละเอียดการคิดค่าเสียหาย น่าสนใจมากๆ ดังนี้ค่ะ
1. ค่าเสียหายที่ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น คิดเป็นมูลค่า 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี
2. ค่าเสียหายทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่ โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ 58,800 บาทต่อไร่ต่อปี
3. ทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี
4. ทำให้ปุ๋ยสูญหาย 4,064.15 บาทต่อไร่ต่อปี
5. ค่าเสียหายทางตรงจากการเพิ่มรายปีของเนื้อไม้เฉลี่ย 40,825.10 บาทต่อไร่ต่อปี
ซึ่งนายพงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล นักวิชาการชำนาญการพิเศษ จากส่วนวิจัยต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ อส. กล่าวถึงหลักการประเมินค่าเสียหายของสิ่งแวดล้อมจากการทำลายป่าต้นน้ำว่า มีการพัฒนารูปแบบการคิดคำนวณมาตั้งแต่ปี 2531
เดิมคิดจากมูลค่าจากเนื้อไม้ประเภทต่างๆ ต่อมาเพิ่มการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในรูปของการทำลายป่าต้นน้ำ จนถึงปัจจุบันได้สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อใช้ประโยชน์ในการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับผู้บุกรุกทำลายป่าต้นน้ำที่สอดคล้องกับความเป็นจริง แบบจำลองผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว คาดว่าเร็วๆ นี้จะสามารถเผยแพร่และนำไปใช้ในพื้นที่จริง หากได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหาร อส. อย่างไรก็ตาม แบบจำลองนี้อาจมีความแตกต่างกันในแง่สภาพพื้นที่ เช่น ป่าเสื่อมโทรม ป่าเศรษฐกิจ มูลค่า 82,500 บาทต่อไร่ต่อปี, พื้นที่สวน 53,900 บาทต่อไร่ต่อปี พื้นที่โล่งเตียน 35,200 บาทต่อไร่ต่อปี
ก็คงต้องฝากถึงผู้บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ว่า เราต้องใช้กฎหมายนี้ ภายใต้เจตนารมณ์ที่ต้องการให้มีการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินสืบต่อไป อีกทั้งเราอยู่ในประเทศที่ใช้ระบบนิติรัฐ ดังนั้นเราต้องใช้ระบบกฎหมายบนพื้นฐานของสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมกันด้วยนะคะ กฎหมายนี้ไม่ควรบังคับใช้เฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยเท่านั้น แต่ต้องสามารถบังคับใช้เพื่อลงโทษคนตัวใหญ่ๆ ที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติจริงๆ ได้ด้วย
**********
รู้ตัวดีว่า ถ้าพูดเรื่องนี้แล้วคงมีหลายๆ ท่านไม่พอใจ แต่คิดว่า ต้องพูดเพราะมนุษย์เราไม่เคยอยู่ในโลกนี้ อย่างสร้างสรรค์และไม่ทำลายธรรมชาติได้จริงๆ เลย
เราได้แต่อยู่อย่างเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธรรมชาติล้วนๆ ซึ่งล้วนแต่ทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง ทั้งๆ ที่เราก็เป็นสัตว์โลกประเภทหนึ่งเท่านั้น แต่เราอาศัยความฉลาดที่มี พัฒนาตัวเองจนเหนือกว่าสัตว์โลกชนิดอื่นๆ และคิดว่าตนเองครอบครองโลกนี้ไปแล้ว
เราเคยเล็งเห็นและตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริงบนโลกนี้ไหมคะ?
อย่าไปมองหาแค่ความสุขในช่วงอายุหนึ่งของตัวเราเองเท่านั้น
แต่เราต้องมองไปถึงอนาคตของลูกหลานเรา ที่ไม่ใช่เฉพาะแค่พี่น้องในตระกูลเท่านั้น
เราอยู่บนพื้นแผ่นดินเดียวกันที่เรียกว่า “โลก” โดยที่ทุกคนมุ่งเน้นแต่ประโยชน์ส่วนตัว ประเภทว่า ฉันพอใจ ฉันมีความสุข..เท่านั้น ฉันไม่มีหน้าที่แก้ไขหรือแก้ปัญหา ฉันไม่สนใจ
แล้วถ้าทุกคนเป็นแบบนี้กันหมด ก็อย่ามาบ่นเลยว่า “เดี๋ยวนี้ บ้านเมืองมันเป็นอะไร ทำไมอากาศถึงได้เป็นแบบนี้”
ก็เพราะเราไม่ยอมรับรู้และแก้ไขอะไร “โลก” ก็ต้องทำหน้าที่อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ด้วยการคาย “ความเห็นตัวของมนุษย์” ออกมา ก็เราได้รับรู้กัน
ขอย้อนกลับไปที่ส่วนหนึ่งในพระราชดำรัสของในหลวงเรา ที่ว่า
ข้อสำคัญ จะต้องระลึกรู้ โดยตระหนักว่า ประโยชน์ส่วนรวมนั้น เป็นประโยชน์ที่แต่ละคนพึงยึดถือเป็นเป้าหมายหลักในการประพฤติตัวและปฏิบัติงาน เพราะเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนแท้จริง ซึ่งทุกคนมีส่วนได้รับทั่วถึงกัน
เมื่อใดที่เราระลึกรู้ว่า ประโยชน์ส่วนรวมที่ทุกคนต้องพึงยึดถือเป็นเป้าหมายหลักในการประพฤติและปฏิบัติตัวทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงานด้วย การลดความเห็นแก่ตัวลง และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมที่ยั่งยืนแท้จริง เพื่อให้โลกนี้ไม่ร้อนรุ่ม วุ่นวาย หรือถูกทำลายลงโดยน้ำมือของมนุษย์โลกจริงๆ
การเข้าวัดก็เช่นเดียวกัน ถ้าเข้าวัดปฏิบัติธรรมโดยใจที่ขุ่นมัว มีความเห็นแก่ตัว ก็เหมือนเอาความทุกข์ ความร้อนรน วุ่นวาย ไปปลดปล่อยใส่พระใส่วัด หรือคนอื่นๆ
เข้าวัดเพื่อการฟังธรรม เพื่อให้เกิดสติ สมาธิ และปัญญา
ดังนั้นการฟังธรรมควรมีการแปลความ เพื่อให้ผู้ฟังได้เกิดความเข้าใจในหลักธรรมนั้นด้วย
การทำบุญ ก็ไม่ควรเป็นการทำเพื่อยึดติดยึดมั่น ทำแล้วจะได้โน้นนี่ สะสมบุญเพื่อความร่ำรวยในอนาคตกาล ถือว่าไม่ถูกหลักธรรมะคำสอนของพระพุทธองค์ ที่มีเจตนาให้ทำบุญเพื่อปล่อยวางความยึดติดในทรัพย์สิน รู้จักแบ่งปันหรือลดละความเห็นแก่ตัว
อ้วนเองก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมเก่งกาจอะไร โดยเฉพาะในทางทฤษฎี และเพิ่งเริ่มต้นเมื่อสามปีกว่านี้เอง โดยได้รับการสั่งสอนจากอาจารย์สุรวัฒน์ และกลุ่มวิมุตติ จากสายพระอาจารย์ปราโมทย์
จากนั้นก็เริ่มต้นปฏิบัติอย่างค่อนข้างต่อเนื่อง เพราะเห็นความสำคัญว่า ทำให้ใจจางคลายจากความทุกข์ได้จริงๆ จากที่เราเป็นคนทุกข์ใจ ชอบคิดวนเวียน จมกับความทุกข์ กับความหลังครั้งเก่าๆ อดีตที่ทำให้เราเจ็บปวด เราก็เริ่มดีขึ้นเพราะ “รู้สึกตัวทัน..ความทุกข์นั้นก็หายไป”
เช่นเดียวกับคำสอนที่ว่า “เปรียบความคิดเหมือนหนู สติเหมือนแมว”
“ถ้าเรารู้สึกตัวเร็วเท่าไร หนูที่เป็นความทุกข์ก็ไม่วิ่งพลุ่งพล่านให้เราต้องเสียใจนานๆ เหมือนในอดีต”
ที่สำคัญคือ อย่าตามใจตัวเอง ฝึกหัดขัดใจ หัดรู้ทันเอาชนะ “ความอยาก” ของตัวเอง มีสติระลึกรู้ว่า ความอยากนี้แหล่ะที่สร้างความวุ่นวายต่างๆ ให้กับตัวเรา บังคับให้เราทำนู้นทำนี้ตลอดเวลา อย่าให้มันมีอำนาจเหนือเรา จนทำให้เราสร้างความวุ่นวายให้กับคนอื่นๆ
หากบอกว่า “ปฏิบัติธรรม” แต่ยังสร้างความวุ่นวายเดือดร้อนให้กับคนรอบข้าง สังคม ประเทศชาติ แสดงว่า คนๆ นั้นยังไม่สามารถเอาชนะกิเลสหรือความอยากของตนเองได้
ยิ่งสร้างความวุ่นวายเดือดร้อนให้กับคนรอบข้าง สังคม ประเทศชาติได้มากแค่ไหน ก็แสดงว่า คนๆ นั้นมีกิเลสหรือความอยากที่เอาชนะไม่ได้ ใหญ่โตมากๆ
ในยุคที่เราต้องอยู่ในกระแสของสังคมที่ผู้มีอำนาจเอาชนะกิเลสหรือความอยากของตัวเองไม่ได้แบบนี้ สิ่งที่เราควรทำที่สุดคือ เอาชนะกิเลสหรือความอยากในใจตัวเองให้ได้ก่อนนะคะ
Comments are closed.