jatung_32@yahoo.com
เป็นกิจกรรมโหมโรงก่อนเริ่มเขียนบทความตอนใหม่ ด้วยการอ่านคอมเม้นท์ของทุกๆ ท่าน โดยเฉพาะคอมเม้นท์ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงในยุคนี้ ที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆ จนทำให้หลายๆ คนมองเห็นว่า ผู้หญิงเดี๋ยวนี้ได้รับสิทธิต่างๆ อย่างล้นเหลือ อยากทำอะไรทำ อยากเป็นอะไรเป็น ทำตัวแบบไหนก็ได้อย่างเสรี ไม่มีขีดจำกัด ใช้ชีวิตภายใต้อิทธิพลสื่อสารไร้พรมแดน แบบที่อ้วนเองก็นึกไม่ถึงเหมือนกันว่า จะกล้าได้ขนาดนี้
ภายใต้ปรากฎการณ์เช่นนี้ อ้วนไม่ได้มองเห็นว่า เป็นการใช้สิทธิสตรีเลยนะคะ แต่กลับมองว่า เป็นการหลงใหลในทิศทางตามแบบทุนนิยมเต็มขั้น ที่ทำให้ร่างกายของผู้หญิงถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดมูลค่าหรือถูกให้คุณค่าในแบบวัตถุสิ่งของ ถูกทำให้เป็นสินค้าที่ตอบสนองความต้องการทางเพศโดยไม่รู้ตัว เป็นเหตุให้เราเห็นภาพผู้หญิงลุกขึ้นมาเซ็กซ์ซี่อย่างไร้สาระ เปิดเผยเนื้อตัวร่างกายจนกลายเป็นแฟชั่นที่หกตกเรี่ยรายไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นสถานการศึกษา หรือว่าริมถนนหนทางใดๆ
การลุกลามตามกระแสอย่างไร้สติ โดยลืมพิจารณาว่า กระแสแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นเพื่อใครกันแน่ แล้วลืมคิดต่อไปว่า สุดท้ายแล้วเราได้กลายเป็นผู้ถูกกำหนดมูลค่าหรือราคาไปโดยปริยาย ภายใต้ค่านิยมหรือกรอบคิดที่ยังคงให้ความสำคัญกับเพศชายเป็นใหญ่ เพราะยังไงเสีย “เพศชายก็เป็นเพศผู้ให้คุณค่า หรือตั้งราคากับผู้หญิง” อยู่นั้นเอง
แต่สำหรับผู้หญิงบางคน อาจไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะคิดว่า ความเซ็กซ์ซี่ อาจแสดงถึงอำนาจที่เธอมี เป็นอำนาจที่เกิดขึ้นกับการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับเนื้อตัวร่างกายของเธอเอง ความเซ็กซ์ซี่ได้เป็นเครื่องมือ หรือเป็นการลงทุนที่จงใจกระทำ เพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อเสียง เงินทอง และผู้ชายก็เป็นได้..
แล้วเราจะมองว่า ผู้หญิงที่คิดแบบนี้ตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นผู้มีอำนาจล่ะค่ะ? และคิดว่าพวกเธอใช้สิทธิของเธออย่างถูกต้องหรือยัง?
**********
จากเรื่องราวข้างต้น นำมาเชื่อมโยงกับคำว่า “สิทธิ” สักหน่อย
ความจริงอ้วนคิดว่า ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงทราบความหมายของคำว่า “สิทธิ” เป็นอย่างดีอยู่แล้ว
แต่อย่างไรก็ดี อยากขออธิบายสักเล็กน้อยนะคะ ตามทฤษฎีนิติศาสตร์ได้ให้ความหมายของ “สิทธิ” ไว้สองอย่าง คือ 1. สิทธิตามธรรมชาติ และ 2. สิทธิตามกฎหมาย
สิทธิ จึงเป็นอำนาจหรือประโยชน์อันชอบธรรม ซึ่งบุคคลทุกคนพึงมีพึงได้ โดยไม่ไปเบียดเบียนคนอื่นในสังคม ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่มนุษย์พึงมี ก่อนหน้าที่จะมีกฎหมายเสียด้วยซ้ำ และต่อมาสังคมได้ก่อกำเนิดกฎหมายขึ้น จึงได้เกิดสิทธิตามกฎหมายที่ส่งผลให้เกิดการรับรองและคุ้มครองสิทธิเหล่านั้น
โดยกฎหมายได้ “รับรอง” และ “คุ้มครอง” ไม่ให้มีการละเมิดสิทธิ อันถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ตลอดจนบังคับให้สังคมต้องยอมรับในกติกานี้ร่วมกันว่าต้องเป็นไปตามสิทธิที่เขียนไว้ในกฎหมาย ดังนั้นในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้น รัฐต้องเข้ามาเยียวยาบรรเทาแก้ไขปัญหาให้กับคนๆ นั้นที่ถูกละเมิด ให้ได้รับสิทธิเฉกเช่นคนอื่นในสังคม
และพอพูดถึงเรื่อง “สิทธิ” เราก็มักคิดถึงคำว่า “เสรีภาพ” จนกลายเป็น “สิทธิเสรีภาพ” และเข้าใจว่ามีความหมายอย่างเดียวกัน ทั้งที่ความจริงแล้ว คำว่า “เสรีภาพ” ตามความหมายในทางทฤษฎี หมายถึง อำนาจตัดสินใจด้วยตนเองที่จะเลือกดำเนินกิจกรรมหรือพฤติกรรมของตนเอง โดยไม่มีบุคคลใดมาอ้าง หรือใช้อำนาจสอดแทรกเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจนั้นได้
แต่การใช้เสรีภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่ในแต่ละคน อาจเกิดปัญหาการกระทบกระทั่งหรือสร้างความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ทำให้การตัดสินใจกระทำสิ่งใด ย่อมต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ของสังคมนั้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมาย ดังนั้น “เสรีภาพ” ตามกฎหมาย จึงหมายถึงอำนาจของคนที่จะตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ด้วยตนเอง โดยอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติรับรองเสรีภาพของประชาชนไว้หลายประการ เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในร่างกาย เสรีภาพในเคหะสถาน เสรีภาพในการศึกษาอบรม เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหพันธ์ สหกรณ์หรือหมู่คณะอื่น เสรีภาพในการรวมกันเป็นพรรคการเมือง เสรีภาพในการสื่อสาร เสรีภาพในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่
แต่ที่ผ่านมา เหมือนว่า คนเราเรียกร้องถึง “สิทธิ” หรือ “สิทธิเสรีภาพ” และใช้มันอย่างชนิดที่เรียกว่าล่วงล้ำคนอื่นๆ ในสังคมหรือเปล่าค่ะ?
หรือแม้กระทั่งการใช้สิทธิของตนเอง จนลืมว่า ตนยังต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องกระทำด้วยเช่นกัน ในฐานะที่เป็นมนุษย์อยู่ร่วมกันกับมนุษย์อื่นๆ ในโลก
เพราะคำว่า “สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ” ต้องเป็นของควบคู่กัน ไม่ควรแบ่งแยกเลือกใช้เฉพาะ “สิทธิ” อันหมายถึง “อำนาจ” หรือ “ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้” เท่านั้น
เนื่องจากเมื่อบุคคลหนึ่งมี “อำนาจ” บุคคลนั้นย่อมมี “หน้าที่” และ “ความรับผิดชอบ” ที่จะต้องปฏิบัติ เช่นเดียวกับการเป็นครอบครัว พ่อแม่มีอำนาจปกครองบุตร มีสิทธิหรืออำนาจในการสั่งสอนบุตรของตนเองอย่างเต็มที่ แต่สิทธินี้ต้องเคารพสิทธิโดยธรรมชาติที่บุตรมีในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง
นอกจากนี้ พ่อแม่ย่อมมีหน้าที่ให้การเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่า ในระหว่างนั้นต้องมีความรับผิดชอบในฐานะที่มีอำนาจ มีหน้าที่ ตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ และตามกฎหมายที่กำหนด ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่มนุษย์ควรจะพึงประพฤติปฏิบัติต่อกัน ตามระดับความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ความเชื่อมโยงของสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ย่อมเกิดขึ้นในฐานะที่เราเป็นมนุษย์
ถามว่า สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในโลก มีเรื่องราวในลักษณะเช่นนี้หรือไม่? ตอบแบบทันทีทันควันว่า มีแน่นอน เพราะเราก็เห็นภาพสัตว์หลายชนิด ช่วยกันเลี้ยงดูลูกน้อยจนเติบโตและแข็งแรงก่อนให้ออกสู่โลกกว้างได้
แต่แปลกตรงที่ว่า ทำให้มนุษย์ที่เราอ้างถึงความมีอารยธรรม ความรู้ ความสามารถเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เหล่านั้น มากมายเพียงใด แต่เราก็ยังพบเห็นภาพมนุษย์ที่หลงลืมคำว่า “สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ” ไปเสียได้
เราต่างเห็นแล้วว่าไม่ว่ามนุษย์จะมีเสรี หรือถูกกำหนดภายใต้กรอบของสังคมใดๆ มนุษย์ก็สามารถอ้างเหตุผลได้เสมอว่า ทำอะไรก็ได้โดยไม่ผิด ถ้าหากมนุษย์ทุกคนในสังคมคิดแบบเดียวกันหมด สังคมย่อมอยู่ไม่ได้อย่างแน่นอน เมื่อสังคมโดยส่วนรวมอยู่ไม่ได้ คนแต่ละคนก็ย่อมอยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน
เมื่อสังคมประกอบด้วย บุคคลหลายประเภท มีทั้งเข้มแข็ง อ่อนแอ หรือดีและเลวปะปนกัน หรือแม้กระทั่งในคนเดียวกัน ก็มีช่วงเวลาที่เข้มแข็งและอ่อนแอเช่นกัน หากเราต้องการให้สังคมอยู่รวมกันอย่างสงบสุข เราควรจะเริ่มต้นที่จุดไหนก่อนคะ?
โดยส่วนตัวมองว่า การใช้หลักเกณฑ์กติกาใดๆ ก็ตามในสังคมไทย อาทิเช่น อยากให้สังคมตระหนักถึงเรื่องสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ หรือแม้กระทั่งเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกัน
ควรเริ่มต้นที่การให้ความรู้ ความเข้าใจในหลักการสิ่งนั้นในทิศทางที่ถูกต้อง เป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือว่าง่ายๆ คือ พูดในพื้นฐานความเข้าใจเดียวกัน
เพราะหากยังให้นิยามที่แตกต่างกัน ตามมุมมองของแต่ละคน ย่อมทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันมากขึ้น เพราะพูดกันคนละเรื่องเดียวกัน
ดังนั้นการสร้างฐานนิยามหรือความหมายในเรื่องใดๆ ก็คงไม่ต่างกับการที่เราต้องย้อนไปในช่วงวัยเด็ก ที่ต้องเข้าเรียนชั้นอนุบาลเพื่อให้รู้จัก ตัวพยัญชนะ สระ และศัพท์ต่างๆ จึงจะอ่านออกเขียนได้
ดังนั้นคำว่า สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ควรเริ่มฝึกให้เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ว่า อะไรควรทำ อะไรคือสิ่งไม่ควรทำ อะไรคือสิทธิหรืออำนาจที่ตนมี อะไรคือหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ
ยอมรับว่า หน้าที่ของครอบครัวพ่อแม่ยุคนี้ จึงต้องหนักและเหนื่อย กับภาระนอกบ้านและในบ้าน ทำอย่างไรให้เด็กเติบโตมาอย่างมีสติ รู้เท่าทันโลก อย่างไม่ตกเป็นเหยื่อ ทำอย่างไรเด็กจะรู้ถึง “สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ” ของตนในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง
อย่าลืมหาต้นแบบที่ดีให้เด็กได้ศึกษา เรียนรู้ ถ้าเราไม่สามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเค้าได้
สุดท้ายนี้ ขอนำพระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๑๙ มาให้ท่านผู้อ่านกันคะ
“สำคัญที่สุด ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “ความรับผิดชอบ” ให้ถูกต้อง
ขอให้เข้าใจว่า “รับผิด” ไม่ใช่การรับโทษหรือถูกลงโทษ “รับชอบ” ไม่ใช่รางวัลหรือรับคำชมเชย
การรู้จักรับผิดหรือยอมรับว่าอะไรผิดพลาดเสียหายและเสียหายเพราะอะไร เพียงใดนั้น
มีประโยชน์ ทำให้บุคคลรู้จักพิจารณาตนเอง ยอมรับความผิดของตนเองโดยใจจริง เป็นทางที่จะช่วยแก้ไขความผิดได้ และให้รู้ว่าจะต้องปฏิบัติแก้ไขใหม่
ส่วนการรู้จักรับชอบหรือรู้ว่าอะไรถูก อันได้แก่ถูกตามความมุ่งหมาย ถูกตามหลักวิชา ถูกตามวิธีการนั้น มีประโยชน์ทำให้ทราบแจ้งว่า จะทำให้งานเสร็จสมบูรณ์ได้อย่างไร จักได้ถือปฏิบัติต่อไป
ความรับผิดชอบ คือ หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำ จะหลีกเลี่ยง ละเลยไม่ได้”
เพียงแค่ทุกคนรู้อำนาจสิทธิของตน รู้หน้าที่ของตน และรู้จักความรับผิดชอบของตน ในฐานะเป็นมนุษย์คนหนึ่งในสังคม อย่างที่ควรจะเป็น ปัญหาหลายๆ เรื่องคงคลี่คลายลงไปได้เยอะนะคะ
Comments are closed.