Advice

ภัยเงียบที่คาดไม่ถึงจาก “โรคกระดูกพรุน”

Pinterest LinkedIn Tumblr


“คนแก่นี่ไม่มีอะไรดีสักอย่าง” มีผู้สูงอายุท่านหนึ่งกล่าวขึ้นมาลอยๆ ความจริงแล้วท่านคงหมายถึงสภาพของร่างกายมากกว่า เพราะเมื่ออายุมากขึ้น บุคลิกภาพของคนมักจะเปลี่ยนตามไปด้วย อย่างเช่น หลังค่อม ขาโก่งงอ ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ กระดูกหักง่ายกว่าปกติ

พ.อ.รศ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ศัลยแพทย์สาขา ออร์โธปิดิกส์ รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดขึ้น เพราะความหนาแน่นของกระดูกน้อยลง ซึ่งตามปกติร่างกายจะสร้างมวลกระดูกใหม่ และขจัดมวลกระดูกที่หมดอายุออกไป โดยเฉพาะ ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป อัตราการสลายกระดูกจะเร็วกว่าอัตราการสร้างกระดูก ทำให้ปริมาณมวลกระดูกลดลง และโครงสร้างภายในของกระดูกถูกทำลาย ส่งผลให้ระดูกชั้นในมีลักษณะเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำ หรือที่เรียก “กระดูกพรุน” ซึ่งผู้หญิงจะสูญเสียเนื้อกระดูกมากกว่าผู้ชายถึง 2-3 เท่า โดยเฉพาะ ผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ปริมาณเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว

ผู้ที่มีโอกาสจะเป็นโรคนี้ ได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารที่มีความผิดปกติในการดูดซึมแคลเซียม คนที่ดื่มสุรา กาแฟ สูบบุหรี่จัด ผู้ป่วยที่ต้องนอนเป็นเวลานาน ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระจายไปที่กระดูก ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวกระดูกหักง่าย นอกจากนี้ การได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตอรอยด์ ยากันชัก ยาไทร็อกซิน ฯลฯ รวมทั้งคนที่เป็นโรครูมาตอยด์,โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ฯลฯ ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากเป็นพิเศษเช่นกัน

เมื่อกระดูกในร่างกายเริ่มบางลง จนเริ่มเข้าสู่ภาวะกระดูกพรุน ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ ปรากฏเลยถ้ากระดูกไม่หัก ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน จะดำรงชีวิตได้อย่างปกติ แต่หากเมื่อประสบอุบัติเหตุเช่น หกล้ม ภัยเงียบที่แอบแฝงนี้ ก็ปรากฏให้รู้ว่า สาเหตุที่กระดูกหักง่ายนั้น ก็เพราะอยู่ในสภาวะกระดูกพรุน โดยส่วนที่จะหักง่ายกว่าปกติ ได้แก่ กระดูกหลัง กระดูกข้อมือ และกระดูกสะโพก โดยเฉพาะ กระดูกบริเวณสะโพก ผลกระทบที่ตามมาคือ ไม่สามารถเดินได้ การนอนรักษาตัวเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดแผลกดทับ อีกทั้ง ยังกลายเป็นภาระในการดูแลระยะยาว สุดท้ายอาจเสียชีวิตในที่สุด

นอกจากนี้ สภาวะกระดูกพรุนยังส่งผลต่อโครงสร้างของกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเฉียบพลันและเรื้อรัง มีรูปร่างเปลี่ยนไป เตี้ยลง หลังโก่ง ไหล่งุ้มกว่าปกติ พุงยื่น หลังแอ่น ไม่มีเอว ฟันหลุดง่าย และการทำงานของอวัยวะภายในด้อยลง การย่อยอาหาร และการหายใจลำบาก เป็นต้น

ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนควรงดสูบบุหรี่, งดดื่มสุรา, ชา, กาแฟ, ระวังการลื่นล้ม เป็นต้น นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงและบริโภคอาหารที่มีแคลเซียม วิตามินดี โปรตีน ที่เพียงพอเพื่อความสมดุลของร่างกาย หากไม่มีเวลามากพอ ควรหาผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมให้กับกระดูก โดยเลือกที่มี คอลลาเจนไฮโดรไลเซท ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้มวลกระดูกแข็งแรง ไม่เปราะหักง่าย

Comments are closed.

Pin It