คอลัมน์ Sexociety โดย Dr.DEN
สาวออฟฟิศจำนวนไม่น้อยที่โดนหัวหน้าหรือเจ้านายลวนลาม ล่วงละเมิดทางเพศหรือจนถึงข่มขืนในที่ทำงาน แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากกลัวตกงาน กลัวความอับอาย หรือไม่ก็กลัวโดนคู่กรณีทำร้ายในภายหลัง
ต่อไปนี้คือ เรื่องราวของพนักงานสาวในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในประเทศออสเตรเลียที่กลายเป็นคดีโด่งดังของประเทศนั้น เมื่อเธอฟ้องเรียกค่าเสียหาย 37 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียต่อเจ้านายของเธอ ในข้อหารังควาญทางเพศ
เมื่อ คริสตี้ เฟรเซอร์-เคิร์ก วัย25 ยืนอยู่ต่อหน้ากลุ่มสื่อมวลชนในเดือนสิงหาคม 2010 นั้น เธอน่าจะกำลังทำงานของเธอในฐานะนักประชาสัมพันธ์ของห้างสรรพสินค้าเดวิด โจนส์ แทนที่จะต้องมายืนประกาศว่าเธอกำลังจะฟ้องอดีตนายจ้างของเธอเป็นเงิน 37 ล้านดอลลาร์ หลังจากกล่าวหาว่าอดีตซีอีโอ มาร์ค แม็คอินนิส รังควาญทางเพศต่อเธอในที่ทำงาน
เธออ้างว่าเขาสอดมือเข้าไปในเสื้อผ้าของเธอ สัมผัสยกทรงของเธอ และขอให้เธอกลับไปที่อพาร์ทเม้นท์ของเขาในบอนได ซิดนีย์ พร้อมกับเขา
“ฉันเป็นหญิงสาวที่กำลังยืนอยู่ที่นี่…เพราะฉันบอกว่าเรื่องนี้ไม่โอเค” เธอพูด “ฉันแค่ต้องการได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพ”
ในตอนที่เธอไปหาสื่อมวลชนนั้น คดีนี้ยังไม่ถึงศาล อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่าคริสตี้กลายเป็นข่าวใหญ่เกี่ยวพฤติกรรมของมาร์คที่ถูกกล่าวหานั้น เป็นเรื่องที่ไม่ปกติอย่างแน่นอน โดยไม่ต้องพูดถึงผลลัพธ์ของมันหรอก
มีเพียง 16 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ถูกรังควาญทางเพศในที่ทำงานเท่านั้นที่แจ้งความดำเนินคดี เอลิซาเบธ บรอเดอริค กรรมาธิการการเลือกปฏิบัติทางเพศ กล่าว มันลดลงจาก 32 เปอร์เซ็นต์ของปี 2003 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันเกิดขึ้นน้อยลง
“เราคิดว่า การที่การรังควาญทางเพศ มีการแจ้งความดำเนินคดีลดลง ก็เพราะพวกผู้หญิงกังวลว่ามันอาจหมายถึงอาชีพในอนาคตของพวกเธอก็ได้” เอลิซเบธพูด “เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายกังวลว่าการโวยวายสามารถทำให้พวกเธอตกงานได้ แม้ว่านี่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่โชคร้ายที่มันยังเกิดขึ้นอยู่”
สำหรับ เฮเซล วัย29 ความกลัวการตกงาน ทำให้เธอหยุดยั้งการเรียกร้องเกี่ยวกับพฤติกรรมของเจ้านาย
“ฉันทำงานอยู่ในสตูดิโอถ่ายภาพแห่งหนึ่ง” เธอเล่า “เจ้านายของฉันเริ่มแสดงความเห็นเชิงแนะนำว่า ฉันจะดูดีมากเมื่ออยู่หน้ากล้อง โดยเฉพาะถ้าฉันสวมเสื้อผ้าน้อยชิ้น ครั้งแรกที่เขาพูด ฉันหัวเราะขำๆ คิดว่าเขาล้อเล่น แต่เขาพูดถึงมันอยู่เรื่อยๆ จากนั้นเขาก็เริ่มเข้ามาข้างหลังฉัน และกระซิบที่หูฉันว่าฉันดูเซ็กซี่เหลือเกิน ฉันผละออกมาแต่เขาไม่หยุด ฉันไม่กล้าพูดอะไร เพราะงานที่นั่นเป็นงานที่ดี และทุกคนคิดว่าฉันโชคดีที่ได้ทำงานที่นั่น”
เมื่อเธอเริ่มหลีกเลี่ยงการไปทำงาน แม่ของเธอก็ถามว่ามีเรื่องอะไร “ฉันจึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท่านฟัง และท่านก็ให้ฉันลาออกทันที” เฮเซลกล่าว “ฉันโชคดีที่แม่ช่วยเหลือด้านการเงิน ไม่งั้น..ฉันก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรลงไป ฉันไม่เคยบอกคนอื่นในบริษัทว่าทำไมฉันจึงลาออก”
ผู้หญิงหลายคนไม่กล้าแจ้งความในเรื่องการรังควาญทางเพศก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ พวกเธอไม่แน่ใจว่าพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง
“ถ้าอะไรทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจ มันก็ไม่ควรเกิดขึ้น” เอลิซาเบธกล่าว “ในหลายคดี การรังควาญทางเพศเริ่มต้นขึ้นอย่างชาญฉลาด เขาอาจชมเชยเสื้อผ้าของคุณ หรือวางมือบนไหล่ของคุณ แม้ว่ากิริยาท่าทีเล็กๆน้อยๆ แต่สนิทชิดเชื้อแบบนี้อาจทำให้คุณรู้สึกอึดอัดใจ แต่ผู้หญิงหลายคนไม่อยากร้องเรียนเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกมองโดยทั่วไปว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย (ทำเป็นสนิมสร้อยไปได้ ว่างั้นเถอะ)
ทารา ทำงานเป็นหัวหน้าทีมทำความสะอาดบ้าน เมื่อมีเพื่อนร่วมงานชายคนหนึ่งเข้าหาเธอเป็นครั้งแรก “เขากอดเอวฉันและเรียกฉันว่า ‘หวานใจ’” เธอเล่า “ฉันรู้สึกไม่สบายใจ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าฉันควรพูดอะไรหรือไม่ มันดูเหมือนไม่มีอะไร”
ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เจตจำนงของเขาก็เข้มข้นขึ้น “เขาลูบแขนฉัน ถูหลังฉัน และบอกว่าฉันสวยมาก ครั้งที่สามที่มันเกิดขึ้น ฉันจึงพูดว่า “อย่าทำอย่างนั้น” แต่มันไม่ช่วยให้ดีขึ้น
เธอร้องเรียนต่อหัวหน้าของเธอซึ่งเป็นผู้หญิง “หัวหน้าบอกฉันว่า ‘ช่างมันเถอะน่า ผู้ชายคนนั้นไม่ใช่คนออสเตรเลีย การกระทำของเขาก็แค่ส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของเขา และฉันจะไม่เอาเรื่องเขาหรอก’ ฉันเสียใจมากที่ผู้หญิงด้วยกันแท้ๆไม่ยอมช่วยฉัน” ทาราพูด
หลังจากนำเรื่องนี้ไปร้องเรียนต่อผู้จัดการอาวุโส หัวหน้าผู้หญิงคนนั้นก็ถูกไล่ออก โดยไม่ได้ให้เหตุผลของการไล่เธอออกด้วย
โชคไม่ดีที่หลายบริษัทไม่ชอบมีพนักงานที่มีท่าทีอันเสี่ยงต่อชื่อเสียงของบริษัท ถ้าคุณเคยทำอะไรผิดมาก่อนแล้ว นั่นก็สามารถใช้เป็นข้ออ้างได้สำหรับการไล่ใครบางคนออก ทาราซึ่งขณะนี้อยู่ในวัย 40 ฟ้องอดีตบริษัทของเธอ และจบด้วยค่าทำขวัญ 5,000 ดอลลาร์ แต่เธอไม่มีความมั่นใจว่าจะสู้คดีได้ตลอดรอดฝั่ง ถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นกับเธอในวัย 20 (นี่แหละที่เขาเรียกว่า แก่มะพร้าวห้าวละ ฮึ่ม!)
ในทางอุดมคติ เอลิซาเบธ อยากให้มีการฟ้องบริษัทให้มากขึ้น เพื่อที่พนักงานชายจะได้ยับยั้งชั่งใจเกี่ยวกับการรังควาญทางเพศเพื่อนร่วมงานหญิง
“ถ้ามันถึงขั้นที่อดีตลูกจ้างฟ้องบริษัทของพวกเธอ มันก็มักยอมความกันได้ที่เป็นข้างนอกศาล เพื่อที่บริษัทนั้นๆ จะได้หลุดพ้นจากเรื่องอื้อฉาวไปสบายๆ” อลิซาเบธกล่าว
“มีเพียงผู้หญิงที่กล้าหาญจริงๆ เท่านั้นที่นำคดีขึ้นสู่ศาล และทำให้คนอื่นๆ ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขาได้”
มันก็มีคำถามสำคัญอยู่ 2 คำถามคือ
ฉันกำลังถูกรังควาญทางเพศ ฉันควรทำอย่างไร?
จดบันทึกไว้ รวมทั้งวันที่ เวลาและรายละเอียดของเหตุการณ์ แล้วรายงานต่อผู้จัดการฝ่ายบุคคลของคุณหรือผู้บริหารระดับอาวุโสคนใดคนหนึ่ง บอกพวกเขาว่าคุณต้องการให้หยุดพฤติกรรมนี้ ถ้าฝ่ายบุคคลเงียบ คุณก็ถามฝ่ายบุคคลของคุณว่า คุณสามารถทำงานห่างๆ เขา (ไอ้หื่นคนนั้น) ได้หรือไม่ หรือช่วยย้ายเขาไปที่อื่นก็ได้ ถ้าฝ่ายบุคคลยังไม่มีการตอบสนองใดๆ ก็ร้องเรียนไปยังผู้บริหารระดับสูงขึ้นไปอีก ถ้าภายใน 15 วันยังเงียบอยู่อีก คุณก็สามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานต่อไปอีก
การรังควาญทางเพศประกอบด้วยอะไรบ้าง?
อะไรก็ตามที่ทำให้คุณไม่สบายใจ การสัมผัสทางกายที่คุณไม่เต็มใจ การแสดงความคิดเห็นที่มีความหมายในทางเพศ การชายตามองคุณอย่างเสน่หาทางเพศ การแสดงหรือส่งข้อความก้าวร้าวทางเพศทางอีเมล์ ท่าทีทางเพศ หรือการถามเกี่ยวกับชีวิตทางเพศของคุณ เหล่านี้ล้วนนับเป็นการรังควาญทางเพศทั้งสิ้น..
ถ้าคุณรู้สึกว่าไม่เหมาะสม (แต่ถ้าชอบก็ดีไป ว่างั้นเถอะ)
ยังมีคำถาม “นอกประเด็น แต่เกี่ยวข้องกัน” อีกคำถามหนึ่ง
ถ้าพนักงานชายถูกรังควาญทางเพศโดยนายหญิง จะมีใครคุ้มครองบ้างมั้ย?
อยากรู้ก็ลองฟ้องศาลดูสิ จะได้กลายเป็นคดีลือลั่นสนั่นโลกอีกคดีหนึ่ง กล้าหรือเปล่าล่ะ?
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net
Comments are closed.