Advice

8 หัวข้อเรื่องที่ไม่ควรจะพูดกับเพื่อนรักของคุณ

Pinterest LinkedIn Tumblr

By Lady Manager

การมีเพื่อนที่ดี ถือเป็นอีกหนึ่งความโชคดีในชีวิต เพราะไม่ว่าคุณจะมีเรื่องทุกข์ ความลับ หรือปัญหาใด เพื่อนก็พร้อมที่จะรับฟังเสมอ ทว่าแม้คุณจะพูดแทบทุกเรื่องกับเพื่อนรักได้ แต่ทุกความสัมพันธ์ย่อมมีเส้นบางๆ กั้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บางคำพูด” อาจกระทบกระเทือนจิตใจเพื่อนรักของคุณได้!

“ ‘เธอผอมลงแล้วหรือเปล่า?’ แค่ประโยคนี้ มันก็ทำให้ผู้ฟังคิดได้สองด้านแล้ว ว่าคุณชื่นชมว่าเธอผอม หรือเย้ยหยันว่าปกติแล้วเธออ้วนมาก” Jill Melton ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร และผู้เขียนหนังสือ The Power of the Zip ระบุ พร้อมกันนี้เขาได้รวบรวม 8 หัวข้อเรื่องที่คุณไม่ควรพูดกับเพื่อนรักของคุณมาบอกต่อ เพื่อให้คุณๆ ได้เรียนรู้ และฉุกคิดว่าเรื่องใดบ้าง ที่พูดไปแล้วอาจทำให้คุณและเพื่อนรักต้องผิดใจกัน

1) “เธอไม่ต้องการมีลูกหรือ?”

สำหรับประโยคนี้ อาจดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่ลองคิดอีกด้าน คำถามนี้มันอาจทำให้เพื่อนคุณลำบากใจได้ เพราะหากเพื่อนของคุณอยากมีลูกมาก ทว่ายังไม่สามารถมีลูกได้สักที คำถามนี้อาจจะยิ่งทำให้เธอรู้สึกสิ้นหวัง และกังวลมากเข้าไปใหญ่ว่าเมื่อใดถึงจะมีลูกสมใจ

หรือหากเธอไม่ต้องการมีลูก เธอก็คงอยากเลี่ยงการสนทนานี้ เพราะมันอาจจะยากสำหรับเธอ ที่จะอธิบายให้ใครต่อใครเข้าใจได้ว่าเพราะอะไร เธอถึงไม่อยากเป็นแม่คน …เอาเป็นว่า ไม่ต้องพูดเรื่องนี้ให้เพื่อนรักคุณคิดมาก คิดเสียว่าหากเธออยากปรึกษาเรื่องลูกเมื่อไหร่ เธอก็จะเป็นคนเปิดประเด็นนี้ขึ้นมาเองแหละ

2) “คู่เดทของเธอเป็นผู้ชายที่ไม่น่าจะแต่งงานด้วย”

แม้คุณจะรู้สึกว่า กิ๊กใหม่ที่เพื่อนคุณไปออกเดทด้วย ดูเหมือนจะไม่ใช่คนดี แต่เพื่อนของคุณไม่ได้ถาม จงเก็บความรู้สึกนั้นไว้ อย่าได้พูดออกมา นอกเสียจากว่า คุณจะไปค้นพบหลักฐานจนแน่ชัด ว่าพ่อหนุ่มคนนั้นแอบซุกลูกซุกเมียไว้ หรือเขาเป็นบุคคลอันตราย เช่น พ่อค้ายาเสพติดที่กำลังถูกออกหมายจับ

เพราะในความเป็นจริงแล้ว คุณไม่อาจแน่ใจได้เต็มร้อยหรอกว่า หนุ่มคนนั้นจะเหมาะกับเพื่อนคุณแค่ไหน เพราะเขาอาจจะมีบางอย่างที่เข้ากันได้ และทั้งคู่ก็พอใจที่จะคบหากัน (แม้คุณจะไม่เห็นด้วยก็ตาม)

แต่หากเพื่อนมาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับพ่อหนุ่มคนใหม่ของเธอแล้วล่ะก็ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร Jill Melton แนะนำว่าให้คุณบอกกับเพื่อนว่า “ฉันไม่ได้รู้จักเขาดีเท่ากับเธอหรอก แล้วเธอคิดว่าเขาเป็นอย่างไรล่ะ ลองบอกซิว่าอะไรในตัวเขาที่เธอชอบหรือ ไม่ชอบ” เมื่อเพื่อนเล่าให้ฟังแล้ว นอกจากคุณจะเข้าใจความรู้สึกของเพื่อนแล้ว คุณก็จะมีข้อมูลมากพอในการให้คำปรึกษาเพื่อนสาวของคุณได้อย่างมีเหตุ มีผลมากขึ้นไงล่ะ
3) “เธอผอมลงหรือเปล่า?”

“น้ำหนักคือ เรื่องที่อาจทำให้ขุ่นเคืองใจได้ ” นพ. Lillian Glass ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากาย และผู้เขียนหนังสือ The Body Language Advantage ระบุ พร้อมอธิบายต่อว่า แม้คุณจะพยายามกล่าวประโยคนี้ขึ้นมา เพื่อหวังให้มันเป็นคำชมเชย ทว่าการกล่าวถึงเรื่องนี้ ก็สามารถทำให้เพื่อนคุณคิดหนักได้

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเธอต้องลดน้ำหนักให้ได้เพราะถูกกดดันจากคำพูดของคุณ? หรือจริงๆ เธออาจจะไม่ได้อยากซูบผอม เพราะเกรงจะเหี่ยวแห้งไร้ราศีก็เป็นได้ ฉะนั้นหากคุณต้องการทักว่าเพื่อนผอมลงหรือเปล่า อาจพูดเพียงว่า “ช่วงนี้ดูเปลี่ยนไปนะ” เพื่อให้เธอได้อธิบาย หรือบอกความรู้สึก เช่น หากเธอดีใจที่เธอผอมลง เธอจะยิ้มด้วยความยินดี ทว่าหากเธอไม่ได้รู้สึกอยากจะผอม เธอจะหาเหตุผลมาบอกคุณว่าทำไมเธอถึงดูผอม เช่น ไปตัดผมทรงใหม่มา หรือชุดที่ใส่ทำให้ดูรูปร่างผอมลง

แต่หากเพื่อนของคุณดูผอมลงจนน่าตกใจ และคุณก็ห่วงว่าเธอจะเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเปล่า ลองเปลี่ยนเป็นคำพูดที่ว่า “ฉันเพิ่งสังเกตเห็นว่าช่วงนี้เธอดูผอมลงนะ” แล้วค่อยถามด้วยความห่วงใย ว่าเป็นอะไรหรือเปล่า มีเรื่องกังวลอะไรจะเล่าให้ฟังมั้ย แบบนี้จะดีกว่าค่ะ

4) “ยินดีด้วยนะที่เธอได้ตำแหน่งนี้ เธอควรได้เลื่อนตำแหน่งนานแล้ว”

ถือเป็นข้อควรระวังข้อหนึ่ง กับการแสดงความยินดี เพราะบ่อยครั้งที่แม้คุณจะพูดแสดงความยินดีโดยพยายามพูดตามความเป็นจริง แต่คำชมนั้นอาจจะตาลปัตร กลายเป็นคำที่ทำให้เพื่อนรู้สึกแย่ได้
เพราะการกล่าวเช่นนั้นมันเป็นเหมือนการย้ำให้เพื่อนรู้สึกว่า แท้จริงแล้วเธอควรจะก้าวหน้าได้เร็วกว่านี้ และเธออาจจะรู้สึกอับอายที่ได้เลื่อนตำแหน่งช้าเกินไป เผลอๆ จะพาลรู้สึกว่าตัวเองไม่มีประสิทธิภาพอีกต่างหาก

“เป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับเธอ มันน่าทึ่งมากเลย” Melton แนะนำการกล่าวแสดงความยินดีกับการเลื่อนตำแหน่งของเพื่อนที่พอเหมาะพอดี
5) “เธอซื้อ….มาทำไม?”

เพื่อนรักของคุณมารำพึงรำพันเรื่องปัญหาทางการเงิน ให้ฟังอยู่บ่อยๆ แต่กระนั้นนางก็ยังหอบหิ้วถุงเสื้อผ้า ข้าวของแบรนด์หรูมาให้คุณเห็น จงอย่าผลีผลาม รีบตำหนิว่าเธอผิด ว่าเธอใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว เพราะอย่างน้อยที่สุด ‘เงินนั้นก็เป็นของเธอ’

“คุณไม่อาจทราบข้อเท็จจริงได้หรอก ว่าเธอได้ของนั้นมาได้อย่างไร บางทีของสิ่งนั้นอาจจะเป็นของขวัญที่คนอื่นให้เธอมาก็เป็นได้ ดังนั้นหากคุณเห็นเพื่อนถือสินค้าแบรนด์ดัง หรือของราคาแพงมา แค่พูดว่า 'ว้าว รองเท้าใหม่หรือ' แค่นั้นก็พอ เว้นแต่ว่าเธอจะขอยืมเงินนั่นแหละ คุณถึงจะสามารถพูดหรือแนะนำเธอได้ ว่าไม่ควรซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยราคาสูงเหล่านั้นมา” ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร Melton ให้คำแนะนำ

6) “ทำไมเธอไม่กล้าบอกฉันว่า..(ซื้อรถใหม่/ได้งานใหม่/เปลี่ยนแฟนใหม่)”

“มันไม่มีเหตุผลเลย ที่คุณจะรู้สึกน้อยใจ หากเพื่อนรักของคุณไม่บอกเรื่องราวใหม่ๆ บางอย่างกับคุณ” คุณหมอ Glass ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากายระบุ พร้อมอธิบายว่า การแสดงออกว่าคุณโกรธ มันไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะบางครั้งเพื่อนสาวคนสนิทของคุณ อาจจะมีเหตุผลส่วนตัวบางอย่าง เลยเลือกที่จะไม่บอกข่าวนั้นกับคุณ ทำให้คุณต้องรู้ข่าวนั้นพร้อมกับคนอื่นๆ

แนะนำว่า เมื่อคุณรู้ข่าวนั้นแล้ว อย่าไปตำหนิคาดคั้น ว่าเพราะอะไรเธอจึงไม่บอกเรื่องนั้นๆ กับคุณ พูดเพียงว่า “มันเป็นข่าวดีสำหรับเธอนะ ฉันดีใจกับเธอด้วย” เท่านี้ก็พอค่ะ อย่าไปตำหนิให้เธอยิ่งลำบากใจ

ทว่าหากเรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนคุณรู้สึกไม่สบายใจ ชักสงสัยว่าเพราะอะไรเพื่อนสนิทจึงไม่กล้าบอกเรื่องราวต่างๆ กับคุณ ก็ลองใช้วิธีเปิดอกคุยกัน พูดตรงๆ ว่าคุณอยากให้เธอบอกเรื่องราวต่างๆ กับคุณ เพราะคุณห่วงใย และอยากรู้ความเป็นไปเกี่ยวกับเธอ

ที่สำคัญคุณต้องพูดคุยอย่างไม่มีอารมณ์โกรธ ทำให้เธอรู้สึกว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นคุณก็พร้อมที่จะอยู่ข้างเธอ เชื่อเถอะว่า หากคุณพร้อมที่จะเข้าใจเธอ คราวหน้าไม่ว่าจะเรื่องใดเพื่อนสาวคนสนิทก็พร้อมจะเปิดเผยให้คุณรู้แน่ๆ
7) “ฉันอยากให้สามีฉัน ดีเหมือนสามีเธอจัง”

ในบางครั้งการชื่นชมความดีงามของสามีเพื่อนก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ทว่าหากบ่อยเกินงาม หรือหากคุณกำลังมีเรื่องระหองระแหงกับสามีของตัวเอง แล้วไปพูดว่า “อยากให้สามีฉัน ดีเหมือนสามีเธอจัง” อาจทำให้เพื่อนของคุณอึดอัดใจ และเกิดความไม่ไว้วางใจคุณขึ้นมาตะหงิดๆ

แม้จะสนิทสนมกันเพียงใด แต่กรณีของเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดเรื่องชายหนุ่ม ก็มีให้เห็นกันบ่อยไป ฉะนั้น ทางที่ดี อย่าพูดในลักษณะเปรียบเทียบสามีตัวเองกับสามีของเพื่อน หรือในทำนองที่ว่าอยากให้สามีเพื่อนเหมือนสามีตัวเองจะดีกว่า เพราะเพื่อนของคุณอาจจะคิดไปได้ว่า เอ๊ะ! หรือเธอคิดอะไรกับสามีฉันเนี้ย…

“แน่นอน เมื่อคุณมีปัญหากับคนรัก คุณสามารถปรึกษาเพื่อนสนิทของคุณได้ว่าควรทำให้อย่างไรให้ครองรักกันได้ราบรื่นเหมือนคู่ของเพื่อน แต่ต้องจำไว้ว่า ความสัมพันธ์ของคนทุกคู่ไม่เหมือนกัน สามีเพื่อนก็ไม่มีทางเหมือนสามีของคุณ ดังนั้นการพูดว่าอยากให้สามีตัวเอง เหมือนกับสามีของเพื่อน จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรจะพูดเลย” ดร. Glass แนะนำ

8) “งานแต่งงานของเธอเล็กจัง”

หากเพื่อนคุณกำลังจะแต่งงาน และมาขอคำปรึกษาจากคุณ แม้คุณจะหวังดีอยากให้เพื่อนทำโน่นนี่ ให้ใหญ่โต ทว่ากำลังทรัพย์ หรือแม้แต่ความชื่นชอบของเพื่อนและคุณอาจจะไม่เหมือนกัน การไปพูดว่า “งานแต่งของเธอเล็กเกินไปนะ” มันเป็นเหมือนการสร้างข้อด้อยให้เกิดขึ้นในใจเพื่อนได้ ยิ่งหากคุณแต่งงานก่อนเพื่อน แล้วไปวิพากษ์วิจารณ์งานแต่งเพื่อนว่าเล็ก ในขณะที่งานแต่งคุณยิ่งใหญ่กว่าน่ะ ถือเป็นเรื่องที่ทำร้ายใจเพื่อนได้อย่างมากมาย

เพราะงานแต่งงาน ถือเป็นงานสำคัญในชีวิตของผู้หญิง ไม่ว่าเจ้าสาวคนไหนก็ต้องอยากให้งานตัวเองออกมาดีที่สุด (เท่าที่ตัวเองจะทำได้) ฉะนั้นอย่าได้เอาบรรทัดฐานของตัวเองไปตัดสินงานแต่งของเพื่อน สิ่งที่ควรทำคือ แสดงความยินดี และให้เพื่อนได้จดจำความยิ่งใหญ่ และสมบูรณ์แบบของงานแต่งตัวเองเอาไว้ เป็นความทรงจำที่แสนงดงามดีกว่าค่ะ

เรียบเรียงจาก วูเมนเดย์ดอทคอม

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It