By Lady Manager
25 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ เป็น วันต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีสากล (Stop Violence Against Women's Day) จึงอยากชวนท่านผู้อ่านผู้หญิง (ผู้ชายด้วยยิ่งยินดีมากค่ะ) ร่วมแสดงพลังไม่ยอมรับ ไม่ยินดี กับความรุนแรงในสตรี ด้วยการทำสัญลักษณ์รอยช้ำใต้ตา
ง่ายๆ แต่เก๋ดีมีสาระ เพียงคุณๆ ป้ายลิปสติกสีอะไรก็ได้ เป็นรูปอะไรก็ได้ ที่บริเวณใต้ตา และถ่ายรูป อัพโหลดใส่แฮชแทค #WomenAgainstAbuse ทั้งทางอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก และแชร์ภาพทางโซเชียลเน็ตเวิร์คต่อๆ กันไป
จากสถิติองค์กรสหประชาชาติปี 2555 พบว่า หญิงไทยยอมรับการถูกทำร้ายมากเป็นอันดับ 2 ของโลก อีกทั้งผู้ถูกกระทำจำนวนไม่น้อยเมื่อโดนทำร้ายจะไม่กล้าร้องเรียนหรือแจ้งตำรวจเพื่อเอาผิด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเพิกเฉยต่อความรุนแรง
สอดคล้องกับผลสำรวจ “ความคิดเห็นเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ปี 2556” จากกลุ่มผู้หญิงจำนวน 1,194 ราย อายุ 20-60 ปี พบว่า
เมื่อถามถึงพฤติกรรมความรุนแรงแบบไหนที่คิดว่าผู้หญิงสามารถยอมรับได้ กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 48 ระบุว่าการเงียบไม่พูดไม่จา, ร้อยละ 45.5 การหึงหวง ห้ามไม่ไห้ออกไปไหน, ร้อยละ 25 การใช้คำพูดตะคอก ส่อเสียด ด่าทอ, ร้อยละ 23.4 ไม่รับผิดชอบครับครัว, ร้อยละ 19.9 ทำลายข้าวของ, ร้อยละ 13.5 การบังคับให้มีเพศสัมพันธ์, และร้อยละ 8 คือ ทุบตีทำร้ายรางกาย ขู่ฆ่า ประจาน
ส่วนพฤติกรรมที่ไม่ถือว่าเป็นความรุนแรงทางเพศ ร้อยละ 61.9 ระบุว่าการหยอกล้อ แซว, ร้อยละ 35.8 การใช้สายตาแทะโลม, ร้อยละ 27.6 จ้องมองเรือนร่าง, และร้อยละ 10.8 จับเนื้อต้องตัวหรือแต๊ะอั๋ง
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้หญิงส่วนมากเลือกที่จะอดทน หากมีความรุนแรง และพฤติกรรมความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นกับตัวเอง
เนื่องจากว่าอาย ยอมทนเพื่อลูก กลัวถูกทำร้ายซ้ำ ไม่รู้ช่องทางการให้ความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ และไม่รู้เรื่องของกฎหมายที่สามารถคุ้มครองผู้หญิงได้
“รัฐต้องสร้างกลไกขึ้นมาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการพัฒนากลไกช่วยเหลือและคุ้มครองผู้ถูกกระทำไม่ให้ถูกกระทำซ้ำ”
จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวระหว่างงานเสวนา ถอดรหัสชีวิต เมื่อผู้หญิงลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองและผู้อื่นจากความรุนแรง ต่อว่า
“ดังนั้น กระทรวงการพัฒนาความสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะต้องมีการทำงานแบบเร่งด่วน สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารช่องทางการช่วยเหลือให้มากขึ้น เพราะหากสังคมปล่อยให้ผู้หญิงถูกทำร้ายและอยู่ในวัฒนธรรมของความอาย ความกลัว หรือสังคมนิ่งเฉย จะยิ่งส่งผลให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น”
อ่าน หญิงไทยยุคใหม่มาแปลก 13.5% รับได้หากถูกข่มขืน!!
ที่สำคัญ ผู้หญิงจะต้องไม่อาย และกล้าลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองในการแก้ปัญหาความรุนแรง
เริ่มแสดงพลังผ่านการป้ายลิปสติกใต้ตาและแชร์ลงโซเชียลฯ ได้ตั้งแต่วันนี้เลยนะคะ
เพราะพฤศจิกายนเป็นเดือนแห่งการยุติความรุนแรงแห่งสตรีสากล ทั้งเดือนค่ะ
*******
ภาพบรรยากาศงานฯ มีการแสดงชื่อตอน ลุกขึ้นปกป้องตัวเอง ร่วมก้าวข้ามความรุนแรง ได้มีการป้ายตาสีแดงโดยใช้ลิปสติก เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายแค่ไหน และต่อไปนี้ผู้หญิงจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับสิ่งที่ถูกกระทำ
นิตยสารแมรีแคลร์ นำเหล่าดาราหญิงมาร่วมแคมเปญ เพื่อมอบให้มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เพื่อนำไปใช้ในการยุติความรุนแรง
ขอบคุณ ภาพประกอบจากแมรีแคลร์
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net
Comments are closed.