Advice

7 โทษของการกินดึก/นพ.กฤษดา ศิรามพุช

Pinterest LinkedIn Tumblr

By Lady Manager

“สวาปามยามดึก” อาการที่ไม่ควรมองข้าม

มีอาการแปลกที่เกี่ยวกับความผิดปกติของการกินอยู่หลายแบบ โดยแบบหนึ่งคือ การกินในเวลาที่ไม่ควรกิน อย่างเวลาดึกหรือถึงขั้น “ละเมอกิน” ในเวลานอน (Sleep-related eating disorder) ซึ่งอาการนี้มีอยู่จริง

เป็นสิ่งที่เป็นสัญญาณโรคบางอย่างด้วยครับ

เมืองไทยเป็นเมืองหลวงแห่งการรับประทานเมืองหนึ่งของโลก ซึ่งการรับประทานข้าวต้มมื้อดึก, ข้าวเฉโปโบราณ, กระเพาะปลา หรือว่าบะหมี่เกี๊ยวร้อนๆ ตอนรัตติกาลถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำกันมาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์

แต่ครั้นเมื่อทานบ่อยและหนักเข้าโดยร่วมกับอาการบางอย่างอาจเข้าข่ายโรคติดกินดึกนี้ได้ (Night eating syndrome)

แม้แต่การย่องลงมาเปิดตู้เย็นคว้าของกินมาดับหิวตอนดึกๆ

โดยคนกลุ่มนี้จะมีความอยากอาหารโดยเฉพาะยามค่ำคืนสูงมาก เข้าขั้นที่เรียกว่าแทบจะห้ามตัวเองไม่ได้ ซึ่งพอรับประทานแล้วก็กลับมารู้สึกผิดซ้ำซ้อน

แต่ตอนเช้ากลับแทบไม่กินอะไรเลย

แคลอรีที่กินทั้งหมดกระจุกอยู่แต่ในมื้อดึก

คนที่มีอาการกินเก่งตอนดึกหรือตอนนอนนั้น อาจเป็นสัญญาณอาการ “ป่วยใจ” ตามเกณฑ์ล่าสุดทางจิตเวช (DSM-5) ซึ่งเกี่ยวกับความเครียด, อารมณ์ และอาการนอนไม่หลับ

โดยเมื่อทานดึกต่อไปเรื่อยๆ ทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะทางสุขภาพดังต่อไปนี้ด้วยครับ

*7 ปัญหาที่มากับ “กินดึก”

1) เสี่ยงโรคอ้วน ขึ้นอยู่กับอาหารที่รับประทานด้วย โดยเฉพาะอาหารที่ “พลังงานสูง” แต่ “คุณค่าต่ำ” ยิ่งกินดึกบ่อยยิ่งมีโอกาสอวบได้ง่าย เพราะมื้อดึกเป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มพุงได้ง่ายจากการนอนนิ่งๆ ซึ่งการกินอาหารมื้อดึกติดๆ กันหลายคืนอาจทำให้รูปร่างคนเปลี่ยนไปได้อย่างไม่รู้ตัว

ที่น่ากลัวคือ เมื่ออ้วนแล้วจะเรียกโรคมาเร็วมาก

2) นอนไม่หลับ การเปิดทางให้กระเพาะอาหารทำงานย่อยในตอนกลางคืนจะทำให้ท่านมีปัญหาตอนนอนได้ ในขณะที่กระเพาะบีบตัวเพื่อจัดการกับอาหารนั้น อาจทำให้การนอนของท่านสะดุดได้

อย่างแรกง่ายๆ คือ อาการอึดอัดไม่สบาย จนกลายเป็นอาการที่ “ปลุก” ท่านขึ้นมากลางดึกได้

3) กรดไหลย้อน อาหารเรียกน้ำย่อยมื้อดึกเป็นการฝึกให้กระเพาะและระบบทางเดินอาหารทำงานผิดเวลาโดยไม่จำเป็นครับ

โดยกลไกสำคัญก็คือ การรับประทานอาหารจนอิ่มเต็มพุงแล้ว “เอนหลังนอน” ทันที กรณีนี้จะยิ่งทำให้กรดน้ำย่อยที่ชุ่มฉ่ำในกระเพาะไหลย้อนมาเผื่อแผ่ถึงแอเรียของหลอดอาหารและสูงกว่า พาให้เกิดอาการแสบร้อน, จุกแน่น และไอได้

4) ผลต่อฮอร์โมนสุขภาพ โดยเฉพาะฮอร์โมนที่ควรทราบคือ “โกร๊ทฮอร์โมน” และ “ฮอร์โมนนิทรา(เมลาโทนิน)”

โดยทั้ง 2 ฮอร์โมนนี้เป็นพระเอก-นางเอกสำคัญที่ไม่ได้ช่วยนอนอย่างเดียวแต่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันและสุขภาพโดยรวม ซึ่งการกินดึกบ่อยๆ จะมีผล “รบกวน” ความอยู่ดีมีสุขของร่างกายได้ครับ

5) โรคเก่ากำเริบ โดยเฉพาะโรคน่าห่วงอย่าง เบาหวาน, ความดันสูง,ไขมัน,โรคหัวใจ และโรคไต เพราะการได้พลังงานเกินจำเป็นในมื้อดึกไปทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อน และต้องคอยปรับตัวรับมือ

อย่างอาหารหวานก็ทำให้น้ำตาลขึ้น และคุมยากในคนที่เป็นเบาหวาน นอกจากนั้นอาหารมันและเค็มก็มีผลต่อโรคอื่นๆ ดังที่กล่าวมา

6) ติดนิสัย การกินดึกติดกันไปนานๆ จะทำให้ชินจนกลายเป็นนิสัยที่ตื่นเช้ามาไม่อยากกินอาหารเช้า เพราะยังอิ่มอืดเป็นงูหลามจากเมื่อคืน ทำให้อดอาหารเช้าจนชิน แล้วไปหิวเอาตอนบ่ายยืดเวลาไปถึงเย็น จนทำให้ไปกินหนักเอาช่วงค่ำคืนอีกจนติดเป็นกิจวัตร

7) เพิ่มความเสี่ยงโรค อย่างโรคที่เกี่ยวกับความอ้วน เมตาโบลิกซินโดรม (อ้วนลงพุงมฤตยู), หยุดหายใจตอนหลับ,ไขมันสูง, หัวใจทำงานหนัก ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันอย่าง โรคภูมิแพ้ที่เสี่ยงกำเริบได้จากการไม่ได้พักผ่อนเต็มที่เพราะอดนอนจากการหลับไม่สนิท

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้การนอนดึกและกินดึกเป็นข้าศึกต่อสุขภาพ ซึ่งทางแก้นั้นมีหลักๆ อยู่ที่การแก้ที่ต้นเหตุ เช่นถ้าเป็นเรื่องจิตใจก็ต้องหาทางแก้ให้ได้ แล้วร่วมด้วยการรับประทานเป็นเวลาในช่วงกลางวัน เช่นไม่อดมื้อสำคัญอย่างอาหารเช้า, เข้านอนให้เป็นเวลา และอย่าปล่อยให้ท้องว่างติดกันนานเกิน 5 ชั่วโมง

ซึ่งเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญโรคอ้วนจากศูนย์วิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยทัฟต์ยืนยันว่า การกินดึกกลางคืนทำให้มีแนวโน้มที่จะ “อดอาหารเช้า” ซึ่งกระทบต่อการกินและสุขภาพต่อเนื่องไปทั้งวัน

แต่หากท่านที่รักจำเป็นต้องกินดึกเพราะงานจริงๆ ก็มีหลักในการเลือกรับประทานง่ายๆ อยู่ 2 ข้อคือให้เลือก “แคลอรีต่ำ(Low calorie)” แต่ “ประโยชน์สูง(High nutrition)” ได้แก่ผักผลไม้หรือเครื่องดื่มที่ไม่หวาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะร่วมกันทำให้การติดกินดึกค่อยๆ หายไปในที่สุด

เป็นการหยุดวงจรสุขภาพเสื่อมด้วยครับ
 

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It