Advice

8 สิ่งที่ควรเตรียมไว้ เมื่อไปหาหมอ/นพ.กฤษดา ศิรามพุช

Pinterest LinkedIn Tumblr

By Lady Manager

สมัยนี้ไปติดต่ออะไรแสนสะดวกสบาย กระดาษ หรือแม้แต่แผ่นซีดียังแทบไม่ต้องใช้ ด้วยมีทุกอย่างเก็บอยู่ในฐานข้อมูล

ท่านอาจบอกว่ายุคนี้แค่มีมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ประเดี๋ยวเดียวก็กดเรียกข้อมูลมาดูได้ยังกับเนรมิต ซึ่งถูกอยู่ครับ แต่เรื่องของชีวิตในบางครั้งก็อาจมีเหตุสุดวิสัยที่เราไม่อยากให้เกิดได้ หรือเวลาท่านต้องไปรักษาฉุกเฉินที่อื่นที่ไม่สามารถดึงข้อมูลออนไลน์มาได้ขณะนั้น

การที่ท่านมีข้อมูลสำคัญพร้อมอยู่ในมือ จะช่วยท่านได้ไวกว่าระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์เครื่องไหนๆ ในสามโลก

จากประสบการณ์ที่ตรวจคนไข้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน ทำให้ได้เห็นเหตุสำคัญที่จะช่วยให้การวินิจฉัยโรค และการรักษาประสบความสำเร็จราบรื่นดีอยู่ที่หลายสิ่งที่คนไข้เตรียมมาด้วย

โดยสิ่งสำคัญสุดคือ “ข้อมูล” สุขภาพของคนไข้

ยิ่งคนไข้ให้ข้อมูลอาการเจ็บป่วยได้ดีและคุณหมอมีเวลาตั้งใจฟัง นั่นจะทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ

หาโรคได้เจอ รักษาได้ตรงจุด

ดังนั้นพระเอกคนสำคัญสุดคือตัวของเราเองด้วยที่จะช่วยคุณหมอให้รักษาได้ดีที่สุด โดยมีสิ่งที่ท่านแค่เตรียมไว้แล้วจะช่วยได้มากยามพบแพทย์ดังต่อไปนี้ครับ

*8 สิ่งที่ควรเตรียมไว้เมื่อไปหาหมอ

1) โน้ตชื่อโรค กระดาษแผ่นเล็กๆ บอกชื่อโรคและรายละเอียดคร่าวๆ จะจดหรือพิมพ์เอาก็ได้ครับ จำเป็นมาก เพราะในห้วงเวลาไม่นานที่อยู่กับคุณหมอ ประวัติสุขภาพที่ผ่านมาจะช่วยในการจับผู้ร้ายในครั้งนี้ของท่านได้

ยกตัวอย่างเช่น เคยมีประวัติเจ็บหน้าอกมาก่อน ส่วนครั้งนี้เจ็บนานไม่หาย แถมยังเหนื่อยก็อาจสงสัยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือเคยมีประวัติเป็น “เริม” มาก่อน ครั้งนี้ก็อาจชวนให้สงสัยเป็นซ้ำหรืองูสวัดก็ได้

2) ประวัติแพ้ยา รวมถึงอาการข้างเคียงที่เคยมี เรื่องนี้จำเป็นมาก และขาดไม่ได้ เพราะช่วยให้ท่านปลอดภัยได้มากครับ ขอท่านที่รักอย่าพึ่งพิงแต่ระบบคอมพิวเตอร์เสมอไป เพราะในยามวิกฤตที่ท่านอาจต้องตัดสินใจด่วนเช่น ผ่าตัดหรือให้อวัยวะกับคนที่เรารัก

ประวัติแพ้ยาสำคัญถึงชีวิตจึงควรมีข้อมูลแบ็คอัพเก็บไว้หลายที่ อาจมีเป็นเหมือนนามบัตร(การ์ด)เล็กๆใส่กระเป๋าสตางค์หรือห้อยคอไว้ในเด็กเล็กก็ยังได้ครับ

3) สงสัยตั้งครรภ์ ต้องบอกเสมอ ทั้งที่รู้ว่าตั้งครรภ์หรือเพียงแค่ “สงสัยว่าท้อง” เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้เรื่องยาครับ

ฟังดูเป็นเรื่องที่ทุกคนทราบแต่จากที่ได้พบขณะตรวจคนไข้ เวลาคนไข้ตื่นเต้นเพราะกำลังมีอาการฉุกเฉินเรื่องอื่นก็เผลอลืมบอกคุณหมอถึงเรื่อง “ท้อง” อยู่บ่อยไป ทำให้คนไข้อาจได้รับผลเสียจากการรักษาได้ เช่นได้รับยาที่มีปัญหากับการตั้งครรภ์อย่าง “กรดวิตามินเอรักษาสิว” หรือ “ยาแก้คออักเสบ” ที่มีผลกับครรภ์ในเวลาเป็นหวัด

4) ยาประจำตัว จะจดเป็นโน้ตไว้หรือเอาร่วมยาตัวเป็นๆ มาให้คุณหมอดูก็ได้แล้วแต่สะดวกครับ ที่สำคัญ เพราะมันช่วยปกป้องท่านจากปัญหาการได้รับยาซ้ำซ้อน กินยาเกินขนาด ยาตีกันจนอันตราย รวมถึงช่วยในกรณีบอกสาเหตุโรคในขณะนั้นได้ว่าเกิดจากผลข้างเคียงของยาหรือไม่

เช่นท่านที่กินยากันลิ่มเลือดจับตัว(แอสไพริน) แล้วมาหาหมอด้วยอาการถ่ายดำก็ช่วยวินิจฉัยได้ว่าอาจมาจากยาที่ทำให้เลือดออกในท้องได้ นอกจากนั้นควรเอาวิตามิน และอาหารเสริมที่รับประทานประจำติดมาด้วยครับ

5) ผลการตรวจเดิม ทั้งผลเลือด, ผลชิ้นเนื้อ, ผลแล็บ, ผลเอ็กซเรย์ต่างๆ ในบางกรณีนำเฉพาะ “ใบรายงาน” ผลไปก็ได้ไม่จำเป็นต้องหอบแผ่นฟิล์มทั้งปึกไป ถ้ามีเยอะอาจจัดเรียงใส่แฟ้มไว้ให้เปิดดูง่ายๆ เทียบกันกับเมื่อคราวก่อนๆ มีความสำคัญที่ช่วยตัวท่านได้

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าถ้าเคยมีผลส่องกล้องชวนสงสัยมะเร็งในลำไส้ก็อาจช่วยให้ตัดสินใจขลิบชิ้นเนื้อไปตรวจได้เร็วขึ้น ซึ่งผลตรวจทั้งหลายนี้ถ้ามีเวลาจะรวบรวมมาจัดพิมพ์ใหม่ไว้ใกล้ๆ กันเหมือนอัลบั้มรวมฮิตเพลงโปรดก็ได้ครับ

6) ผลสุขภาพที่เฉพาะกับโรคประจำตัว อย่างความดันสูงควรมีสมุดบันทึกค่าความดันเตรียมไว้,เบาหวานควรมีสมุดจดค่าน้ำตาลในเลือด,โรคไตควรมีการจดปริมาณน้ำที่ดื่ม และปัสสาวะแบบคร่าวๆ ไว้

หรืออย่างคุณแม่ตั้งครรภ์ก็ต้องเอาสมุดฝากครรภ์ติดไปทุกครั้ง ส่วนเด็กน้อยฉีดวัคซีนก็อย่าลืมสมุดวัคซีน(สมุดเด็กดี)ที่ควรมีติดเผื่อไว้ครับ

7) จดอาการและสิ่งอยากถามไว้ จะได้ใช้เวลาที่มีอยู่ไม่มากในการซักถามให้คลายข้อสงสัย เพราะในบางครั้งพอถึงเวลาแล้วลืม ไปจำได้อีกทีเมื่อคล้อยหลังจากคุณหมอแล้ว เล่าอาการของโรคที่เกิดบางขณะแต่สำคัญได้

เช่นบางครั้งมีถ่ายเป็นเลือดหรือมีไข้รุมๆ เฉพาะช่วงหัวค่ำ รวมถึงถามสิ่งที่คาใจในเรื่องโรค ค่ารักษาพยาบาล จดไว้ก่อนพอถึงเวลาก็ได้คุยครบหมดกังวล สบายใจด้วยกันทั้งคนไข้ และคุณหมอครับ

8) ประวัติพิเศษอื่นๆ รวมถึงเรื่องที่ท่านอยากบอกคุณหมอด้วยครับ ขอท่านที่รักอย่าเพิ่งเกรงไปก่อนว่าจะถามดีหรือไม่ เพราะถ้ามีสิ่งใดคาใจคนไข้อยู่ผมเชื่อว่าคุณหมอทุกท่านยินดียิ่งที่จะช่วยปัดเป่าสิ่งที่ทำให้คนไข้ไม่สบายใจครับ

ประวัติพิเศษที่ควรบอกเช่น เคยประสบอุบัติเหตุ, เคยผ่าตัด,เคยเส้นเลือดสมองตีบ, เคยมีเลือดออกในกระเพาะ, เคยเป็นเนื้องอก, เคยเป็นโรคหัวใจ หรือเคยเข้ารับการบำบัดใดๆ อยู่ สิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์ในทุกครั้งที่ท่านไปพบแพทย์ครับ

ทั้ง 8 อย่างหรือเรื่องหลักๆ ที่ท่านควรเตรียมตัวไว้เสมอครับทั้งก่อนพบคุณหมอและนึกเผื่อไว้ในใจด้วย จะช่วยเวลาเกิดเหตุไม่คาดคิดได้ ส่วนในรายละเอียดเรื่องอื่นๆ นั้นเชื่อว่าแต่ละท่านมีข้อมูลเฉพาะตัวที่พิเศษต่างกันไป แต่ก็สามารถใช้ทั้ง 8 ข้อเป็นข้อมูลหลักแล้วต่อยอดข้อมูลพิเศษอื่นๆ ไปได้ครับ

ช่วยท่านได้เวลาที่ฉุกเฉินหรือมีเวลาจำกัดตอนพบแพทย์ครับ
 

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
 

Comments are closed.

Pin It