Fashion

คุยกับนักสร้างสรรค์ยีนส์ระดับโลกของยูนิโคล่ “มาซาอากิ มัตซึบารา” ณ กรุงโตเกียว

Pinterest LinkedIn Tumblr


>>ต้องยอมรับว่าสินค้าแฟชั่นที่หลากหลายภายใต้แบรนด์ยูนิโคล่ หนึ่งในนั้นคือยีนส์ที่ได้รับความสนใจมากเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งครั้งนี้ Celeb Online มีโอกาสพูดคุยกับนักสร้างสรรค์ยีนส์มือฉมังของยูนิโคล่ “มาซาอากิ มัตซึบารา” อย่างใกล้ชิด ณ สำนักงานใหญ่ของยูนิโคล่ ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถึงคุณภาพของยีนส์ภายใต้แบรนด์ยูนิโคล่ว่าทำไมยีนส์ของยูนิโคล่ถึงมีความแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ และอะไรคือจุดเด่นที่ทำให้ยังคงครองใจผู้สวมใส่ทั่วโลก

หาตัวจับยากทีเดียวสำหรับ “มาซาอากิ มัตซึบารา” (Masaaki Matsubara) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเดนิม อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์” (Denim Innovation Center) ของยูนิโคล่ (Uniqlo) และหัวหน้าฝ่ายออกแบบของ เจแบรนด์ (J Brand) บริษัท ฟาสต์รีเทลลิ่ง จำกัด นักสร้างสรรค์ยีนส์มากฝีมือของยูนิโคล่ ที่สำคัญเขาเป็นคนหนุ่มที่น่าจับตามองไม่น้อยทั้งในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา เพราะเขาจะต้องคอยสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาตามมาตรฐานของยูนิโคล่อย่างใกล้ชิด แล้วจะต้องบินไปมาระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกานับครั้งไม่ถ้วน เพื่อขับเคลื่อนสินค้าแฟชั่นยีนส์ของยูนิโคล่ให้มีความโดดเด่นและแตกต่าง

ปัจจุบัน ยูนิโคล่ ภายใต้ชื่อบริษัท ฟาสต์รีเทลลิ่ง จำกัด มีศูนย์วิจัยและพัฒนาเดนิม อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ เพื่อเน้นในการค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าเดนิมเป็นหลัก ตั้งอยู่ที่เมืองลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางการผลิตผ้าเดนิมของโลกเลยก็ว่าได้

ศูนย์วิจัยและพัฒนาเดนิม อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ มุ่งเน้นที่จะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญในด้านยีนส์จากหลากหลายแบรนด์ภายใต้เครือบริษัท ฟาสต์รีเทลลิ่ง จำกัด เพื่อคิดค้นและพัฒนาผ้ายีนส์รูปแบบใหม่ๆ โดยใช้เครื่องมืออันทันสมัยหลากหลายชนิด ซึ่งโปรเจกต์แรกของศูนย์แห่งนี้คือ การค้นคว้าพัฒนาผ้ายีนส์สำหรับยูนิโคล่ และเจแบรนด์ ซึ่งผลิตภัณฑ์สำหรับสองแบรนด์ข้างต้น จะเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงจนถึงฤดูหนาวปี 2017 นี้เป็นต้นไป

มาซาอากิ มัตซึบารา บอกว่า ยูนิโคล่มีความมุ่งเน้นสร้างสรรค์ผ้าเดนิมที่ดีที่สุด จึงเลือกที่จะพัฒนาในถิ่นกำเนิดของผ้าเดนิม โดยการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเดนิม อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ ขึ้นในเมืองลอสแองเจลิส ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมเดนิม ดังนั้น แบรนด์ยูนิโคล่ โดยบริษัท ฟาสต์รีเทลลิ่ง จำกัด จึงจะสามารถเข้าถึงแก่นแท้ และเทรนด์ล่าสุดในการออกแบบยีนส์ได้อย่างทันท่วงที โดยที่การผลิตกางเกงยีนส์ของบริษัทนั้นจะคำนึงถึงหลัก “3Fs” คือ Fabric, Fit และ Finish เพื่อสร้างสรรค์ยีนส์ที่ยิ่งทันสมัยและสวมใส่สบายกว่าเดิมในฐานะที่เป็นเครื่องแต่งกายชิ้นสำคัญในชีวิตประจำวัน ด้วยเครื่องมือที่ครบครันพร้อมสำหรับการพัฒนายีนส์ที่มีคุณภาพสูงสุด ขณะเดียวกันก็ยังคงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

ก่อนหน้านี้ บริษัท ฟาสต์รีเทลลิ่ง จำกัด ทำการว่าจ้างผู้ผลิตภายนอกในการผลิตสินค้าตัวอย่าง อย่างไรก็ดีด้วยการก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเดนิม อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ บริษัทจะสามารถบริหารจัดการการผลิตสินค้าทั้งหมดภายในศูนย์แห่งนี้ด้วยอุปกรณ์ทันสมัยล่าสุด ซึ่งจะสามารถผลิตสินค้าตัวอย่างได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพสูงสุด
โดยที่ทางศูนย์ยังสามารถใช้เป็นศูนย์วิจัยสำหรับแบรนด์ต่างๆ เพื่อสร้างความสมบูรณ์แบบของตัวผลิตภัณฑ์ระหว่างช่วงการผลิตจริง ยิ่งไปกว่านั้นทางศูนย์ยังคงเน้นย้ำในด้านการผลิตและเทคนิคในการใช้สารเคมีเพื่อการเฟดกางเกงยีนส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

สำหรับหน้าที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาเดนิม อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ ที่คำนึงถึงหลัก “3Fs” ขอขยายเพิ่มเติมดังนี้ว่า
1.Fabric: เสาะหาและพัฒนาวัตถุดิบ จากผู้ผลิตสิ่งทอชั้นนำของโลก
ศูนย์วิจัยและพัฒนาเดนิม อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ ตั้งอยู่ ณ เมืองลอสแองเจลิส ซึ่งเป็นฐานการผลิตระดับโลกของผ้าเดนิม โดยสามารถพัฒนาผ้าเพื่อให้เหมาะสมกับกางเกงยีนส์แต่ละแบบ นอกจากนั้น ยูนิโคล่ยังเป็นพันธมิตรกับ บริษัท ไคฮาระ คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตผ้ายีนส์ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ด้วยความร่วมมือจากผู้ผลิตสิ่งทอชั้นนำของโลก ยูนิโคล่ยังคงมุ่งมั่นที่จะนำเสนอยีนส์ที่มีคุณภาพสูงให้แก่ผู้คนทั่วโลก

2.Fit : ด้วยความร่วมมือระหว่างกลุ่มบริษัทในเครือ เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพสูง
ด้วยความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยและพัฒนาเดนิม อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ และแบรนด์ของกลุ่มบริษัทในเครือฟาสต์รีเทลลิ่ง เพื่อจะโชว์ขีดความสามารถของแต่ละแบรนด์ โดยมาซาอากิ มัตซึบารา บอกว่าโปรเจกต์แรกของศูนย์วิจัยแห่งนี้จะเป็นความร่วมมือระหว่างยูนิโคล่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการวิเคราะห์ ความต้องการของลูกค้า ในการใช้งานในชีวิตประจำวัน และเจแบรนด์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์กางเกงยีนส์ที่ล้ำนำสมัยอยู่ตลอดเวลา โดยที่ศูนย์แห่งใหม่นี้จะรวบรวมความรู้และความสามารถของทั้งสองแบรนด์เข้าด้วยกันเพื่อสร้างกางเกงยีนส์ที่สมบูรณ์แบบ

3.Finish : การตกแต่งสำเร็จโดยผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก และขั้นตอนด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย
ขั้นตอนสุดท้าย คือ การตกแต่งสำเร็จของกางเกงยีนส์นั้นถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่สุดซึ่งจะส่งผลต่อรูปลักษณ์และเนื้อผ้าของตัวสินค้า โดยมาซาอากิ มัตซึบารา เล่าว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาเดนิม อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ มีการเตรียมเครื่องมือที่ทันสมัยไว้ใช้ในการตกแต่งสำเร็จกางเกงยีนส์ นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์ลวดลายของกางเกงยีนส์จากทั่วโลกที่ร่วมกันทำการทดลองเพื่อสร้างลวดลายที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ลงบนผ้ายีนส์เกรดพรีเมียมของกางเกงยีนส์ยูนิโคล่

:: นวัตกรรมกับแบบแผนดั้งเดิมมาบรรจบกันในความร่วมมือระหว่างยูนิโคล่และไคฮาระ
ผ้าที่ใช้ผลิตยีนส์ของยูนิโคล่มาจากบริษัท ไคฮาระ (KAIHARA) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตผ้าเดนิมชั้นนำระดับโลก ไคฮาระเริ่มบุกเบิกการสร้างสรรค์ผ้าเดนิมคุณภาพสูงในช่วงทศวรรษ 1960 โดยการประยุกต์ใช้แบบแผนดั้งเดิมในการผลิตผ้าย้อมคราม “คาซูริ” (ผ้าซึ่งใช้ด้ายที่ผ่านการย้อมมาก่อนหน้าแล้วเพื่อให้เกิดแพตเทิร์นหรือภาพขึ้นเมื่อนำมาทอเป็นผืน) ซึ่งผ้าที่ได้มีคุณภาพสูงมากจนทำให้ชื่อ ไคฮาระ เป็นเสมือนคำสากลที่สื่อถึงผ้าเดนิมระดับพรีเมียม ญี่ปุ่น ซึ่งโรงงานแห่งนี้เป็นสถานที่ผลิตผ้าเดนิมที่จัดอยู่ในทำเนียบผ้าเดนิมที่ดีที่สุดในโลก โดยเป็นผ้าที่ให้ความสบายเป็นพิเศษ ผสานกับลักษณะที่ดูเหมือนผ่านการใช้งานมาแล้วและจะยิ่งขับบุคลิกให้เด่นชัดขึ้นตามกาลเวลาของการใช้งาน

สำหรับต้นกำเนิดของผ้าเดนิมไคฮาระ สำนักงานใหญ่และโรงงานในประเทศญี่ปุ่นของไคฮาระตั้งอยู่ที่เมืองฟุกุยามา ในจังหวัดฮิโรชิมา ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานในฐานะแหล่งผลิตผ้าคาซูริแห่งสำคัญในประเทศญี่ปุ่น กลุ่มผู้ผลิตผ้าคาซูริเฟื่องฟูในพื้นที่นี้ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 จนถึงกลางศตวรรษที่ 18 ไคฮาระได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1893 ในย่านที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตผ้าคาซูริบิโงะ (Bingo Kasuri)

ในช่วงแรกๆ ไคฮาระดำเนินกิจการผลิตผ้าคาซูริซึ่งใช้วิธีการย้อมแบบดั้งเดิมที่ไม่ใช้สารเคมี ต่อมาจึงพัฒนากระบวนการย้อมด้ายขึ้น จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1970 ได้ก้าวขึ้นเป็นบริษัทญี่ปุ่นแห่งแรกที่ประกอบกิจการผลิตผ้าเดนิม นับจากนั้นเป็นต้นมา ไคฮาระได้ขยายการดำเนินงานจนครอบคลุมกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปั่นด้ายไปจนถึงการตกแต่งสำเร็จ และครองส่วนแบ่งตลาดอันดับต้นๆ ในตลาดโลก

ผ้าเดนิมไคฮาระเลือกใช้แต่ฝ้ายดิบคุณภาพสูงที่มีคุณสมบัติดีพอจะใช้ผลิตเสื้อเชิ้ตชั้นดีเท่านั้น โดยจะผสมใยฝ้ายที่มีคุณลักษณะต่างๆ ไว้ด้วยกันจนได้อัตราส่วนซึ่งให้คุณสมบัติที่สมบูรณ์แบบสำหรับผ้าเดนิม ไคฮาระเป็นหนึ่งในผู้ผลิตผ้าเดนิมเพียงไม่กี่รายในโลกที่เจาะจงใช้ฝ้ายคุณภาพดีที่สุด และยังเอาใจใส่อย่างเหลือเชื่อกับการปั่นด้ายแต่ละเส้น

ไคฮาระสร้างกระบวนการ Rope Dyeing ระดับโลกของตนขึ้นเองในบริษัทฯ ซึ่งส่วนนอกของเส้นด้ายเป็นสีคราม ขณะที่แกนกลางยังคงเป็นสีขาวตามธรรมชาติของฝ้าย ข้อเท็จจริงก็คือ มีเพียงผ้าเดนิมที่ทอจากด้ายแบบนี้เท่านั้นที่ให้ลักษณะการซีดซึ่งค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างสวยมีเสน่ห์เช่นนี้

กระบวนการย้อมมัดด้าย (Rope Dyeing) คือเคล็ดลับในการทำให้แกนกลางยังคงเป็นสีขาว ในปี ค.ศ. 1970 ไคฮาระกลายเป็นผู้ผลิตรายแรกในญี่ปุ่นที่พัฒนาและนำกระบวนการนี้มาใช้

เส้นด้ายที่นำมารวมเป็นมัดจะถูกจุ่มลงในสีย้อมคราม จากนั้นผ่านเข้าเครื่องรีดน้ำแล้วทิ้งให้ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยกระบวนการจะแตกต่างกันออกไปตามความเข้มของสีที่ต้องการ มัดด้ายแต่ละมัดมีความยาวประมาณ 500 เมตร ไคฮาระได้จดสิทธิบัตรเครื่องจักรและอุปกรณ์หลายๆ อย่างที่ใช้ในกระบวนการนี้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา ไคฮาระได้ย้อมมัดด้ายคิดเป็นความยาวรวมประมาณ 1 ล้านกิโลเมตร ซึ่งยาวพอที่จะพันรอบโลกได้ถึง 25 รอบ

ไคฮาระยังคงใช้และบำรุงรักษาเครื่องทอแบบกระสวยสมัยเก่าที่ใช้งานมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 และ
ต้นทศวรรษ 1980 บริษัทฯ เชื่อว่าผ้าเดนิมที่ทอจากเครื่องทอแบบนี้เท่านั้นที่จะให้คุณค่าแบบวินเทจได้อย่างแท้จริง และขอบแดงของผ้าเดนิมจากเครื่องทอที่ดูคล้ายๆ กับเครื่องทอรุ่นเก่าเหล่านี้ก็เป็นได้เพียงแค่ของเลียนแบบกระสวยไม้ที่คอยส่งด้ายพุ่งในเครื่องทอแบบกระสวยสมัยเก่าจะวิ่งไปวิ่งกลับ เกิดเสียงกระทบเป็นจังหวะ
การเคลื่อนไหวซ้ำๆ เช่นนี้ทำให้เกิดความไม่สม่ำเสมอเล็กน้อยในเนื้อผ้าเดนิม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของ
ผ้าเดนิมแบบวินเทจที่มีเนื้อผ้าเป็นลูกคลื่นสวยงาม

เครื่องทอความเร็วสูงยุคใหม่สามารถผลิตด้ายได้ถึงประมาณ 350 เมตรต่อวัน ส่วนเครื่องทอแบบกระสวยสมัยเก่าแต่ละเครื่องจะมีขีดจำกัดอยู่ที่ประมาณ 120 เมตรต่อวัน ไคฮาระยึดมั่นแบบแผนของผ้าเดนิมดั้งเดิมเป็นอย่างมากในการผลิตผ้าเดนิมขนานแท้ ถึงขนาดยอมมีกำลังการผลิตน้อยเพื่อแลกกับการคงไว้ซึ่งเนื้อผ้าเดนิมแบบวินเทจที่มีเรื่องราวอยู่ในตัวเอง ผ้าเดนิมที่ใช้ตัดเย็บยีนส์ของยูนิโคล่จึงเต็มเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณความทุ่มเทของไคฮาระเพื่อรักษาแบบแผนดั้งเดิม ตลอดจนกระบวนการผลิตของบริษัทฯ ที่มีความพิเศษเฉพาะตัวเป็นเลิศ

การผลิตผ้าเดนิมของไคฮาระ มีขั้นตอนที่น่าสนใจ ดังนี้

1.การปั่นด้าย (Spinning)
นำเข้าฝ้ายดิบที่คัดสรรแล้วว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดสำหรับการผลิตผ้าเดนิม และนำความรู้ความเชี่ยวชาญอันเป็นกรรมสิทธิ์มาใช้เพื่อสร้างคุณลักษณะขั้นสุดท้ายตามที่ต้องการ ซึ่งจะเลือกใช้วิธีปั่นด้ายแบบวงแหวน (Ring Spinning) หรือแบบปลายเปิด (Open-end Spinning) ตามคุณภาพเส้นด้ายที่ต้องการ หุ่นยนต์ป้อนงานที่ปฏิบัติงานอยู่ตลอดกระบวนการโดยส่วนใหญ่จะไม่ต้องใช้คนควบคุม

2.การสืบด้าย (Warping)
มัดด้ายความยาวประมาณ 6,000 หลา ประกอบไปด้วยเส้นด้ายประมาณ 600 เส้น การหมุนปล่อยเส้นด้ายทั้งหมดให้เรียงตัวเป็นระเบียบจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้ย้อมสีได้สม่ำเสมอกัน เครื่องสืบด้ายมีความล้ำสมัยในหลายด้าน และยังพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องจักรกลุ่มนี้ขึ้นด้วย

3.การย้อม (Dyeing)
การย้อมมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการกำหนดลักษณะของผ้าเดนิม กระบวนการนี้ใช้ประโยชน์จากความรู้ความชำนาญอย่างยาวนาน ในการย้อมครามผ้าดั้งเดิมของญี่ปุ่น ย้อมมัดด้ายแล้วคลึง และปล่อยให้ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศจนเกิดเป็นสีคราม ทำกระบวนการนี้ซ้ำๆ หลายครั้งเพื่อให้ได้สีน้ำเงินครามที่สวยเข้ม

4.การเคลือบเส้นด้าย (Sizing)
กระบวนการนี้ทำให้ด้ายยืนแข็งแรงขึ้น เหยียดยาวขึ้น และมีผิวเรียบพร้อมสำหรับการทอ จะเคลือบเส้นด้ายที่ผ่านการย้อมมาแล้วในแกนม้วนด้ายยืน (Warp Beam) ความยาว 600 หลา และมีแนวด้ายยืนกว้างเป็น 2 เท่าของเครื่องทอ

5.การทอ (Weaving)
กระบวนการนี้เป็นการทอด้ายพุ่งแทรกระหว่างด้ายยืนที่ผ่านการย้อมมาแล้ว ไคฮาระเดินเครื่องผลิตด้วยเครื่องทออันทันสมัยมากกว่า 300 เครื่อง เลือกใช้ชนิดของเครื่องทอสำหรับผ้าเดนิมอย่างเฉพาะเจาะจง อาทิ เครื่องทอแบบกระสุน (Projectile Weaving Machine) กับผ้าเดนิมเนื้อหนาที่ใช้ด้ายเบอร์ใหญ่ เครื่องทอความเร็วสูงแบบพ่นลม (Air Jet High-Speed Weaving Machine) สำหรับผ้าเดนิมที่ใช้ด้ายเบอร์เล็ก และเครื่องทอแบบกระสวย (Shuttle Weaving Machine) สำหรับผ้าเดนิมแบบคลาสสิก

6.การตรวจสอบผ้าดิบ (Gray Fabric Inspection)
ยูนิโคล่ตรวจสอบผ้าดิบทั้งหมดที่ทำการผลิตว่าตรงกับคุณสมบัติจำเพาะที่ต้องการและจัดอันดับชั่วคราว จากนั้นจึงตรวจดูผลทดสอบในขั้นตอนก่อนหน้านี้ เพื่อคงขั้นตอนการควบคุมคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ

7.การตกแต่งสำเร็จ (Finishing)
นำผ้าที่ผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้วมาตกแต่งให้ได้เนื้อผ้าที่ผู้บริโภคชื่นชอบ การตกแต่งสำเร็จอาจมีทั้งการเผาขน (Singeing) เพื่อกำจัดฝอยบนผิวผ้า การลงแป้ง (Starching) เพื่อให้ผ้าคงรูป การดึงบิดรูปล่วงหน้า (Preskewing) เพื่อป้องกันเนื้อผ้าเสียรูป และการทำให้ผ้าหดตัว (Preshrinking) เพื่อลดการหดตัวของผ้าในภายหลัง โดยกระบวนการเหล่านี้ใช้ระบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ

8.การตรวจสอบและทดสอบขั้นสุดท้าย (Final Inspection and Testing)
จากนั้นตรวจสอบผ้าเดนิมที่ผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วอย่างเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผ้ามีคุณสมบัติจำเพาะตรงตามที่ลูกค้าระบุ และมีการให้คะแนนขั้นสุดท้ายไว้ด้วย ผู้เชี่ยวชาญจะทดสอบคุณลักษณะสำคัญ 6 ด้านด้วยกันคือ
1.ความทนต่อการฉีกขาด (Ripping and Tear Strength)
2.ความแตกต่างของสี (Color Differences) เป็นการตรวจความสม่ำเสมอของสี
3.องศาการป้องกันเนื้อผ้าเสียรูป (Skew Prevention Degree) เป็นการตรวจการดึงบิดรูปล่วงหน้า
4.ความทนต่อแรงดึง (Tensile Strength)
5.ความต้านทานแรงพับ (Bending Resistance) เป็นการวิเคราะห์เนื้อผ้าและคุณสมบัติการพับตัว
6.การหดตัวเมื่อซัก (Shrinkage upon Washing)

ได้ยินได้ฟังเช่นนี้แล้วจึงมั่นใจได้ว่ายีนส์ภายใต้แบรนด์ของยูนิโคล่ทุกชิ้นเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ คุณภาพของผ้า และความโดดเด่นในเรื่องของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำเกินกว่าที่จะบรรยายได้หมดในข้อเขียนนี้ ถ้าคุณยังไม่ได้สัมผัสหรือเป็นเจ้าของยีนส์จากยูนิโคล่ ดังที่ “จอห์น ซี เจย์” (John C Jay) ครีเอทีฟระดับขั้นเทพของยูนิโคล่ กล่าวไว้ว่า “Simply Isn’t the End, But is Beginning!





Comments are closed.

Pin It