“ตอนนี้เลิฟเบิร์ดคือชีวิต” คือประโยคที่เรียกได้ว่าคือทั้งหมดของการสนทนากับ แพม-อณิชา อรรถสกุลชัย ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้ง Lovebird (เลิฟเบิร์ด) เรดดี้ ทู แวร์ สไตล์เฟมินีน ที่เริ่มต้นสร้างแบรนด์ของตัวเองจากความหลงใหลและอินเนอร์ในใจของเธอเอง แม้ว่าในช่วงแรกจะมีเสียงทัดทานจากครอบครัวอยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็ให้โอกาสลูกสาวได้ทำในสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันและตั้งใจ
“แพมชอบแต่งตัว ชอบแฟชั่นมาตั้งแต่เด็ก เคยขอเรียนด้านแฟชั่น แต่เมื่อก่อนคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจ เพราะในอดีตดีไซเนอร์ยังไม่เป็นที่ยอมรับเหมือนสมัยนี้ ความชอบส่วนตัวอีกอย่างคือช้อปออนไลน์ ปกติไม่ค่อยเดินห้าง เมื่อตัดสินใจลองทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองจึงเริ่มจากช่องทางที่ตัวเองถนัด เริ่มจากเว็บไซต์เป็นช่องทางจัดจำหน่าย จากนั้นก็มีเฟซบุ๊คและอินสตาแกรมเป็นช่องทางสื่อสารกับลูกค้า” แพมเกริ่นถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ Lovebird
แม้จะเติบโตในครอบครัวนักธุรกิจเจ้าของนมเปรี้ยวบีทาเก้น แต่เธอเลือกเรียนด้านการสื่อสารจนจบปริญญาโทจากออสเตรเลีย และเพราะหลงใหลโลกแห่งแฟชั่นมากกว่า จึงหักเหเส้นทางศึกษาด้านแฟชั่นดีไซน์จาก Raffles Institute Bangkok Thailand และหลักสูตรระยะสั้นด้านแฟชั่นจาก Central Saint Martins ก่อนตัดสินใจสร้างแบรนด์ของตัวเองผ่าน www.shopatlovebird.com ในชื่อ LOVEBIRD ซึ่งได้รับกระแสความนิยมอย่างคาดไม่ถึง
“แพมรู้ตัวมาตลอดว่าชอบแฟชั่น แต่ตอนเด็กอาจไม่แน่ใจว่าชอบถึงขนาดมาเป็นดีไซเนอร์หรือเปล่า จึงไม่ได้เรียนด้านการออกแบบมาตั้งแต่ต้น คุณพ่ออยากให้แพมเป็นอาจารย์ เพราะรู้นิสัยของแพมว่าเป็นคนไม่ชอบการแข่งขัน ออกแนวรักสงบ แพมจึงเลือกเรียนภาษาและการสื่อสาร และมาเป็นอาจารย์สอนฝรั่งเศสอยู่พักหนึ่ง จากนั้นก็ไปทำงานเอเจนซี่ ซึ่งมันเป็นงานที่สนุก ท้าทาย และได้ประสบการณ์มากมาย แต่นั่นทำให้แพมค้นพบตัวเองว่าเราอยากทำงานเกี่ยวกับเสื้อผ้ามากกว่า จึงตัดสินใจไปศึกษาด้านแฟชั่น และลองทำเลิฟเบิร์ดเป็นการทดสอบตัวเองไปด้วย”
สำหรับแบรนด์Lovebird นั้นเริ่มต้นจากทีมงานเพียง 2-3 คน คอนเซ็ปต์และรูปแบบทั้งหมดมาจากเสื้อผ้าที่อณิชาชื่นชอบ อัน เกิดจากมุมมองเรื่องความรักของแพม ที่เชื่อว่า “ผู้หญิงดูสวยที่สุด เวลามีความรัก” แนวคิดของ LOVEBIRD จึงสะท้อนความเป็นเฟมินีน แสดงตัวตนและคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน เน้นสไตล์หวานซ่อนเปรี้ยว
“เพราะแพมเป็นคนขี้อาย เลยไม่คิดใช้ชื่อตัวเองเป็นชื่อแบรนด์ จึงหาชื่อที่ใกล้เคียงกับคอนเซ็ปต์ มาลงตัวที่ เลิฟเบิร์ด ด้วยความหมายและชื่อที่เรียกง่าย ตอนแรกที่ตั้งแบรนด์ คิดว่าลูกค้าจะซื้อผ่านเว็บไซต์ แต่ปรากฏลูกค้าบุกมาที่ออฟฟิศบ้าง โทรมาบ้าง อีเมลบ้าง ไลน์มาบ้าง จนเราตอบแทบไม่ทัน อาจจะเพราะสินค้าของเราค่อนข้าง พรีเมี่ยม ลูกค้าจึงอยากจะติดต่อเราตรง อยากเห็น อยากลองของจริง ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี จากตอนแรกที่มีทีมงานไม่กี่คน เราก็ขยับเพิ่มขึ้น ทุกอย่างก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนตั้งใจตั้งเป็นโชว์รูมให้ลูกค้ามาเลือกถึงที่”
2 ปีในเว็บไซต์ Lovebird ได้รับการตอบรับและเป็นที่นิยมในหมู่สาวๆ จนมีแฟนคลับเป็นลูกค้าขาประจำทั้งดาราและนักร้อง
“ด้วยไลฟ์สไตล์คนไทยที่เอ็นจอยกับการช็อปปิ้งไม่เหมือนกัน ยังอยากจับ อยากลอง เสื้อผ้าด้วยตัวเอง และด้วยความพร้อมของแบรนด์ในตอนนี้ คิดว่าถึงเวลาที่เราจะก้าวไปสู่รูปแบบของโชว์รูม แต่แพมก็มองว่าสักวันหนึ่งตลาดเมืองไทยจะเข้าใจเหมือนตลาดต่างประเทศที่การซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์เป็นเรื่องปกติ อย่างเช่น ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ซึ่งเมืองไทยเริ่มมีพฤติกรรมช้อปปิ้งแบบนั้นแล้ว ฉะนั้นเลิฟเบิร์ดจึงยังไม่ทิ้งระบบออนไลน์ แต่จะพัฒนาให้เป็นระบบมากขึ้นไปพร้อมกับการเป็นโชว์รูม”
ประสบความสำเร็จทั้งในโลกออนไลน์ และเตรียมเปิดโชว์รูมแบบนี้ ต้องยกตำแหน่งดีไซเนอร์ไทยที่น่าจับตามองให้เลย
Comments are closed.